โครงการพัฒนาเครือข่ายด้านวัฒนธรรมและปัญญาเพื่อสุขภาพ


เป้าหมาย:การขยายเครือข่ายงานทางด้านวัฒนธรรม โดยทำกับกลุ่มงานทางด้านวัฒนธรรมทั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ลำพูน และพะเยา ซึ่งถือเป็นเมืองท่องเที่ยวจนส่งผลให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นเริ่มสูญหายไปตามค่านิยมสมัยใหม่

โครงการพัฒนาเครือข่ายด้านวัฒนธรรมและปัญญาเพื่อสุขภาพ 1.คำสำคัญ: การพัฒนาเครือข่าย ต้นทุนทางวัฒนธรรม 2.จังหวัด: เชียงใหม่ 3.กลุ่มเป้าหมาย:สมาชิกกลุ่มรักษ์ล้านนา และเยาวชนผู้ที่สนใจงานทางด้านวัฒนธรรมทั่วไป ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จังหวัดใกล้เคียง เช่น ลำพูน พะเยา  4.เป้าหมาย:การขยายเครือข่ายงานทางด้านวัฒนธรรม โดยทำกับกลุ่มงานทางด้านวัฒนธรรมทั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ลำพูน และพะเยา ซึ่งถือเป็นเมืองท่องเที่ยวจนส่งผลให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นเริ่มสูญหายไปตามค่านิยมสมัยใหม่ 5.สาระสำคัญของโครงการ:ประมาณปี 2539 กลุ่มเยาวชนรักษ์ล้านนา เติบโตมาตั้งแต่กลุ่มยังเป็นกลุ่มเดินป่า ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ โดยนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ใน จ.เชียงใหม่ (วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยครู วิทยาลัยอาชีวะศึกษา ฯลฯ) รวมตัวกันจัดกิจกรรมเล็กๆ ด้วยการลงขันกันคนละ 150 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับการเดินป่าศึกษาธรรมชาติบนดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ จนมีสมาชิกกลุ่มประมาณ 15 คนหลังจากรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงวันหยุดไปได้ระยะหนึ่ง หลายคนในกลุ่มก็เริ่มแสดงความสนใจเกี่ยวกับการละเล่นดนตรีพื้นเมือง รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคเหนือ จนสามารถรวมกลุ่มกันเล่นดนตรีพื้นเมืองออกและแสดงตามงานต่างๆ             กระทั่งปี พ.ศ.2543 กลุ่มฯ มีโอกาสไปร่วมแสดงในงานสืบสานล้านนาครั้งที่ 4 จึงถูกชักชวนจากผู้ก่อตั้งโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญามาร่วมผลักดันงานทางด้านวัฒนธรรม ในปีเดียวกัน กลุ่มเดินป่าฯ ได้ก่อตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการชื่อ กลุ่มรักษ์ล้านนา โดยแกนนำกลุ่มรักษ์ล้านนาได้รับการชักชวนร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยงานร.ร. กลุ่มรักษ์ล้านนาๆ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของร.ร.สืบสานฯ  โดยใช้พื้นที่ภายในบริเวณร.ร.สืบสานฯ เป็นสถานที่ทำงานของกลุ่มรักษ์ล้านนา             ปี พ.ศ.2547 กลุ่มรักษ์ล้านนาเกิดแนวคิดขยายเครือข่ายกลุ่มงานทางด้านวัฒนธรรมให้กว้างขวางมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มรักษ์ล้านนามีความพร้อม สามารถรวมกลุ่มกันได้อย่างเหนียวแน่น อีกทั้งกลุ่มเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ขณะเดียวกันกลุ่มงานทางด้านวัฒนธรรมในภาคเหนือปัจจุบันกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ขณะที่สมาชิกกลุ่มรักษ์ล้านนาหลายคนก็เริ่มจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และคิดกลับไปอยู่บ้านเกิด บางคนคิดไปทำงานต่างถิ่น แต่คนเหล่านี้ยังคงมีแนวคิดของการรวมกลุ่มกันผลักดันงานทางด้านวัฒนธรรม แกนนำกลุ่มรักษ์ล้านนาจึงเกิดแนวคิดขยายเครือข่ายตามพื้นที่ๆ สมาชิกกลุ่มดังกล่าวคิดจะกลับไปอยู่และทำงาน จึงขอทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  6.เครื่องมือที่ใช้:มีกิจกรรมหลักๆ คือ 1.1 จัดประชุมทีมงานของกลุ่มฯ เพื่อทำความเข้าใจกับโครงการฯ ในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย (อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน) ซึ่งมีกลุ่มเยาวชน อ.บ้านโฮ่ง รวม 3 วัน และใช้โอกาสนี้จัดเวทีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมร่วมกับกลุ่มเยาวชนอ.บ้านโฮ่ง ผ่านการแสดงของกลุ่มเยาวชน อ.บ้านโฮ่ง และกลุ่มรักษ์ล้านนา โดยมีผู้นำชุมชนและผู้ปกครองของกลุ่มเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น ร่วมแลกเปลี่ยนด้วย ต่อมากลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชนบ้านโฮ่ง นำคณะสมาชิกกลุ่มรักษ์ล้านนา ทัศนศึกษาเชิงวัฒนธรรมบริเวณพื้นที่อ.บ้านโฮ่ง เพื่อเป็นการเสริมความรู้เชิงวัฒนธรรมอีกด้วย                 1.2 เดินป่าศึกษาธรรมชาติดอยเชียงดาว ซึ่งทำมาก่อนที่จะรับทุนจากสสส. รวม 3 วัน โดยเชิญนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ในระดับมหาวิทยาลัยเข้าร่วม เพื่อสร้างสำนึกของการอนุรักษ์ธรรมชาติและเรียนรู้สุขภาพที่ดีจากการเดินป่า รวมทั้งมีความเข้าใจต่อวิถีล้านนาซึ่งมีความศรัทธาต่อขุนเขา                1.3 เปิดสอนการเรียนดนตรีพื้นเมือง ฟ้อนพื้นเมือง และศิลปะล้านนา ขึ้นในร.ร.สืบสานฯ  เพื่อสืบสานวัฒนธรรมล้านนา                 1.4 จัดงานผิงไฟหนาว เผาข้าวหลาม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กลุ่มรักษ์ล้านนาจัดขึ้นเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง เมื่อรับทุนจากสสส. กลุ่มรักษ์ล้านนาขยายเครือข่ายด้วยการเชื่อมกับลุ่มงานทางด้านวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆ ของจ.เชียงใหม่ ประมาณสิบกว่ากลุ่มมาร่วมงานดังกล่าว ซึ่งจำลองวิถีดั้งเดิมความเป็นอยู่ของคนล้านนา เมื่อถึงฤดูหนาวมักนิยมก่อกองไฟแล้วนำข้าวหลามมาเผา และใช้โอกาสนี้นั่งล้อมวงคุยกันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ เพราะทุกคนจะเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านๆ มาของตัวเอง              1.5 จัดค่ายแลกเปลี่ยนสอนศิลปวัฒนธรรมล้านนาในชุมชน ( 5 วัน) ในพื้นที่ที่กลุ่มรักษ์ล้านนามีเครือข่ายงานทางด้านวัฒนธรรม (ต.บ้านปิน อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา) ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่กลุ่มรักษ์ล้านนามีเครือข่ายงานทางด้านวัฒนธรรมอยู่ โดยมีเยาวชนที่ศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมปลายจากพื้นที่ต่างๆ ของจ.พะเยา เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อรับการถ่ายทอดแนวคิดทางด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งประวัติศาสตร์เรื่องราวของท้องถิ่น โดยบรรจุการเรียนการสอนศิลปวัฒนธรรมล้านนาไว้ในการเข้าค่ายในแต่ละวัน  1.6 ปลูกป่าฟื้นฟูสภาพต้นน้ำ (อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กลุ่มรักษ์ล้านนา ทำมาตั้งแต่ก่อนได้รับทุนจากสสส. ซึ่งประสบความสำเร็จในการใช้วัฒนธรรมความเชื่อของท้องถิ่น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งโรงศพของบรรพบุรุษชนกลุ่มลัวะในอดีต แต่พื้นที่ดังกล่าวถูกชาวเขาเผ่าม้งบุกรุกพื้นที่ปลูกกะหล่ำ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ กลุ่มรักษ์ล้านนาจึงนำไปสื่อสารบอกกับชาวเขาเผ่าม้งจนล่าถอยและหยุดบุกรุกพื้นที่ในเวลาต่อมา เนื่องจากมีชาวบ้านไปกราบไหว้ในบริเวณดังกล่าว  ปัจจุบันชาวบ้านเดินทางขึ้นไปบวงสรวงเป็นประจำทุกปี   7.การจัดระบบ โครงสร้าง กระบวนการทำงาน: โครงการฯ นี้ดำเนินการโดยสมาชิกกลุ่มรักษ์ล้านนาทั้งหมด ตั้งแต่การออกแบบกิจกรรม การประสานงานกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม และการดำเนินกิจกรรมจนเสร็จสิ้นโครงการฯ  8.ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ: ระยะดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547- กันยายน 2548 โดยดำเนินการกับสมาชิกกลุ่มรักษ์ล้านนา เยาวชนที่สนใจงานทางด้านวัฒนธรรมโดยทั่วไปในจ.เชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ลำพูน พะเยา ตลอดจนสมาชิกกลุ่มที่ทำงานทางด้านวัฒนธรรมอื่นๆ   9.การประเมินผลและผลกระทบ: ระหว่างที่ดำเนินโครงการฯ เกิดเครือข่ายทางด้านวัฒนธรรมขึ้นใน 4ื้นที่ คือ กลุ่มรักษ์ล้านนาเยาวชนบ้านโฮ่ง จ.ลำพูน กลุ่มรักษ์ล้านนา อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา กลุ่มสลีจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ศูนย์สืบฮีดสานฮอย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยเฉพาะศูนย์สืบฮีดสานฮอย อ.เชียงดาว ถือเป็นสมาชิกของกลุ่มรักษ์ล้านนาที่กลับไปอยู่บ้านเกิด คือ อ.เชียงดาว และก่อตั้งเครือข่ายขึ้นในรูปของศูนย์ฯ             อย่างไรก็ดี โครงการฯ นี้ไม่มีการประเมินตามหลังเสร็จสิ้นโครงการฯ แต่ชี้วัดได้จากการเกิดเครือข่ายขึ้นจำนวน 4 เครือข่าย รวมทั้งได้รับความร่วมมือในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มรักษ์ล้านนาจากเครือข่ายที่ถือเป็นเครือญาติกันอีกนับสิบกลุ่ม เช่น การจัดงานทอดผ้าป่าในโอกาสที่กลุ่มรักษ์ล้านนาครบรอบ 5 ปี    10.ความยั่งยืน: ทุกวันนี้เครือข่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงดำเนินโครงการฯ ยังคงดำเนินกิจกรรมอย่างแข็งขัน ปรากฎได้ชัดเจนจากศูนย์สืบฮีดสานฮอยที่ได้รับทุนสนับสนุนการทำกิจกรรมจากสสส.             ขณะเดียวกัน เครือข่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นเรียกร้องให้กลุ่มรักษ์ล้านนาทำโครงการฯ ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพราะประสงค์ที่จะให้เป็นโครงการฯ ที่ไปสนับสนุนงานเครือข่าย เนื่องจากเครือข่ายไม่มีความสามารถด้านการเขียนโครงการ แต่แนวคิดของกลุ่มรักษ์ล้านนาช่วยจุดประกายให้เยาวชนหลายคนเขียนโครงการขอทุนจากสสส. เนื่องจากพบว่า มีการสอบถามความเป็นมาเป็นไปของโครงการ หลายคนจึงเกิดความสนใจ ทำให้เกิดการขยายความคิด รวมทั้งเกิดการขยายกิจกรรมที่ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องดนตรีหรือการฟ้อน เพราะกลุ่มรักษ์ล้านนาทำทั้งเรื่องอนุรักษ์และปัญหาสังคม  โดยเฉพาะปัญหาสังคมนั้นพบว่า มีเยาวชนที่ติดเกมให้ความสนใจมาร่วมทำกิจกรรม ของกลุ่มด้วย ทำให้ติดเกมน้อยลง  ปัจจุบันกลุ่มฯ ยังแก้ไขปัญหาเยาวชนของกลุ่มที่ติดเกม ด้วยการซื้อการ์ดเกมมาให้เด็กๆ เล่นภายในร.ร.สืบสานฯ ซึ่งก็ได้ผลทำให้เยาวชนของกลุ่มไปเล่นเกมตามล้านเกมน้อยลง   11.จุดแข็งและอุปสรรค: กลุ่มรักษ์ล้านนาสรุปจุดแข็งของการดำเนินโครงการฯ เอาไว้ 6 ข้อ คือ 1.สมาชิกกลุ่ม ซึ่งเป็นเยาวชนที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง คิดเอง และทำด้วยตัวของเยาวชนเอง ทำให้รู้และเข้าใจไปในทางเดียวกัน2.กลุ่มได้รับการเรียนรู้มาจากการจัดการในลักษณะของนักกิจกรรม ที่ทุกคนต้องพัฒนาตัวเอง ยกระดับตัวเองพี่ต้องคุมน้องให้ได้ หรือใครถนัดด้านใดก็ให้ดูแลด้านนั้น 3.ระบบการทำงานลักษณะเครือญาติทำให้เกิดความสามัคคี โดยที่ทุกคนต้องช่วยกัน 4.ทุกคนต่างมีแนวคิดและทิศทางเดียวกัน ในการไม่ใช้เงินเป็นตัวนำในการทำกิจกรรม ทำให้ทุกกิจกรรมที่คิดแล้วสามารถทำได้ เพราะไม่ได้คิดจากฐานของการใช้เงิน 5.เนื่องจากกลุ่มมีฐานะทางวัฒนธรรมที่สั่งสมมาประมาณ 6-7 ปี ทำให้การเชื่อมการทำงานง่ายขึ้น 6.ทุกคนเริ่มต้นจากสิ่งที่ไม่สนใจในวัฒนธรรม แต่เมื่อเกิดการรวมกลุ่มก็เริ่มสนใจวัฒนธรรม และเรียนรู้ที่จะศึกษาเพิ่มขึ้นจนสามารถพัฒนาตนเอง สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอด หรือมีความรู้เผยแพร่ต่อ เป็นครูต่อได้            นอกจากเหตุผลทั้ง 6 ข้ออันถือว่าเป็นจุดแข็งแล้ว  สถานที่ยังอำนวยให้ทำกิจกรรม คือ ร.ร.สืบสานฯ รวมทั้งได้ผู้ที่มีความรู้ทางวัฒนธรรมเป็นที่ปรึกษากลุ่ม ขณะที่ผู้ปกครองของเยาวชนให้การสนับสนุนเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรม เนื่องจากเยาวชนที่นี่ไม่เคยทำเรื่องเสื่อมเสียอีกทั้งสามารถพึ่งพาทุนภายนอกได้ โดยที่ไม่ใช้เงินเพียงอย่างเดียว เพราะได้รับบริจาคในเรื่องสิ่งของเช่น เครื่องดนตรี รวมทั้งเงินบริจาค และระบบลงขันจากการจัดกิจกรรมต่างๆ ส่วนสังคมยังให้การสนับสนุนกิจกรรม และให้กำลังใจในการทำงานของกลุ่มรักษ์ล้านนารวมทั้งโครงการฯ นี้ใช้ทุนทางวัฒนธรรมเข้ามาสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างมาก ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ในทางรูปธรรมเหมือนเช่นกิจกรรมออกกำลังกายต่างๆ ดังที่เห็นโดยทั่วๆ ไป            ส่วนที่มองเป็นอุปสรรค คือ แรกเริ่มทำโครงการฯ ดีมาก เนื่องจากมีผู้ประสานงานหลัก 1 คน ส่วนคนอื่นๆ เป็นผู้ช่วยในการประสานและทำกิจกรรม แต่เมื่อทำไปๆ ผู้ประสานงานหลักเกิดความคาดหวังกับทุกๆ คนในกลุ่มว่าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ เพื่อที่เวลาสสส.มาตรวจจะได้ไม่เกิดปัญหา แต่คนอื่นๆ กลับไม่มาช่วยในเรื่องของการจัดการทำให้เกิดปัญหาเช่น ต้องมาจัดการกับเอกสารที่กองเป็นปึกๆ ส่งสสส. แต่ระยะหลังมีการปรับวิธีการทำงาน คือทุกคนต้องช่วยกัน  ปัญหาทางด้านการจัดการถือเป็นปัญหาหนักใจของกลุ่มรักษ์ล้านนา เพราะกลุ่มไม่เคยมีประสบการณ์งานด้านนี้มาก่อน  

12.ที่ติดต่อ: กลุ่มเยาวชนรักษ์ล้านนา

หมายเลขบันทึก: 71605เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท