โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้  ๙. ประเมินความพร้อมในการดำเนินการศึกษาบทเรียน


 

บันทึกชุด โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ นี้ ตีความจากการอ่านหนังสือ ๒ เล่ม คือ Lesson Study and Schools as Learning Communities : Asian School Reform in Theory and Practice (2019) edited by Atsushi Tsukui and Masatsuku Murase   และ Lesson Study Communities : Increasing Achievement With Diverse Students (2007) by Karin Wiburg and Susan Brown    

ตอนที่ ๙ นี้ ตีความจาก บทที่ ๓ ของหนังสือเล่มที่สอง   เรื่อง Assessing Your Readiness for Lesson Study 

      

สรุปโดยย่อที่สุดคือ   กระบวนการศึกษาบทเรียนมีความซับซ้อนและต้องดำเนินการต่อเนื่อง    จึงต้องมีการประเมินความพร้อม และเตรียมความพร้อมในหลากหลายด้าน   เพื่อให้การดำเนินการสามารถบรรลุผลที่การเรียนรู้ของนักเรียน และการเรียนรู้ของครู   ซึ่งต้องทำเป็นวงจรหรือเกลียวยกระดับที่ไม่มีวันจบ   จึงต้องการความพร้อมที่ความเข้าใจเป้าหมายร่วมกัน  เข้าใจว่าต้องมีทรัพยากรสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และผู้นำในโรงเรียนหรือเขตพื้นที่การศึกษาต้องสนับสนุน  โดยที่ผู้นำที่แท้จริงในกระบวนการนี้คือครู    เป็นกระบวนการพัฒนาวิชาชีพครูที่ครูร่วมกันดำเนินการ     

 

ระบบการศึกษาต้องสานต่อความสำเร็จในอดีต  ความเป็นจริงในปัจจุบัน  และวิสัยทัศน์ต่ออนาคตเข้าด้วยกัน    ต้องการความร่วมแรงร่วมใจในการมองไปข้างหลัง ข้างใน และข้างหน้า    คือต้องดำเนินการบนฐานของทั้งความฝันและความจริง   

LS จะประสบความสำเร็จได้ ต้องการเงื่อนไขหลายประการ ได้แก่  (๑) ความคล้องจองกัน (alignment) ในเรื่องเกี่ยวกับหลักสูตร ได้แก่ ความคล้องจองภายในหลักสูตร   และคล้องจองระหว่างหลักสูตรกับ มาตรฐาน การสอน และการประเมิน    (๒) ความเห็นพ้อง(agreement) ในเรื่องหลักสูตร ด้านเป้าหมาย และกระบวนการจัดการหลักสูตร ทั่วทั้งโรงเรียน และเชื่อมสู่พื้นที่การศึกษา   (๓) ความพร้อม ที่จะใช้การพัฒนาวิชาชีพครูรูปแบบใหม่  (๔) ความสามารถ ครูในการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ของนักเรียน   

กล่าวให้ง่ายที่สุดคือ ความสำเร็จของการประยุกต์ใช้ LS ขึ้นกับ ความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง 

ประเมินความพร้อมต่อการพัฒนาวิชาชีพครูรูปแบบใหม่

ความพร้อมที่กล่าวถึงโดยผู้เขียน เป็นเรื่องของประเทศสหรัฐอเมริกา   เน้นความพร้อมระดับประเทศหรือสังคม   และความพร้อมเชิงหลักการหรือยุทธศาสตร์เชิงระบบ   

ภาพที่เขาวาดให้ดู เป็นภาพของ “ความจำเป็น” ที่จะต้องเปลี่ยนขาดระบบการศึกษาของประเทศ  เปลี่ยนขาดรูปแบบของการเรียนรู้  และเปลี่ยนขาดระบบพัฒนาครู รวมทั้งวิถีการปฏิบัติงานของครู   

เขาบอกว่า หากมีครูคนหนึ่งหลับไปครึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950s แล้วตื่นขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 2000s  ก็จะสอนในโรงเรียนได้สบาย   เพราะห้องเรียนยังมีสภาพที่ครูยืนพูดอยู่หน้าชั้น   นักเรียนยังคงอ่านตำราและตอบคำถามของครู   ท่องจำคำศัพท์  และทำโจทย์คณิตศาสตร์นับร้อยนับพันโจทย์ โดยไม่เข้าใจหลักการ  การศึกษาไทยก็ไม่ต่างนะครับ

แต่โลกและสังคมเปลี่ยนไปอย่างมากมาย    รวมทั้งนักเรียนก็เปลี่ยนไป   จุดอ่อนคือผู้คนที่มีบทบาทต่อนโยบายการศึกษาเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการศึกษาของตน    ทำให้หลงคิดว่าระบบการศึกษาแบบที่ตนได้รับ เหมาะสมต่อนักเรียนในยุคปัจจุบัน    

การเปลี่ยนแปลงของนักเรียนในดินแดนภาคตะวันตกฉียงใต้ของสหรัฐคือ ประชากรนักเรียนมีความแตกต่างกันสูงมากในด้านเชื้อชาติและภาษา    โดยในภาคอื่นๆ ของประเทศก็เดินตามแนวโน้มนี้    เขามีข้อมูลว่า ในปี 2040 ประชากรอเมริกันจะเป็นกลุ่มฮิสแปนิก และ ลาติโน ร้อยละ ๒๕   ในประเทศไทยเรามีสภาพคล้ายกันกับที่เขากล่าว ในพื้นที่ชายแดน และพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก   

ผมขอเพิ่มเติมประเด็นท้าทาย ว่านักเรียนเติบโตขึ้นมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างจากครู    ทำให้วิถีชีวิตและความคิดแตกต่างกัน   ครูต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจพฤติกรรมและวิธีคิดของนักเรียน   เนื่องจากการเรียนการสอนเป็น “กิจกรรมทางวัฒนธรรม” (cultural activity) ตามที่ผู้เขียนระบุ   

สิ่งที่ต้องเปลี่ยนขาดคือ วัฒนธรรมของการสอน (culture of teaching)    และวัฒนธรรมทางการศึกษา (culture of education)   และบุคคลสำคัญที่สุดที่แสดงบทบาทเปลี่ยนขาดนี้คือครู     จึงต้องเปลี่ยนขาดระบบพัฒนาวิชาชีพครู           

จุดเริ่มต้นของการเดินทาง lesson study

การพัฒนาครูประจำการในรูปแบบเดิมทำโดยให้ครูเข้ารับการฝึกอบรมภาคฤดูร้อน    ที่เมื่อครูกลับไปทำงานที่โรงเรียน พบว่าเอาความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปใช้น้อยมาก    วิธีพัฒนาครูโดยการฝึกอบรมไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการปฏิบัติงานของครูได้    เราต้องการวิธีพัฒนาครูประจำการแบบใหม่ ที่ส่งผลต่อการพัฒนานักเรียน และเอื้ออำนาจให้ครูเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง   

ข้อเสนอแนะของ NSDC (National Staff Development Council)

เข้าใจว่า National Staff Development Council ในอดีตได้ปรับตัวเป็นองค์กรชื่อ LearningForward   อย่างไรก็ตาม ผมขอเสนอตามในหนังสือ ว่า ข้อเสนอแนะของ NSDC มีดังต่อไปนี้  (๑) เป้าหมายของการพัฒนาวิชาชีพครูคือการเรียนรู้ของนักเรียน  (๒) เพื่อให้นักเรียนบรรลุผลการเรียนคุณภาพสูง  ครูต้องเรียนรู้ ความรู้ ทักษะ เจตคติ และพฤติกรรม ใหม่ (ผมขอเพิ่มเติม ค่านิยม – values ใหม่ เข้าไปด้วย)   (๓) ต้องมีการวางแผน ออกแบบ และดำเนินการ การพัฒนาวิชาชีพครู เพื่อให้ครูได้เพิ่มพูนศักยภาพในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน   (๔) โครงสร้างองค์กร นโยบาย และปฏิบัติการ ของระบบการศึกษา ต้องเชื่อมโยงและสนับสนุนระบบพัฒนาวิชาชีพครู 

มีผลงานวิจัยบอกว่า คุณภาพของการสอนมีผลต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ยิ่งกว่าสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของนักเรียน   เป้าหมายของการพัฒนาวิชาชีพครู หรือการพัฒนาครูประจำการจึงเน้นให้เกิดการเปลี่ยนวิธีคิด และพฤติกรรมของครู  และต้องให้ครูมีเวลาคุยกันและทำงานร่วมกัน   โดยมีข้อเสนอแนะการเปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินการพัฒนาวิชาชีพครูดังนี้ 

 

 

เปลี่ยนจาก สู่
กำหนดและออกแบบจากภายนอก กำหนดและออกแบบกันเองภายในโรงเรียน
ใช้ summative evaluation เท่านั้น ใช้ทั้ง formative และ summative evaluation
ดำเนินการเป็น event  ดำเนินการเป็นโปรแกรมต่อเนื่อง
มองหาคำตอบและทางออกจากผู้อื่น ครูร่วมกันค้นพบและสร้างทางออก และทางเลือก ร่วมกับผู้อื่น
กลัว ฮึกเหิม  ท้าทาย
เก็บขึ้นหิ้ง นำไปใช้
คิดทบทวน วางแผนไปข้างหน้า
รายงานด้วยเอกสาร ประเมินเพื่อใช้งาน
เน้นกระบวนการ เน้นผลลัพธ์
เสนอผลลัพธ์ เสวนาสะท้อนคิด 

    

LS กับข้อเสนอแนะของ NSDC 

เป้าหมายของ LS คือการที่ครูรวมตัวกันแสวงหาลู่ทางหนุนให้นักเรียนในสัดส่วนที่มากขึ้น (ทุกคน) ได้เรียนรู้  และเรียนรู้ในมิติที่ลึก (และเชื่อมโยง) ขึ้น   ส่วนเป้าหมายของการพัฒนาวิชาชีพครูคือการเรียนรู้ของครู  และการเรียนรู้ของนักเรียน 

ทีมผู้ปฏิบัติการ LS เห็นพ้องกับข้อเสนอแนะของ NSDC ว่า   หากจะเพิ่มคุณภาพของผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน   การเปลี่ยนแปลงต้องนำโดยครู   โดยครูต้องเรียนรู้ ความรู้ ทักษะ เจตคติ และพฤติกรรม (+ ค่านิยม) ใหม่    หรือกล่าวใหม่ว่า ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการสอน   

เป็นที่รู้กันมากว่า ๒๐ ปี ว่าการวิจัยปฏิบัติการ (action research) ของครูนำสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน   ส่วนการฝึกอบรมครูประจำการภาคฤดูร้อน ไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เพราะสิ่งที่ครูได้จากการฝึกอบรมเป็นความรู้ที่ผิวเผิน   และทำกันเป็นพิธีกรรม 

หากจะใช้ ให้เกิดผลต่อการพัฒนาครูประจำการอย่างแท้จริง พึงดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้  (๑) ประเมินความสามารถขององค์กรที่จะเปลี่ยนแปลง   (๒) ประเมินความสอดคล้องต่อเนื่อง (alignment) และคุณภาพ ของหลักสูตร   (๓) ทบทวนหลักการพื้นฐานของ LS   (๔) ตรวจสอบว่า เขตพื้นที่การศึกษาต้นสังกัด และ/หรือโรงเรียน และกลุ่มครู พร้อมที่จะสร้างเงื่อนไขหรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ครูร่วมกันทำงานสร้างการเปลี่ยนแปลง    

ประเมินความสามารถขององค์กรที่จะเปลี่ยนแปลง 

หัวใจของความสำเร็จของโครงการในลักษณะ LS คือ “ความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง” (readiness for change)    ผู้เขียนนำเครื่องมือจากบริษัท Wexford ที่เป็นแบบฟอร์มคำถามทำความเข้าใจบรรยากาศและวัฒนธรรมองค์กร   และโอกาสสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน  มาเสนอ ดังนี้ 

เครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่องค์กร

เกณฑ์การให้คะแนน  0 = ไม่มี   1 = เล็กน้อย   2 = ปานกลาง   3 = มาก 

  1. องค์ประกอบของบรรยากาศและวัฒนธรรมในปัจจุบัน   
  2. มีความไม่พึงพอใจต่อเรื่องที่เสนอให้เปลี่ยนแปลง            0    1   2    3   

ข้อคิดเห็น ........................................................................................................................................ 

  1. บุคลากรที่จะทำงานใหม่ ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยน จะได้รับการสนับสนุนให้ได้พัฒนาความรู้และทักษะที่ต้องการเพื่องานนั้น                                               0    1    2    3
  2. องค์กรจะสนับสนุนทรัพยากรที่ต้องการเพื่อการเปลี่ยนแปลง  โดยจะเข้าถึงทรัพยากรนั้นโดยง่าย                                                                                                                   0    1   2    3     

        ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................                                   

  1. องค์กรสนับสนุนทีมดำเนินการการเปลี่ยนแปลง โดยจัดเวลาสำหรับเรียนรู้  ปรับตัว  บูรณาการ และสะท้อนคิด ในสิ่งที่กำลังทำ                                                  0    1    2   3 

ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

  1. มีรางวัลหรือแรงจูงใจให้ผู้เข้าร่วม                                            0    1    2   3

 ข้อคิดเห็น...............................................................................................................................................

  1. มีภาวะผู้นำในองค์กรชัดเจน                                                     0    1    2   3

        ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

  1. ฝ่ายบริหารกระตือรือร้นและไม่มีเงื่อนไขต่อการเปลี่ยนแปลง    0    1   2    3

       ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

  1. กลุ่มผู้นำในองค์กรคาดหวังและส่งเสริมให้เข้าร่วมดำเนินการเปลี่ยนแปลง     0    1   2     3 

        ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

       

  1. ความเหมาะสมของข้อเสนอเปลี่ยนแปลง ต่อสภาพในปัจจุบัน 
  2. สภาพใหม่ดีกว่าสภาพในปัจจุบัน                                          0    1    2   3

       ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

  1. สภาพใหม่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการสนองความต้องการ           0    1   2    3 

       ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

  1. องค์กรสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทั้งหมดหรืออย่างเป็นขั้นตอน    0    1   2    3 

       ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

  1. ความซับซ้อนของการเปลี่ยนแปลงเข้ากันได้กับสภาพปัจจุบัน        0    1   2    3

       ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

  1. มีตัวอย่างหน่วยอื่นที่ใช้แนวทางใหม่ให้ดูก่อนตัดสินใจ                    0    1    2   3

       ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

  1. พนักงานในองค์กร คุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่จะใช้                                0   1    2    3

       ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

  1. องค์กรใช้การเรียนรู้แนวใหม่ หรือแนวผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว     0    1    2   3

       ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

  1. พนักงานในองค์กรมีปฏิสัมพันธ์ในการปฏิบัติงานกับเพื่อนร่วมงานในองค์กรอื่นที่ใช้แนวทางคล้ายกันเพื่อเป้าหมายที่คล้ายกัน                                                            0    1    2   3

       ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................  

 

ดัชนีบอกความยั่งยืนของการเปลี่ยนแปลง 

  1. การเปลี่ยนแปลงเป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย     0    1   2    3

        ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

  1. การใช้หรือดำเนินการตามแนวทางที่เปลี่ยนแปลงดำเนินไปอย่างราบรื่นหรือเป็นงานประจำ   0   1  2   3

        ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

  1. มีการใช้หรือดำเนินการตามแนวทางที่เปลี่ยนแปลงทั่วทั้งองค์กร                0    1   2    3

       ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

  1. ผู้คนคาดหวังว่าการใช้หรือดำเนินการตามแนวทางที่เปลี่ยนแปลงจะดำเนินการเรื่อยไป   0    1   2    3

        ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

  1. ความต่อเนื่องขึ้นกับ วัฒนธรรม โครงสร้าง หรือกระบวนการ ขององค์กร มากกว่าการกระทำของบุคคลบางคน                                                                                                              0    1    2   3

       ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

  1. มีการจัดสรรเวลาและเงินขององค์กรเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้       0    1   2    3

        ข้อคิดเห็น ...............................................................................................................................................

        

ประเมินความสอดคล้องต่อเนื่อง (alignment) และคุณภาพ ของหลักสูตร

เหตุที่ LS ประสบความสำเร็จมากในญี่ปุ่นก็เพราะมีคู่มือที่ชัดเจนในหลักสูตรว่าต้องสอนสาระอะไร   และคู่มือยังระบุข้อมูลว่านักเรียนเรียนรู้หลักการอย่างไรตามระดับการพัฒนา    ช่วยให้ความชัดเจนแก่ครูว่าควรสอนหลักการใดเมื่อไร     ครูคุ้นเคยกับสาระและลำดับการเรียนสาระเหล่านั้น    โดยที่สาระเหล่านี้เหมือนกันทุกโรงเรียน   

หนังสือแนะนำว่า ครูควรสอนตาม “หลักสูตรมาตรฐาน” (standard-based curriculum)  ที่กำหนดว่าควรสอนให้นักเรียนได้หลักการสำคัญ (key ideas) อะไรบ้าง    ไม่ควรกำหนดเป้าหมายหลักการสำคัญที่ต้องเรียนหรือสาระวิชาเอง  ครูเอาเป้าหมายที่หลักสูตรมาตรฐานกำหนดมาร่วมกันออกแบบวิธีการสอน    นี่คือกระบวนการส่วนหนึ่งของ LS 

ย้ำว่าการที่ครูร่วมกันออกแบบวิธีการสอนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวิชาชีพครู   ครูไม่ควรสอนตามตำราที่บอกวิธีการสอนสำเร็จรูป   เพราะนอกจากจะทำให้นักเรียนไม่ได้เรียนบรรลุผลลัพธ์ระดับลึกและเชื่อมโยงแล้ว   ครูยังขาดโอกาสเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองอีกด้วย   

หนังสือบอกว่า สาเหตุสำคัญที่การปฏิรูปการศึกษาครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ประสบผลสำเร็จก็เพราะไม่ได้ใช้พลังของครูในการสร้างการเปลี่ยนขาด (transformation)   ไม่ได้มองว่า การเรียนรู้และพัฒนางานพัฒนาตนเองของครูเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของการปฏิรูปการศึกษา

กิจกรรมวิเคราะห์ข้อมูลของโรงเรียน

ก่อนอื่นครู (ในสหรัฐอเมริกา) ต้องรู้ว่ารัฐของตนกำหนดให้ต้องสอนอะไรบ้าง     ข้อกำหนดนี้อาจไม่เหมือนกันในต่างรัฐ    โดยต้องทำความเข้าใจทั้งมาตรฐานสาระ และมาตรฐานกระบวนการ   นำมาเปรียบเทียบกับวิถีปฏิบัติที่ใช้กันอยู่เดิม    เป็นการวิเคราะห์ตนเอง เทียบกับมาตรฐาน     

หนังสือแนะนำกิจกรรมที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันทำความเข้าใจมาตรฐานสาระ และมาตรฐานกระบวนการ   แล้วเปรียบเทียบมาตรฐานกับสิ่งที่สอนในปัจจุบัน    ตามด้วยการวิเคราะห์หลักสูตร ว่าช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนที่ให้ผลลัพธ์ระดับสูงเพียงไร   นำสู่แนวปฏิบัติใหม่ของครู    มีรายละเอียดมากในหนังสือและภาคผนวก ที่จะช่วยให้ครูบรรลุเป้าหมายและแนวทางปฏิบัติหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น    เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ LS เพื่อการเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพความเป็นครู 

ความสำคัญของมาตรฐานกระบวนการ

มาตรฐานกระบวนการได้แก่ การใช้เหตุผล  การใช้ตัวแทน (representation) อธิบายสิ่งของหรือเรื่องราวที่ซับซ้อนเข้าใจยาก   การแก้ปัญหา   การฟังผู้อื่น   การตั้งคำถาม   การสานเสวนา  การสะท้อนคิด   ความมุ่งมั่น  ความสามารถเรียนรู้จากความไม่ชัดเจนหรือกำกวม   การมีแรงบันดาลใจ   เป็นต้น  สำคัญต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ยิ่งกว่ามาตรฐานสาระ   และผมตีความต่อว่า สำคัญต่อความสำเร็จในชีวิตของคนเรายิ่งกว่าสาระวิชา   เพราะจะช่วยให้เราเข้าใจเหตุการณ์หรือเรื่องราวต่างๆ ในมิติที่ลึก    และมองอีกมุมหนึ่ง นี่คือปัจจัยสำคัญของทักษะการเรียนรู้   

การเก็บข้อมูลและวิเคราะห์

การเก็บข้อมูลและวิเคราะห์หาความหมายลึกๆ เป็นส่วนสำคัญของการคิดและตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลหลักฐาน (evidence-based decision-making)    ไม่ว่าทำอะไร คนเราต้องใช้ข้อมูลหลักฐาน  และต้องรู้จักทำงานไปสร้างและรวบรวมข้อมูลหลักฐานไป เพื่อการเรียนรู้ของตนและเพื่อนร่วมงาน   

ในกรณีของโรงเรียน ข้อมูลที่ต้องการคือผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  เพื่อทำความเข้าใจว่านักเรียนมีการเรียนรู้อย่างไรบ้าง  จากข้อมูลการทดสอบมาตรฐาน  และจากข้อมูลการทดสอบอย่างไม่เป็นทางการ   

เขาแนะนำให้ค้นหาผลการทดสอบที่หลากหลาย เอามาวิเคราะห์หาช่องว่างของการเรียนรู้ของนักเรียน สำหรับนำมาเป็นประเด็นดำเนินการใน LS   โดยใช้หลัก ๑๐ ประการคือ  (๑) เพื่อเผยปัญหาที่ซ่อนอยู่  (๒) เพื่อเป็นหลักฐานชักชวนกันให้เห็นว่าต้องเปลี่ยนแปลง  (๓) เพื่อยืนยันหรือแย้งสมมติฐานที่ใช้กันอยู่ เกี่ยวกับนักเรียน และโรงเรียน  (๔) ทำความเข้าใจรากเหง้าของปัญหา  (๕) ช่วยให้โรงเรียนประเมินประสิทธิผลของโปรแกรม โดยเน้นที่ผลการเรียนของนักเรียน  (๖) ให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ครูและผู้บริหารให้มุ่งมั่นดำเนินการต่อ  (๗) ป้องกันการบูชาผลการทดสอบมาตรฐานมากเกินไป  (๘) ป้องกันพฤติกรรมดำเนินการตามสูตรสำเร็จแบบใช้เหมือนกันหมด  และโดยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น  (๙) เพื่อให้โรงเรียนใช้ตอบคำถามด้านความรับผิดรับชอบ  (๑๐) เพื่อสร้างวัฒนธรรมตั้งคำถาม และพัฒนาต่อเนื่อง    

ครูนำเอกสารมาตรฐานหลักสูตรเชิงสาระมาตรวจสอบ และทบทวนว่าตนดำเนินการแต่ละข้อเพียงใด พร้อมทำเครื่องหมายสีในแต่ละข้อ  สีเขียวทำมากและบ่อย  สีเหลืองทำบ้าง    สีชมพู ไม่ได้ทำเลย   กิจกรรมง่ายๆ นี้ เป็นข้อมูลป้อนกลับให้ครูปรับปรุงตนเองได้ดีมาก      

ทำแผนที่หลักสูตร (Curriculum Mapping) 

การทำแผนที่หลักสูตรเป็นเครื่องมือช่วยให้ครูทำงานง่ายขึ้น  คือช่วยให้การทำงานของครูเชื่อมโยงกับความต้องการของนักเรียน   และช่วยให้ครูทำงานเป็นทีมเช่นเดียวกันกับ LS 

การทำแผนที่หลักสูตรช่วยให้ครูเข้าใจว่าตนกำลังสอนอะไร และการสอนนั้นเชื่อมโยงกับเป้าหมายของโรงเรียน มาตรฐาน และการประเมินที่ใช้ในโรงเรียนและในเขตพื้นที่ อย่างไร   

มีผู้ให้นิยามเชิงปฏิบัติการของการทำแผนที่หลักสูตรว่า “เป็นกระบวนการเก็บข้อมูลการดำเนินการหลักสูตรในโรงเรียน หรือในเขตพื้นที่ นำลงปฏิทิน” โดยต้องเชื่อมโยงกับความต้องการเรียนรู้ของนักเรียนและเป้าหมายของโรงเรียน    ซึ่งหากถือตามนิยามนี้ ผลเชิงรูปธรรมของการทำแผนที่หลักสูตรคือ “ปฏิทินหลักสูตร”   แต่ที่สำคัญกว่าคือผลเชิงนามธรรม คือการทำงานเป็นทีมของครู  

เช่นเดียวกันกับ LS  การทำแผนที่หลักสูตรเริ่มจากลักษณะของนักเรียนที่ครูมีเป้าหมายให้พัฒนาไปสู่   โดยเขายกตัวอย่างเป้าหมายของโรงเรียนหนึ่งที่ระบุว่า “เพื่อให้นักเรียนกล้าเสี่ยงในการเขียน  และรู้จักให้เกียรติเพื่อน”   จะเห็นว่า คำว่า “หลักสูตร” ในการทำแผนที่หลักสูตร เป็นเพียงส่วนย่อยของหลักสูตร ที่ครูพร้อมใจกันเลือกเป็นประเด็นสำคัญสำหรับพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน   ซึ่งจะเป็นโจทย์ของกิจกรรม LS ต่อไป   

 การทำแผนที่หลักสูตรช่วยให้ครูเข้าใจการทำงานของเพื่อนครู และทำงานเชื่อมโยงคล้องจองกัน และคล้องจองกับภาพใหญ่ของเป้าหมายของโรงเรียน  มาตรฐาน และการประเมินของเขตพื้นที่   

จะเห็นว่าในตอนที่แล้ว ครูร่วมกันหาช่องว่างระหว่างสิ่งที่ตนสอนเมื่อเทียบกับมาตรฐาน    ในตอนนี้ ครูร่วมกันหาช่องว่างระหว่างสิ่งที่ตนสอนกับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน    สำหรับนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาตนเองของครู   

ในเอกสารท้ายเล่มมีตอนที่แนะนำกิจกรรม “วิเคราะห์หลักสูตร” (Curriculum Analysis) ใช้เวลา ๑ วัน ที่ครูร่วมกันทำความเข้าใจว่าหลักสูตรและวัสดุที่ตนใช้ช่วยให้เกิดการเรียนการสอนระดับลึกได้เพียงใด    โดยครูเอาหลักสูตรที่ตนใช้มาวิเคราะห์ เปรียบเทียบกับหลักสูตรอื่น   ตั้งคำถามเพื่อทำกิจกรรมกลุ่มหาคำตอบร่วมกันเป็นระยะๆ   และในที่สุดได้หน่วยหลักสูตรที่สามารถนำไปใช้ปิดช่องว่างที่มีอยู่ในปัจจุบันได้                

ประเมินสภาพที่หนุนให้ครูร่วมมือกัน

LS ที่ประสบความสำเร็จ ต้องการความร่วมมือกัน และไว้วางใจต่อกัน ของครู    ก่อนดำเนินการ LS จึงต้องประเมินว่าสภาพแวดล้อมของครูช่วยเกื้อหนุนสภาพที่ต้องการหรือไม่    หากสถานการณ์ยังไม่พร้อม อาจใช้เครื่องมืออื่นเพื่อหนุนการพัฒนาวิชาชีพครูที่ใช้งานง่ายกว่าไปก่อน  เช่นทีมพัฒนาวิชาชีพครู (professional development team)   

เสียงจากผู้นำ LS ที่ประสบความสำเร็จ

จากการทำ โฟกัสกรุ๊ปหมู่ผู้นำการศึกษา  อันได้แก่ อาจารย์มหาวิทยาลัย  นักศึกษาครู   ครูใหญ่ ผู้บริหารหลักสูตรของเขตพื้นที่การศึกษา  ผู้นำในมหาวิทยาลัยและในโรงเรียนด้านการพัฒนาครู   และผู้เชี่ยวชาญด้านสาระใน LS   ได้ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จต่อ LS สามประการ คือ  

ฉันทะ (passion)  และวิสัยทัศน์ (vision) 

อาจกล่าวได้ว่าผู้เข้าร่วม LS อย่างเอาจริงเอาจังและมีชีวิตชีวานั้น เป็น “ผู้มีความเชื่อ” (true believer) ต่อครูและต่อนักเรียน   เชื่อว่าครูพัฒนาการเรียนการสอนได้  และเชื่อว่านักเรียนบรรลุการเรียนรู้ขั้นสูงได้    ขับเคลื่อนด้วยหนังสือจำนวนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นปัญหาของการศึกษาอเมริกัน โดยเฉพาะ The Teaching Gap (1999)    นำสู่ความเชื่อว่าปัญหาการศึกษาแก้ได้   

ความเชื่อถือ (trust) 

LS ต้องการความเชื่อถือไว้วางใจกันระหว่างครูด้วยกัน, ระหว่างครูกับผู้บริหาร, ระหว่างทีมพัฒนาครูกับครูและผู้บริหาร    หากมีอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าร่วม ต้องแสดงบทที่ปรึกษา (mentor) ไม่ใช่แสดงบทผู้รู้หรือผู้เหนือกว่า    ต้องเชื่อมั่นในตัวครู   ให้ครูได้ร่วมกันเป็นผู้นำและตัดสินใจ    แม้ว่าในหลายกรณีผู้บริหารจะเป็นผู้ริเริ่ม LS    ความเชื่อถือนี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะด้วยความอดทนมั่นคง      

ภาวะผู้นำ (leadership)

LS จะประสบความสำเร็จได้ผู้นำองค์กรต้องสนับสนุน    LS ของโรงเรียนจะสำเร็จยากมากหากครูใหญ่ไม่สนับสนุน        LS ของเขตพื้นที่จะสำเร็จยากมากหากผู้อำนวยการเขตไม่สนับสนุน    และผมขอเพิ่มเติมว่า ภาวะผู้นำในหมู่ครูก็มีความสำคัญ    LS จะไปโลดหากครูทุกคนมีภาวะผู้นำ เป็น “ครูผู้ก่อการ” (agentic teacher)   

สรุป

เพื่อให้ LS ประสบความสำเร็จ ต้องตรวจสอบประเมินความพร้อม  และสร้างความพร้อมก่อนลงมือ    โดยตระหนักว่า LS เป็นงานยากและซับซ้อน   ที่สำคัญคือจะยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนได้ LS ต้องสร้างความประสานคล้องจอง (alignment) ระหว่าง การสอน การประเมิน การใช้วัสดุช่วยการเรียนคุณภาพสูง ที่สนองมาตรฐานเชิงสาระ       

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.ย. ๖๖

     

    

หมายเลขบันทึก: 717285เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2024 18:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2024 18:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท