ทักษะการตัดสินใจกับหลัก “อัตวิสัย” และ “ภววิสัย”


ในชีวิตประจำวันของคนเราอาจจะเกี่ยวข้องกับการพิจารณาให้ความเห็นหรือต้องตัดสินใจเพื่อกระทำหรือไม่กระทำการใด ๆ อยู่เสมอ ภายใต้รูปแบบ หลักการ และวิธีคิดของแต่ละคน โดยผลที่ออกมาอาจจะเป็นที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจทั้งของเราเองหรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้

ในทางการบริหารการพิจารณาตัดสินใจเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ด้วยเป็นเรื่องของการพิจารณาชั่งใจไตร่ตรองและตัดสินใจเลือกทางปฏิบัติหรือข้อยุติที่คิดว่าดีที่สุด เพื่อให้การดำเนินงานไปสู่เป้าหมายหรือได้ข้อยุติในเรื่องใดๆ ที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด

ภายใต้กระบวนการตัดสินใจโดยใช้หลักเหตุผลอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ซึ่งมีขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ 1) การกำหนดขอบเขต 2) การค้นหาทางเลือก 3) การประเมินทางเลือก 4) การตัดสินใจ และ 5) การประเมินการตัดสินใจ เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของคน หลักของความเป็น “อัตวิสัย” และ “ภววิสัย” จึงเป็นเรื่องสำคัญ  

ความหมายและลักษณะสำคัญของ  “อัตวิสัย” (Subjectivity) กับ“ภววิสัย” (Objectivity) 

“อัตวิสัย” (Subjectivity)

“อัตวิสัย” (Subjectivity) หมายถึง ข้อเท็จจริงของการได้รับอิทธิพลจากความคิด ความคิดเห็น หรือความรู้สึกส่วนตัวมากว่าข้อเท็จจริง, ความจริงของการมีอยู่ในใจของใครบางคนมากกว่าโลกภายนอก. (Oxford English Dictionary)

“อัตวิสัย” (Subjectivity) หมายถึง อิทธิพลของความเชื่อหรือความรู้สึกส่วนตัวมากกว่าข้อเท็จจริง. (Cambridge Dictionary) 

“อัตวิสัย” หรือ “จิตวิสัย” (Subjectivity) หมายถึง มุมมองหรือความคิดเห็นของบุคคล โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก ความเชื่อ หรือความต้องการ อาจหมายถึงแนวความคิดส่วนบุคคลที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งตรงข้ามกับความรู้และความเชื่อที่มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริง ในทางปรัชญา คำนี้มักมีความหมายตรงข้ามกับปรวิสัย “อัตวิสัย” เป็นทัศนะที่มีความเชื่อว่า การมีอยู่ หรือความจริงของสิ่งสิ่งหนึ่งอยู่กับตัวเราเองเป็นคนตัดสิน เช่น คุณได้กลิ่นน้ำหอมยี่ห้อนี้แล้วหอม แต่ในคนอื่นเมื่อได้กลิ่นแล้วเหม็นก็ได้. (th.unionpedia.org)

“ภววิสัย” (Objectivity)

“ภววิสัย” (Objectivity) หมายถึง ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากความรู้สึกหรือความคิดเห็นส่วนตัว แต่พิจารณาเฉพาะข้อเท็จจริงเท่านั้น, ข้อเท็จจริงของบางสิ่งบางอย่างขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ได้เท่านั้น. (Oxford English Dictionary)

“ภววิสัย” (Objectivity) หมายถึง ข้อเท็จจริงที่ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงและไม่ได้รับอิทธิพลจากความเชื่อหรือความรู้สึกส่วนตัว, สภาพหรือคุณภาพของการเป็นกลางและยุติธรรม, คุณภาพของความสามารถในการตัดสินใจหรือตัดสินอย่างยุติธรรมซึ่งไม่ได้รับอิทธิพลจากความรู้สึกหรือความเชื่อส่วนบุคคล. (Cambridge Dictionary) 

“ปรวิสัย”, “ปรนัย”, “วัตถุวิสัย” หรือ “ภววิสัย” (Objectivity) คือ สิ่งที่มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริง เงื่อนไขที่เป็นความจริง โดยไม่ขึ้นอยู่กับจิตใจ นั่นคือผลของการตัดสินใด ๆ จะไม่ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นและความรู้สึก ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตามปรวิสัยมักจะถูกค้นพบมากกว่าที่จะถูกสร้างขึ้นมา ในทางปรัชญา สิ่งที่เป็นปรวิสัยจะเป็นจริงเสมอไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในเวลาใด หรือกับบุคคลใด มีความหมายตรงข้ามกับอัตวิสัย ข้อเท็จจริงที่เป็นอัตวิสัยจะเป็นปรวิสัยก็ต่อเมื่อ สิ่งนั้นเป็นข้อเท็จจริงบนเงื่อนไขเฉพาะอย่าง ในเวลาเฉพาะ ในสถานที่เฉพาะ หรือกับบุคคลเฉพาะ. (th.unionpedia.org)

ลักษณะสำคัญที่เป็นความแตกต่างระหว่างแนวคิดทั้งสอง คือ ความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น กล่าวคือ “อัตวิสัย”(Subjectivity) คือ ความรู้สึกนึกคิดในทางส่วนตัวที่ขึ้นอยู่กับจิตใจจึงเป็นเรื่องของความคิดเห็น ซึ่งอาจมีอิทธิพลจากเรื่องของอารมณ์ ความคิดเห็น จินตนาการ อคติ การรับรู้ หรือประสบการณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การให้ความเห็นเกี่ยวกับสภาพอากาศในสถานที่หนึ่งในเวลาเดียวกัน โดยคนหนึ่งอาจมีความเห็นว่าอากาศกำลังอุ่นสบาย ในขณะที่อีกคนเห็นว่าอากาศร้อน ส่วน “ภววิสัย” (Objectivity) คือ ข้อเท็จจริงที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่เป็นสากลไม่เป็นความรู้สึกส่วนตัว เช่น การให้ข้อมูลว่าอุณหภูมิประมาณ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความเป็นกลางที่สามารถรับรู้ได้ชัดเจนเหมือนกันไม่ว่าจะโดยบุคคลใด

กระบวนการคิดและการตัดสินใจเชิง “อัตวิสัย”  (Subjectivity) กับ“ภววิสัย” (Objectivity) 

กระบวนการวิธีคิดในเชิง “อัตวิสัย” (Subjectivity) กับ “ภววิสัย” (Objectivity) มีความแตกต่างกันเนื่องมาจากความแตกต่างระหว่างหลักความจริงอันเป็นสากล กับหลักความจริงที่เกิดจากความเชื่อ การปลูกฝังค่านิยม ประสบการณ์ และสภาพแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อการเลือกตัดสินใจของมนุษย์ โดยที่วิธีคิดในเชิง “อัตวิสัย” (Subjectivity) เป็นการใช้อารมณ์ ความรู้สึก รสนิยม และความเชื่อในระดับปัจเจกบุคคล ส่วนวิธีคิดในเชิง “ภววิสัย” (Objectivity) เป็นกระบวนการคิดในเชิงตรรกะ บนพื้นฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ และความถูกผิดในทางศีลธรรม

การให้ความเห็นในเชิง “อัตวิสัย” (Subjectivity) เป็นทัศนะความคิดความเชื่อและการให้ความเห็นแบบที่ยึดเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง เช่น การให้ความเห็นเกี่ยวกับระยะทางว่าไม่ไกลเดินไปนิดเดียวเหงื่อไม่ทันออกก็ถึง ต่างกับวิธีการให้ข้อเท็จจริงในเชิง “ภววิสัย” (Objectivity) ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ปราศจากความรู้สึกส่วนตัว โดยการให้ข้อมูลเป็นระยะทางตามหลักสากล เช่น ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถรับรู้เป็นสากลและสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน 

กระบวนการคิดและการตัดสินใจในเชิง “อัตวิสัย”  (Subjectivity) จึงเป็นกระบวนการพิจารณาที่อาศัยความเห็นที่อาจจะมีความรู้สึก ความเชื่อ หรือทัศนคติส่วนตัวเข้าไปเจือปน การตัดสินเกี่ยวกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือเรื่องใด ๆ จึงอาจไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง อีกทั้งความคิดความเชื่อใด ๆ เหล่านั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทำให้ผลของการตัดสินใจอาจไม่เป็นที่ยุติอย่างแท้จริง การตัดสินใจในเชิง “อัตวิสัย” (Subjectivity) ซึ่งเป็นความคิดเห็นในทางส่วนตัวจึงเป็นกระบวนการที่อาจทำให้ความจริงมีความคลาดเคลื่อน หรือถูกบิดเบือน จึงมีผลต่อความเที่ยงตรง ความน่าเชื่อถือ และความยุติธรรม

ส่วนกระบวนการคิดและการตัดสินใจในเชิง “ภววิสัย” (Objectivity) เป็นกระบวนการพิจารณาที่ตั้งอยู่พื้นฐานของข้อเท็จจริงและเงื่อนไขที่เป็นความจริง โดยทุกส่วนขององค์ประกอบที่เกี่ยวข้องจะได้รับการพิจารณาด้วยความเป็นกลางและยุติธรรมโดยไม่ใช้ความรู้สึกหรือความเชื่อส่วนบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง การตัดสินใจภายใต้หลักการ “ภววิสัย” จึงเป็นการตัดสินใจด้วยความมีเหตุมีผล มีความเป็นกลาง และไม่ใช้ความรู้สึกส่วนตัว โดยมีเครื่องมือสำคัญสำหรับการประเมินและพิจารณาชั่งน้ำหนัก คือ การให้ความสำคัญกับกระบวนการแสวงหาความจริง การใช้เครื่องมือสำหรับการตรวจสอบประเมินที่มีความเที่ยงตรง การให้ความสำคัญกับการคำนวณทางคณิตศาสตร์ และความเป็น “วัตถุวิสัย” หรือ “ภววิสัย” ของข้อมูลเชิงคุณภาพ เป็นสำคัญ จึงทำให้การตัดสินใจโดยคิดว่าคนส่วนใหญ่มีความเชื่อเช่นไรก็ตัดสินใจไปทางนั้น มีความแตกต่างกับการตัดสินใจตามความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ที่เป็นผลจากการประเมินตามหลักวิชาการที่มีความเป็น “วัตถุวิสัย” หรือ “ภววิสัย” ที่มีความเป็นกลางและเป็นที่ยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยสิ่งที่คาดหวังจากกระบวนการตัดสินใจ คือ ทางเลือกสำหรับหนทางปฏิบัติหรือข้อยุติที่ดีที่สุดหรือถูกต้องที่สุด และสมประโยชน์ตามที่ผู้เกี่ยวข้องคาดหวัง แต่ด้วยความที่ความเป็น “อัตวิสัย”  (Subjectivity) และ “ภววิสัย” (Objectivity) ยังคงติดอยู่กับคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น ๆ จึงอาจทำให้ได้ผลของการตัดสินใจเป็นไปได้ทั้งที่มีความถูกต้องและถูกใจ หรือมีความถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ ดังนั้น ทั้งแนวคิดในเชิง “อัตวิสัย”  (Subjectivity) และ “ภววิสัย” (Objectivity) จึงยังคงต้องดำรงอยู่ด้วยกัน เพื่อให้การแสวงหาคำตอบสำหรับทางออกของสังคมได้มีคำตอบหรือทางออกที่ดีที่สุดต่อไป

 

                                       ----------------------------------------------

 

บรรณานุกรม

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2558). อัตวิสัย/วัตถุวิสัยในสังคมศาสตร์/มนุษย์ศาสตร์. กรุงเทพฯ

ดลฤดี บุญเเก้ว. (2563) การอยู่ร่วมกันของอัตวิสัยและภววิสัย (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร.

พจนานุกรม Longdo Dictionary 

วิกิพีเดีย (wikipedia.org)

ยูเนี่ยนพีเดีย (th.unionpedia.org)

Cambridge Dictionary 

Oxford English Dictionary

sasimasuk.com

หมายเลขบันทึก: 716902เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2023 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2023 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท