พระราโชวาทพระราชทาน แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕


พระราโชวาทพระราชทาน แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕ 

เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ 
เวลา ๐๘.๒๑ น. 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า 
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 

เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานปริญญาบัตร
แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕ 

ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา
 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ในการนี้ สภามหาวิทยาลัยฯ 
มีมติทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 
สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ 

แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า 
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 

ด้วยทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการศึกษา 
โดยพระราชทานโครงการพระราชดำริต่าง ๆ 
เพื่อช่วยเหลือเยาวชนให้มีโอกาสทางการศึกษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โอกาสนี้ 
พระราชทานพระราโชวาทใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า 

"ในปัจจุบัน กล่าวกันมากว่า 
การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความสำคัญเป็นอย่างมาก 

เนื่องจากเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น 
จนอาจมีความสามารถที่จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ในกิจการงานต่าง ๆ 

หากคนเราไม่เรียนรู้และปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงนี้ 
ก็คงยากที่จะดำเนินชีวิตและประกอบกิจการงานให้บรรลุถึงความสำเร็จและความเจริญได้ 

ข้าพเจ้าจึงใคร่จะกล่าวถึง 
วิธีการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนตลอดชีวิต 
เพื่อให้ทุกท่านได้พิจารณา 

ประการแรก 
กระทำตนให้พร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา 
โดยระลึกไว้เสมอว่า 

ความรู้ความสามารถนั้น เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ 
ด้วยการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และการฝึกหัดปฏิบัติ 

ประการที่สอง 
เข้าไปคบหาสมาคมกับคนดี มีความรู้ความสามารถ 
จะได้ถ่ายทอดความรู้และความดีซึ่งกันและกัน 
ช่วยชักนำกันให้เกิดความอุตสาหะพากเพียรในการเรียนรู้ และการพัฒนาตนเอง 

ประการที่สาม 
ลงมือปฏิบัติ 
ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้มากกว่าการท่องจำ แต่เพียงอย่างเดียว 
และเป็นการพัฒนากระบวนการคิด 

ตลอดจนการนำความรู้มาปรับใช้และต่อยอด 
อันจะทำให้เกิดความมั่นใจและความเชี่ยวชาญชำนาญ 
ซึ่งน้อมนำให้เกิดความใฝ่รู้ใฝ่เรียนได้เป็นอย่างดี 

ประการที่สี่ 
เลือกการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง 
โดยกำหนดวิธีการ ช่วงเวลา เป้าหมาย ลำดับในการเรียนรู้ 

และเรื่องที่จะเรียนรู้ให้พอเหมาะพอดีกับ
ศักยภาพ 
ความถนัด 
ความสนใจและปัจจัยแวดล้อมของตน 

ประการสุดท้าย 
เมื่อสำเร็จการศึกษาออกจากมหาวิทยาลัยแล้ว 
อาจจะไม่มีผู้ใดมาคอยบอกกล่าว หรือกระตุ้นเตือนให้ศึกษาหาความรู้ 

มีเพียงตนเองเท่านั้น ที่จะกระตุ้นและผลักดันตนเอง 
ให้มีความตั้งใจอันมั่นคงที่จะเรียนรู้ต่อไปไม่สิ้นสุด 

จึงขอให้บัณฑิตทุกคน หมั่นฝึกฝนพัฒนาตนเองดังที่กล่าว 
เพื่อความสำเร็จ และความเจริญมั่นคงในชีวิตและกิจการงานสืบไป"

นำมาจาก เพจ : เรารักกรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ Our Beloved HRH Princess Maha Chakri Sirindhorn

พีระพงศ์ วาระเสน บ๊อบบี้
จิตอาสาเราทำความดีด้วยหัวใจ 
ทั้งทางด้านอนาล๊อก และด้านดิจิทัล
ผู้บันทึก

๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

หมายเลขบันทึก: 717326เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2024 06:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2024 06:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท