การแข่งขันสร้าง “ยายจันทน์เป็ง”


ความคิดคำนึงที่มีต่อยายจันทน์เป็ง ทำให้ผมปลงกับวิถีของการพัฒนา ผมคุ้น ๆ กับ คำว่า “การแข่งขันสร้างผู้นำ” แต่บางครั้ง อำนาจรัฐก็สร้างผู้นำที่มาเป็นแนวกันชนในการรับปัญหา และทอดทิ้งผู้ที่ไม่มีโอกาสที่จะสู้ ระหว่างทางที่เดินย้อนกลับมาที่ทำงาน ผมได้พบเห็นชีวิตแบบยายจันทน์เป็งไม่น้อยกว่า 2-3 คน ที่เป็นผลผลิตจากการล่มสลายของการพัฒนา ก้าวย่างสุดท้ายที่นำพาชีวิตผมก้าวเขาสู่ประตูโรงงาน เมื่อผมได้บดขยี้เศษดินเศษทรายที่ติดพื้นรองเท้า ผมเงยหน้าขึ้น แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ผมได้พบกับยายจันทน์เป็งกำลังนั่งทำงานอยู่มุมห้อง และพบยายจันทน์เป็งกำลังขึ้นบันได

การแข่งขันสร้าง “ยายจันทน์เป็ง”

เสียงอื้ออึงดังขึ้นมาจากทางลานสัก ทำให้ผมต้องลุกขึ้นจากเตียงนอนภายในหอพักของมหาวิทยาลัย ลมหนาวที่แทรกเข้ามาผ่านบานเกร็ดช่างหนาวเหน็บ ผมจึงต้องสะกดความรู้สึกขี้เกียจ และละตัวเองจากผ้านวมผืนโต เพื่อมาดูเสียงที่อื้ออึงนั้น

มันไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช่ครั้งเดียวในรอบปีที่ผ่านมา ที่เกิดการประท้วงของชาวบ้านที่อยู่หลังมหาวิทยาลัยในการเรียกร้องที่ดินทำกิน ซึ่งมหาวิทยาลัยกำลังบุกรุกอย่างถูกกฎหมายในพื้นที่จับจองของชาวบ้าน แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีโฉนด ไม่มี น.ส.3 แต่สำหรับความผูกพันบนพื้นแผ่นดินแห่งนี้ มันยิ่งใหญ่ไปกว่าเอกสารสิทธิ์ทางกฎหมาย มันจึงต้องทำให้พวกเขาต้องสู้ และก็สู้ แม้ว่าโอกาสชนะนั้นแทบจะไม่มี

ภาพชีวิตตลอดระยะเวลา 30 ปีที่มหาวิทยาลัยได้ก่อกำเนิดบนพื้นที่แห่งนี้ ยายจันทร์เป็งได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของความเจริญทางวัตถุที่เกิดขึ้นมาโดยลำดับ จากตึกรามบ้านช่องของอาจารย์ และอาคารเรียนไม่กี่หลัง เพียงไม่กี่ปีก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด นักศึกษาชายหญิงแต่งชุดล้ำสมัย มอเตอร์ไซค์วิ่งกันอย่างขวักไขว่เกลื่อนถนน

แต่ชีวิตหลังมหาวิทยาลัย การพัฒนามหาวิทยาลัยกำลังรุกไล่ที่เพื่อทำ “สถาบันพัฒนาชนบท” บรรดาชีวิตผู้ไม่มีสิทธิเหล่านี้ จึงกำลังถูกเขี่ยให้หลุดพ้นออกจากวงจรแห่งการพัฒนา แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะทำให้คนในละแวกนี้มีงาน มีอาชีพจากการเข้าไปรับจ้างซักรีดเสื้อผ้าให้กับนักศึกษา และได้เข้าไปทำงานตามหอพักนักศึกษาบ้างก็ตาม แต่สำหรับยายจันทน์เป็งผู้จับจอบจับเสียมมาตลอดชีวิต ในการปลูกผักสวนครัวเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อไปขายที่ตลาดหลังมหาวิทยาลัยนั้น คงไม่มีทางเลือกอื่นใดที่ดีไปกว่าการมาประท้วง

ใบหน้าที่เหี่ยวย่น หลังงุ้มงอของแม่เฒ่าจันทน์เป็ง ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 70 ปี อยู่ในเพิงเล็ก ๆ แต่เพียงลำพัง ภายหลังจากพ่อเฒ่าสิงห์คำได้ตายจากแกไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แกไม่มีลูก และไม่มีใครมาคอยอุ้มชูชีวิตอันรอวันละจากโลกนี้ เหมือนกับหลายร้อยหลายพันชีวิตที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยที่มีรัฐเป็นเสมือนแม่นมคอยป้อนข้าวป้อนน้ำ

การต่อสู้ในครั้งนี้ จึงยิ่งใหญ่และมีความหมายสำหรับแผ่นดินที่แกไปจับจองมามากกว่า 50 ปี ก่อนที่จะมีกฤษฎีกาประกาศเป็นพื้นที่ของราชพัสดุเสียอีก

ความทรงจำของยายจันทน์เป็งอันเลือนรางเมื่อแกหวนกลับไปนึกคิดวันเก่า ๆ ของชุมชนแห่งนี้ก่อนที่จะมีมหาวิทยาลัย มันเป็นภาพแห่งความสุข ผู้คนทั้งหมู่บ้านช่วยเหลือเกื้อกูล ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาชุมชนตามอัตภาพ แกยังจำได้ว่าเมื่อปีที่น้ำป่าไหลลงมาสร้างความเสียหายให้กับหมู่บ้าน ทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจกันซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิม

แต่หลังจากความเจริญเข้ามาผ่านทางหน้าหมู่บ้าน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัย ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ปัจจัยหลายอย่างทำให้ทุกคนต้องปากกัดตีนถีบเพื่อความอยู่รอด น้ำใจไมตรีก็ดูจะเลือนหาย

มอเตอร์ไซค์คันแล้วคันเล่า ผ่านหน้ายายจันทร์เป็ง เสียงแผดร้องจากท่อไอเสียได้ปลุกให้ยายตื่นจากภวังค์ความคิด มันเป็นความรู้สึกเจ็บปวดและเป็นความรู้สึกที่น่าสะเทือนใจสำหรับผู้มีประวัติศาสตร์กับผืนแผ่นดินแห่งนี้

ชายหนุ่มสวมชุดสีกากี ที่ทำงานภายในมหาวิทยาลัย บอกกับยายว่า “ยายกลับบ้านไปเถอะ ยายสู้อำนาจรัฐไม่ได้หรอก” 

ยายผู้ไม่เคยได้รับการศึกษา ยายจึงไม่รู้ว่า “อำนาจรัฐ” มันมีตัวตนเป็นอย่างไร แต่สำนึกของยายก็บอกให้รู้ว่ายายไม่มีวันที่จะชนะ และไม่มีสิทธิบนที่ดินผืนนี้ เพราะมหาวิทยาลัยเป็นของรัฐบาล และมหาวิทยาลัยก็มีสิทธิที่จะทำอะไรก็ได้ แม้กระทั่งการเขมือบความล้าสมัยต่าง ๆ ที่อยู่รอบเมืองมหาวิทยาลัยแห่งนี้

อาคาร “สถาบันพัฒนาชนบท” เกิดขึ้น พร้อม ๆ กับชีวิตที่ระเหเร่ร่อนของยายแก่ ๆ ที่ใช้ชีวิตขอทานภายในมหาวิทยาลัย พร้อมกับการรับจ้างดูดวง ซึ่งเป็นความรู้ที่มีติดตัวเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องในบั้นปลายของชีวิต

********************

ผมรู้สึกตัวอีกครั้ง เมื่อรถร่วมประจำทางคันเก่า ๆ พาผมเลยที่ทำงานมาร่วม 2 ป้าย ความคิดคำนึงที่มีต่อยายจันทน์เป็ง ทำให้ผมปลงกับวิถีของการพัฒนา ผมคุ้น ๆ กับ คำว่า “การแข่งขันสร้างผู้นำ” แต่บางครั้ง อำนาจรัฐก็สร้างผู้นำที่มาเป็นแนวกันชนในการรับปัญหา และทอดทิ้งผู้ที่ไม่มีโอกาสที่จะสู้

ระหว่างทางที่เดินย้อนกลับมาที่ทำงาน ผมได้พบเห็นชีวิตแบบยายจันทน์เป็งไม่น้อยกว่า 2-3 คน ที่เป็นผลผลิตจากการล่มสลายของการพัฒนา แน่นอนว่าเรื่องเล็ก ๆ พรรค์นี้มันไกลจากบทบาทหน้าที่ของรัฐ แต่รัฐก็มีหน้าที่สร้างปัจจัยที่เสมอภาคในการแข่งขันมิใช่หรือ? ผมถามกับตัวเอง โดยที่ไม่ขวนขวายหาคำตอบ

ก้าวย่างสุดท้ายที่นำพาชีวิตผมก้าวเข้าสู่ประตูโรงงาน เมื่อผมได้บดขยี้เศษดินเศษทรายที่ติดพื้นรองเท้า ผมเงยหน้าขึ้น แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ผมได้พบกับยายจันทน์เป็งกำลังนั่งทำงานอยู่มุมห้อง และพบยายจันทน์เป็งกำลังขึ้นบันได

“ถ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ขอให้สักวันหนึ่ง ยายได้รับโอกาสที่เสมอภาคบ้างนะ” ผมแผ่กุศลจิตให้กับยายจันทน์เป็ง ผู้ที่ไม่มีโอกาสเป็นผู้นำจากกระบวนการแข่งขัน และก็หวังว่าฟ้าดินคงไม่ทำร้ายเขานานนัก.....

หมายเหตุ : เป็นงานที่เขียนลงในคอลัมน์ Home Room ในเซ็กชั่น Get-Rick-Quick หนังสือพิมพ์คู่แข่งขันรายวัน วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ชื่อเรื่องคือ การแข่งขันสร้าง “ยายจันทน์เป็ง” ตัวละครและเนื้อหาทั้งหมดเป็นเรื่องสมมติ ประเด็นที่นำเสนอเป็นเพียงการสะท้อนให้เห็นถึงภาวะของการแข่งขัน และการพัฒนาก็ทำให้ผู้ที่มีศักยภาพอันจำกัด แต่ปรับตัวไม่ได้ ก็กลายเป็น “ยายจันทน์เป็ง” หรือเป็นผู้ที่ถูกปล่อยไว้ข้างหลังในสังคมหรือที่ทำงาน

หมายเลขบันทึก: 715887เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2023 06:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2023 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท