โชว์ห่วย กับบริการที่ไม่ห่วย : Service Mind และพื้นที่ทางสังคม ของผู้ประกอบการท้องถิ่น


ใกล้สิ้นปีลูกค้ามาที่ร้านเราเยอะขึ้น


ผมนั่งกินข้าวกับลูกชายแล้วก็ชำเลืองมองที่หน้าร้านไม่ว่าจะเป็นทั้งฝั่งสินค้าของชำหรือฝั่งโทรศัพท์มือถือคนค่อนข้างคับคั่ง


ร้านมือถือที่ประกอบการโดยคนท้องถิ่น กับโชว์ห่วยบ้านๆอย่างเรามีอะไรที่แตกต่างไปจากร้านสะดวกซื้อที่มีสาขาทั่วประเทศ


กินข้าวไปก็ถือโอกาสให้แนวคิดทบทวนกับลูกชายที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยไป
ลูกลองสังเกตนะคนที่มาร้านเราเขาทำอะไรกันบ้าง


เสียงพูดคุยกันจอแจ ทั้งคุยกันเองในหมู่ญาติพี่น้องคุยกับแม่ กับพนักงานเราอย่างเป็นกันเอง
เสียงหัวเราะ การยิ้มแย้มแจ่มใส 


ลูกค้าบางคนใจป้ำก็ทำขนมมาให้บ้าง บางคนผลผลิตส้มฟักทองหรืออะไรเขาออกเขาก็เอามาให้ บางคน บางครั้งก็เปิดตู้แช่ซื้อเครื่องดื่มมาเลี้ยงเจ้าของร้านซะนั่น


อากาศหนาวแดดอุ่นๆ ลูกค้าบางคนอุ้มลูกจูงหลานมา ระหว่างที่นั่งรอการเลือกของระหว่างที่รอการโหลด application มือถือที่ร้านเราบริการให้ฟรี
เล็กๆน้อยๆเราไม่คิดตังค์อะไรเพิ่ม อากาศหนาว เขาก็ไปนั่งอาบแดดกันอยู่หน้าร้านที่เราจัดม้านั่งไว้ให้


เวลาของที่ซื้อไปมีปัญหาหรือติดขัดอะไร ไม่ว่าจะเป็นมือถือหรือสินค้าในโชว์ห่วยก็มาเปลี่ยน มาคุยได้ตลอดมีไลน์มีเบอร์โทรไว้ติดต่อ บ้านช่องห้องหอเราอยู่ตรงไหนเขาก็รู้


เกิดเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจและความผูกพันระหว่างคนจากที่มาซื้อ จากหนึ่งคนเป็นครอบครัว เป็นหนึ่งวงศ์ตระกูล ขยายไปสู่ชุมชน จากรุ่นสู่รุ่น


บางคนมาซื้อของแล้วก็ขอเข้าห้องน้ำอันนี้มันก็มีจำเป็นบ้างเพราะห้องน้ำสาธารณะก็หายาก 
ลูกเคยเห็นร้านสะดวกซื้อทั่วไป มีห้องน้ำไว้บริการลูกค้าฟรีๆไหม


ถ้าเขาเดินผ่านเข้ามาด้านหลังร้านก็จะเห็นสิ่งบูชากราบไหว้เช่น หิ้งพระ พระพุทธรูป รูปญาติพี่น้องต่างๆที่ล่วงลับไปแล้ว อันนี้มันเป็นพื้นที่สัญลักษณ์ที่สื่อถึงความมีจิตวิญญาณเดียวกันกับลูกค้าและชุมชน
เรากับลูกค้าและชุมชน ต่างมีพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่จิตวิญญาณเหมือนๆกัน


การตลาดแบบบ้านๆไม่ได้มีสอนนะในมหาวิทยาลัย แต่ถ้าลูกสังเกตและเรียนรู้ ลูกจะเห็นหลายสิ่งหลายอย่างอยู่ในชีวิตประจำวันรอบตัวเรา


ลองมองดูแม่ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านที่กำลังสาละวนอยู่หน้าร้านเห็นปฏิสัมพันธ์เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆเหล่านั้นไหม


แม่ไม่ใช่แค่เป็นแม่ค้า หรือเป็นเจ้าของร้านแต่แม่เป็นส่วนหนึ่งของคนที่นี่ เป็นคนในชุมชน เป็นต้นแบบของสิ่งหลายสิ่งหลายอย่างที่ชุมชนเขาหล่อหลอมเหมือนเป็นบุคคลสาธารณะ ที่ชาวบ้านเข้าถึง ประเมิน และตรวจสอบได้ตลอด


และเราไม่ได้ขายสินค้าเราไม่ได้ขายมือถือ OK ชื่อมันอาจจะบอกอย่างนั้น หากแต่สิ่งที่เป็นมากกว่าคือเราได้สร้างเสริมสิ่งดีงามต่างๆให้กับชุมชน ผ่านระบบเศรษฐกิจการค้าที่เราร่วมกันสร้าง


service mind , mind set รวมถึงพื้นที่ทางสังคมและจิตวิญญาณของผู้ประกอบการแบบนี้หาได้ยากยิ่งในการตลาดแบบ mass
และมันเป็นสิ่งที่ยากต่อการ copy หรือเลียนแบบ


เป็นสิ่งที่สอนกันในตำราไม่ได้ แต่หากมาร่วมปฏิบัติ  ซึมซับ และสังเกต ทบทวน ปรับปรุง นั่นเป็นวิถีทางของการเรียนรู้แบบนี้


สนทนา ประสาพ่อลูกยามเช้า
สอนลูก ก็เหมือนกับได้สอนตนเอง


#servicemind
#โชว์ห่วย
#ร้านค้าท้องถิ่น
#จิตวิญญาณผู้ประกอบการ
 

หมายเลขบันทึก: 716912เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2023 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2023 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท