๑. ผู้ช่วยครูผู้ทรงคุณค่า...


ผู้ช่วยครูผู้ทรงคุณค่า...

            อันนี้คงไม่ใช่ชื่อตำแหน่งแต่อย่างใด เป็นโครงการหนึ่งของสพฐ.ที่ดำเนินการมาหลายปีแล้ว โดยกำหนดอัตรา(จำนวนครู)ให้เขตพื้นที่ฯในแต่ละปีงบประมาณ ซึ่งแต่ละเขตฯจะได้รับจัดสรรไม่มากนัก

            ภายใต้ชื่อที่รู้จักกันดีว่า “ครูผู้ทรงคุณค่า” เมื่อเขตฯจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนจัดจ้างครู โรงเรียนก็ต้องสรรหาตามหลักเกณฑ์ ประเด็นสำคัญก็คือครูที่จะสมัครมาสอนนั้นต้องเกษียณอายุราชการแล้ว

            สพฐ.ให้ค่าตอบแทนไม่มาก แต่ครูในบ้านผม ที่เกษียณอายุราชการก่อนผม ๑ ปีสนใจเป็นพิเศษ เขตพื้นที่ฯก็ดูเหมือนจะรู้ใจ จัดสรรให้โรงเรียนบ้านหนองผือ ๑ คน ผมก็เลยต้องทำหน้าที่พลขับรับส่งตามระเบียบ

            วันนี้..ทำงานวันแรก พอถึงโรงเรียน..จากพลขับก็ปรับเปลี่ยนเป็นครูผู้สอนในทันทีทันใด จากที่ผมเคยสอนชั้นป.๓ มาอย่างยาวนาน ก็เลยไม่ต้องอารัมภบท ไม่ต้องจดๆจ้องๆ แต่ประการใด ว่ากันตั้งแต่เช้ายันเย็น

            ผมบอกครูผู้ทรงคุณค่าตัวจริงว่า...เธอจะสอนวิชาใดก็ว่าไป แต่เราขอให้เธอช่วยเน้นคณิตศาสตร์ให้มากๆ เพราะนักเรียนส่วนใหญ่จะอ่อนในวิชานี้ 

            ส่วนผมขอรับหน้าที่พัฒนาความสามารถทางภาษาของนักเรียน ให้อ่านออกเขียนได้ จุดหมายปลายทางก็คือต้องการให้นักเรียนชั้น ป.๓ รุ่นนี้อ่านคล่องเขียนคล่องและลายมือสวย

            ส่วนภารกิจสำคัญที่รออยู่ อีก ๒ เดือนข้างหน้า จะรอช้าไม่ได้เลย เนื่องจากนักเรียนป.๓ ต้องเข้าทดสอบระดับชาติ (NT)  มี ๒ วิชาที่ต้องสอบ คือ คณิตศาสตร์กับภาษาไทย งานนี้ก็เลยถือว่ามาถูกที่ถูกเวลากันเลยทีเดียว

            หลังจากที่ผมทิ้งการสอนไปอยู่โคกหนองนาพักใหญ่ วันนี้กลับมาช่วยสอนอย่างสบายใจไร้กังวล เป็นการทำงานหน้าเดียวที่รู้สึกปลอดโปร่ง ไม่มีเงื่อนไขให้ต้องคิดใคร่ครวญ ว่ากันไปตามกระบวนการงานของครู

            ผมพยายามสอนให้นักเรียนได้ฟัง พูด อ่าน และเขียน ในลักษณะทักษะสัมพันธ์ เวลาให้นักเรียนอ่านคำและอ่านเรื่องราวเสร็จแล้ว จะให้นักเรียนนำคำที่น่าสนใจมาแต่งประโยคใหม่อีกครั้ง

            การเขียนตามคำบอกก็ไม่เคยละทิ้ง การทำแบบฝึกหัดก็ต้องให้สะอาดเรียบร้อยทุกครั้ง เป็นเรื่องที่ต้องเน้นย้ำอยู่เสมอ นักเรียนเขียนผิดก็จะต้องให้แก้ไขทันที ไม่ให้ผ่านเลยไปง่ายๆ

            การท่องอาขยานบทหลักและบทรอง วันนี้ต้องรื้อฟื้นกันนิดหน่อย พอเครื่องร้อนได้สักพัก ทั้งครูและนักเรียนก็สนุกสนานเป็นการใหญ่ สุดท้ายก็มาถึงการฟัง ผมเล่าเรื่องจากหนังสือให้นักเรียนฟัง ชื่อเรื่อง...ผึ้งน้อย

            เวลาเล่าเรื่องผมจะให้นักเรียนดูภาพประกอบไปทีละหน้า เพื่อเร้าความสนใจ ขณะที่เล่าเรื่อง(อ่าน) ผมจะมีท่าทางเคลื่อนไหวประกอบ นักเรียนจะได้ไม่เบื่อและจะสนทนาซักถามนักเรียนไปด้วย

            เสร็จแล้วก็นำคำจากเรื่อง “ผึ้งน้อย”มาเขียนบนกระดาน ให้นักเรียนอ่านและเขียนลงสมุดทุกคำ แล้วบอกนักเรียนให้นำคำไปเขียนเรื่อง ”ผื้งน้อย”  จำนวน ๕ บรรทัด ตามจินตนาการของเธอ พร้อมวาดภาพระบายสี

            ผมคิดว่า..นี่คือพื้นฐานสำคัญของการสอนเขียน และเป็นการฝึกเขียนเรื่องที่ง่ายที่สุดแล้ว

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑  ธันวาคม  ๒๕๖๖

 

             

หมายเลขบันทึก: 716551เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2023 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2023 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท