วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙)  ๑๕๕. ววน. ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า


 

วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๖ ผมเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาพัฒนาระบบ ววน. ของ สอวช.    มีเรื่องสถานภาพ ววน. สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยเข้าสู่การเสวนา   

จุดเด่นคือ ๓ แผนพัฒนามีความสอดคล้องกัน ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และ ววน.      คือแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (๒๕๖๑ - ๒๕๘๐)    แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ฉ. ๑๓ (๒๕๖๖ - ๒๕๗๐)    และแผน ววน. ของประเทศ (๒๕๖๖ - ๒๕๗๐)   

ตัวเลขการลงทุน ววน. ด้านยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ปี ๒๕๖๔ เท่ากับ ๔,๖๘๕ ล้านบาท น้อยกว่าของบริษัท Tesla ๑๘ เท่า     

ประเด็นสำคัญในมุมมองของผมคือ การกำหนดกลยุทธของระบบ ววน. ด้านยานยนต์ไฟฟ้าไทย ที่เชื่อมต่อกับยักษ์ใหญ่ของโลก   ในการดึงดูดให้เขาเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์การผลิตในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้     โดยที่ไทยได้รับผลประโยชน์อย่างเหมาะสม    ข้อคิดในใจของผมข้อนี้ ท่านอดีตรองนายกฯ ดร. ยุคล ลิ้มแหลมทอง เสนอในที่ประชุม     

กล่าวให้ง่ายขึ้นได้ว่า การลงทุนและการจัดระบบที่ฉลาดเป็นอย่างไร   เราแข่งกับใคร แข่งด้านไหน     

เป้าหมายของเราที่ทีมงานของ สอวช. เสนอคือ เป็นที่หนึ่งในอาเซียน (รัฐบาลประกาศในปี ๒๕๖๕ ว่าต้องการเป็นที่หนึ่งของเอเซีย   และแผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ ๑๓ ว่ามีเป้าเป็นศูนย์กลางของโลก)     โดยที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทผลิต EV เหล่านี้  บริษัทผลิตเป็นของจีน  ญี่ปุ่น  ยุโรป อเมริกัน  เกาหลี   แต่ประเทศเราเป็นแหล่งผลิตและส่งออก   โดยหลักการอย่างหนึ่งคือเราต้องหาทางกำหนดให้ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศในสัดส่วนที่เหมาะสม    เพื่อเปิดช่องให้บริษัทผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศได้พัฒนาเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ของตน   เหมือนกับที่เราเคยทำกับรถยนต์สันดาปภายในอย่างได้ผลมาแล้ว   

นั่นคือ เราต้องมียุทธศาสตร์เป็นแหล่งประกอบรถนยต์ EV    โดยมีชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศในสัดส่วนที่มากพอสมควร    และมีการลงทุน ววน. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาชิ้นส่วนเหล่านี้ให้มีคุณภาพสูง    ซึ่งทีมงานที่ศึกษาข้อมูลมาเสนอ    ระบุว่า ได้แก่ แบตเตอร์รี่   อุปกรณ์ควบคุม   มอเตอร์ ระบบส่งกำลัง   ระบบระบายความร้อน   เคมีภัณฑ์        

ทีมวิจัยของ สอวช. ค้นข้อมูลมาเสนอดีมาก    ช่วยให้รู้ว่ามีหน่วยงานใด และมหาวิทยาลัยใด ที่มีผลงานวิจัยด้านใดเกี่ยวกับ EV  ท่านอดีตรัฐมนตรี ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ จึงเสนอให้นำข้อมูลสรุปข้อค้นพบในหน้า ๔๓ เสนอคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ   เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย  และนำข้อมูลขีดความสามารถด้าน ววน. ของหน่วยงานต่างๆ แจ้ง BOI    เพื่อจะได้นำเป็นข้อมูลแจ้งบริษัทต่างชาติที่มาขอ BOI  ให้ทราบว่าจะไปขอความร่วมมือวิจัยและพัฒนาที่หน่วยงานใด   

ดร. รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่ท่านรู้จัก ทำวิจัยเรื่อง AHSS (Advanced High Strength Steel) ที่เป็นที่ต้องการในการพัฒนาตัวถังรถที่มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง    ซึ่งเป็นที่ต้องการในการพัฒนา EV   

ศ. ดร. สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ ให้ความเห็นว่า ข้อมูลวิจัยที่รวบรวมมาได้ยังไม่ครบ   เรื่องแบตเตอรี่ ไทยน่าจะสนใจแบตเตอร์รีชนิด Na-ion เพราะเรามีวัตถุดิบ  แม้จะนำหนักมากกว่า และจุไฟฟ้าน้อยกว่า แบตเตอร์รี ชนิด Li-ion   นอกจากนั้นรถยนต์ Fuel cell EV ที่ใช้ Hydrogen เป็นเชื้อเพลิงในอนาคตอาจราคาลดลง   หรืออาจเป็นรถยนต์สันดาปภายในที่ใช้เชื้อเพลิง Hydrogen ไม่ก่อมลภาวะ  เป็นข้อมูลที่ควรเสนอไว้ด้วย    

ดร. ญาดา มุกดาพิทักษ์ แนะนำให้รวบรวมข้อมูลของฝ่ายธุรกิจเอกชน มาประกอบด้วย   

ผม (ในฐานะประธาน) สรุปว่า (๑) สอวช. นำข้อมูลเหล่านี้ไปทำงานกับฝ่ายนโยบาย   และฝ่ายปฏิบัติ   (๒) หมุนวงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติ                        

วิจารณ์ พานิช

๕ ต.ค. ๖๖ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 715874เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2023 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2023 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท