ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าด้วยการพัฒนาที่สมดุล สะท้อนคิด ๑๔ ปีให้หลัง 


  

ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าด้วยการพัฒนาที่สมดุล โดย รศ. ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นเอกสารประกอบการอภิปรายทางวิชาการ เนื่องในโอกาสการประชุมวิชาการ ๑๐๐ ปี ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร เมื่อปี ๒๕๕๓    ผมนำสาระในเอกสารมาสะท้อนคิดว่า ในช่วงเวลา ๑๔ ปี  ประเทศไทยพัฒนาอย่างสมดุลขึ้น หรือลดลง 

โดยต้องตระหนักว่า กระแสโลกชักนำสู่การพัฒนาที่ไม่สมดุล   เพราะเราพัฒนาตามแนวของ “พญาอินทรีย์”   กระแสเศรษฐกิจพอเพียงไทย ตามพระราชดำริ เสด็จพ่อ ร. ๙ เป็นการทวนกระแสโลกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา    แบบที่เราไม่รู้ตัว   

ช่วงเวลาเกือบ ๕๐ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๕๓ ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ จนได้รับยอย่องเป็น ๑ ใน ๑๓ ประเทศที่เกิด economic miracle   อันได้แก่ บราซิล  บ็อทสวานา จีน  อินโดนีเซีย  ฮ่องกง เกาหลี  ญี่ปุ่น  โอมาน มอลต้า  ไต้หวัน  มาเลเซีย สิงคโปร์  และไทย   

ไทยมีการเปลี่ยนขาดระบบการผลิต จากเน้นทดแทนนำเข้า เป็นเน้นส่งออก    จีดีพีเพิ่มขึ้นกว่า ๑๘ เท่า    รายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มกว่า ๗.๕ เท่า    จำนวนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลงกว่า ๕ เท่า   

ด้านลบคือ เกิดความไม่เท่าเทียมเพิ่มขึ้นในหลายมิติ ได้แก่ ด้านการกระจายรายได้  ความไม่เท่าเทียมในการพัฒนาเมืองและชนบท   ความไม่สมดุลในการใช้และดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม    ปัญหาค่านิยม คุณธรรมและศีลธรรมเสื่อมลง   

สรุปว่าเป็นช่วง ๕๐ ปีที่เศรษฐกิจดี    แต่สังคมมีปัญหา

๑๔ ปีหลังจากนั้น เป็นอย่างไร    ผมไม่ได้ค้นหาตัวเลขมาเสนอ   แต่ก็พอจะสรุปได้ว่า ในช่วง ๑๔ ปีที่ผ่านมา    เศรษฐกิจไทยไม่โต หรือโตช้ามาก    และปัญหาสังคม ในเรื่องความไม่เท่าเทียม ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเรื่องค่านิยม คุณธรรมและศีลธรรมก็ดูจะเสื่อมลง   

ในด้านการเมืองเราย่ำเท้าอยู่กับที่    เพราะทหารเข้ามาปฏิวัติ นำเอาระบบการเมืองและราชการแบบควบคุมสั่งการเข้ามาครอบงำประเทศ     

ข้อเสนอของท่านองคมนตรี ดร. จิรายุ เมื่อปี ๒๕๕๓ เน้นที่การพัฒนาที่ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยอาชุมชนเป็นศูนย์กลาง    ที่ผมมองว่า เป็นกระแสทางเลือก   ส่วนกระแสหลักก็ยังมุ่งพัฒนาการเติบโตของเศรษฐกิจมหัพภาค    มีระบบนิเวศที่เอื้อต่อผู้ประกอบการรายใหญ่   ผู้ประกอบการรายย่อยแบบร้านชำล้มหายตายจากไป    และผู้ประกอบการแนวใหม่ไฮเทดที่เรียกว่า start-up ก็เกิด อยู่รอด และเติบโตได้ไม่ง่าย          

ผมลองถาม Bard ที่เป็น generative AI ของ Google ด้วยคำถามว่า  Does Thai social and economic development during the last 14 years becomes more equitable or less?  ได้คำตอบดีทีดียว    ลองถาม Generative AI Bing ของ Microsoft ด้วยคำถามเดียวกัน ก็ได้คำตอบที่น่าสนใจไปอีกแบบ  แต่เมื่อถาม Chat GPT 3.5 ก็ได้คำตอบที่ไม่มีประโยชน์เลย    สรุปว่า bard ให้คำตอบที่มีประโยชน์และน่าเชื่อถือที่สุด    

สรุปได้ว่า ความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจในช่วง ๑๔ ปีที่ผ่านมาคือ ด้าน (๑) ลดสัดส่วนประชากรที่ยากจน (แต่ช่วงโควิดระบาดคนจนเพิ่ม)  (๒) ยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชน  (๓) โอกาสเข้าถึงการศึกษา  (๔) การคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า 

ด้านความท้าทายคือ (๑) ความไม่เท่าเทียมของรายได้  (๒) ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท  (๓) กลุ่มด้อยโอกาสยากจนลง    

ผมขอเพิ่มความท้าทายอีกข้อหนึ่ง คือ คุณภาพของการศึกษา   

คำแนะนำสำคัญคือ ต้องเปลี่ยนฐานการผลิตของประเทศอีกครั้งหนึ่ง แบบที่เคยทำเมื่อ ๕๐ ปีก่อน    โดยครั้งนี้ต้องยิ่งก้าวหน้าขึ้นไปอีก    ที่ผมเรียกว่า เศรษฐกิจฐานปัญญา หรือฐานนวัตกรรม   ที่ประเด็นชี้ขาดความสำเร็จไม่ใช่เรื่องความคิด   แต่อยู่ที่การเอาแนวคิดไปดำเนินการให้เกิดผล    ที่ผมคิดว่า ต้องดำเนินการแนว ทำไปเรียนรู้ไปปรับไป   ไม่ใช่เน้นทำตามแผนแบบตายตัว   

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ธ.ค. ๖๖

 

หมายเลขบันทึก: 717256เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2024 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2024 16:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท