แก่นวิจัย (Core Research)


ว่างเว้นการเขียนไปหลายสัปดาห์ ด้วยภาระกิจวิชาการ โดยเฉพาะการเตรียมไปประชุมสนทนากลุ่มของลูกศิษย์ระดับปริญญาเอกที่ประเทศจีนเพื่อปรับปรุงรูปแบบที่พัฒนาขึ้นมา ประเด็นคือการเตรียมความพร้อมของลูกศิษย์ที่จะขึ้นนำเสนองาน และการมีส่วนร่วมของนักวิชาการของจีนในการร่วมประชุมครั้งนี้ ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งงานค้นคว้าในการทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง quantitative research และ qualitative research 

ทั้งในแง่ของชื่อวิถิทัศน์ในการวิจัย (research approach) และนิยาม 

ในประเทศไทยเราแปลคำว่า ‘Quantitative Research’ ว่าการวิจัยเชิงปริมาณ และ ‘Qualitative Research’ ว่าการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งฟังๆ ดูแล้วเหมือนให้ท้าย Qualitative Research ว่าให้ความสำคัญกับคุณภาพ มากกว่าปริมาณ 

แต่จริงๆ แล้ววิถีทัศน์การวิจัยทั้งสองแบบนั้นมีวิธีการและเป้าหมายในการวิจัยแตกต่างกันเท่านั้นเอง ส่วนการวิจัยแบบไหนจะมีคุณภาพมากกว่ากันนั้นขึ้นอยู่กับเรื่องที่วิจัย และความถี่ถ้วนของการดำเนินการวิจัยมากกว่า 

ส่วนความหมายของการวิจัยแต่ละแบบนั้นก็นิยามไว้หลายแนวคิด ผมคงไม่ทบทวนและนำเสนอไว้ในบทเขียนนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากหนังสือวิจัยต่างๆ ได้ แต่นิยามที่ผมจะเสนอไว้ในบทเขียนนี้นั้นเป็นบทสรุปที่ตกผลึกทางความคิดที่ได้จากประสบการณ์ในการทำวิจัย และมีส่วนร่วมในกิจกรรมการวิจัยตลอดชีวิตที่ผ่านมาดังนี้ 

ประการแรกคือ นิยามคำว่า วิจัย  แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า ‘Research’ ที่ประกอบขึ้นด้วย Prefix ‘Re’ ซึ่งหมายถึงการทำซ้ำแล้วซ้ำอีก และคำว่า ‘search’ ซึ่งหมายถึงการศึกษาค้นคว้า หรือการสืบค้น 

เมื่อนำสองคำนี้มารวมกันก็จะหมายถึงการศึกษาค้นคว้่าที่ทำซ้ำแล้วซ้ำอีกจนแน่ใจว่าได้คำตอบที่น่าเชื่อได้ว่าครบถ้วน และถูกต้องที่สุดนั่นเอง 

และเมื่อนำมารวมเข้ากับคำว่า Quantitative เป็น Quantitative Research นั้นน่าจะหมายถึงการวิจัยที่ใช้จำนวน กรณีศึกษา (พลวิจัย: research subjects) จำนวนมากในการศึกษา และใช้วิธีการทางสถิติ คือ สถิติอ้างอิง (Referential statistics) ในการสรุปโยง (สรุปนัย : generalization) ข้อค้นพบจากการวิจัยไปยังประชกร แทนการทำซ้ำหลายครั้ง ส่วน Qualitative Research หมายถึงการวิจัยที่ใช้กรณีศึกษา (พลวิจัย) ไม่มาก แต่เก็บข้อมูลเชิงลึกและหลายมิติเพื่อให้ได้คำตอบรอบด้านในการตอบคำถามการวิจัย และใช้วิธีการเชิงตรรกะและเชิงเหตุผล (ไม่ใช้    สถิติอ้างอิง) ในการสรุปโยง หรือสรุปนัยไปยังประชากรในลักษณะเดียวกัน หรือไปยังประชากรอื่นในเรื่องเดียวกัน  และถ้าต้องการให้แน่ใจในคำตอบยิ่งขึ้น จะใช้วิธีศึกษาซ้ำหลายๆ ครั้ง ในกรณีศึกษาอื่นแทนการใช้วิธีการเชิงสถิติ ที่นำใช้ใน Quantitative Research 

ส่วนชื่อการวิจัยแบบ Quantitative Research ผมขอใช้คำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ การวิจัยเชิงปริมาณ ส่วนกาวิจัยแบบ Qualitative Research ผมเสนอใช้คำว่า ‘การวิจัยเชิงคุณลักษณะ’  ครับ 

 

สมาน อัศวภูมิ

11 มีนาคม 2567

 

หมายเลขบันทึก: 717557เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2024 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2024 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I like your suggestion:
Quantitative Research = การวิจัยเชิงปริมาณ,
Qualitative Research = การวิจัยเชิงคุณลักษณะ .

But somehow the terms do not explicitly say Research by measurement and Research by like. ;-)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท