ฤๅพระเยซูเป็นสาวกนิกายหนึ่งของพระพุทธศาสนา ตอน 2


                                           

                                     ฤๅพระเยซูเป็นสาวกนิกายหนึ่งของพระพุทธศาสนา

                                                                   พระศรีปริยัติโมลี

                                                     (สมชัย  กุสลจิตโต ป.ธ.๙, พธ.บ. Ph.D.)

            ศาสตราจารย์วินเตอร์นิตซ์ (Winternize) กล่าวว่าในคริสต์ศตวรรษที่ ๖ หรือ ๗ ชีวประวัติของเบอร์ลัม (Burlam) และโจสฟัต (Josaphat) ได้ถูกเขียนขึ้นตามแนวพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าในภาษาเปห์เลวี (Pehlevi) แล้วได้แปลภาษาเปห์เลวีเป็นภาษาอาหรับและภาษาซีเรียน จากหนังสือภาษาซีเรียนนี้ได้แปลไปเป็นภาษากรีก จากภาษากรีกนี้แปลไปเป็นภาษาละติน และจากภาษาละตินได้แปลไปเป็นภาษาต่าง ๆ ของชาวยุโรป ท่านวินเตอร์นิตซ์กล่าวเสริมต่อไปว่า มีนักบวชชื่อเบอร์ลัม (Burlam) และนักบุญโจสฟัต (Josaphat) เชื่อกันว่าเป็นชาวคริสต์มาเป็นเวลานาน

          ศาสตราจารย์พอล คารุส (Paul Carus) ศาสตรารจารย์นิคอร์ส เรียวห์ริคก์ (Nichlors Roehrick)  และท่าน ที. สเตอร์ริง เบอร์รี่ (Rev. T. Stering Bury) กล่าวว่าพระพุทธเจ้าถูกรวมไว้ในบัญชีรายชื่อนักบุญชาวคริสต์ในชื่อใหม่ว่า โจเซฟ (Josaph) หรือโยสฟัต (Yosaphat) และเรื่องราวชีวิตของเบอร์ลัม (Burlam) และ โจสฟัต (Josaphat) ก็คล้ายกับชีวประวัติของพระพุทธเจ้า มีเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ท่าน ที.สเตอริง เบอร์รี่แสดงทัศนะว่า เรื่องราวชีวิตของเบอร์ลัม (Burlam) และโจสฟัต (Josaphat) คงเขียนโดยนักบุญจอห์นแห่งดามัสกัส นักบวชแห่งนิกายโรมันคาทอลิค ซึ่งมีการประกอบพิธีกรรมในนามโจสฟัตในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายนของทุกปี

          ดังนั้น แม้กาลก่อนแห่งพระเยซูคริสต์ พระพุทธศาสนาก็มีอยู่ในยุโรปแล้วด้วย เมื่อกาลเวลาผ่านไป ก็มีความติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างชาวอินเดีย ยุโรป และเอเชีย  ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการยากมากที่จะสืบลงไปถึงรากศัพท์เดิมรูปสำเร็จและความหมายของศัพท์ทางเทคนิคของพระพุทธศาสนา ซึ่งได้แปลไปสู่ภาษาต่าง ๆ ของชาวยุโรป พระพุทธศาสนาในตะวันตกสมัยนั้น ปรากฏตามชื่อของหัวหน้าของนิกายต่าง ๆ อย่างสับสน และผู้มีหน้าที่สืบทอดก็นำเอาแนวคิดต่าง ๆ มาผสมเข้ากับพระพุทธศาสนาดั้งเดิม จึงเพิ่มความยุ่งยากในการหารูปแบบดั้งเดิมของมัน ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชยืนยันว่า มีพระธรรมทูตของพระพุทธศาสนาเดินทางไปเผยแผ่ถึงอันติโยกุส (Antiyokus) ในประเทศกรีก ปิลาเดพุสของอียิปต์ อันติโกนุส โกนาดุส ของมาเซโดเนีย (Macedonia) และมากีสของไซเรน (Cyrene)

          แม้แต่ ดร.มหัฟนี (Dr.Mahaphni) ซึ่งเป็นชาวคริสต์ก็ยังยอมรับความจริงว่า คณะพระธรรมทูตของพระพุทธศาสนาได้เดินทางไปสอนพระพุทธศาสนาในประเทศซีเรีย เมื่อเวลา ๒๐๐ ปี ก่อนพระเยซูคริสต์อุบัติ เราควรจำไว้ ณ ที่นี้ว่า พระเยซูเป็นชาวซีเรีย คัมภีร์มหาวงศ์ของพุทธกล่าวว่า ในคราวประกอบพระราชพิธีรุวันเวลิสยะ มีพระอรหันต์ถึง ๓๐,๐๐๐ รูป จากอเล็กซานเดรีย เมืองหลวงของยาวนะ มาร่วมพิธี ซึ่งจัดขึ้นในศรีลังกา เมื่อ ๑๖๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช เมืองอเล็กซานเดรียเป็นเมืองหลวงของอียิปต์ในขณะนั้น นักโบราณคดีของอียิปต์เคยค้นพบศิลาแกะสลักรูปของพระภิกษุด้วย

          หนังสือภาษาปาร์ซีชื่อฟราวาร์ดิน ยัส์ต (Fravardin Yast) ได้กล่าวเกี่ยวกับเจ้าชายอินเดียพระนามว่าคัมพตมะ (Gambatama) ไว้ในบทที่ ๑๖ นั้น คำว่า “คัมพตมะ” ในภาษาปาร์ซีมีความหมายเท่ากับคำว่า เคาตมะ (Gautama)      อับดุล อะตะหิยะ (พ.ศ.๑๓๒๙) ร่วมสมัยกับฮารูน อัลซาปิดา (Haroon Alzapida) พูดว่า ถ้าต้องการจะดูอุดมบุรุษผู้สูงส่งไซร้ ขอให้ดูพระราชาในเพศของพระภิกษุ เพราะในหมู่มนุษย์ พระองค์มีคุณธรรมบริสุทธิ์ที่สุด  ดร.โกลด์ สีหาร์ แห่งพุธปัสเต (Buda Paste) กล่าวว่า บุคคลที่อับดุล อะตะหิยะอ้างถึงนั้น หมายถึงพระพุทธเจ้าแน่นอน พระพุทธศาสนาได้ไปประดิษฐานอยู่ในประเทศอังกฤษก่อนคริสตศักราชอีกด้วย  บาทหลวงคริสต์เชื้อสายเมืองอเล็กซานเดรียก็ได้กล่าวไว้ในเอกสารชิ้นหนึ่งของท่านเหมือนกันว่า พระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นอยู่ในเกาะอังกฤษ แม้ก่อนศาสนาคริสต์จะไปแพร่หลายที่นั่น ดี.เอ. เมคเกนซี (D.A.Mackenzie) ในหนังสือชื่อ “พระพุทธศาสนาในสหราชอาณาจักรก่อนคริสต์” อาศัยศิลาแกะสลักโบราณและเอกสารอื่น ๆ จึงได้ยืนยันความจริงว่า “มีการนับถือพระพุทธศาสนากันในสหราชอาณาจักรก่อนที่เราจะรู้จักศาสนาคริสต์”

          ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ เมสโรบ ที.เสท (Mesrob T. Set)  ได้เสนอบทความทางวิชาการ ต่อที่ประชุมของคณะกรรมการบันทึกประวัติศาสตร์ที่เมืองลัคเนาว์ (Laknow) อินเดีย บทความชิ้นนั้นได้อ้างถึงประวัติศาสตร์ตารอน (Taron) ผู้แต่งชื่อซีโนบ์ (Zenob) มีชีวิตอยู่ในยุคแรกของอาระเมเนียคริสเตียน โดยกล่าวว่า ราวกึ่งกลางคริสต์ศตวรรษที่สองก่อน ค.ศ. ในอาระมาเนียมีบริเวณที่อยู่อาศัยของพวกอินเดียนับถือฮินดูนานถึง ๔๕๐ ปี พวกเขาสร้างเมืองหมู่บ้าน และเทวสถาน พวกชาวคริสต์ได้ทำลายเทวสถานเหล่านั้นและฆ่านักบวชฮินดูด้วย  ข้าพเจ้าได้เห็นการทำลายล้างเหล่านี้  เมื่อเวลาล่วงไป พวกฮินดูก็หันเข้ารีตคริสต์ผสมกับพวกอารมาเนียจนเป็นชาติเดียวกัน  มีหลักฐานอย่างนี้อีกมากมายที่จะพิสูจน์ว่า ในเอเชียตะวันตกและยุโรปมีพวกฮินดูอาศัยอยู่และมีการนับถือศาสนาฮินดูด้วย เป็นที่โจ่งแจ้งว่า ศาสนาคริสต์ยุคแรกมีท่าทีแง่ลบต่อศาสนาอื่น คือมุ่งทำลายล้างศาสนาอื่นและศาสนิกของศาสนาอื่น มีเหตุการณ์ชาวคริสต์ทำลายห้องสมุดของเมืองอเล็กซานเดรีย แน่นอนว่า ในห้องสมุดดังกล่าวคงมีคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาอยู่ด้วย ดังนั้นคงไม่ใช่แต่พระพุทธศาสนาเท่านั้นถูกนำไปเผยแผ่ในยุโรป คำสอนของศาสนาฮินดูก็คงถูกนำไปเผยแผ่ในดินแดนนั้นเหมือนกัน เพราะกาลเวลาผ่านไป พวกเขาจึงนำเอาพระพุทธเจ้าไปรวมไว้ในสายของนักบวชคริสต์

          ไม่เคยมีการพิสูจน์ว่า พระพุทธเจ้าซึ่งมีพระชนม์ชีพอยู่ก่อนพระคริสต์เป็นชาวคริสต์  แต่เราอาจพูดได้ว่า  พระเยซูคริสต์ผู้มีพระชนมายุอยู่ราว ๕๐๐ ปีหลังพระพุทธเจ้านั้นเป็นชาวพุทธ ไม่นานมานี้  นายนาโวว์ (Navov) ได้พิมพ์หนังสือชื่อ “ชีวประวัติที่ไม่เปิดเผยของพระเยซู” (The Unknow Life of Christ) มีการแปลเอกสารที่พบในธิเบตผนวกไว้ด้วย  นักบวชคริสต์ได้พยายามพิสูจน์ว่าหนังสือเล่มนั้นเชื่อถือไม่ได้ โดยกล่าวว่าเขาเองได้เดินทางไปสำรวจวัดทางพระพุทธศาสนาหลายแห่ง ที่นายนาโวว์อ้างถึงเพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ แต่ไม่พบเอกสารเช่นนั้นในวัดดังกล่าวเลย แต่ความจริงย่อมเป็นความจริงเสมอ ไม่มีใครอาจซ่อนเร้นไว้ได้ วันหนึ่งความจริงย่อมเผยตัวออกมา หลายปีมานี้ ศาสตราจารย์ นิคลอร์ส เรียวก์ริคก์ (Nichlors Roehrick) ได้พบเอกสารมีอายุเก่าแก่ราว ๑,๕๐๐ ปี ซึ่งเขียนเป็นภาษาธิเบต เก็บอยู่ในวัดของพระพุทธศาสนาในธิเบต เอกสารนั้นว่าด้วยชีวประวัติของท่านอิสสา อิสสาเป็นภาษาธิเบต ซึ่งใช้เรียกชื่อพระเยซู (ดู Jesus Lives in India, A Search for a Historical Jesus และ The Lost Years of Jesus)

          เนื้อหาของเอกสารนั้นโดยย่อ ๆ ได้เปิดเผยว่า อิสสาหรือเยซู ขณะยังเยาว์อยู่นั้น ได้อาศัยกองคาราวานเดินทางไปอินเดีย ศึกษาพระพุทธศาสนา ณ ที่นั่น แล้วเดินทางกลับประเทศของตน เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ก็สมัยนั้นมหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุด โดยไม่ต้องสงสัยเลยว่า พระเยซูจะต้องศึกษาพระพุทธศาสนาในสถาบันแห่งนั้น ยอมรับกันว่าเมื่อได้สอนโยคะอยู่ที่นั่นชั่วระยะหนึ่ง ท่านได้เดินทางไปธิเบตเพื่อศึกษาปฏิบัติฌานสมาบัติ พระคัมภีร์ไบเบิลก็เว้นว่างไม่ได้กล่าวถึงชีวิตของพระเยซูระหว่างเวลาวัยเด็กจนถึงพระชนมายุ ๒๙ พรรษา

          หนังสือ”เรื่องของการตรึงไม้กางเขน โดยผู้เห็นเหตุการณ์" (The Story of Crucifixion by An Eyewitness) ซึ่งตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาอ่านได้ดังนี้ “พระเยซูมิได้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน” พระองค์เป็นลมสลบชั่วคราว ฝ่าพระบาทของพระองค์ถูกกรีด  พระองค์ถูกนำลงมาจากไม้กางเขน เพราะความกลัวพวกยิว พระเยซูจึงเสด็จหนีจากประเทศของพระองค์ แล้วเสด็จไปยังแคว้นแคชเมียร์ อินเดีย ณ ที่นั่น พระเยซูรู้จักกันในนามอิสสา (Issa) และยูสา (Yusa) จนสิ้นพระชนม์ในเวลาหลายปีต่อมา  พระบรมศพถูกฝังไว้ ณ เมืองศรีนาคาร์ (ศรีนคร) ลูกหลานพุทธที่สืบเชื้อสายมาจากชาวพุทธ ได้พากันมากราบไหว้บูชาหลุมฝังศพนั้น นิคลอร์ส เรียวริคก์ก็ได้กล่าวถึงหลุมฝังศพนั้น ขณะบรรยายการเดินทางท่องเที่ยวของตนไว้ด้วย ยังมีการกล่าวเพิ่มเติมว่า พระนางมาเรียก็ได้เดินทางติดตามบุตรชายของตนเข้าแคชเมียร์และดำเนินชีวิตอยู่ที่นั่นกระทั่งสิ้นพระชนม์

          เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเหล่านี้ก็เกิดปัญหาตามว่า ศาสนาคริสต์คืออะไร ? พระเยซูปฏิบัติตามคำสอนอะไร? นักเขียนปาลินี (Palini) บอกพวกเราเรื่องนิกายศาสนาชื่อ เอสเสเนส (Essenes) ซึ่งดำรงอยู่ในปาเลสไตน์ก่อนคริสตศาสนา ท่านกล่าวอีกว่าพวกเอสเสเนสเป็นผู้รักษาพรหมจรรย์ ไม่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเพื่อเงินทองและพำนักอยู่ใต้ต้นไม้ในป่า นักการศาสนาเหล่านี้มีนิสัยตื่นแต่เช้าตรู่และนั่งสมาธิผินหนาสู่ทิศตะวันออก เป็นพวกทานมังสวิรัติและไม่เสพสุรายาเมา

          เรนัน (Renan) นักเขียนหนังสือหลายเล่มได้กล่าวเสมอว่า นักบุญจอห์น ปั๊ปติสต์ สังกัดนิกายศาสนาเอสเสเนสนี้ ซึ่งปฏิบัติตามคำสอนของอินเดียตะวันออก ปาลินี (Palini) กล่าวว่า ชีวิตของจอห์น ปั๊ปติส (หรือโยฮัน) มีลักษณะคล้ายชีวิตของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เอสเสเนส (Essenes) คงสำเร็จรูปมาจากคำบาลีว่า “อิสิ” (Isi) หรือสันสกฤตว่า “ฤษี” (Rshi) นิกายนี้คงเป็นนิกายของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเปลี่ยนรูปไปเพื่อให้ผู้คนในประเทศนั้นยอมรับได้

          นักบุญจอห์น เป็นนักบวชของพระพุทธศาสนานิกายนั้น เราทุกคนทราบว่าพระเยซูได้รับศีลจุ่มจากนักบุญจอห์นนั้น  ท่านจึงกลายเป็นชาวพุทธไปด้วย การทำเช่นนั้นก่อนการอุปสมบทจัดเป็นประเพณี “จอห์นได้ให้ศีลจุ่มแก่พระเยซูในแม่น้ำจอร์แดน” ย่อมหมายถึง พระภิกษุนิกายเอสเสเนสชื่อจอห์นได้ให้การอุปสมบทแก่พระเยซู หลังจากอาบน้ำตามประเพณี นักประวัติศาสตร์ชื่อโจสิปุส (Josipus) กล่าวว่า ทุกเมืองมักมีกลุ่มบุคคลลึกลับ เป็นสังคมของผู้มีคุณประเสริฐ คำแปลของคำว่า “ผู้มีคุณประเสริฐ” ในภาษาอังกฤษว่า “Worth” มักใช้หมายถึง พระผู้เป็นหัวหน้าของพระพุทธศาสนานิกายเอสเสเนส คำบาลีซึ่งใช้เป็นไวพจน์ของคำนั้นคือ “อรหันตะ” คำนี้หมายถึง พระอรหันต์ผู้อาศัยในสถานที่สงบไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน  หลังจากเวลาผ่านไปนาน เป็นการยากมากที่ผู้ประชาชนผู้ชินอยู่กับการเข้าใจภาษาในความหมายอื่นจะทราบว่า กลุ่มนักบวชเหล่านั้น คือ พระภิกษุในพระพุทธศาสนา แต่นักวิจัยผู้ยอดเยี่ยมย่อมทราบว่า พวกเอสเสเนสคือพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ผู้มีสถานที่วิเวกซ่อนเร้นเพื่อบำเพ็ญสมาธิภายใต้การควบคุมของพระอรหันต์  เอ็ม. เอ. อัลธิว ไลลิ (M. A. Altue Lyli) แสดงหลักฐานยืนยันว่า พระเยซูและจอห์น ปั๊ปติสต์ เป็นพุทธศาสนิกสังกัดนิกายเอสเสเนส 

          ในเวลานั้น ในอียิปต์มีนิกายศาสนาชื่อ “สามานอย” (Samanaoi) ดร.แมกซ์ มึลเลอร์ (Dr. Max Muller) กล่าวว่า อเล็กซานเดอร์ โปลิ ฮิสเตอร์ (Alexander Poly Histor) ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อ ๖๐ ปีก่อน ค.ศ. ได้เขียนเอกสารไว้ชิ้นหนึ่งอ้างถึงชาวพุทธชื่อว่า Samanyior ของปาร์ซี คือนักปรัชญาไบเทรน ซึ่งเป็นหนึ่งของตัวแทนที่กษัตริย์อินเดียส่งไปสู่สำนักของพระเจ้าออกุสตุส (Augustus) ผู้มีพระชนม์ชีพอยู่ก่อนพระคริสต์ นักปราชญ์ไบเทรนนี้ คือพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ชื่อของท่านคือ ซามโณเซกุส (Zamanochegus) ในภาษากรีก คำนี้คงเป็นคำศัพท์ภาษากรีกสำหรับคำว่า “สรมณาจารย์” นัยว่าเขาได้สิ้นชีวิตในกรุงเอเธนส์ หนังสือชื่อ “การค้าขายระหว่างอาณาจักรโรมันและอินเดีย” ได้บอกถึงความสัมพันธ์ระหว่าประเทศทั้งสองและการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในอาณาจักรโรมัน คำสอนของพระพุทธศาสนามหายานแผ่ไปในดินแดนของปาเลสไตน์และอียิปต์  แก่นคำสอนอันหนึ่งก็คือเรื่อง “อาทิพุทธ” ซึ่งลักษณะคล้ายกับ “พรหมัน” ในปรัชญาเวทานตะของอินเดียหรือพระผู้สร้างของชาวยิว แต่มิใช่มีรูปร่างเป็นบุคคล เป็นจุดกำเนิดของปรากฎการณ์ทั้งปวง มีลักษณะคล้ายประกฤติในปรัชญาสางขยะ ซึ่งอธิบายด้วยคำพูดมิได้  นักแต่งหนังสือ เช่น โจสิปุส กล่าวว่า ตามประเพณีของพวกเขาอาจอ้างถึงกลุ่มศาสนิกผู้เชื่อถือในอาทิพุทธว่า เป็นผู้เคารพบูชาพระเจ้าก็ได้  หนังสือชื่อ “จุดกำเนิดของศาสนาคริสต์” (Origin of Christianity) ซึ่งตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาแถลงว่า ด้วยกาลเวลาล่วงไปนานมาก คำหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลภาษากรีกซึ่งใช้หมายถึงพระเจ้า แต่เป็นคำเฉพาะเจาะจง เป็นคำต่างด้าวซึ่งเข้าสู่ภาษาซีเรีย ซึ่งเป็นภาษาเดิมของพระเยซู คำนั้นถูกใช้ในคำสอนของพระองค์เท่านั้น เป็นคำเดียวกับชาวพุทธธิเบตใช้หมายถึงพระพุทธเจ้า 

          คำว่า “พระเจ้า” หรือ “God” ในคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ จะต้องหมายถึง “พุทธ”  ศาสตราจารย์ริส เดวิดส์ (Prof. Rhys David) พูดว่า คำว่า “God” เป็นคำกร่อนสั้นเข้า ซึ่งมาจากคำว่า เคาตมะ (Gautama) เป็นชื่อโคตรของพระพุทธเจ้า คำว่า “บุตรของพระเจ้า (Son of God)” จะต้องเป็นพุทธบุตร (Buddha-putta) หมายถึงลูกหรือสาวกของพระพุทธเจ้า (Son of the Buddha) พิจารณาดูข้อมูลเหล่านี้แล้ว พวกเราก็มาถึงบทสรุปว่า พระเยซูได้รับการอุปสมบทโดยพระภิกษุในพระพุทธศาสนานิกายเอสเสเนส คือ จอห์น ปั๊ปติส ในแม่น้ำจอร์แดน หลังจากนั้นได้เดินทางเข้าอินเดีย แผ่นดินเกิดของพระพุทธศาสนาด้วยกองคาราวานเกวียน และได้รับการศึกษาพระพุทธศาสนา นิกายมหายานที่นั้น ต่อมาได้เดินทางเข้าสู่ธิเบต พำนักอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายปี ปฏิบัติจนสำเร็จฌานสมาบัติและอภิญญา เมื่ออายุได้ ๒๙ พรรษา จึงเดินทางกลับมาตุภูมิเดิม แล้วเริ่มสั่งสอนเรื่องความรักสากล (Universal Loving-kindness)  ตามแนวคิดพระโพธิสัตว์ของพุทธศาสนามหายาน คัดค้านคำสอนเดิมของศาสนายูดา ซึ่งกำลังใช้อำนาจครอบงำพลเมืองยิวอยู่ขณะนั้น  ด้วยเหตุนั้น พวกยิวหัวเก่าจึงหาเลสกล่าวหาด้วยเรื่องเท็จและตัดสินตรึงพระองค์ไว้กับไม้กางเขน แต่พระองค์ก็ยังไม่ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนด้วยผลของการบำเพ็ญฌาณสมาบัติ และต่อมาพระองค์ก็เดินทางเข้าสู่แคชเมียร์ ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่อยู่ของพวกโยคีทั้งหลายและดำรงพระชนม์ชีพอยู่ที่นั่นด้วยสันติสุขที่เกิดจากฌาณสมาบัติ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยสรุปสั้นที่สุด พระเยซูคริสต์น่าจะเป็นพุทธสาวก สิ่งที่เราทราบกันว่าศาสนาคริสต์ในบัดนี้แท้จริงคือคำสอนของพระเยซูคริสต์ที่ได้รับมาจากพระพุทธศาสนานิกายมหายานว่าด้วยหลักคำสอนเรื่องพระโพธิสัตว์และความรักสากล (Universal Loving-kindness)  

เพิ่มเติมท้ายบันทึก

เนื้อหาทั้งหมดนี้ไม่ใช่ข้อเขียนหรือความคิดเห็นของผม  แต่เป็นบทความชื่อ “ฤๅพระเยซูเป็นสาวกนิกายหนึ่งของพระพุทธศาสนา” เขียนโดย พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตโต) รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการต่างประเทศ และประธานกองงานพระธรรมทูต (ตำแหน่งในสมัยนั้น) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (ปัจจุบันคือพระราชปัญญาเมธี เจ้าอาวาสวัดป่าไตรสิกขาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา)  พอดีผมอ่านเจอบทความนี้ในหนังสือ “พระธรรมทูต สายต่างประเทศ รุ่นที่ 8” ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2545 จึงนำมาเสนอเพื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่สนใจเรื่องราวทางศาสนาและเพื่อชี้ให้เห็นว่าทุกศาสนามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ศาสนิกของทุกศาสนาต่างเป็นพี่น้องกันครับ 

หมายเลขบันทึก: 716349เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2023 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2023 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท