โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้  ๘. สร้างชุมชนเรียนรู้จากการศึกษาบทเรียน


 

บันทึกชุด โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ นี้ ตีความจากการอ่านหนังสือ ๒ เล่ม คือ Lesson Study and Schools as Learning Communities : Asian School Reform in Theory and Practice (2019) edited by Atsushi Tsukui and Masatsuku Murase   และ Lesson Study Communities : Increasing Achievement With Diverse Students (2007) by Karin Wiburg and Susan Brown    

ตอนที่ ๘ นี้ ตีความจาก บทที่ ๒ ของหนังสือเล่มที่สอง   เรื่อง Building Successful Lesson Study Communities  เขียนโดย David Rutledge และ Rocio Benedicto    

  

สรุปโดยย่อที่สุดคือ   การศึกษาบทเรียน (LS – Lesson Study) ดำเนินการได้หลากหลายรูปแบบ   เพื่อหนุนให้ครูปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้เชิงรุก ที่นักเรียนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาในระดับลึกและเชื่อมโยง เกิดสมรรถนะครบด้านสำหรับการดำรงชีวิตในโลกอนาคต    และในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือพัฒนาวิชาชีพครูที่ดีที่สุด   เป็นกิจกรรมที่ต้องทำต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุด 

 

สาระในบทนี้มาจากการสังเคราะห์ข้อมูลจากประสบการณ์การใช้ LS ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา    ในฐานะเครื่องมือชิ้นใหม่สำหรับการพัฒนาวิชาชีพครู   อันเนื่องมาจากความต้องการพัฒนาทักษะพื้นฐานใหม่ของนักเรียน   อันได้แก่ (๑) “รู้หนังสือ” (literacy) ในความหมายกว้าง ไม่เพียงอ่านและเขียนหนังสือได้  แต่ยังรู้จักสัญญลักษณ์ต่างๆ รวมทั้งสัญญาณภาพ (visual image)  และอื่นๆ (๒) สมรรถนะแก้ปัญหา  (๓) รู้โครงสร้างและกระบวนการของวิชา (รู้มากกว่าสาระ)  (๔) การใช้และการจัดการสารสนเทศ  (๕) สมรรถนะในการดำรงชีพและปฏิบัติงานในชุมชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย   

ทักษะใหม่ตามรายการข้างบนไม่สามารถพัฒนาขึ้นได้โดยวิธีสอนแบบถ่ายทอดความรู้ที่ใช้อยู่เดิม    จึงจำเป็นต้องพัฒนาวิธีสอนของครู   ซึ่งเท่ากับต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านการสอน   ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา    และต้องการเครื่องมือพัฒนาครู  ให้มีความสามารถเอื้ออำนวยให้ศิษย์มีทักษะแก้ปัญหา  มีทักษะการคิด มีทักษะการใช้ข้อมูลและสารสนเทศ   และมีทักษะในการร่วมเรียนรู้ในหลากหลายกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน   

ผมขอเพิ่มเติมว่า หลังจากหนังสือเล่มที่ผมตีความออกตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2007  ได้มีแนวคิดเรื่องเป้าหมายการเรียนรู้ซับซ้อนยิ่งขึ้นอย่างมากมาย ดังตัวอย่างเรื่อง future skills (www.gotoknow.org/posts/tags/future skills)    และเรื่อง core work-related skills  ที่ ILO แนะนำตั้งแต่ปี 2015 ที่  http://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/---asia/---ro-bangkok/---ilo-jakarta/documents/presentation/wcms_346797.pdf    และหน่วยงาน Study Melbourne ของออสเตรเลียแนะนำ ทักษะเพื่อการทำงาน ๘ ประการที่ (๑)   

สู่การก่อตั้งชุมชนพัฒนาวิชาชีพครู

ที่จริงสหรัฐอเมริกา มีนโยบายใช้ PLC – Professional Learning Community (ชุมชนเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพครู) มานานแล้ว   แต่ยังขาดเครื่องมือที่ช่วยให้ มีพลัง   

เป็นที่ตระหนักกันว่า การพัฒนาครูแบบ “โป้งเดียวจบ” (one shot) อย่างการอบรมที่ใช้กันทั่วไปนั้น ไม่ได้ผล   กลายเป็น “โป้งเดียวจอด”    ต้องใช้กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง    นั่นคือที่มาของ PLC

เมื่อ LS เข้าไปในสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายศตวรรษที่แล้วต่อกับต้นศตวรรษที่ ๒๑  ก็ประจวบเหมาะกับความต้องการเปลี่ยนขาดระบบการศึกษา ผ่านการพัฒนาหรือเปลี่ยนขาดครู  โดยที่เครื่องมือนี้อาศัย “บทเรียน” (lesson) ที่ครูพัฒนาขึ้น และใช้เอง   เป็นสิ่งที่ครูคุ้นเคยอยู่แล้ว   

ที่จริง LS เป็นรูปแบบหนึ่งของการวิจัยบทเรียน หรือวิจัยชั้นเรียน    ที่เมื่อเอ่ยคำว่าวิจัย ครูก็ไม่คิดว่าเป็นเรื่องของตน  แต่กระบวนการ ที่มีขั้นตอนให้ปฏิบัติชัดเจน   การยอมรับก็ง่ายขึ้น   

ในตอนแรกเขตพื้นที่การศึกษา (ของสหรัฐ) ลังเลที่จะสนันสนุน LS เพราะเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลา และครูต้องทำงานมาก    แต่ความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนในระดับถอนรากถอนโคน (fundamental change) เพื่อสร้างพลเมืองแห่งอนาคต    โดยครูร่วมกันเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในกระบวนการ LS  ทำให้จำเป็นต้องลอง

จึงเกิด LS หลากหลายรูปแบบในสหรัฐอเมริกา  เริ่มจาก LS แนว MathStar (เฉพาะวิชาคณิตศาสตร์)   ตามด้วย lesson modeling  และ whole-school lesson study หลายแบบ    

โครงการ MathStar

โครงการ MS เชื่อมสู่ LS เพื่อพัฒนาครู เพราะวิธีพัฒนาครูให้สอนตามแนวใหม่ (เรียนรู้เชิงรุก) ด้วยการฝึกอบรมไม่ประสบความสำเร็จ    เมื่อจบการอบรม ครูกลับมาที่โรงเรียนและสอนแบบเดิม   

ดังกล่าวในบทที่แล้วว่า LS เข้าสู่โครงการ MS ในปีที่สองของโครงการ (1999 – 2004)   ในไม่ช้าครูก็เริ่มพูดกันว่า วิธีนี้ดีกว่าวิธีการเดิมๆ   เพราะสนองความต้องการของครูและความต้องการของนักเรียน    ในปี 2003 รายงานของผู้ประเมินภายนอกของโครงการ ระบุคำพูดของครูว่า แม้ว่าโครงการ MS จะเริ่มด้วยเป้าหมายพัฒนาการใช้เทคโนโลยี  ผู้ดำเนินโครงการก็รับฟังความต้องการของครูและนำกิจกรรม LS มาให้   ถึงปี 2003 เป้าหมายของโครงการได้ปรับเป็นสนับสนุนเครื่องมือให้ครูสามารถปรับปรุงตัวเองได้ต่อเนื่อง  เพื่อยกระดับการสอนของครู และยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน  หลังจากโครงการจบ  

จะเห็นว่า  การดำเนินกิจกรรม LS ช่วยให้ครูเห็นลู่ทางดำเนินการพัฒนาตนเองด้วยตนเอง ผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน  ซึ่งสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องด้วยตนเอง

เนื่องจากทีมงาน MS/LS จัดการประชุมวิชาการ LS แก่ทุกโรงเรียนในเครือข่ายปีละ ๒ ครั้ง   ทำให้ครูจากโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างกันมาก เช่นโรงเรียนในเมือง กับโรงเรียนในชนบท ได้มาพบกันและแลกเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ และข้อเรียนรู้กัน   ได้เห็นว่าต่างก็เผชิญปัญหาเดียวกัน และใช้วิธีเอาชนะแนวเดียวกัน   จึงเกิดความคิดรวมตัวกันเป็นชุมชนเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพครู

เป้าหมายของครูเหล่านี้คือ การเรียนรู้วิธีสอนที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง    วิธีช่วยให้เด็กรู้จักเชื่อมโยงความรู้  วิธีแก้ปัญหา ร่วมมือกัน และสื่อสารแลกเปลี่ยนเหตุผลกัน  ครูต้องการวิธีเข้าถึงความคิดของนักเรียน ต้องการรู้สิ่งที่นักเรียนเข้าใจ และสิ่งที่นักเรียนยังไม่เข้าใจ    ต้องการวิธีเข้าถึงความคิดของนักเรียน  และวิธีตั้งคำถามเพื่อหนุนการเรียนรู้ของนักเรียน แทนที่จะให้คำตอบสำเร็จรูปแก่นักเรียน   

ครูได้รับเวลาสำหรับกิจกรรม LS ครึ่งวันต่อเดือน    โดยมีครูคณิตศาสตร์ประสบการณ์สูงในพื้นที่ของตนทำหน้าที่ facilitator  สนับสนุนโดยผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์และด้านการเรียนรู้จากมหาวิทยาลัย   กิจกรรมนี้ได้รับความนิยมสูง และขยายตัวไปยังโรงเรียนอื่นๆ   และมีครูเข้าร่วมเพิ่มขึ้น    ทุนสนับสนุนในช่วงหลังมาจากพื้นที่การศึกษา และจากมูลนิธิ Hewlett-Packard    หลังเริ่ม LS ได้ ๑ ปี ครูก็เริ่มรวมตัวกันเป็นชุมชน ... ชุมชนพัฒนาวิชาชีพครู โดยมีเครื่องมือคือการศึกษาบทเรียน (Lesson Study)              

กระบวนการพัฒนาต่อเนื่องใน Lesson Study

เพื่อให้ครูในเครือข่ายเข้าใจภาพใหญ่ของการขับเคลื่อนขบวนการ LS ในฐานะเครื่องมือพัฒนาคุณภาพครู    ต้นปีที่สองของ LS ทีมงานส่งจดหมายเวียนไปยังสมาชิกทั้งที่เป็นครู ผู้บริหาร และอาจารย์มหาวิทยาลัย   เพื่อสื่อว่า LS เป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาคุณภาพครู และคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง   โดยบอกว่า ปีที่แล้วเน้นการออกแบบบทเรียน  ปีนี้จะเน้นออกแบบโจทย์หรือคำถามต่อบทเรียน   โดยจะตั้งคำถามสู่การสะท้อนคิดในประเด็น  (๑) คำถามที่ใช้  (๒) การออกแบบหน่วย LS  จากข้อเรียนรู้ในกิจกรรม LS  (๓) สาระด้านคณิตศาสตร์และการสนทนาในชั้นเรียน  (๔) ข้อมูลที่ต้องการเก็บเพื่อตอบคำถามใน LS   

จดหมายเวียนเน้นว่า ทีมงานได้สรุปร่วมกันว่า จะต้องพัฒนา LS ในด้าน การออกแบบ (design)  สาระ (content)  และคำสนทนา (discourse)   โดยเชื่อว่าในเครือข่ายมีผู้สนใจศึกษาในด้านดังกล่าว    จึงอยากขอทราบข้อมูลและข้อคิดเห็น    โดยระบุผู้ประสานงานและเก็บข้อมูลไว้ด้วย   

ผมขอให้ความเห็นว่า จดหมายหรือการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ เน้นการสื่อสารเชิงรุก ในเรื่องอุดมการณ์ คุณค่า และความหมายลึกๆ ของกิจกรรมที่ทำร่วมกัน   มีความสำคัญต่อการพัฒนาต่อเนื่อง และต่อการดำเนินการเครือข่าย   

ผู้เขียนแนะนำวิธีดำเนินการพัฒนา LS อย่างต่อเนื่อง    โดยใช้ ๖ ขั้นตอนของกิจกรรม LS ตามที่เสนอในตอนที่ ๗   นำมาขยายความลงรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

ขั้นตอนที่ ๑  กำหนดปัญหา  และเป้าหมายหลัก

รายละเอียดเหมือนที่เสนอในตอนที่ ๗

ขั้นตอนที่ ๒    พัฒนาโจทย์สำหรับกลุ่มดำเนินการ LS

เพิ่มจากในตอนที่ ๗ คือ   ระบุปัญหาที่ต้องการแก้ ตามด้วยการกำหนดโจทย์ ดังตัวอย่าง  (๑) ปัญหา นักเรียนไม่มีทักษะด้านการเรียนรู้  ครูไม่ได้สอนความรู้ด้านวิธีเรียน เช่น การรู้คิด (metacognition)   คำถาม การสอนเรื่องการรู้คิดจะช่วยให้นักเรียนรู้จักวิธีเรียนเพิ่มขึ้นหรือไม่  (๒) ปัญหา นักเรียนมองไม่เห็นปัญหาทางคณิตศาสตร์   คำถาม การให้ทำโจทย์คณิตศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันจะช่วยให้นักเรียนทำโจทย์สัดส่วนได้ดีขึ้นหรือไม่  (๓) ปัญหา นักเรียนไม่จริงจังกับข้อมูลที่สร้างขึ้นผ่าน software application   คำถาม จะสอนให้นักเรียนเป็นผู้ใช้ที่เอาจริงเอาจังกับข้อมูลที่สร้างขึ้นผ่านเทคโนโลยี และทดสอบผลได้อย่างไร   การทำเช่นนี้จะมีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไร   

 ขั้นตอนที่ ๓   ออกแบบบทเรียน   

รายละเอียดเหมือนที่เสนอในตอนที่ ๗

ขั้นตอนที่ ๔   ดำเนินการสอนบทเรียนที่ออกแบบไว้ และสังเกตกระบวนการ

 รายละเอียดเหมือนที่เสนอในตอนที่ ๗   

ขั้นตอนที่ ๕   ทบทวนกิจกรรม สะท้อนคิด และปรับปรุงบทเรียน

รายละเอียดเหมือนที่เสนอในตอนที่ ๗   

ขั้นตอนที่ ๖   แชร์สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

นอกเหนือจากที่เสนอในตอนที่ ๗   ผู้เขียนบอกว่า การดำเนินกิจกรรมร่วมกัน และแชร์ข้อเรียนรู้ระหว่างกันทำให้ในรัฐนิวเม็กซิโกมีครู (คณิตศาสตร์) เข้าร่วมเพิ่มจากในตอนแรก ๒๔ คน เป็นกว่า ๑๐๐ คน  และเชื่อมโยงไปยังครูในรัฐแคลิฟอร์เนีย และรัฐโคโลราโดด้วย   

การก่อเกิดชุมชนเรียนรู้ด้วย Lesson Study แนวทางอื่นๆ  

เมื่อ LS ขยายตัวในสหรัฐอเมริกา    ก็เกิดการพัฒนารูปแบบที่หลากหลาย ดังตัวอย่าง

 Lesson modeling 

  เป็นรูปแบบของ LS ที่ปรับให้ใช้เวลาน้อยลง และกิจกรรมน้อยลง    SEDL – Southwest Educational Development Lab ในรัฐเท็กซัส คิด Lesson modeling ขึ้นเป็นเครื่องมือเริ่มต้น LS  ที่อาจริเริ่มโดยครูหรือกลุ่มครู  โดยยังไม่ต้องขอการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือเขตพื้นที่    เน้นที่กิจกรรมวางแผนและวิเคราะห์บทเรียนเป็นหลัก  โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาให้คำแนะนำ   

กลุ่ม LS ที่ครูร่วมกันริเริ่ม

ครูคณิตศาสตร์ในโรงเรียนชนบทท่านหนึ่งส่งอีเมล์ถึงผู้เขียนว่าต้องการเขียนหลักสูตรคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนที่พูดภาษาสเปน   ผู้เขียนตอบแนะนำให้เน้นเฉพาะออกแบบการสอนในห้องเรียน  และวิธีการสอน   ไม่ต้องออกแบบหลักสูตรทั้งหมด    และเชิญครูผู้นี้เข้าร่วมการประชุมวิชาการ LS ครั้งหนึ่ง    ท่านกลับไปชวนครูคณิตศาสตร์ในเขตพื้นที่จัดตั้งทีม LS 

เป็นตัวอย่างที่ครูรวมตัวกันเอง   โดยทางโรงเรียนและเขตพื้นที่ไม่ได้ให้การสนับสนุนทั้งเวลาและทรัพยากร    ผู้เขียนบอกว่าโครงการ MS ให้การสนับสนุนทางอ้อมโดยเชิญมาเข้าร่วมประชุมวิชาการและจ่ายค่าเดินทางให้   

โมเดลพัฒนาวิชาชีพครูทั่วทั้งเขตการศึกษา

ในช่วงที่กำลังดำเนินการโครงการ MS  มีผู้อำนวยการหลักสูตรคณิตศาสตร์ของเขตพื้นที่การศึกษาขนาดใหญ่ในพื้นที่เมืองแห่งหนึ่ง    ตัดสินใจใช้ LS เป็นเครื่องมือพัฒนาวิชาชีพครู    และใช้งบประมาณของเขตพื้นที่ในการดำเนินการในทุกโรงเรียนประถมและมัธยมต้น (เกรด ๑ – ๘)   มีการจัดการประชุมวิชาการ ๑ สัปดาห์สนับสนุนโดยโครงการ MathStar    เชิญผู้เชี่ยวชาญ  LS คือ Catherine Lewis มาจากแคลิฟอร์เนีย   หลังการประชุมครูส่วนใหญ่สมัครเข้าร่วม LS เพื่อพัฒนาวิชาชีพของตน   ครูที่สมัครเข้าร่วมได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนพัฒนาวิชาชีพของเขตพื้นที่       

โมเดล LS ทั้งโรงเรียน

โมเดลนี้เกิดจากภาวะผู้นำของครูใหญ่ ที่ต้องการปฏิรูปทั้งโรงเรียน โดยใช้ LS เป็นเครื่องมือพัฒนาวิชาชีพครู    มี ๒ โรงเรียน    โรงเรียนแรกเป็นโรงเรียนประถมในชนบทใกล้ชายแดนเม็กซิโก ที่นักเรียนพูด ๒ ภาษาคืออังกฤษกับสเปน    โดยครูใหญ่ตัดสินใจว่าจะใช้ LS เป็นเครื่องมือเดียวสำหรับการพัฒนาวิชาชีพครูเป็นเวลา ๒ ปี    จากหลักฐานการบันทึกวิดีทัศน์กิจกรรมตลอด ๒ ปี สะท้อนพัฒนาการด้านวิชาชีพของครูอย่างน่าชื่นชม

โรงเรียนที่สอง ใช้ LS เพื่อให้การศึกษาที่มีคุณภาพ และมีความเสมอภาคแก่นักเรียนทุกคน เน้นที่นักเรียนละตินอเมริกัน 

สร้างชุมชนเรียนรู้ด้วย Lesson Study แบบทวิภาษา 

ดังได้เน้นตลอดมา ว่า LS เน้นให้ครูทำความเข้าใจความคิดความเข้าใจของนักเรียน    เน้นให้เกิดการเรียนรู้แบบสื่อสารกัน  แต่นักเรียนที่เมื่ออยู่ที่บ้านพูดภาษาอื่นไม่ใช่ภาษาอังกฤษ  เมื่อเข้าโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษอาจมีปัญหาด้านความเข้าใจคำสั่งของครู   รวมทั้งมีปัญหาการสื่อสารกับครูและกับเพื่อน   

ผมขอเพิ่มเติมว่า ข้อท้าทายของนักเรียนไม่ได้มีแค่ภาษา  ยังมีเรื่องวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน   และครูไม่เข้าใจหรือไม่ตระหนักว่าความแตกต่างนั้นอาจส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกที่มีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย    เรื่องนี้ผมประสบด้วยตนเองตอนเรียนชั้น ม. ๑ อายุ ๑๑ ปี  ไปเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดในเมือง   เด็กชนบทบ้านนอกอย่างผมต้องปรับตัวอยู่เป็นปี   และตอนอายุ ๑๕ มาเรียนที่กรุงเทพก็ต้องปรับตัวมากเช่นกัน   

กลับมาที่หนังสือ  เขาบอกว่า LS ช่วยให้ประโยชน์แก่นักเรียนที่มีพื้นเพแตกต่างกัน     เพราะช่วยให้ครูเอาใจใส่สังเกตนักเรียนเป็นรายคน   และหาทางช่วยเหลือนักเรียนที่ติดตามชั้นเรียนไม่ทัน  หรือเข้าใจหลักการในบทเรียนผิด   ภาษาเป็นต้นเหตุหลักของความเข้าใจผิดนั้น   

ผู้เขียนบอกว่า ในการประชุมวิชาการ LS  ประจำปี ที่โรงเรียนชายแดนเม็กซิโก   การร่วมกันสังเกตชั้นเรียนจากบันทึกวิดีทัศน์ ที่นักเรียนทำโจทย์ผิด   เมื่อครูร่วมกันสังเกตก็เกิดข้อสรุปว่าภาษามีความสำคัญต่อการเรียนรู้หลักการของบทเรียน   ครูที่สอนนักเรียนทวิภาษาต้องตระหนักในเรื่องนี้    และตั้งใจสังเกตความเข้าใจของนักเรียน และหากใช้ภาษาแม่ของนักเรียนในการสื่อสารส่วนที่จำเป็นในบทเรียนได้ก็จะเป็นการดี   

Lesson Study กับการเรียนรู้ความรู้ด้านสาระ

กิจกรรม LS ช่วยเผยจุดอ่อนของครูคณิตศาสตร์ว่ามีความเข้าใจด้านคณิตศาสตร์ไม่ลึก    ทำให้คิดโจทย์ให้แก่นักเรียนได้ไม่เหมาะ   รวมทั้งไม่สามารถให้ scaffolding ที่เหมาะสมแก่นักเรียนในขั้นตอนของการแก้ปัญหา    และในขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้นักคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมกิจกรรมสังเกตบทเรียน และเสวนาสะท้อนคิดหลังสังเกตชั้นเรียน   ช่วยให้ครูได้เรียนรู้ความรู้ด้านสาระคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น   และในขณะเดียวกันนักคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยก็บอกว่าได้เรียนรู้จากครูมาก    ทั้งจากเรื่องราว  ภาษาที่ใช้ และเครื่องมือที่ครูใช้    ช่วยให้นักคณิตศาสตร์ได้สะท้อนคิดทบทวนการสอนของตนในมหาวิทยาลัย      

ความร่วมมือระหว่างครูคณิตศาสตร์ กับนักคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยในกิจกรรม LS  นำสู่ความร่วมมืออื่นๆ เช่น ความร่วมมือระหว่างภาควิชาคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยกับกลุ่มครูหรือกลุ่มโรงเรียน ในการดำเนินการกิจกรรม LS ร่วมกัน    มีการร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรปริญญาโท Master of Arts in Teaching Mathematics  ที่มีการฝึก LS ด้วย   โดยมีครูจากโรงเรียนร่วมเป็นวิทยากรทั้งในเรื่อง LS   และเรื่องสาระคณิตศาสตร์ที่ตนได้เรียนรู้จากกิจกรรม LS        

บูรณาการ Lesson Study เข้ากับโครงการพัฒนาอื่นๆ 

เพราะ LS เป็นเครื่องมือเรียนรู้ของครู   จึงสามารถนำไปบูรณาการเข้ากับกิจกรรมอื่นๆ ได้มากมาย    ดังจะกล่าวในตอนที่ ๑๓   โดยผมขอเพิ่มเติมว่า แม้โครงการให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านกิจกรรมรับใช้สังคม (service learning)   ก็สามารถนำหลักการ LS ไปประยุกต์ใช้เพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนได้   เพราะ LS เป็นเครื่องมือเรียนรู้จากประสบการณ์หรือการปฏิบัติ ที่เน้นเรียนรู้จากการสะท้อนคิด (reflective learning)    

สรุป

เริ่มจากโครงการ MathStar นำ LS เข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา    มีการแพร่กระจายกิจกรรม LS ออกไปอย่างกว้างขวาง และหลายรูปแบบ  มีการดำเนินการทั้งโรงเรียน  และดำเนินการข้ามสาระวิชา  ผลที่เกิดขึ้นต่อครูที่สำคัญยิ่งคือ ครูเปลี่ยนขาดตนเอง สู่การเป็น “ครูผู้ก่อการ” (agentic teacher)  อย่างน้อยก็ในเรื่องการพัฒนาบทเรียน และเป็นผู้ประเมินบทเรียน   ที่เน้นการเรียนรู้ของนักเรียนในมิติที่ละเอียดอ่อน   ครูที่เข้าร่วม LS จะมีความริเริ่มออกแบบกิจกรรมในห้องเรียน ที่นักเรียนเป็นผู้กระทำการ 

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ก.ย. ๖๖

ปรับปรุง ๒๗ ก.ย. ๖๖   ห้อง ๖๐๖ โรงแรมฮิลตันการ์เด้นท์  ถนน ๓๕ ตะวันตก  นครนิวยอร์ก

    

    



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท