บทบาทสตรีของพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทย


              

          วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ผมได้เข้าร่วมประชุมวิชาการระดับนานาชาติ "18th International Conference on Humanities and Social Science 2023" จัดโดยคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ในหัวข้อการประชุม “Applying Humanities and Social Science for a Sustainable Future” หรือในภาษาไทยคือ"การประยุกต์มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สำหรับอนาคตที่ยั่งยืน"  บรรยายพิเศษโดยศาสตราจารย์ ดร. มาร์ติน ซีเกอร์ (Professor Dr. Martin Seeger) จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ (University of Leeds, United Kingdom) โดยส่วนตัวผมเองร่วมกับพระอาจารย์พระมหาพจน์ สุวโจ, ผศ.ดร.ได้นำเสนอบทความภาษาอังกฤษ เรื่อง "The Development of Popular Buddhism in Agricultural Society of Thailand" หรือ “พัฒนาการของพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้านในสังคมเกษตรกรรมของประเทศไทย” โดยผมเป็นตัวแทนนำเสนอในนามหลักสูตรบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ 

        ศาสตราจารย์ ดร.มาร์ติน ซีเกอร์ (Prof. Dr. Martin Seeger) ได้บรรยายเกี่ยวกับแนวคิดและรูปแบบกรอบโครงสร้างการวิจัยที่เป็นเลิศ (Research Excellence Formwork-REF) โดยยกตัวอย่างผลงานการวิจัยบทบาทสตรีของพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทย ในงานวิจัยของท่านมีการนำเสนอผลงานของคุณหญิงดำรงธรรมสาร (ใหญ่ วิเศษศิริ) ที่เป็นผู้ประพันธ์ผลงานเรื่อง “ธัมมานุธัมมปฏิบัตติ” คุณหญิงเป็นศิษย์ผู้ศึกษาธรรมจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส พระมหาเถระผู้รอบรู้แตกฉานหลักพุทธธรรม โดยเจ้าประคุณสมเด็จฯได้ศึกษาพระวินัยปิฎกจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส และเจ้าประคุณสมเด็จฯเป็นคณะผู้บริหารระดับสูงของคณะสงฆ์ เป็นสังฆนายกและเจ้าคณะหนใหญ่ธรรมยุติกนิกาย หนังสือธัมมานุธัมมปฏิปัตติเล่มนี้เป็นการอธิบายหลักธรรมขั้นสูงทางพระพุทธศาสนาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มของนักปฏิบัติธรรมขั้นสูงของสังคมไทยทั้งกลุ่มพระสงฆ์สายปฏิบัติและกลุ่มฆราวาสที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน 

        ศ.ดร.มาร์ติน ซีเกอร์นำเสนอผลกระทบจากการวิจัยเรื่อง “Case Study: Providing Religious Inspiration for Contemporary Female Practitioners of Thai Buddhism through Historical Precedent and New Pedagogy” หรือภาษาไทยชื่อ "กรณีศึกษา : การสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ปฏิบัติธรรมหญิงในพุทธศาสนาไทยร่วมสมัย" อันเป็นงานวิจัยที่มีผลกระทบ (Research Impact) ต่อพระพุุทธศาสนาในสังคมไทย เพราะมีการรวบรวมผลงานการประพันธ์ทั้งหมดของคุณหญิงดำรงธรรมสารตีพิมพ์เป็นหนังสือ 3 เล่ม คือ หนังสือ "ดำรงธรรม" หนังสือ "หัดธรรม" และหนังสือ "ท่องธรรม" และได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยบูรพาจัดแสดงละครเวทีธรรมะเรื่อง "ธรรมสากัจฉา" และที่สำคัญงานวิจัยยังถูกนำเสนอเป็นสารคดีทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ชื่อว่า “Lost in the Mists of Time” หรือในชื่อภาษาไทยว่า "ตามรอยธรรมปริศนา" 

         นอกจากนั้นในงานวิจัยได้กล่าวถึงแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ลูกศิษย์คนสำคัญของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอริยสงฆ์ที่ได้รับการยกย่องสูงสุดในสังคมไทย แม่ชีแก้ว เสียงล้ำเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในวงการนักปฏิบัติธรรมสายพระธุดงค์กรรมฐานในสังคมไทยและคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติมที่เป็นนักปฏิบัติธรรมที่มีลูกศิษย์มากมาย

            เนื่องจากพระพุทธศาสนาเถรวาทในสังคมไทยเป็นพระพุทธศาสนาแนวอนุรักษ์นิยม ซึ่งไม่ค่อยเห็นด้วยกับการบวชเป็นภิกษุณีและสามเณรีของสตรี เพราะมีความเชื่อว่าการสืบสายของคณะสงฆ์ฝ่ายสตรีนั้นได้ขาดตอนสิ้นสุดมาตั้งแต่ประมาณราวพุทธศตวรรษที่ 14 ดังนั้นการบวชเป็นสามเณรีก็ดี การอุปสมบทเป็นภิกษุณีก็ดีจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากตามหลักพระธรรมวินัย เนื่องจากการบวชเป็นสามเณรีและการอุปสมบทเป็นภิกษุณีนั้นต้องบวชจากสงฆ์สองฝ่าย คือคณะสงฆ์ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์และฝ่ายภิกษุณีสงฆ์  เมื่อไม่มีฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ การบวชจึงเป็นไปได้ยากตามหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท  

            ดังนั้นทางออกของสตรีในสังคมไทยที่ผ่านมาคือการเดินทางไปบวชที่ต่างประเทศ เช่น ประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดียหรือประเทศพระพุทธศาสนานิกายมหายาน เช่น ประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลีไต้ เป็นต้น   แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความยากลำบากและไม่ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์สายหลักดังกล่าว จึงทำให้สตรีที่ต้องการศึกษาธรรมขั้นสูงและการปฏิบัติธรรมเป็นกรณีพิเศษอาศัยช่องทางเท่าที่สังคมจะเอื้อให้ทำได้ คือการบวชเป็นแม่ชี โดยมีสถาบันแม่ชีไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ วัดบวรนิเวศวรมหาวิหารเป็นองค์กรกำกับดูแลและให้การสนับสนุน  ส่วนในด้านการศึกษาพระปริยัตติธรรมขั้นสูงนั้นยังมีสถาบันการศึกษาของแม่ชีไทยโดยเฉพาะ คือ วิทยาลัยมหาปชาบดีโคตมีเถรี อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของแม่ชีไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย จึงทำให้สตรีไทยมีช่องทางในการศึกษาพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่และมีโอกาสในการปฏิบัติธรรมในระดับสูงที่เป็นที่ยอมรับจากสังคม

              ประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพทางศาสนาระหว่างบุรุษและสตรีในความเห็นของผมนั้น ผมขอย้อนไปวิเคราะห์การบวชของสตรีในสมัยพุทธกาล เรื่องมีอยู่ว่าพระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมกับสตรีที่เป็นข้าราชบริพาร 500 คน ได้เดินทางด้วยเท้าจากกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี เมื่อได้เข้าเฝ้าแล้วพระนางปชาบดีโคตมีพร้อมบริวารได้กราบทูลขอบวชกับพระพุทธเจ้า  แต่ว่าพระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธที่จะบวชให้สตรีดำรงสมณเพศในพระพุทธศาสนาถึง 3 ครั้งด้วยกัน  พระนางจึงไปขอให้พระอานนท์ พุทธอุปัฎฐากได้กราบทูลช่วยขอความเมตตาจากพระพุทธองค์  ด้วยความเห็นใจพระอานนท์จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  แต่ด้วยความฉลาดหลักแหลม  พระอานนท์ไม่ได้ทูลขอให้สตรีบวชทันที  แต่ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่าบุรุษและสตรีมีศักยภาพทั้งทางด้านสติปัญญาและคุณธรรมทางจิตใจที่สามารถจะบรรลุธรรมได้เหมือนกันหรือไม่  พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า บุรุษและสตรีนั้นมีศักภาพที่จะบรรลุธรรมได้ไม่แตกต่างกัน  พระอานนท์จึงกราบทูลว่าเมื่อบุรุษและสตรีมีศักยภาพไม่แตกต่างกัน ดังนั้นสตรีจึงควรได้รับสิทธิในการบวชดำรงสมณเพศด้วย  พระพุทธองค์ก็จึงทรงอนุญาตุให้พระนางปชาบดีโคตมีและบริวาร 500 คน อุปสมบทเป็นภิกษุณีพร้อมด้วยการรับครุธรรม 8 ประการ จึงทำให้เกิดภิกษุณีสงฆ์เป็นครั้งแรกในโลก และทำให้พุทธบริษัทครบทั้ง 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก  อุบาสิกา

              แต่ประเด็นที่ต้องวิเคราะห์คือเหตุใดพระพุทธองค์จึงทรงปฏิเสธการขอบวชของสตรีถึง 3 ครั้ง  เรื่องนี้เราต้องมองในแง่มุมทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศอินเดียเมื่อประมาณ 2500 ปีที่แล้ว  สังคมอินเดียในสมัยนั้น สตรีไม่มีสิทธิและเสรีภาพใด ๆ ที่จะมาเทียบเท่ากับบุรุษได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาสู่ชุมชนทางศาสนา สิทธิสตรีในสมัยโบราณมีเพียงการเป็นแม่บ้านที่ต้องคอยรับภาระเลี้ยงดูบุตรธิดา  บทบาทหน้าที่ทางสังคมนั้นเป็นเรื่องของบุรุษเพศเท่านั้น พระพุทธองค์ทรงเข้าใจบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของคนอินเดียยุคนั้นเป็นอย่างดี พระองค์จึงทรงยับยั้งถึง 3 ครั้ง  ดังนั้นการอนุญาตุให้สตรีเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าจึงเป็นการปฏิวัติสังคมอินเดียในสมัยนั้นเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของสตรี  และพระองค์ก็ทรงทราบผลกระทบทางสังคมที่จะตามมา  พระองค์จึงอธิบายเหตุผลให้พระอานนท์ทราบว่าหากสตรีเข้ามาบวชในพระศาสนาจะทำให้อายุพระศาสนาลดลงครึ่งหนึ่ง โดยในคัมภีร์พระไตรปิฎกพระพุทธองค์ตรัสว่า  พรหมจรรย์ (พระพุทธศาสนา) มีอายุ 1,000 ปี แต่เมื่อสตรีเข้ามาบวช  พรหมจรรย์นี้จะมีอายุ 500 ปี  

               ต่อมาคัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก พระพุทธโฆสาจารย์ พระอรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้อรรถาธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากพระภิกษุณีสงฆ์นอกจากต้องรักษาพระวินัย 311 ข้อแล้ว ภิกษุณีต้องปฏิบัติตามครุธรรม 8 ประการด้วย เพราะเหตุนี้อายุพระพุทธศาสนาจะยืนยาวถึง 5,000 ปี โดยแบ่งช่วงอายุพระพุทธศาสนาดังนี้  หนึ่งพันปีแรกจะมีพระขีณาสพประเภทฉฬภิญโญ คือพระอรหันต์ที่บรรลุธรรมพร้อมได้อภิญญา 6 เท่านั้น ต่อมาพันปีที่สองจะมีพระขีณาสพประเภทปฏิสัมภิทัปปัตโต คือ พระอรหันต์ที่บรรลุธรรมพร้อมได้ปฏิสัมภิทา 4 เท่านั้น ต่อมาพันปีที่สามจะมีพระขีณาสพประเภทเตวิชโช คือพระอรหันต์ที่บรรลุธรรมพร้อมได้วิชชา 3 เท่านั้น ต่อมาพันปีที่สี่และพันปีที่ห้าจะมีพระขีณาสพประเภทสุกขวิปัสสโกเท่านั้น คือ พระอรหันต์ที่บรรลุธรรมด้วยวิปัสสนาล้วน ๆ ไม่มีพลังเหนือธรรมชาติหรืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์  จากทั้งหมดที่ผมนำเสนอมาจะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่ปฏิวัติความคิดของสังคมเกี่ยวกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพของสตรี  แต่ขณะเดียวกันพระพุทธศาสนาก็ต้องยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสังคม ด้วยเหตุนี้เองพระพุทธองค์จึงทรงยับยั้งการขอบวชของพระนางปชาบดีโคตมีถึง 3 ครั้ง เพราะทรงมองเห็นผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาและเพื่อเป็นการทดสอบจิตใจของบรรดาเหล่าสตรีที่เดินทางไปขอบวชในครั้งนั้นว่ามีปณิธานอันแน่วแน่มั่นคงในการประพฤติพรหมจรรย์อย่างแท้จริงหรือไม่

หมายเลขบันทึก: 716516เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2023 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2023 11:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท