จินตนาการจากการอ่านร่าง พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...


จินตนาการจากการอ่านร่าง พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... 

ขอแสดงความชื่นชมคณะกรรมาธิการการศึกษา ของสภาผู้แทนราษฎร ที่แสวงหาความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องหลากหลายฝ่าย เกี่ยวกับร่าง พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... ที่ควรจะผ่านรัฐสภาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว    แต่ถูกต่อต้าน (๑) ทำให้ล่าช้ามาจนบัดนี้    ซึ่งก็มีข้อดีที่มีการแก้ไขให้ลดการรวบอำนาจสู่ส่วนกลางลง 

เพราะธนาคารไทยพาณิชย์และมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้รับเชิญจากนายโสภณ ซารัมย์ ประธานกรรมาธิการการศึกษา ให้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการ “เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประเด็นเกี่ยวกับมุมมองทางด้านการศึกษาของมูลนิธิสยามกัมมาจล   รวมทั้งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นต่อตลาดแรงงาน”    ในวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๗   

คุณเปา ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล จึงส่งร่าง พรบ. มาให้ผมช่วยให้ความเห็น    ที่เมื่ออ่านแล้วก็เห็นว่าเป็นร่าง พรบ. ที่ก้าวหน้ามาก    แต่ก็เห็นว่า มีความท้าทายมาก ต่อการดำเนินการให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ และตามที่ระบุไว้ในรายละเอียดแต่ละหมวดแต่ละมาตรา   

ผมจึงจินตนาการแนวทางนำเอาสาระสำคัญในร่าง พรบ. ไปดำเนินการ “แผนงานวิจัยและนวัตกรรม” ด้านการศึกษาและการเรียนรู้    ที่ สกสว. น่าจะสนใจจัดสรรเงินจากกองทุน ววน.  โดยไม่ต้องรอ พรบ. เพราะเป้าหมายตามที่ระบุในหมวดที่ ๑ ของร่าง พรบ. ชัดเจนอยู่แล้ว    โดยในบันทึกนี้ขอจำกัดจินตนาการไว้ที่ แผนงาน ว&น ด้านการศึกษา เท่านั้น    ยังไม่แตะประเด็นอื่นๆ 

ขอย้ำว่าข้อเสนอแผนงานวิจัยนี้ ในทางปฏิบัติเป็นงานพัฒนาโมเดลที่มีความยืดหยุ่น และเป็นพลวัต  มีหลักการเชิงปฏิบัติที่ได้จากการทดลองหรือจากการเรียนรู้จากประสบการณ์   และในทางผลกระทบ เป็นการเปลี่ยนขาด (transform) วัฒนธรรมหรือความเชื่อด้านการบริหารการศึกษา   จากเดิมเน้นควบคุมและสั่งการ มาเป็นเน้นการเอื้ออำนาจ (empowerment)   รวมทั้งเดิมเน้นการสอนสาระ (passive learning) มาเป็นการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) (สาระหลายตอนในร่าง พรบ. ส่งกลิ่นไอ passive learning)     และเน้นทำไปเรียนรู้ไปพัฒนาไป อย่างต่อเนื่อง     โดยโครงการพัฒนาต้องเชื้อเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนา    โดยผมขอเสนอให้ใช้    DE – Developmental Evaluation ในโครงการวิจัยที่จะเสนอต่อไปนี้ 

โครงการพัฒนาและวิจัย เพื่อพัฒนาโมเดลคณะกรรมการโรงเรียน 

ดำเนินการรองรับ มาตรา ๒๓   ที่โจทย์คือ (๑) องค์ประกอบ และขนาด ของคณะกรรมการโรงเรียนที่ดำเนินการได้ผลจริง ในโรงเรียนหลากหลายบริบท  (๒) การทำหน้าที่กำกับดูแลโรงเรียนให้ส่งผลต่อคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน  และต่อการเรียนรู้ของกลุ่มครูจากการปฏิบัติงาน  ที่เป็นการกำกับดูแลแบบเน้นเอื้ออำนาจ (empowerment)  (๓) ช่วยประสานงานหรือแนะนำ ผู้ปกครองหรือผู้รู้ในชุมชนโดยรอบโรงเรียน ที่สามารถร่วมเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้จากการปฏิบัติหรือโครงงานของนักเรียนได้ (co-educators)   (๔) การกำกับและส่งเสริมให้โรงเรียนจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่คนในพื้นที่ (มาตรา ๙ และ ๒๑)  (๕) การพัฒนาระบบส่งต่อนักเรียนระหว่างโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบส่งต่อในพื้นที่   รวมทั้งระบบช่วยเหลือนักเรียนที่มีความท้าทายต่อการหลุดออกจากการศึกษา    ให้ได้เรียนต่อในระบบหรือรูปแบบที่เหมาะสมต่อนักเรียนผู้นั้น  (๖) การให้ข้อมูลแก่กลไกระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับจังหวัด เพื่อการพัฒนาระบบการศึกษาของเขตฯ และจังหวัด  (๗) อื่นๆ 

ต้องไม่ลืมว่า การวิจัยทั้งหมดที่กล่าวในบันทึกนี้ เป็นการพัฒนาและวิจัย (D&R – Development and Research)    และดำเนินการในแบบ DE   คือใช้พลังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ครบถ้วน    

โครงการพัฒนาและวิจัย เพื่อพัฒนาโมเดลโรงเรียนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

มาตรา ๙ และ ๒๑ ของร่าง พรบ. ฯ ระบุชัดเจนว่าโรงเรียนสามารถทำหน้าที่จัดการเรียนรู้ของคนทุกวัยได้    ผมจึงเสนอให้มีหน่วยงานรับผิดชอบทุนวิจัยและนวัตกรรม ประกาศรับสมัครโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ที่คนต้องการการเรียนรู้แบบ upskills & reskills ชัดเจนเป็นพิเศษ เสนอแนวทางใช้โรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนาคนในวัยทำงานหรือผู้สูงอายุ    โดยมีภาคีร่วมงาน เช่นภาคธุรกิจเอกชน  ภาคประชาสังคม อปท.   โดยที่กิจกรรมนี้น่าจะส่งผลให้โรงเรียนมีรายได้ เอามาสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนได้ด้วย   รวมทั้งทีมงานของโรงเรียนได้เรียนรู้และมี connection ในการทำงานให้ส่งผลดีต่อนักเรียนยิ่งขึ้น   

น่าจะคัดเลือกโรงเรียนและทีมงานเข้าร่วมเพียง ๒๐ - ๓๐ โรงเรียนเท่านั้น   ทุน ว&น สนับสนุนโค้ชหรือผู้ประสานงานเพื่อการเรียนรู้จากประสบการณ์ ในลักษณะ PLC ของกลุ่มโรงเรียนที่เป็นสมาชิก   มีการดำเนินการไปเรียนรู้ไปปรับปรุงไป    ใช้ DE และ Kolb’s Experiential Learning Cycle    ใช้เวลาประมาณ ๓ ปี    ได้ความรู้เชิงหลักการหรือทฤษฎี เกี่ยวกับ “โรงเรียนสำหรับคนทุกวัย” ตามบริบทที่หลากหลาย    และได้โมเดลของการดำเนินการด้วย 

   ในระหว่างดำเนินการ มีการจัด online PLC ทุกเดือน   และ onsite PLC ทุก ๔ - ๖ เดือน   และ DE ปีละ ๓ ครั้ง คือ  ต้นน้ำ  กลางน้ำ และปลายน้ำ จะเป็น onsite หรือ online พิจารณาตามความเหมาะสม   

งบประมาณสนับสนุนโครงการอยู่ที่ค่าดำเนินการโค้ช ด้วย PLC, DE และ Kolb’s Experiential Learning Cycle   โดยเฉพาะค่าเดินทางมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบพบหน้ากัน    ที่ต้องมีเป็นระยะๆ   

โครงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนากลไกการกำกับดูแลระบบการศึกษาระดับจังหวัด 

ใช้วิธีรับสมัครและคัดเลือก    รวมทั้งใช้การโค้ช ด้วย PLC, DE และ Kolb’s Experiential Learning Cycle แบบเดียวกันกับโครงการที่กล่าวมาแล้ว    

เป้าหมายคือ เกิดระบบกำกับดูแลแนว empowerment แบบร่วมมือประสานงานกันอย่างไร้รอยต่อระหว่าง ระดับโรงเรียน เขตพื้นที่ และจังหวัด   มีการทะลายกำแพงไซโลหน่วยงานอย่างได้ผล และเห็นผลต่อนักเรียน  และต่อพื้นที่  ไม่มีผู้บริหารที่เอาแต่ใจตนเองเป็นใหญ่อย่างไร้เหตุผล สามารถดำรงตำแหน่งอยู่ได้

โครงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนากลไกการปฏิบัติงานของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ      

เรื่องนี้จะเป็นนวัตกรรมของการจัดการกลไกกำกับดูแลระดับชาติ ต่อระบบสำคัญๆ ที่ใน พรบ. และเอกสารนโยบายบอกว่าเป็นจุดเป็นจุดตายของอนาคตของชาติ   แต่เมื่อปฏิบัติจริงกลไกระดับชาติกลับเป็นตัวอุปสรรค เพราะมีการเล่นการเมือง และถูกระบบผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเข้ามาบั่นทอนใต้โต๊ะ 

ต้องใช้กลไกของ DE ที่ใช้พลังข้อมูล และพลังของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) เข้ามาร่วมสร้างสรรค์     ให้การเปลี่ยนขาด (transformation) ระบบการศึกษาไทย เกิดขึ้น ให้จงได้    ผ่านกลไกสร้างความโปร่งใสของกลไกนโยบาย

เรื่องนี้มีการพูดกันแบบเป็นการภายในอยู่โดยทั่วไปในหลากหลายระบบ    หากระบบการศึกษาเอาชนะแรงเฉื่อยนี้ได้    นอกจากจะเกื้อกูลระบบการศึกษาแล้ว   ยังจะเป็นตัวอย่างวิธีพัฒนาระบบงานของกลไกนโยบายด้านอื่นๆ ด้วย

  โครงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนากลไกการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา   

ดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับ โครงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนากลไกการปฏิบัติงานของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ

 โครงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนากลไกการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารกองทุนครูของแผ่นดิน 

ดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับ โครงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนากลไกการปฏิบัติงานของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ

 

ที่จริงยังมีโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนขาดกระบวนทัศน์ และวัฒนธรรม ของวงการศึกษาไทยในทางอ้อมแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น แต่เกิดประโยชน์แก่สังคมไทยทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง ผ่านการออกแบบโจทย์วิจัยและนวัตกรรมอีกมาก   แต่บันทึกนี้น่าจะเสนอพอเป็นตัวอย่างก่อน 

ผมใช้ชื่อบันทึกนี้ว่า จินตนาการ บอกความนัยว่า ไม่ทราบว่าจะเป็นข้อคิดเห็นที่ถูกต้องหรือไม่

วิจารณ์ พานิช

๓ มี.ค. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 717468เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2024 17:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2024 17:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท