โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้  ๑๓. บูรณาการการศึกษาบทเรียนเข้ากับการพัฒนาครูในรูปแบบอื่นๆ


 

บันทึกชุด โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ นี้ ตีความจากการอ่านหนังสือ ๒ เล่ม คือ Lesson Study and Schools as Learning Communities : Asian School Reform in Theory and Practice (2019) edited by Atsushi Tsukui and Masatsuku Murase   และLesson Study Communities : Increasing Achievement With Diverse Students (2007) by Karin Wiburg and Susan Brown    

ตอนที่ ๑๓ นี้ ตีความจาก บทที่ ๗ (บทสุดท้าย) ของหนังสือเล่มที่สอง    เรื่อง Integrating Lesson Study With Existing School Initiatives   เขียนโดย Susan Bussmann and Karen Trujillo    

    

สรุปโดยย่อผ่านการตีความอย่างสุดๆ ได้ว่า   LS เป็นเครื่องมือเรียนรู้ของครู โดยที่ครูร่วมกันดำเนินการเอง   เพื่อเป้าหมายการเรียนรู้ของศิษย์    เมื่อเอาไปบูรณาการกับโครงการที่มีเป้าหมายพัฒนาครูประจำการอย่างใน ๓ ตัวอย่างที่ยกมาในบทนี้    LS จึงเข้าไปเสริมพลังสู่การบรรลุผลตามเป้าหมายของโครงการได้เป็นอย่างดี    โดยมีค่าใช้จ่ายน้อยมาก   

 

ในสภาพที่งานของครูมีมากล้นทำไม่ทันอยู่แล้ว    การนำ LS เข้าไปเพิ่มภาระครูย่อมไม่เป็นที่ยอมรับ    ต้องเอา LS เข้าไปช่วยให้ครูทำงานง่ายขึ้น หรือมีผลดียิ่งขึ้นโดยลงแรงเท่าเดิมหรือสบายกว่าเดิม   หนังสือเสนอตัวอย่างวิธีการบูรณาการการศึกษาบทเรียนเข้ากับกิจกรรมที่มีอยู่แล้ว    ช่วยให้เกิดผลดียิ่งขึ้น ใน ๓ รูปแบบ    โดยขอย้ำว่า ทั้งหมดเป็นตัวอย่างในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา

รูปแบบที่ ๑ : บูรณาการ LS เข้ากับกระบวนการพัฒนาครู

เขายกตัวอย่างเหตุการณ์ในเขตพื้นที่การศึกษาแห่งหนึ่ง ที่มีโครงการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของการเรียนคณิตศาสตร์    ทางเขตบูรณาการเข้ากับการพัฒนาครู และกระบวนการ LS    โดยจัดให้มีบริการฝึกอบรมชั้นเรียน LS ในวันเสาร์ โดยมหาวิทยาลัยในพื้นที่   ผู้เข้าเรียนได้รับเครดิตบัณฑิตศึกษา   ครูสมัครเข้าเรียนโดยความสมัครใจ  เริ่มในฤดูใบไม้ผลิ ปี 2003  โดยชั้นเรียนนี้ฝึกครูให้รู้จักวิธีดำเนินการ LS   แล้วให้ครูไปตั้งทีมดำเนินการ  เอาข้อมูลการดำเนินการมานำเสนอในชั้นเรียน   

ครูรวมตัวกันเองเป็นทีม LS ดำเนินการกิจกรรมตามที่ระบุแล้วในบทก่อนๆ    โดยแทบไม่ต้องการการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารเลย ยกเว้นการเอื้อเวลาให้ดำเนินการวางแผน ลองสอน  ทบทวน  ปรับปรุง ลองสอนใหม่   แล้วร่างข้อเรียนรู้จากการศึกษาบทเรียน    โดยทีมครูมีการตั้งผู้ประสานงาน  และทีมงานแบ่งหน้าที่กันทำ เช่น facilitator, ผู้จดบันทึก ผู้เก็บข้อมูล ผู้บันทึกภาพและวิดีทัศน์ ผู้ควบคุมเวลา เป็นต้น   ผู้ประสานงานนอกจากประสานงานภายในกลุ่มครูแล้ว อาจไปประสานงานกับเขตพื้นที่การศึกษา  

เขตพื้นที่การศึกษาแห่งหนึ่งแต่งตั้งผู้ประสานงาน และกลไกสนับสนุนของเขตเพื่อประสานกับกลุ่ม LS ในการใช้ LS เพื่อพัฒนาครูประจำการ (professional development)    โดยระบุให้กลุ่ม LS เลือกเป้าหมายของการพัฒนา ๑ ใน ๒ เป้า   คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับหลักสูตรคณิตศาสตร์หลักสูตรใหม่    กับการเรียนรู้เพื่อเชื่อมโยงหลักสูตรเข้ากับความต้องการของนักเรียน   

กลุ่ม LS ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ค่อยๆ จางหายไป     แต่เขตพื้นที่ก็ยังยืนหยัดสนับสนุน LS ในฐานะเครื่องมือพัฒนาครูประจำการ   ต่อมามีครูใหญ่ท่านหนึ่งปิ๊งวิธีการ เพราะได้ชมวิดีทัศน์เล่าเรื่องครูคนหนึ่งที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงมาหลายปี    แต่เมื่อเข้าร่วมกิจกรรม LS ก็เปลี่ยนโฉมห้องเรียนของตนไปเป็นห้องปฏิบัติการ ที่นักเรียนเรียนโดยร่วมกันทำกิจกรรมแก้โจทย์เป็นกลุ่มๆ    ครูใหญ่ท่านนี้จึงนำ LS ไปดำเนินการทั้งโรงเรียนในปี 2003-2004  เป็นครั้งแรกในรัฐนิวเม็กซิโกที่มีการนำ LS ไปใช้ทั้งโรงเรียน   โดยที่โรงเรียนนี้สอนสองภาษา คือใช้ทั้งภาษาอังกฤษและสแปนิช   

การดำเนินการที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรม LS    คือโครงการวิจัยศึกษาผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน  พบว่านักเรียนของครูที่เข้าร่วม LS มีผลลัพธ์การเรียนรู้สูงกว่านักเรียนของครูที่ไม่เข้าร่วม LS    เรื่องการหนุนการสร้างการเปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินการเรียนการสอนด้วยโครงการศึกษาผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน เปรียบเทียบระหว่างครูที่ใช้วิธีการให้ กับครูที่ใช้วิธีการเดิมนี้    วงการศึกษาไทยน่าจะนำมาใช้เป็นกลยุทธหนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างมีข้อมูลหลักฐาน       

รูปแบบที่ ๒ : บูรณาการเข้ากับชุมชนเรียนรู้วิชาชีพครู (PLC – Professional Learning Community)

เป็นเรื่องราวของเขตพื้นที่การศึกษาอีกแห่งหนึ่ง ที่ดำเนินการ PLC เพื่อพัฒนาครูประจำการมาเป็นอย่างดี   เมื่อนำ LS บูรณาการเข้าไป การพัฒนาครูประจำการก็ยิ่งเกิดผลดียิ่งขึ้น โดยแทบไม่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการชุมชนเรียนรู้วิชาชีพครูเลย   

ก่อนนำ LS เข้าไปบูรณาการ เขตพื้นที่การศึกษานี้ มีโครงสร้างของ PLC อย่างดี   คือมี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสาระวิชา (subject matter specialists),   ครูผู้นำการพัฒนาวิชาชีพครู (professional development teachers),   ชุมชนพัฒนาวิชาชีพครู (teacher professional development communities หรือ PLC),   และการประชุมวิชาการของเขตพื้นที่ (mini-conference)      

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสาระวิชา

เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำเขตพื้นที่การศึกษา  มีหน้าที่จัดการประชุมปฏิบัติการ และการฝึกอบรมตามสาระวิชาในแต่ละระดับชั้น  การประชุมและฝึกอบรมนี้มักจัดตอนเริ่มต้นปีการศึกษา หรือในช่วงภาคการศึกษาแรก   โดยเชิญครูตามระดับชั้น และครูผู้นำการพัฒนาวิชาชีพครู เข้าประชุม   เพื่อให้นำวิธีการดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อที่โรงเรียน      

ครูผู้นำการพัฒนาวิชาชีพครู

เป็นครูที่เคยทำหน้าที่ครูประจำชั้นมาก่อน   แล้วยกระดับขึ้นเป็น ครูผู้นำการพัฒนาวิชาชีพครู (professional development teachers - PDT) ที่มีประจำทุกโรงเรียน   ทำหน้าที่สื่อสารนโยบายจากเขตพื้นที่สู่โรงเรียน  และเป็นผู้ประสานงานการพัฒนาวิชาชีพครูประจำการของโรงเรียน    

ชุมชนพัฒนาวิชาชีพครู (PLC)

ครูทุกคนในเขตพื้นที่นี้ต้องเป็นสมาชิกของชุมชนพัฒนาวิชาชีพครู    ในระดับประถมศึกษา PLC จัดตามระดับชั้น   แต่ละ PLC ประชุมกันสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ใช้เวลา ๙๐ นาที   ในระดับมัธยมต้น จัด PLC ตามสาระวิชาโดยรวมครูทุกชั้นเข้าด้วยกัน   หรืออาจจัดตามชั้นปี โดยรวมครูที่สอนทุกสาระเข้าด้วยกัน    ในโรงเรียนมัธยมปลาย จัด PLC ของครูประจำสาระที่สอนตรงกันตามตารางสอน   เพื่อให้จัดเวลาประชุมกันสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา ๙๐ นาทีได้   

เป้าหมายของ PLC ก็เพื่อพูดคุยกันเรื่องความเชื่อมโยงของหลักสูตร  กลยุทธการสอน กิจกรรมที่เขตพื้นที่ริเริ่ม และอื่นๆ    ขอย้ำว่า นี่เป็นเรื่องราวก่อนนำ LS เข้าไปบูรณาการ

การประชุมวิชาการของเขตพื้นที่

การประชุมวิชาการของเขตพื้นที่เกิดขึ้นกว่า ๑๐ ปีมาแล้ว   เป็นการประชุมเพื่อเป้าหมายพัฒนาครูประจำการ     ครูที่มีผลงานดีเด่นได้รับเชิญไปนำเสนอในการประชุมในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ที่ถือเป็นวันพัฒนาครูประจำการ   นอกจากการนำเสนอ best practice หลากหลายแบบของครู การประชุมเริ่มด้วย การบรรยายนำ (keynote speech)   ตามด้วยการบรรยายอีก ๒ เรื่อง เรื่องละ ๕๐ นาที   และคำกล่าวปิดโดยผู้อำนวยการเขต   

 จะเห็นว่า เขตพื้นที่นี้มีความพร้อมมาก ต่อการนำ LS เข้าไปบูรณาการกับระบบพัฒนาครูประจำการที่มีอยู่แล้ว

วิธีประยุกต์ใช้ LS ในเขตพื้นที่การศึกษาที่มีระบบพัฒนาครูประจำการอยู่แล้ว 

ในเขตพื้นที่ดังยกมาข้างต้น    สามารถบูรณาการ เข้าไปเป็นเนื้อเดียวกันกับชุมชนเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพครู และระบบพัฒนาครูประจำการ ดังต่อไปนี้ 

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสาระวิชา

เมื่อนำ LS เข้าบูรณาการเข้ากับ PLC เพื่อพัฒนาครูประจำการ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสาระวิชายังคงทำหน้าที่คล้ายเดิม    โดยทำหน้าที่ ๒ ด้าน คือ ด้านพัฒนาความรู้เชิงสาระวิชาให้แก่ครู และแก่ครูผู้นำการพัฒนาวิชาชีพครู (DPT)    กับด้านเข้าร่วมกิจกรรม LS ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสาระ    โดยภารกิจแรกเน้นดำเนินการช่วงต้นปีการศึกษา และในภาคเรียนแรก   ส่วนภารกิจหลังเน้นทำในภาคการศึกษาหลัง   

 ผมขอเพิ่มเติมว่า จะให้เกิดผลดีจาก LS อย่างแท้จริง การเข้าร่วมของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสาระวิชา ควรเข้าร่วมกิจกรรม LS ตลอดทั้งวงจรของ LS ในฐานะ “คนนอกที่เข้าร่วมเอื้ออำนาจ” (empower) แก่ครู    เพื่อช่วยหนุนให้ครูบูรณาการเนื้อหาของสาระวิชาที่ลุ่มลึกเข้ากับกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน   ให้นักเรียนได้เข้าใจความรู้สำคัญของแต่ละเนื้อหา อย่างแท้จริง      

ครูผู้นำการพัฒนาวิชาชีพครู

ในกระบวนการ LS  ครูผู้นำการพัฒนาวิชาชีพครู ทำหน้าที่ที่ปรึกษา (mentor) ให้แก่ทีม LS    โดยที่เมื่อนำ LS เข้าบูรณาการเข้ากับโครงการพัฒนาของเขตพื้นที่   การปฏิบัติงานของครูผู้นำการพัฒนาวิชาชีพครู ยังคงคล้ายเดิม  เน้นทำหน้าที่ประสานงานการดำเนินการโครงการพัฒนาของเขตพื้นที่   

หลังจากทีม LS กำหนดหัวข้อของการศึกษาบทเรียนได้แล้ว  ครูผู้นำการพัฒนาวิชาชีพครู จะเข้าทำหน้าที่ให้การสนับสนุน เช่น ช่วยการบันทึกการอภิปรายในกิจกรรม   ช่วยค้นคว้าความรู้  จัดหาทรัพยากรสนับสนุน   สนับสนุนการวางแผนกิจกรรม LS   ประสานช่วงเวลาเปิดชั้นเรียน และการอภิปรายหลังเปิดชั้นเรียน (debriefing) กับฝ่ายบริหาร    และรวบรวมผลการประเมิน  ร่างรายงาน และรายงานฉบับสมบูรณ์ของ LS           

ชุมชนพัฒนาวิชาชีพครู 

โครงสร้างการทำงานของชุมชนพัฒนาวิชาชีพครู (PLC) แทบไม่ถูกกระทบจาก LS ในช่วงวางแผน และช่วงปรับปรุงบทเรียนใหม่  แต่ในช่วงสอนบทเรียนและเปิดให้มีผู้เข้าสังเกตชั้นเรียน ต้องหาทางให้มีการใช้ครูสอนแทนให้น้อยที่สุด   เช่นจัดการเปิดชั้นเรียน ๒ รายการในวันเดียวกัน    คือรายการหนึ่งสอนในตอนเช้า  อีกรายการหนึ่งสอนในตอนบ่าย  เพื่อให้จ้างครูสอนแทนทั้งวัน สอนแทนครูได้สองทีม          

การประชุมวิชาการของการศึกษาบทเรียน (Lesson Study Conference) 

เมื่อมีกิจกรรมศึกษาบทเรียน การประชุมวิชาการของเขตการศึกษาก็เพิ่มห้องย่อย และการนำเสนอด้วย โปสเตอร์ (poster session) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งที่ครูได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมทีม LS  ในหลากหลายมิติ   

รูปแบบที่ ๓ การศึกษาบทเรียนบูรณาการกับโครงการพัฒนาระบบงานที่มีเทคโนโลยีทันสมัย 

หัวข้อย่อยนี้ มีสาระยาวที่สุดในบทที่ ๗ ของหนังสือ Lesson Study Communities : Increasing Achievement With Diverse Students (2007)  โดยที่ผู้เขียนทั้งสองท่านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการโครงการ ที่ชื่อว่า TIA RETA    ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในชั้นเรียน   ดำเนินการใน ๓ เขตพื้นที่การศึกษาของรัฐนิวเม็กซิโก ในปี 2003 - 2005    ผมจะสรุปสั้นๆ มาลงไว้เท่านั้น    ไม่ลงรายละเอียด    

องค์ประกอบของโครงการพัฒนาเทคโนโลยี 

ผู้ประสานงานโครงการ

มีผู้ประสานงานโครงการของแต่ละเขตพื้นที่    ผู้นี้ต้อง (๑) ชำนาญการใช้เทคโนโลยีที่จะนำไปให้โรงเรียนใช้ด้วย  (๒) เคยเป็นครูประจำชั้นที่พัฒนา best practice ขึ้น  (๓) พร้อมที่จะหนุนให้ครูใช้เทคโนโลยี  โดยไม่ทำงานแบบควบคุมสั่งการ   

  ผู้ประสานงานโครงการ มีหน้าที่จัดการประชุมปฏิบัติการ   และหนุนการดำเนินการ LS ในทุกขั้นตอน   รวมทั้งเข้าร่วมในห้องเรียนของทีม LS ด้วย   โดยทำงานไม่เต็มเวลา (part-time)   เขาพบว่า ผู้ประสานงานโครงการ ที่ทำงานครึ่งเวลา สามารถหนุนทีม LS ที่มีสมาชิก ๑๐ - ๑๒ คน  ได้ ๓ ทีม    อีกครึ่งเวลา ผู้ประสานงานโครงการเหล่านี้ทำหน้าที่ครูสอนตามปกติ   

สรุปได้ว่า ผู้ประสานงานโครงการ ทำหน้าที่ ๓ อย่างคือ (๑) ผู้จัดและสอนในการประชุมปฏิบัติการด้านเทคโนโลยี (๒) ผู้ประสานและสนับสนุนกิจกรรม LS  และ (๓) เป็นที่ปรึกษาในชั้นเรียน

ในการทำหน้าที่ด้านเอื้ออำนวยให้ครูพัฒนาความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี      ผู้ประสานงานโครงการ เน้นทำหน้าที่ช่วยให้ครูรู้ว่าขณะนั้นตนมีสมรรถนะด้านเทคโนโลยีในระดับใด    และจะต้องพัฒนาสู่ระดับใด   เพื่อใช้เทคโนโลยีช่วยหนุนการเรียนรู้ของนักเรียน  นำสู่การพัฒนาการประชุมปฏิบัติการเพื่อพัฒนาครู   

ในกิจกรรม LS ผู้ประสานงานโครงการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการพัฒนา LS มากนัก  ปล่อยให้เป็นเรื่องของกลุ่มครูที่เป็นสมาชิก    แต่ในช่วงดำเนินการเปิดชั้นเรียน จะเข้าช่วยบันทึกวิดีทัศน์ และเข้าร่วมสังเกตชั้นเรียน    และในช่วง debriefing ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกในการอภิปราย และการบันทึกข้อมูล  โดยให้ครูผู้ทำหน้าที่สอนพูดก่อน ตามด้วยสมาชิกทีม แล้วจึงให้ผู้เข้าสังเกตชั้นเรียนให้ข้อมูลและความเห็น   

ในการทำหน้าที่ที่ปรึกษาในชั้นเรียน    ผู้ประสานงานโครงการ เข้าชั้นเรียนสัปดาห์ละครั้ง   เพื่อช่วยหนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนให้ชั้นเรียนเปลี่ยนจากสภาพครูเป็นศูนย์กลาง ไปเป็นสภาพ การเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง              

การประชุมปฏิบัติการด้านเทคโนโลยี

เป็นการประชุมปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสมรรถนะด้านเทคโนโลยีของครู  และสมรรถนะในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในชั้นเรียน   ดำเนินการในวันเสาร์เต็มวัน ของเขาจัด ๖ ครั้ง    แต่ละครั้งจัดเชื่อมโยงกับหลักสูตร ครูร่วมมือกันฝึกแบบที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของการทำหน้าที่ครู   โดยครูสมมติตัวเองเป็นนักเรียนที่ใช้เทคโนโลยีช่วยการเรียนรู้ของตน        

จะเห็นว่า RETA กับ LS ยึดหลักการเดียวกันด้านการศึกษาหรือการเรียนรู้ คือ constructivism  และ inquiry-oriented approach   ซึ่งนักเรียนเรียนรู้แบบร่วมมือกันทำกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาและเรียนรู้โดยการร่วมกันสะท้อนคิด    RETA มุ่งหนุนให้นักเรียนได้ใช้เทคโนโลยีช่วยการเรียนรู้ในแนวทางนี้   

LS มีส่วนเข้ามาเชื่อมโยงการประชุมปฏิบัติการวันเสาร์เข้าสู่ชั้นเรียน ผ่านผู้ประสานงานโครงการ RETA  และผ่านทีมงาน LS     

การศึกษาบทเรียน

ครูที่เข้าร่วมโครงการร่วมกันกำหนดเป้าหมายภาพใหญ่ว่า  “เพื่อให้นักเรียนเป็นนักแก้ปัญหาอย่างมีความเห็นอกเห็นใจ และรับผิดชอบ   เป็นคนที่เคารพตนเองและผู้อื่น”   ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สื่อการดำเนินการ LS ข้ามสาระวิชา    โดยแต่ละเขตพื้นที่มีเป้าสาระวิชาที่จะพัฒนาที่แตกต่างกัน    

ผลกระทบต่อปฏิบัติการสอนของครู

โครงการ RETA บูรณาการ LS เข้าในโครงการตั้งแต่ต้น    นำสู่ผลกระทบที่สัมผัสได้ ดังต่อไปนี้ 

ผู้เรียนที่ตั้งใจเรียนและร่วมมือกันเรียน

การเรียนที่เกิดขึ้นมีลักษณะ cooperative learning  และ hands-on learning  นำสู่ข้อสังเกตของครู ดังต่อไปนี้

  • ครูต้องร่วมกันหาโจทย์ให้นักเรียนทำ เพื่อเรียนรู้ร่วมกัน
  • LS ช่วยให้ฉันมองการเรียนรู้ของนักเรียนต่างไปจากเดิม    โดยครูต้องสอนโดยทำหน้าที่เป็น facilitator
  • ปีนี้ฉันใช้ cooperative learning มากขึ้น    และเห็นว่าลูกศิษย์ของฉันเป็นครูที่ดี
  •  LS ที่เราทำทั้ง ๒ ครั้งในปีนี้ เน้นให้นักเรียนทำกิจกรรมกลุ่ม   ฉันไม่เคยเน้นให้นักเรียนเรียนโดยแบ่งกลุ่มกันทำกิจกรรมอย่างนี้มาก่อน    ฉันคิดว่า การให้โอกาสนักเรียนทำงานร่วมกันและสอนซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก   

เน้นจับจ้องที่การเรียน

เนื่องจาก LS มีโครงสร้างกิจกรรมให้ครูสะท้อนคิดเรื่องการเรียนรู้ของนักเรียน   จึงส่งผลให้ครูพัฒนา “ตาเพื่อจ้องการเรียนรู้ของนักเรียน”   ดังข้อสะท้อนคิดของครูดังต่อไปนี้

  • เวลานี้ฉันยินดีมอบอำนาจในห้องเรียนให้นักเรียน และเปลี่ยนไปทำหน้าที่ครูผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้อยู่ข้างๆ    เดิมฉันมักอดไม่ได้ที่จะบรรยาย
  • นักเรียนช่วยกันมีพลังกว่าครูบรรยาย   การบรรยายแบบเดิมๆ มีประโยชน์เฉพาะตอนเริ่มต้นชั้นเรียน  หลังจากนั้นควรให้นักเรียนระดมความคิดและมีปฏิสัมพันธ์กันเพื่อการเรียนรู้ 
  • ฉันเกลียดการทำงานแบบเน้นการทดสอบ  และตรวจสอบ  ทำให้ฉันสอนแบบเคี่ยวเข็ญและมีแบบฟอร์มให้นักเรียนปฏิบัติ  ฉันเกลียดมัน และนักเรียนก็เกลียดมัน   แต่เมื่อมี LS มีหลักการสำคัญให้นักเรียนใส่ใจและเรียนรู้โดยฉันไม่ต้องสอนแบบเดิม   แต่เขาก็เรียนรู้   แล้วฉันจะสอนแบบเดิมไปทำไม            
  • ก่อนหน้านี้ฉันเดาเอาว่านักเรียนมีพื้นความรู้เดิมอยู่แล้ว    เดี๋ยวนี้ฉันไม่เดาแล้ว  ฉันทำ pre-test  และ post-test   การเรียนรู้แบบลงมือทำใช้เวลา แต่จำเป็น 
  • ความผิดพลาดทั้งของครูและของนักเรียน นำมาซึ่งการเรียนรู้ 

ให้คุณค่าต่อการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ 

การเชื่อมโยงการฝึกใช้เทคโนโลยีเข้ากับบทเรียนใน LS ช่วยให้ครูสะท้อนคิดเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี ดังตัวอย่าง

  • ฉันได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ดูโก้   กับการใช้เทคโนโลยีเพื่อหนุนการเรียนรู้ของนักเรียน    เป็นสิ่งที่จะติดตัวฉันไปตลอดชีวิตการเป็นครู
  • แม้ฉันเรียนรู้ช้า  แต่ตอนนี้ฉันมั่นใจต่อการใช้เทคโนโลยีแล้ว 
  • ฉันสบายใจที่จะใช้เทคโนโลยี    แค่ออกไปลองใช้เครื่องมือหลายๆ อย่าง ก็จะใช้เป็น   ตอนนี้ฉันจึงใช้มันอย่างสบายใจ
  • ฉันใช้เทคโนโลยีช่วยในทุกด้านของการเรียนรู้    บทเรียนได้รับการออกแบบอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น และดึงดูดความสนใจของนักเรียน  นักเรียนได้เรียนรู้จากบทเรียนมากขึ้น           

ประสบการณ์ “อ๋อ” ของครู

การที่ครูได้มีโอกาสศึกษาว่านักเรียนเรียนรู้อย่างไร ในระหว่างการทดลองวิธีสอนที่ดี และใช้เทคโนโลยีช่วยหนุนการเรียนรู้   ช่วยให้ครูร้อง “อ๋อ” ในหลายตอน    สะท้อนการเรียนรู้ในระดับมองทะลุที่เกิดจากการผสานวิธีพัฒนาครูประจำการ ๒ แบบเข้าด้วยกัน    ดังตัวอย่าง

  • ข้อ “อ๋อ” ของฉันคือ   ได้ตระหนักว่านักเรียนมีข้อเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีหลายอย่างที่จะช่วยสอนครูหรือผู้ใหญ่ได้    ในหลายเรื่อง นักเรียนเป็นครูที่ดี   
  • ข้อ “อ๋อ” ของฉันเกิดขึ้นเมื่อครูคอมพิวเตอร์บอกฉันว่า นักเรียนในห้องของฉันไม่เคยเรียนจากการเข้าอินเทอร์เน็ตมาก่อน    เมื่อให้ลอง นักเรียนก็ตื่นเต้นมากที่ได้เรียนรู้หลักการของ pattern จากเว็บไซต์หนึ่ง    ยอดเยี่ยมมาก
  • ข้อ “อ๋อ” ของฉันเกิดขึ้นเมื่อได้ตระหนักว่าเครื่องมือ PowerPoint presentation ช่วยการเรียนรู้อย่างไร   ฉันต้องการฝึกให้ช่ำชองในช่วงฤดูร้อนนี้ สำหรับนำไปใช้ในปีการศึกษาหน้า   
  • ฉันได้เรียนรู้มากว่า PowerPoint ช่วยการเรียนของนักเรียนอย่างไร    และพบว่ามีนักเรียนสองสามคนรู้มากกว่าฉัน   ฉันต้องกล้ำกลืนความถือตัวในฐานะครูและยอมให้นักเรียนเหล่านั้นสอน   และเหตุการณ์นั้นช่วยเอื้ออำนาจแก่นักเรียนมาก    เพราะได้ยินนักเรียนคุยกันว่า “วันก่อนธอสอนครู...หรือ”    “ใช่ ฉันสอนครู”      

ข้อสะท้อนคิดของครู

เมื่อครูเข้าร่วมใน LS ของโครงการ RETA   ครูมีข้อสะท้อนคิดดีๆ มากมาย   ดังตัวอย่าง

  • การสร้างความสนใจของนักเรียนตอนต้นคาบด้วย “เบ็ดล่อ” (hook) ได้ผลดีมาก
  • มีความสำคัญมากที่ต้องกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ให้ชัด  และแชร์กับนักเรียน   
  • ครูต้องคิดล่วงหน้าและเตรียมตัวตอบคำถาม และเตรียมตัวแก้ความเข้าใจผิดของนักเรียน
  • คุณภาพของการวางแผน มีผลต่อคุณภาพการเรียนของนักเรียน
  • เกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้นตามประสบการณ์การเรียนรู้แบบลงมือทำ
  • การใช้เทคโนโลยีส่งผลกระตุ้นแรงจูงใจของนักเรียน
  • การเรียนแบบร่วมมือกันเป็นกลุ่ม ช่วยให้นักเรียนตั้งใจเรียน
  • การเสนอสาระด้วยเทคโนโลยี น่าสนใจกว่าอ่านตำรา
  • การจัดระดับความยากง่ายของบทเรียนแบบที่นักเรียนลงมือทำ เข้ากับระดับขีดความสามารถในการเรียนด้วยตนเอง มีความสำคัญ 

ข้อเรียนรู้ในการประยุกต์ใช้ LS

ต่อไปนี้เป็นข้อเรียนรู้จากโครงการในปีแรก   มีทั้งข้อเรียนรู้ด้าน LS  และข้อเรียนรู้ด้านการใช้เทคโนโลยี

เน้นที่เป้าหมายใหญ่

แนะนำให้ทำป้ายใหญ่ระบุเป้าหมายของ LS ติดไว้ในทุกห้อง เพื่อเตือนความจำของครูและนักเรียน   โดยป้ายน่าจะระบุเป้าหมาย ๔ ชั้นตามที่กล่าวแล้ว   

น้อยคือมาก

ในตอนแรกๆ ครูมักใส่หลายเป้าหมายเข้าไปใน LS ครั้งเดียว    และค่อยๆ เรียนรู้ว่า LS ต้องเน้นที่ความลึกมากกว่าความกว้าง    และต้องกำหนดให้มีเป้าหมายที่จำเพาะเป้าหมายเดียว   ต้องไม่หลงเข้าไปหมกมุ่นที่กระบวนการสอนของครู    ต้องเน้นที่การเรียนรู้ของนักเรียน  และที่จุดเดียวของการเรียนรู้ที่นักเรียนมีปัญหา   

โลกทัศน์ที่กว้างขึ้น

บทเรียนที่จะศึกษาต้องเป็นส่วนเดียวของหน่วยการเรียน    ไม่ใช่หน่วยการเรียนทั้งหน่วย   และต้องพุ่งไปที่หลักการสำคัญของหน่วยนั้น   รวมทั้งต้องใส่ใจลำดับการเรียนรู้สู่ความเข้าใจหลักการสำคัญนั้น   และบทเรียนที่ดีใน LS คือบทเรียนที่เห็นบทบาทของนักเรียนในฐานะผู้กระทำการเพื่อการเรียนรู้ของตน    เป็น LS ที่ช่วยให้สังเกตเห็นบทบาทหรือการกระทำของนักเรียนที่ชัดเจน   รวมทั้งเห็นบทบาทของครู (ในฐานะ facilitator) ที่ดีด้วย       

จับจ้องสังเกตที่การเรียนรู้ของนักเรียน

ครูที่เข้าร่วม LS ให้คุณค่าต่อการเข้าสังเกตชั้นเรียนซึ่งกันและกันมาก    การสังเกตชั้นเรียนและกระบวนการ LS ทั้งหมด สร้างการเปลี่ยนแปลงจุดสนใจของครูเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียน    ครูจำนวนมากเปลี่ยนจุดจับจ้องจากกิจกรรมของครูไปที่กิจกรรมหรือพฤติกรรมของนักเรียน    การเปลี่ยนแปลงนี้จะยิ่งมากหากทีม LS เตรียมการเก็บข้อมูลไว้ล่วงหน้าอย่างดี      

กิจกรรมช่วงสิ้นสุดที่ส่งผลกระทบสูง

กิจกรรมช่วงสิ้นสุดกระบวนการ LS คือช่วงเวลาเตรียมเขียนรายงาน   ทีม LS ของโครงการ ลงมติว่า เพื่อให้การใช้เวลาช่วงนี้ส่งผลกระทบสูง จะเปลี่ยนเป็นช่วงเวลาใช้ข้อเรียนรู้จาก LS รอบก่อน ในการเตรียม LS รอบต่อไป    ไม่เน้นที่การเขียนรายงาน   เพราะไม่ชัดเจนว่าผู้ใช้รายงานเป็นใคร 

ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมในระบบการศึกษาของญี่ปุ่น กับของอเมริกันต่างกัน   ในญี่ปุ่นกิจกรรมช่วงสิ้นสุดนี้ผู้บริหารมาร่วมอย่างคับคั่ง   แต่ในอเมริกามีเพียงผู้อำนวยการโครงการเท่านั้นที่มาร่วม    รายงานสุดท้ายของ LS ในญี่ปุ่นมีการนำไปใช้แล้วใช้อีกในการเตรียมรอบต่อๆ ไป  ทั้งของทีมเดิมและทีมอื่นอย่างต่อเนื่อง   บางครั้งเป็นเวลาหลายปี    แต่รายงานสุดท้ายของ LS ในอเมริกาผู้ใช้รายงานไม่ชัดเจน   วัฒนธรรมการใช้ข้อมูลหลักฐานเพื่อการบริหารงาน และการกำหนดนโยบายนี้สำคัญมาก ที่หากมีการนำ LS มาประยุกต์ใช้ในระบบการศึกษาไทย ต้องสร้างระบบผู้ใช้ผลงานในระดับบริหารและระดับนโยบายให้ชัดเจนด้วย   

คือต้องสร้างระบบให้ครบวงจร   ให้มีข้อมูลป้อนกลับสู่ระดับผู้บริหารระบบ และระดับผู้กำหนดนโยบายการศึกษา  

ในปีที่สองของโครงการ RETA   ผลงานของทีม LS เอาไปนำเสนอในการประชุมวิชาการประจำปีของรัฐ   เป็นกลไกให้การดำเนินการช่วงสิ้นสุดโครงการก่อผลกระทบสูง   คือผลกระทบต่อการพัฒนาระบบการศึกษาของรัฐ   

การศึกษาบทเรียนกับการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับการเรียนการสอน

ไม่ว่าจะมีโครงการ LS หรือไม่   เทคโนโลยีต้องเข้าสู่ห้องเรียน   และน่าจะก่อผลต่อเนื่อง    เขาแนะนำให้ในชั้นเรียนมีเทคโนโลยีเหล่านี้สำหรับหนุนการเรียนรู้ของนักเรียน (ในอเมริกา)  โปรดสังเกตนะครับว่าหนังสือเล่มที่ผมนำมาตีความนำเสนอนี้เขียนเมื่อเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว    ดังนั้นในสมัยนี้ห้องเรียนน่าจะต้องการเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า   

  • การเข้าถึงเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย  ที่เราเรียกว่า wifi
  • ในห้องเรียนมีคอมพิวเตอร์ที่ต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างน้อย ๔ เครื่อง
  • มีกล้องถ่ายรูปดิจิทัล ใช้
  • มีเครื่องฉาย LCD ใช้
  • ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ หรือห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์พกพา  พร้อม integrated software package เช่น Microsoft Office 
  • คอมพิวเตอร์พกพาสำหรับครู พร้อม integrated software package  และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต   
  • ระบบสื่อสารอินเทอร์เน็ตแบบเปิดให้ทุกคนในโรงเรียนใช้ได้    ให้ครูและนักเรียนใช้เก็บข้อมูลของงานที่กำลังทำได้   และครูเข้าไปติดตามและช่วยเหลือนักเรียนทางออนไลน์ได้    โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลใกล้ชิด ให้ระบบใช้การได้ดี   

ผมขอตีความระหว่างบรรทัดว่าในโครงการนี้ กิจกรรม LS ช่วยให้ครูใช้เทคโนโลยีอย่างถูกทาง   คือใช้หนุนการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นหลัก ไม่ใช่ใช้หนุนความสะดวกของครูเป็นหลัก 

ระดับประสบการณ์ต่อการบูรณาการเทคโนโลยี

ระดับประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีของครู มีความสำคัญต่อการบูรณาการเทคโนโลยีเข้าสู่ชั้นเรียน น้อยกว่า ความกระหายเรียนรู้ ท่าทีเปิดรับสิ่งใหม่ และความกล้าเสี่ยง     นั่นคือ เจตคติ (ในการเปิดรับ) สำคัญกว่าทักษะ ด้านเทคโนโลยี    เขาแนะนำว่าหากจะดำเนินการโครงการแบบนี้ควรมีการเก็บข้อมูลสภาพปัจจุบันของครูก่อนเริ่มโครงการ ในด้านทักษะและเจตคติ

เป้าหมายที่แท้ของโครงการคือ เพิ่มการใช้เทคโนโลยีของนักเรียน เพื่อใช้ยกระดับการเรียนรู้ของตน   ผู้เข้าร่วมโครงการจึงต้องมีสติระลึกรู้อยู่เสมอว่า  เป้าหมายที่แท้ไม่ใช่การพัฒนาเทคโนโลยีของโรงเรียน   แต่เป็นการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้เทคโนโลยีช่วยหนุน   เขาแนะนำให้ตั้งคำถามต่อไปนั้

  • ใครเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี
  • ใช้เทคโนโลยีอะไร
  • ใช้ทำอะไร
  • ทำไมต้องใช้ในกิจกรรมนี้
  • การใช้เทคโนโลยีช่วยให้ทำกิจกรรมใดได้เพิ่มขึ้นจากสภาพที่ไม่มีเทคโนโลยี   

ชนิดของเทคโนโลยีที่ครูใช้

โครงการ TIA RETA มีความเชื่อว่า หากหนุนให้ครูใช้เทคโนโลยี จะมีผลกระทบต่อไปที่การใช้เทคโนโลยีของนักเรียนเพื่อการเรียนรู้ของตน    ข้อมูลเบื้องต้นจากโครงการ TIA บอกว่าครูเริ่มมั่นใจต่อการใช้เทคโนโลยี    โดยมีข้อมูลโดยสรุปดังนี้   

การใช้เทคโนโลยีของครู

มี ๔ ขั้นตอนของเป้าหมาย คือ

  • ใช้เพื่อกิจกรรมส่วนตัว : e-mail, ภาพถ่ายดิจิทัล, โทรศัพท์มือถือ Palm    ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนั้นโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนยังไม่เกิด   
  • ใช้ในกิจกรรมในหน้าที่ครู : การให้เกรด  การวางแผนบทเรียน  การค้นคว้า การจัดทำจดหมายข่าวชั้นเรียน  การทำ presentation   
  • ใช้ในชั้นเรียนโดยครูใช้ : presentation, เก็บข้อมูล, ภาพถ่ายดิจิทัล, เป็นต้น   
  • ใช้ในชั้นเรียนโดยนักเรียนใช้ : กิจกรรมการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์กัน  

อ่านข้อความในหัวข้อย่อยนี้แล้วผมสะท้อนคิดว่า  ปัจจัยสำคัญของครูในการบูรณาการเทคโนโลยีสู่ห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนใช้สนับสนุนการเรียนรู้ของตน  คือเจตคติและทักษะของตนเองในการใช้นักเรียน (บางคนและหลายคน) เป็น co-educator ในการดำเนินการตามเป้าหมายนี้   

สะท้อนคิดต่อโครงการบูรณาการเทคโนโลยี 

ข้อสรุปคือ LS  ช่วยให้โครงการ TIA ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น 

เปรียบเทียบค่าใช้จ่าย

เขาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของโครงการบูรณาการ LS เข้ากับการพัฒนาครูประจำการ ๓ รูปแบบ    ในบริบทของสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว    ผมจึงไม่ตีความนำมาเสนอ   เพราะบริบทของเราแตกต่างอยางมากมาย    เพียงแต่นำหัวข้อมาลงไว้ เป็นการเตือนสติว่า ไม่ว่าจะนำเทคโนโลยีใดมาใช้พัฒนาการศึกษา ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายและความคุ้มค่าเสมอ    ในวงการสุขภาพ มีการวิจัยศึกษาความคุ้มค่าของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในบริบทของประเทศเรา   มีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ   มีนักวิชาการทำงานด้านนี้นับร้อยคน   แต่ด้านการศึกษาไม่มีระบบประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีเลย    ดังกรณีของนโยบายแจกแท็ปเล็ตของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย    ยังไม่มีข้อมูลหลักฐานระบุความคุ้มค่า และเงื่อนไขการใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าใดๆ เลย   

สรุป

บทสุดท้ายของหนังสือเล่มที่สองที่ผมตีความนำมาเสนอนี้    เป็นเรื่องการบูรณาการ LS เข้ากับกิจกรรมพัฒนาครูประจำการ ๓ รูปแบบ   คือแบบที่ ๑  ครูริเริ่มและจัดการกันเองได้  โดยแทบไม่ต้องการการสนับสนุนจากภายนอก    แต่หากจะให้มีความต่อเนื่องยั่งยืน ต้องมีการสนับสนุนเชิงระบบ    แบบที่ ๒ เชื่อมโยงกับระบบพัฒนาครูประจำการของเขตพื้นที่การศึกษา    และรูปแบบที่ ๓  บูรณาการกับโครงการพิเศษ คือโครงการหนุนให้ครูใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ที่นักเรียนเป็นผู้กระทำการเพื่อการเรียนรู้ของตน โดยนักเรียนใช้เทคโนโลยีหนุนกระบวนการเรียนรู้นั้น   ต้นฉบับหนังสือเขียนโดยผู้ประสานงานและผู้เอื้อการเรียนรู้ของรูปแบบที่ ๓ นี้   

ผู้เขียนสรุปว่า การใช้ LS บูรณาการเข้ากับการพัฒนาครูประจำการนี้เป็นการดำเนินการที่ให้ผลคุ้มค่าต่อการลงทุนมาก     

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ก.ย. ๖๖

   

หมายเลขบันทึก: 717509เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2024 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2024 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท