เพื่อสังคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย


 

หนังสือ ปัญญาอลวน เรื่องเล่าสารคดี สี่จดหมายเหตุ โดย ดร. เกียรติศักดิ์ ศรีพิมานวัฒน์ อดีตนักวิจัย สวทช.   ระบุไว้ที่เว็บไซต์ว่า เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่ออนาคตที่ผิดพลาดน้อยลง    ผมมีโอกาสได้อ่านก่อน แล้วได้คุยกับผู้เขียน   จึงได้มีโอกาสสารภาพกับท่านว่า เนื่องจากเป็นหนังสือด้านเทคโนโลยีล้ำหน้าด้านการสื่อสารและสารสนเทศ (สมาคม IEEE เป็นผู้จัดทำและเผยแพร่หนังสือเล่มนี้)  ผมจึงอ่านไม่แตก   

จึงถามท่านว่า หนังสือเล่มนี้ชี้ข้อผิดพลาดที่ไม่ควรเกิดซ้ำเรื่องอะไรบ้าง    โดยที่ในหนังสือ ว่าด้วยประวัติศาสตร์ ๔ เรื่อง คือ (๑) รหัสเทอร์โบ  (๒) โทรคมนาคมไทย  (๓) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย  (๔) สจล. 

ยิ่งแก่ตัวลง ผมยิ่งสอนตัวเองให้ไม่หลงหมกมุ่นอยู่กับการจัดการปัญหา (manage the problems)    แต่ให้เน้นหาทางจัดการทางออกหรือการแก้ปัญหา (manage the solutions)   ซึ่งหมายความว่าเป้าหมายต้องชัด ว่าต้องการบรรลุผลอะไร   

ผมจึงถาม ดร. เกียรติศักดิ์ ว่าเป้าหมายของการเขียนและเผยแพร่หนังสือเล่มนี้คืออะไร    ต้องการให้เป็นข้อเรียนรู้แก่สังคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยอย่างไรบ้าง

จะเห็นว่า ผมใช้เป็นโอกาสฝึกตั้งคำถาม  และจ้องถามต่อ เมื่อได้รับคำตอบ    

ในวันพบกันจริง เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๗   ระหว่างรับประทานอาหารเที่ยงด้วยกัน   พบว่าลางสังหรณ์ของผมถูก   หนังสือเล่มนี้ และกิจกรรมของสมาคม IEEE ตองการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเข้ามาทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาหขึ้น   ผมจึงได้โอกาสเสนอแนวคิดหมกมุ่นกับการแก้ปัญหาหรือทางออก    มากกว่าหมกมุ่นทำความเข้าใจปัญหา   

แต่ผมก็ได้เรียนรู้ด้านลบของวงการเทคโนโลยีไทย    ที่มีกิจการเป็นแสนล้าน ผลประโยชน์มากมาย   ความขัดแย้งก็มากตามไปด้วย    รวมทั้งได้เรียนรู้ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย    เป็นอุปสรรคต่อการทำงานพัฒนาระบบ                      

ดร. เกียรติศักดิ์ อยากทราบเคล็ดลับการมีสุขภาพดียามอายุมาก    เมื่อพิจารณาจากบริบทของตัว ดร. เกียรติศักดิ์เองแล้ว   ผมแนะนำให้หางานทำ   ที่จะทำให้ชีวิตมีความท้าทาย คือไม่ราบรื่นเกินไป   ต้องเผชิญสภาพที่ยากลำบาก   และมีการบรรลุเป้าหมายทีละเปลาะ หรือบรรลุเป้าหมายรายทางให้เฉลิมฉลอง   เกิดทั้งปิติสุขและความอึดอัดขัดข้องเป็นระยะๆ   ผมไม่เชื่อว่าชีวิตที่ราบรื่นสบายอย่างราบเรียบจะเป็นชีวิตที่ดี     

ทำให้คุณแอนน์ที่ไม่ร่วมคุยด้วยรำลึกชาติตอนทำงาน KM    ว่าเมื่องานเดินไปได้ระยะหนึ่ง ผมก็จะจัดงานเลี้ยงฉลองในทีมงาน    เพื่อจะได้ทำความเข้าใจเป้าหมายระยะยาว  และความสำเร็จในรูปแบบของ “เป้าหมายรายทาง”    ช่วยสร้างทั้งความเข้าใจ และความมุ่งมั่นร่วมกัน   

ผมแนะนำว่า คนเราต้องทำให้ตนเองต้องเผชิญสภาพที่ไม่สบายแบบมีความเจ็บปวดทุกวัน    ดังตัวอย่างผมยกดัมเบลจนหมดแรงยกไม่ขึ้น   ก็เท่ากับวันนั้นได้ทำให้ตนเองได้มีชีวิตที่เจ็บปวด เอาไว้เตือนใจว่า   ชีวิตคนเราย่อมต้องเผชิญความเจ็บปวดหรือความยากลำบาก 

ขอบคุณ ดร. เกียรติศักดิ์ ที่ส่งหนังสือเล่มนี้มาให้   และยินดีไปรับประทานอาหารเที่ยงง่ายๆ และคุยกับคนแก่    ช่วยให้คนแก่ได้เรียนรู้ 

ข้อสรุปของผมคือ ต้องมีชีวิตอยู่กับจิตวิทยาเชิงบวก    ใช้ลบเป็นบวก   ใช้ความเจ็บปวดเป็นพลังให้มีชีวิตที่มีประโยชน์ต่อไป 

นักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ต้องมีกระบวนทัศน์นี้

วิจารณ์ พานิช

๓ ม.ค. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 717306เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2024 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2024 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท