โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้  ๑๐. เชื่อมเป้าหมายการสอนเข้ากับเป้าหมายของการศึกษาบทเรียน


 

บันทึกชุด โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ นี้ ตีความจากการอ่านหนังสือ ๒ เล่ม คือ Lesson Study and Schools as Learning Communities : Asian School Reform in Theory and Practice (2019) edited by Atsushi Tsukui and Masatsuku Murase   และ Lesson Study Communities : Increasing Achievement With Diverse Students (2007) by Karin Wiburg and Susan Brown    

ตอนที่ ๑๐ นี้ ตีความจาก บทที่ ๔ ของหนังสือเล่มที่สอง   เรื่อง Connecting Instructional Goals to Lesson Study

       

สรุปโดยย่อที่สุดคือ ครูต้องรู้จักรวมตัวกันใช้เป้าหมายเป็นพลังขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของตนผ่านการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการศึกษาบทเรียน   รู้จักใช้เป้าหมาย ๔ ชั้นที่จะกล่าวถึงต่อไป ให้เป็นพลังเสริมกัน   สู่การพุ่งเป้าโจทย์ของการศึกษาบทเรียนที่จะก่อคุณประโยชน์ต่อนักเรียนได้สูง    ได้สนองนโยบายของหน่วยเหนือ  และได้เรียนรู้เพื่อความก้าวหน้าของกลุ่มครูเอง       

 

เป้าหมายใหญ่ (overarching goal) หมายถึงเป้าที่ครูและผู้บริหารกำหนดว่าต้องการให้นักเรียนได้พัฒนาเป็นอย่างไรในฐานะมนุษย์ และในฐานะพลเมือง    เป้าหมายของสาระวิชา (content area goal) หมายถึงสิ่งที่ครูหวังให้นักเรียนได้คิดและทำในสาระหรือวิชาหนึ่ง    เป้าหมายของหน่วยเรียนรู้ (unit goal) หมายถึงสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้ในคาบเรียนหนึ่ง    เป้าหมายเหล่านี้ต้องเชื่อมโยงกัน    และเชื่อมโยงกับประเด็นเรียนรู้ใน LS   

ก่อนเริ่ม LS คำถามสำคัญที่สุดคือ “คุณต้องการให้นักเรียนเป็นคนชนิดไหน เมื่อเขาออกจากโรงเรียนไป ๕ ปี”   นี่คือเป้าหมายใหญ่ของ LS 

พัฒนาเป้าหมายใหญ่ของ LS

การพัฒนาเป้าหมายใหญ่ (overarching goal) ทำไม่ยาก  ปัญหาคือเรามักไม่ได้ทำ   วิธีการมี ๒ จังหวะ  จังหวะแรกครูและผู้บริหารแต่ละคนกำหนดเป้าหมายของตน โดยตั้งคำถามว่า “คุณต้องการให้นักเรียนเป็นคนชนิดไหน เมื่อเขาออกจากโรงเรียนไป ๕ ปี”   เขียนบันทึกไว้    จังหวะที่สอง สมาชิกทั้งหมดของโรงเรียนประชุมร่วมกัน    นำเสนอเป้าหมายของแต่ละคน รับฟังกัน และร่วมกันหลอมรวมหรือสังเคราะห์เป็นเป้าหมายของโรงเรียน   นี่คือเป้าหมายใหญ่ของ LS ของโรงเรียน

ตัวอย่างเป้าหมายใหญ่ของกลุ่ม LS อื่น

  • นักเรียนมีความมั่นใจในความสามารถของตนเองต่อการเรียนรู้
  • นักเรียนพัฒนาเป็นคนที่รู้จักคิดอย่างอิสระ และทำงานเป็นทีม เพื่อแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
  • นักเรียนมีความมั่นใจต่อการใช้คณิตศาสตร์แก้ปัญหาในวิชาอื่นๆ
  • นักเรียนมีความมั่นใจต่อความความสามารถของตนในการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน
  • นักเรียนกล้าเสี่ยงและคิดนอกกรอบในทุกสาขาของหลักสูตร 
  • นักเรียนเป็นนักคิดอย่างมีวิจารณญาณ  มีความสามารถวิเคราะห์ข้อมูล และหาข้อสรุป
  • นักเรียนทำงานด้วยกัน แลกเปลี่ยนความคิด ให้เกียรติซึ่งกันและกัน   และใช้ทักษะเหล่านี้ในการแก้ปัญหา 

ทั้งเป้าหมายการพัฒนาครู และเป้าหมายการสอน ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่นี้   

และในทำนองเดียวกัน    เป้าหมายใหญ่ของโรงเรียน ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ของเขตพื้นที่การศึกษา 

พัฒนาเป้าหมายของสาระวิชา

ก่อนดำเนินการกิจกรรม LS ครูต้องใคร่ครวญว่าสาระวิชาที่ตนสอนมีคุณค่าอย่างไร    โดยใคร่ครวญคนเดียวแล้วจดไว้   นำมาใคร่ครวญร่วมกันในการประชุมครูและสมาชิกของโรงเรียน   โดยคำนึงว่าแต่ละวิชามีทั้งส่วนที่เป็นสาระและส่วนที่เป็นกระบวนการ  ครูต้องใคร่ครวญว่าวิชาที่ตนสอนมีลักษณะสำคัญอย่างไร    การพิจารณาคุณค่า และลักษณะสำคัญ นำสู่การกำหนดเป้าหมายของวิชานั้นๆ   ตัวอย่างของเป้าหมายของสาระวิชาต่างๆ มีดังนี้ 

  • การรู้หนังสือ เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างการอ่าน การเขียน และการพูด  ในระหว่างที่นักเรียนพยายามทำความเข้าใจแบบเรียน 
  • สังคมศาสตร์ ต้องการความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองกับสภาพแวดล้อมด้านการเมือง เศรษฐกิจ และภูมิศาสตร์   รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และในโลก 
  • วิทยาศาสตร์มีพื้นฐานที่ความสงสัย และการทำความเข้าใจโลกกายภาพ
  • คณิตศาสตร์ เป็นวิธีบอกปฏิสัมพันธ์ระหว่างจำนวนสิ่งของ   

มาตรฐานเชิงสาระ

เป้าหมายของสาระวิชามีกำหนดไว้ในเอกสารมาตรฐานสาระวิชา ที่กำหนดโดยองค์กรระดับชาติ   นอกจากใคร่ครวญเป้าหมายเอง (ตามที่กล่าวแล้ว) ครูสามารถใช้ประโยชน์จากเอกสารมาตรฐานนี้ได้   โดยต้องไม่ใช่ใช้อ้างอิงแบบนกแก้วนกขุนทอง หรือแบบตัดปะในเอกสาร    ต้องเอามาอ่านทำความเข้าใจ และตั้งคำถามว่า “หลักสำคัญที่สุดในมาตรฐานคืออะไร”   ที่เป็นหลักการที่นักเรียนจะต้องเข้าใจ และนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต    โดยอาจตั้งคำถามเชิงสถานการณ์สมมติดังนี้

  • สมมติว่าตอนปิดเทอมภาคฤดูร้อน    ครูไปพบศิษย์ที่ตนสอนในวิชา ... ๒ คนที่ศูนย์การค้า   และถามนักเรียนว่าจำอะไรได้บ้างจากชั้นเรียน   ครูคาดหวังว่าลูกศิษย์จะตอบว่าอย่างไร   ครูคาดหวังว่านักเรียนจะจดจำหลักการสำคัญอะไรสองสามประการ ที่นำมาตอบครูได้   
  • สมมตว่าวิชาคณิตศาสตร์ในชั้น ม. ๓ เป็นวิชาคณิตศาสตร์วิชาสุดท้ายที่นักเรียนเรียน (เพราะไม่ได้เรียนต่อ ม. ๔)   ครูคาดหวังว่านักเรียนจะได้หลักการอะไรเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ สำหรับเอาไปใช้ในการดำรงชีวิต   

หลักการสำคัญคือ การศึกษาหรือการเรียนรู้ที่แท้จริงคือสิ่งที่ได้ติดตัวไปหลังออกจากโรงเรียน    ดังนั้นครูควรเสวนากัน เพื่อร่วมกันตอบคำถามในทำนอง  (๑) การเรียนในสาขาที่ครูสอนมีคุณค่าอย่างไร  (๒) ในการเรียนวิชานี้ ครูหวังให้นักเรียนรู้อะไรและทำอะไรได้   (๓) สิ่งที่ครูต้องการให้นักเรียนเรียนรู้อย่างลึก และนำความเข้าใจนั้นไปใช้ในชั้นเรียนที่สูงขึ้น หรือใช้ในการดำรงชีวิต คืออะไร   

เป้าหมายของ LS

เป้าหมายของ LS ต้องเชื่อมโยงกับเป้าหมายที่ใหญ่กว่า    รวมทั้งเป้าหมายเชิงสาระวิชา  และเป้าหมายใหญ่ของชั้นเรียน และของโรงเรียน   เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงดังกล่าว ผู้เขียนแนะนำให้ใช้เทคนิคออกแบบย้อนหลัง (backward design process)    เพื่อช่วยให้  (๑) ครูมองโจทย์ของ LS ในฐานะตัวช่วยให้นักเรียนเข้าใจเชื่อมสู่สิ่งที่กว้างกว่าที่กำหนดในหลักสูตร  รวมทั้งให้ครูคิดถึงวิธีประเมินความเข้าใจนั้น  และ (๒) การที่โจทย์ LS อยู่ภายในขอบเขตของเป้าหมายหลักสูตรใหญ่  ช่วยให้ครูไม่ต้องทำงานเพิ่มขึ้น 

กระบวนการวางแผนหน่วย LS

เขาใช้เวลาถึง ๒ วัน ในการดำเนินการประชุมปฏิบัติการวางแผนหน่วย LS    โดยอาจกระจายขั้นตอนออกไปหลายๆ วันก็ได้    มีข้อเสนอการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน 

จัดเวลาเพื่อการวางแผนให้เพียงพอ

เหตุที่ใช้เวลาและความพิถีพิถันในการวางเป้าหมาย และการออกแบบหน่วย LS ก็เพราะ   เขาพบว่า LS เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการจัดการเรียนรู้เพื่อนักเรียนทุกคน  ที่มีผลลดช่องว่างของผลการเรียนในกลุ่มนักเรียน    ผ่านการเปลี่ยนวัฒนธรรมการสอน ที่มีครูเป็นผู้นำ    

วัฒนธรรมการสอนใหม่ พัฒนาขึ้นในโรงเรียนโดยทีมครูร่วมกันบอกตนเองว่าควรทำและไม่ทำอะไร    ที่ไม่ควรทำคือบอกความรู้แก่นักเรียน  นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากเครื่องมือพัฒนาครูประจำการแบบใหม่ที่เรียกว่า “การศึกษาบทเรียน” (Lesson Study)    ที่นำสู่ “การพัฒนาบทเรียน”   เกิดวัฒนธรรมใหม่ของระบบการศึกษา ที่ครูร่วมกันพัฒนาวิชาชีพของตนเองผ่านกระบวนการร่วมกัน “หาความหมาย” ในวิชาชีพของตน    ทำให้เกิดความเข้าใจว่า การพัฒนาครูไม่ได้เกิดจากมีคนมาบอกครูให้ทำและไม่ทำอะไร    และในทำนองเดียวกัน การเรียนรู้ของนักเรียนก็ไม่ได้เกิดจากครูบอก 

ครูต้องคิดต่างจากเดิม   จึงจะมีพฤติกรรมจัดการเรียนการสอนที่เกิดการเรียนรู้ในนักเรียนทุกคน     การประชุมปฏิบัติการ ๒ วันนี้ มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนวิธีคิดของครูเกี่ยวกับการสอน    เริ่มจากการตั้งเป้าหมายว่าต้องการให้นักเรียนเข้าใจอะไร   ตามด้วยคำถามว่า รู้ได้อย่างไรว่านักเรียนเข้าใจ  และจะออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้อย่างไรเพื่อเอื้อให้นักเรียนทุกคนเข้าใจ   หัวใจคือต้องเปลี่ยนพฤติกรรมครูจากสอนหรือบอก ไปเป็นพฤติกรรมที่ช่วยเอื้อให้นักเรียนทุกคนเข้าใจ   

การประชุมปฏิบัติการต้องช่วยให้ครูได้เข้าใจตนเอง    ได้เรียนรู้จากข้อเรียนรู้ที่เพื่อนครูค้นพบ จากกิจกรรม LS ครั้งก่อนๆ   โดยผู้เขียนยกตัวอย่างข้อค้นพบยิ่งใหญ่ที่ตนได้ฟังจากครูในกิจกรรมประชุมวิชาการ LS ประจำปี    ๒ ตัวอย่างคือ 

  1. เข้าใจความเข้าใจผิดของตนเองในเรื่องการตอบคำถามของนักเรียน    ครูได้ค้นพบว่า เมื่อนักเรียนถามครูต้องรับคำถามนั้น  และแปลงคำถามให้กลายเป็นคำถามต่อนักเรียน (เราเรียกว่า ทักษะการถามกลับ)   ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนคุ้นกับการใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นต่อการเรียนรู้ของตนเอง   ช่วยให้ครูรู้วิธีขอให้นักเรียนอธิบายข้อสงสัยหรือคำถาม   ให้นักเรียนบอกว่าได้พยายามหาคำตอบอย่างไร  ให้นักเรียนบอกว่าถึงตอนนั้นได้เรียนรู้อะไรบ้างแล้ว ฯลฯ 
  2. ในกระบวนการ จะมีเหตุการณ์ที่ครู “อ๋อ” เกี่ยวกับการสอน   เช่น เกิดความเข้าใจว่าการเรียนรู้ของนักเรียนดีขึ้นเมื่อนักเรียนได้รับมอบความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเองเพิ่มขึ้น    ครูได้ตระหนักว่า ตนลืมใช้ทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ที่ดีที่สุดต่อนักเรียน  คือตัวนักเรียนเอง    ครูคนหนึ่งบอกว่าชั้นเรียนของตนมีนักเรียน ๒๕ คน  เท่ากับตนมีครูผู้ช่วย ๒๕ คน     

นี่คือเหตุผลที่ต้องใช้เวลาวางแผน LS ให้เพียงพอ    และจัดกระบวนการให้ครูได้เข้าใจว่า LS คือเครื่องมือหนุนให้ครูเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผ่านการเรียนรู้ร่วมกันของตัวครูเอง   ที่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์การจัดการบทเรียน       

ฝึกประเมินความเข้าใจของนักเรียน

การประชุมปฏิบัติการ ให้ครูทำความเข้าใจเรื่องการประเมิน และฝึกทักษะประเมินความเข้าใจและประเมินอารมณ์ของนักเรียน ก่อนปฏิบัติการ LS มีความสำคัญมาก   เพราะในระหว่างกิจกรรมเรียนรู้ของนักเรียนครูต้องสังเกตและประเมินความคิด การเรียนรู้ (ความเข้าใจ) และอารมณ์ของนักเรียนอยู่ตลอดเวลา (formative assessment)    สำหรับนำข้อมูลจากการประเมินมาใช้ตัดสินใจแสดงบทบาทหนุนการเรียนรู้ของนักเรียน (ทั้งชั้น และเป็นรายคน หรือบางคน)    

ทำความเข้าใจ Balanced assessment

 balanced assessment หมายถึงการประเมินที่ผสมการประเมินในชีวิตการเรียนการสอนประจำวันของครูและนักเรียน เพื่อหนุนการเรียนรู้ของนักเรียน (และของครู) เข้ากับการประเมินเป็นครั้งคราว (ที่อาจจัดโดยโรงเรียน เขตพื้นที่ หรือประเทศ) เพื่อดูผลสัมฤทธิ์ของการเรียน  ก่อนเริ่มกิจกรรม LS จึงควรจัดการประชุมปฏิบัติการเอาตัวอย่างข้อสอบระดับเขตหรือระดับประเทศในสาระที่จะเป็นหัวข้อของหน่วย LS    มาตีความทำความเข้าใจร่วมกันว่า ในการทำข้อสอบ นักเรียนต้องมีกระบวนการคิดอย่างไรบ้าง    สำหรับเป็นข้อมูลพื้นฐานในการออกแบบ และดำเนินการ LS      

พัฒนาการประเมินสำหรับใช้ใน LS

ประเด็นหลักของการเรียนรู้ของครูในกระบวนการ LS คือเพื่อหาทางทำความเข้าใจจุดที่นักเรียนไม่เข้าใจ ในบทเรียนนั้นๆ   เขาจึงแนะนำให้ทดลองทำการประชุมปฏิบัติการให้นักเรียนทำข้อสอบในเรื่องนั้นๆ    เพื่อหาจุดที่นักเรียนตัวจริงไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด     สำหรับเป็นข้อมูลพื้นฐานในการออกแบบ และดำเนินการ LS    

เป้าหมายของการศึกษาบทเรียน

เป้าหมายของการศึกษาบทเรียน เป็นเป้าหมายชั้นในสุดของเป้าหมาย ๔ ชั้น   คือ (๑) เป้าหมายใหญ่ หรือเป้าหมายระยะยาวของการพัฒนานักเรียน  ต้องการให้นักเรียนเติบโตขึ้นเป็นคนแบบไหน  (๒) เป้าหมายของรายวิชาหรือสาระวิชาที่ครูสอน  เมื่อได้เรียนคณิตศาสตร์ นักเรียนเกิดคุณสมบัติใดบ้าง   (๓) เป้าหมายของหน่วยการสอน ที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานการเรียนรู้ ทั้งมาตรฐานเชิงสาระ และมาตรฐานเชิงกระบวนการ  เมื่อจบการเรียนหน่วยนี้ นักเรียนควรได้เข้าใจและสนใจสาระและกระบวนการใดบ้าง    (๔) เป้าหมายของกระบวนการ LS ที่พุ่งความสนใจที่หนึ่งจุดของหน่วยการสอน   บทเรียนที่เรา (ครู) ร่วมกันวางแผน ดำเนินการ และเรียนรู้ ที่จะสามารถนำไปใช้ในหน่วยการสอนเพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง.   ให้เกิดความเข้าใจกลยุทธการสอน ที่จะช่วยให้นักเรียนได้บรรลุความเข้าใจนั้น   

ครูที่มีประสบการณ์สูง เป็นผู้เข้าใจนักเรียนอย่างลึกซึ้งในระหว่างการสอน  ว่านักเรียนเข้าใจอะไรและต้องการอะไร   และรู้ว่าตนจะแสดงออกต่อความเข้าใจและความต้องการของนักเรียนอย่างไร   

ในการเตรียมจัดกระบวนการ LS  ควรถามครูว่า มีข้อสงสัยหรือสนใจตรงส่วนไหนของการเรียนรู้ของนักเรียน   อาจให้ครูได้ทบทวนว่ามีหลักการใดที่นักเรียนเข้าใจยาก   และคิดว่าที่เข้าใจยากเพราะเหตุใด  และช่วยกันหาวิธีการหลากหลายวิธีที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจ หรือเข้าใจได้ง่ายขึ้น      

การวิจัยปฏิบัติการและแผนพัฒนาครูประจำการ

ผู้เขียนเล่าเหตุการณ์ในเขตพื้นที่การศึกษาแห่งหนึ่ง ขอความช่วยเหลือจากการที่ฝ่ายการศึกษาของรัฐกำหนดให้ต้องมีแผนพัฒนาครูประจำการ ที่เชื่อมโยงกับการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน     ทางเขตต้องการเชื่อมโยงแผนพัฒนาครูประจำการ (professional development plan) ดังกล่าว เข้ากับการวิจัยปฏิบัติการที่ครูในเขตคุ้นเคยอยู่แล้ว   เพื่อให้มีผลยืนยันว่านักเรียนได้ประโยชน์   

ทางเขตพื้นที่กำหนดให้โรงเรียนในเขตดำเนินการใน ๒ สาระวิชา คือ การอ่านออกเขียนได้ กับคณิตศาสตร์    ซึ่งหมายความว่า โจทย์วิจัยชั้นเรียนจะต้องเกี่ยวกับ ตัวเลข การอ่าน เขียน ฟัง และพูด    สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ครูรวมตัวกันเป็นกลุ่มตามสาระวิชา เพื่อร่วมกันพัฒนาโจทย์วิจัย    ทีมของผู้เขียน (ในฐานะ facilitator) แนะนำให้ครูตั้งคำถามเดียวเกี่ยวกับสาระวิชาเดียว    และให้ตั้งคำถามว่า มาตรฐานสาระวิชาที่ครอบคลุมโจทย์ที่สนใจเป็นอย่างไร   คำถามคืออะไร   และจะเก็บข้อมูลอะไรบ้างเพื่อตอบโจทย์นั้น       

กลุ่มครูส่วนใหญ่ตั้งโจทย์และดำเนินการวิจัยก้าวหน้าได้อย่างดี    แต่ก็มีบางกลุ่มที่มีปัญหาสมาชิกเข้าๆ ออกๆ ไม่ต่อเนื่อง   ไม่เป็นชุมชนเรียนรู้อย่างแท้จริง 

จะเห็นว่า ฝ่ายการศึกษาของรัฐสามารถตั้งเงื่อนไขสนับสนุนให้เกิด LS ได้โดยง่าย    โดยกำหนดให้แผนพัฒนาครูประจำการ ต้องเชื่อมโยงกับการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน

สรุป

เป้าหมายคือพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง   มีผลงานวิจัยบอกว่าครูที่กำหนดเป้าหมายการสอนชัดเจน ส่งผลให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนสูงกว่าครูที่ไม่กำหนดเป้าอย่างชัดเจน    กระบวนการศึกษาบทเรียนช่วยให้ครูได้ใช้เป้าของเขตพื้นที่และของโรงเรียน หนุนเป้าของตนเอง    ทั้งในระดับสาระวิชา และระดับหน่วยย่อย ที่นำสู่โจทย์ของการศึกษาบทเรียน     และสู่การบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่สูงขึ้นของนักเรียน     

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ย. ๖๖

       

หมายเลขบันทึก: 717329เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2024 19:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2024 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท