ธี่หยด....บทเรียนจากหนังผีสู่ชีวิตคน (ไม่สปอยล์) : สังคม อุดมการณ์ และพุทธวิธีปราบผี


ทั้งหมดก็เป็น 3 มิติที่ผมเรียนรู้จากหนังดังเรื่องนี้ เออ ดูหนังกับวัยรุ่นทั้งที พอเรามีอายุมากขึ้น ก็ได้อะไรๆกลับมาสอนใจ ก็เลยอยากจะบันทึกเอาไว้ เผื่อใครนำไปคิด ไปทำต่อก็จะเป็นวิทยาทาน ให้เกิดสุขภาวะทางสังคม และปัญญาต่อไป

นาทีนี้ หนังผีบ้านเรา ที่เป็นกระแสเกรียวกราว หนีไม่พ้นสองเรื่องนี้ คือ เรื่องสัปเหร่อ กับ เรื่องธี่หยด..แว่วเสียงครวญคลั่ง

 

 

สัปเหร่อ นี่ผมยังไม่ได้ดูนะครับ พอดี ลูกชายวัยรุ่นชวนไปดู ธี่หยด ก่อน ก็เลยไปดูเมื่อสัปดาห์ก่อน

เรื่อง ความหลอน และสยอง นี่ก็ยกนิ้วให้เลย ดาราเล่นได้เข้าถึงบท หนังไทยทำ ภาพ เสียง effect ได้ดีไม่แพ้เมืองนอก แต่ที่อยากบอกคือ มันมีสตอรี่ที่น่าสนใจ มีอะไรที่คนอย่างเรา พอดูเสร็จกลับมาแล้ว ได้ฉุกคิด ก็ถือว่า เป็นหนังที่ไม่ได้มีแค่เล่นกับความหลอน แต่เล่นกับอารมณ์ และตัวตนด้านในของคนดูอย่างเราๆ

 

เรียกว่า ดูหนังผีเรื่องนี้ได้กลับมาพิจารณาชีวิตหลายอย่าง ก็เลยอยากจะบันทึกเก็บเอาไว้ก่อนความทรงจำจะรางเลือนไป

อย่างแรก  มิติเชิงอุดมการณ์ร่วม ผมคิดว่าหนังเข้าถึงความรู้สึกเชิงอุดมการณ์ส่วนลึกของคนดูที่เป็นคนร่วมสมัยได้ดีทีเดียว  โอเค  อย่างที่ นักวิจารณ์หลายท่านกล่าวถึงก็คือ หนังให้ภาพสะท้อนถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ พี่ๆน้องๆ ที่ในบริบทการเกิดเรื่องนั้น (ปี 2515) บทบาทพ่อ แม่ พี่ชายคนโตที่จะต้องปกป้องน้องๆ พี่สาวคนโตที่มักจะใกล้ชิดน้องสาว  ฯลฯ จนปัจจุบัน รูปแบบความสัมพันธ์จุดนี้ก็ไม่เปลี่ยนไปมากนัก โดยเฉพาะในสังคมเกษตร จนมาเป็นเกษตรผสมผสานกับอาชีพอื่นๆ อย่างในปัจจุบัน อันนี้ ผมจะไม่กล่าวถึงล่ะ เพราะค้นดูในเน็ตได้ครับ แต่ยอมรับว่ามัน Touch ความเป็นส่วนลึกของเราได้ดี คือ ผีก็กลัว แต่ก็จะสู้เพื่อคนที่เรารัก อันนี้ มันปลุกความกล้าหาญ ฮึกเหิมในใจคนดู เหมือนมันสนองอารมณ์และอุดมการณ์ร่วมของคนในสังคมนะครับว่า เรามี “ผี” (ในเชิงอุปลักษณ์ หรือเปรียบเทียบ ก็คือ อำนาจมืด ความไม่ชอบธรรมเชิงโครงสร้าง ระบบ สถาบันเชิงอำนาจทั้งหลายที่พร้อมจะทำร้าย ขู่ ขย้ำ ให้เรากลัวสารพัดในสังคม แต่เราก็ใช่จะยอมจำนน เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะเมื่อต้องทำเพื่อช่วยเหลือคนที่เรารักให้รอด อันนี้ ผมว่า หนังสนองความต้องการส่วนลึก ที่เป็นมิติอุดมการณ์ของคนไทยร่วมสมัยได้ดี สังเกตคนดู ส่วนใหญ่รอบที่ผมดูนี้เป็นคนหนุ่มสาว กับวัยรุ่นนะครับ มีผู้ใหญ่ 40 up มาบ้าง แต่หัวหงอกอย่างผมนี่น่าจะน้อยสุด ก็พออนุมานได้ว่า มันตอบโจทย์คนร่วมสมัย แต่ถ้าคนเจน Baby Boomer มาอาจจะไม่ชอบหนังแนวนี้ก็ได้ แต่ไปชอบแบบ บ้านผีปอบ หรือ แม่นาคพระขโนง ในบทเก่าๆแทน อันนี้ผมไม่รู้ครับ )

อย่างที่สอง มิติความสัมพันธ์ในครอบครัว ผมเห็นว่า หนังให้ข้อคิด ในเรื่องของ “การใช้ชีวิตอย่างมีชีวิต” คือ ให้หันกลับมาดูแลคนในครอบครัว ก่อนที่จะสายเกินไป รวมถึงสอดแรก Soft Skill อย่างเช่น การพูดให้สติพ่อที่เผลอเอาไม้เฆี่ยนตีลูกเมีย , การที่พี่กับน้องควรพูดจาให้เกียรติกัน , การช่วยเหลือกันระหว่างเพื่อนบ้าน การมีน้ำใจต่อกันแม้ต้องเสี่ยงชีวิตโดยไม่คิดมูลค่า เหล่านี้เป็นวิธีคิด หรือค่านิยมที่สอดแทรกอยู่ในหนัง ที่ผมกลับถึงบ้านแล้วก็รู้สึกได้ว่า อืม....ดี เราไม่ต้องสอนลูกด้วยปากมากมาย ถ้าเขาได้สัมผัสจากหนังแล้วซึมซับสู่ความเข้าใจ

 

ไปดูหนังกับลูก จึงได้สังเกตวิธีคิดของเขาที่มีต่อหนังเรื่องต่างๆ การเรียนรู้ที่เขาได้  ซึ่งอาจจะไม่ใช่การถามเขาทื่อๆตรงๆ หากแต่เป็นการสังเกต sensing ถึงสิ่งที่เขาเรียนรู้ลึกๆ

อันนี้ เป็นสิ่งที่พ่อคนนึง รู้สึกว่าได้กำไรเวลาไปดูหนังกับลูก มากกว่าไปดูหนังคนเดียว คือ มันมีมิติทางสังคมระหว่างพ่อลูก ไม่ใช่แค่รัก แต่เป็นการเรียนรู้ แล้วเราค่อยๆเสริมกันไป

 

อย่างที่สาม มิติของการจัดการเชิงพุทธ  อันนี้ เป็นมิติที่ผมกลับมาคิดเพิ่มเติมหลังจากดูหนังจบไปแล้วสองสามวัน คือ ดูหังแล้วมันยังคันอยู่ในหัวสมองน่ะครับว่า มันไม่น่าจบแบบนี้ ( อันนี้ไม่สปอยล์หนังนะ อยากรู้ต้องไปดูเองครับ ) แต่ก็มานึกว่า แล้วผีแบบนี้ เขาปราบกันยังไงนี่ เห็นว่านำเค้าโครงเรื่องมาจากสตอรี่ เรื่องจริงจากทางบ้านในเว็บพันทิป ตามด้วย Ghost Radio แล้วพัฒนามาเป็นบทหนัง แล้วถ้าเป็นผีโคตรปอบแนวนี้เขาปราบกันยังไง นักวิจัยชาวบ้านอย่างเราก็ค้นข้อมูลในเนต ก็พบว่า มีพระที่มีชื่อเสียงบางรูปที่เล่าประสบการณ์ปราบผีแบบนี้ ก็ไปเจอหลวงพ่อพุธ ฐานิโย กล่าวไว้ แล้วพอเหตุตามท้องเรื่องเกิดที่กาญจนบุรี ซึ่งผีนี่น่าจะเกี่ยวกับคุณไสย คาถาอาคมมอญ ก็ก็ไปเจอข้อมูล หลวงพ่ออุตตมะ ซึ่งชาวมอญทั้งที่กาญจนบุรีและทั่วประเทศไทย ไปจนถึงรัฐมอญนับถือมาก ถึงกับให้สมญา “เทพเจ้าของชาวมอญ” ท่านก็พูดเรื่องการปราบผีปอบเอาไว้ ใครสนใจ ลองค้นเพิ่มในเนตได้นะครับ แต่โดยสรุป ทั้งสองท่าน กล่าวถึงการไล่ผีว่า

“ วิชาอาคมทางไสยศาสตร์ เช่น บทกันผี มนต์ไล่ผี มันไม่มี ความหมายอะไรสำหรับภูตผีปีศาจ
เช่นอย่างภูตผีปีศาจที่มันเข้ามาสิงคน พวกเป็นผีเข้ามาสิงคนนี่มันเรียนมนต์ไสยศาสตร์จบมาแล้ว
มนต์ไล่ผี มนต์ขับผี มันไม่กลัว มนต์ป้องกันมันก็ไม่กลัว มันกลัวแต่ คนผู้ทำความดี
บทสวดมนต์ พุทธคุณ ธัมมคุณ สังฆคุณ เมตตา พรหมวิหาร เป็นจุดยืนของการทำความดี
เราสวดไปแล้วผีมันไม่กลัว แต่พอได้ยินคำว่า สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ พอมันได้ยิน
มันก็นึกว่า อ้อ.. ท่านผู้นี้มาดี ไม่ได้มาร้าย เราไม่ควรเบียดเบียนท่านผู้นี้ แล้วมันก็ไม่เบียดเบียนเรา”

(คำสอน หลวงพ่อพุธ จากเพจ พระอรหันต์สายหลวงปู่มั่น)

-ภาพหลวงพ่อพุธ ฐานิโย จากเพจ พระอรหันต์สายหลวงปู่มั่น-

 

สำหรับ หลวงพ่ออุตตมะ มีข้อมูลกล่าวถึงการปราบผี (ปอบ) ของท่านไว้ว่า

“ ท่านว่าสมัยนั้นใคร ๆ ก็เชื่อเรื่องผีปอบ ถ้าพามาหาท่าน ท่านจะลองให้กินยาดู ถ้าเป็นผีจริงจะแน่นิ่งไป แต่ฅนธรรมดากินไม่เป็นอะไร คงรู้สึกคล้าย ๆ เคี้ยวพลูเท่านั้น ต่อมาท่านมอบให้พระวินทะสาโรทำหน้าที่ปราบผี ส่วนท่านจะวางตัวเป็นกลาง ถ้าผีร้องโอดครวญให้ท่านช่วย ท่านก็จะแผ่เมตตาให้ หมอผีอื่น ๆ จะถนัดตีผีอย่างไม่ยั้ง (วิธีตีผีไม่ใข่ตีตามตัวฅนป่วย แต่ตีไปที่กระดาน ผีจะเจ็บเหมือนถูกตีเอง) 
............
ส่วนหลวงพ่อใช้วิธีเทศน์สั่งสอน ให้ผีรู้จักสงสารฅนที่เข้าสิง และให้ตัดเวรตัดกรรมกันไป ขอให้เขาไปอยู่รวมกันตามป่า อย่ามาสิงฅน ขณะนี้ท่านถ่ายทอดวิชาปราบผีให้แก่ พระครูวิมลกาญจนคุณ เจ้าอาวาสวัดสมเด็จ กับพระครูอาทรกาญจนกิจ (อาจารย์หอม) วัดวังก์ไว้แล้ว เวลานี้อาจารย์หอมได้สร้างศาลไว้ที่สามประสบ ให้พวกผีอาศัยอยู่ โดยให้ผีรับศีลและสัญญาว่าจะไม่เข้าสิงฅนอีก ศาลนี้มอบให้ชาวบ้านฅนหนึ่งเป็นผู้ดูแลอยู่ เดี๋ยวนี้ในหมู่บ้านไม่ได้ยินเสียงผีแล้ว แต่ตามป่ายังมีอยู่บ้าง”

( เล่าเรื่อง หลวงพ่ออุตตมะปราบผี จากเพจ คนขลัง คลังวิชา )

-ภาพหลวงพ่ออุตตมะ จากเพจพระเกจิ คณาจารย์นครสวรรค์-

จะเห็นได้ว่า ในทางพระ ทางธรรม ท่านนำด้วยเมตตา และความเข้าใจ มี Empathy กับผีนะครับ ถึงจะเอาผีอยู่ ถึงผีจะร้ายแค่ไหนก็แค่ให้ผีย้ายออกไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม ไม่ใช่ทำลายให้สิ้น หรือเสกทำลายให้ไม่ผุดไปเกิด  อันนี้ เป็น การจัดการขั้นสูงเลยทีเดียว ซึ่งถ้าเราไม่ย้อนกลับมาทบทวนดูว่า เฮ้ย ทำไมการปราบผีแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน มันไม่ได้ผล โดยเฉพาะผีที่มีฤทธ์มาก คำตอบก็มาจากการให้ข้อคิด ละคำสอนของหลวงพ่อพุธ กับหลวงพ่ออุตตมะ เฉลยไว้ในนี้

แต่ถ้าใครอยากอ่าน Case Study ที่เราเป็นสตอรี่ ที่ท่านใช้เมตตา ใช้บทสวดแผ่เมตตา บทพุทธคุณฯ ในการจัดการผีร้ายเหล่านี้ ผมแนะนำให้ค้นดูตามแหล่งที่ผมระบุไว้ในวงเล็บ น่าจะได้อรรถรสในการจดจำและเข้าใจขึ้นอีกมากครับ

ทั้งหมดก็เป็น 3 มิติที่ผมเรียนรู้จากหนังดังเรื่องนี้ เออ ดูหนังกับวัยรุ่นทั้งที พอเรามีอายุมากขึ้น ก็ได้อะไรๆกลับมาสอนใจ  ก็เลยอยากจะบันทึกเอาไว้ เผื่อใครนำไปคิด ไปทำต่อก็จะเป็นวิทยาทาน ให้เกิดสุขภาวะทางสังคม และปัญญาต่อไป 

 


อ้อ!  ภาพประกอบที่เป็นลายเส้นปากกาข้างต้นนี้ ผมวาดจากแรงบันดาลใจจากในหนัง เป็นอีกภาพที่สะท้อนว่ายามขณะที่ผีร้ายกำลังจ้องเล่นงาน แต่ความรู้สึกถึงความรักความห่วงใยระหว่างพี่น้องก็ฉายฉาน

ไม่ได้ค่าโฆษณา แต่ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างมีอรรถรสมากขึ้น แนะนำว่า ควรต้องไปดูครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 716040เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2023 20:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2023 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

I like the discourse on ‘exorcism’ – Buddhist style and the drawing – with a ghost (a threat) in the background, not a menace in spot light but a reason in time of need.

Salute!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท