อวตารกับทฤษฎีวิวัฒนาการ (Avatar and Theory of Evolution)


                ในการเข้าร่วมประชุมวิชาการจัดโดยสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย ที่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (International Buddhist Studies College- IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคม 2566 ผมได้นำเสนอบทความเรื่อง “แนวคิดอภิปรัชญาและปรัชญาสังคมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่ปรากฏในปราสาทหินพนมรุ้ง" เพื่ออธิบายแนวคิดเรื่องการสร้างโลกและจักรวาลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนิกายไศวะและนิกายไวษณพที่ปรากฎบนหน้าบันทางเข้าปรางค์ประธานปราสาทหินพนมรุ้ง  ซึ่งปรากฎเรื่องราวการสร้างโลกและจักรวาลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หน้าบันชั้นบนเป็นภาพศิวะนาฏราช การร่ายรำของพระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดของศาสนาฮินดูนิกายไศวะ กล่าวกันว่าการร่ายรำของพระศิวะเป็นจุดกำเนิดของจักรวาล ถ้าพระศิวะร่ายรำในจังหวะที่พอดี โลกและจักรวาลก็จะเกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างเป็นระบบ แต่ถ้าพระศิวะร่ายรำด้วยจังหวะที่เร่าร้อน โลกและจักรวาลก็จะวุ่นวาย ปั่นป่วนและแตกสลายในที่สุด ความเชื่อนี้เป็นแนวคิดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนิกายไศวะ ในขณะเดียวกันหน้าบันข้างล่างเป็นภาพแกะสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นทฤษฎีการสร้างโลกของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นิกายไวษณพ ที่ว่าพระนารายณ์ประทับบรรทมอยู่บนอนันตนาคราชในท่ามกลางเกษียรสมุทร ขณะนั้นเองก็เกิดดอกบัวผุดขึ้นมาจากนาภีของพระนารายณ์และพระพรหมก็ผุดขึ้นบนดอกบัว จากนั้นพระพรหมก็ได้สร้างโลกและจักรวาลขึ้น แนวคิดนี้เป็นโลกทัศน์ของพราหมณ์ ซึ่งคำสอนในศาสนาพราหมณ์ส่วนใหญ่จะเน้นการเมืองการปกครองที่เรียกว่าลัทธิเทวสิทธิ์ (Divine Right Theory)ที่ถือว่ากษัตริย์เป็นการแบ่งภาคหรือการอวตารของพระผู้เป็นเจ้า โดยศาสนาพราหมณ์-ฮินดูถือว่าอำนาจรัฐที่ดีจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเรื่องกำเนิดโลกและจักรวาลที่ถูกต้องก่อน การนำเสนอแนวคิดเรื่องการสร้างโลกก่อนแล้วค่อยพูดถึงการปกครองโลกนี้เป็นลักษณะสำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

 

 

         ตอนเช้าก่อนเข้าสัมมนาในวันที่สองได้สนทนากับพระอาจารย์ที่จบมาจากมหาวิทยาลัยมัทราส (University of Madras) ด้วยกัน ผมพูดถึงปรัชญาเรื่อง “อวตาร” ซึ่งเป็นคำสอนสำคัญของศาสนาฮินดูนิกายไวษณพ  ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐวิเคราะห์ว่าเป็นทฤษฎีวิวัฒนาการ (Theory of Evolution) ของตะวันออกซึ่งคล้ายกับทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin, พ.ศ. 2352-2428) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ โดยท่านวิเคราะห์ไว้ว่า วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณกว่าที่จะพัฒนามาเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มีกระบวนการวิวัฒนาการมาหลายล้านปีดังต่อไปนี้ ขั้นแรกของวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตคือปลาที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรก่อนที่จะเกิดมีแผ่นดินขึ้นมา ซึ่งตรงกับการอวตารของพระวิษณุปางที่ 1 มัตสยาวตาร (อวตารเป็นปลา) ภายหลังจากยุคที่น้ำท่วมโลกและปรากฎแผ่นดินขึ้นมาทำให้เกิดวิวัฒนาการขั้นที่สองสิ่งมีชีวิตพัฒนามาเป็นเต่า เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ซึ่งตรงกับอวตารปางที่ 2 กูรมาวตาร(อวตารเป็นเต่า) วิวัฒนาการขั้นต่อมา เมื่อสิ่งมีชีวิตขึ้นมาอยู่บนบกจึงก่อกำเนิดสัตว์ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินและกินพืชเป็นอาหารหลักโดยพัฒนามาเป็นหมูป่า ซึ่งตรงกับอวตารปางที่ 3 วราหาวตาร (อวตารเป็นหมูป่า) เมื่อสัตว์กินพืชเกิดขึ้นจำนวนมาก ธรรมชาติจึงรักษาสมดุลทำให้วิวัฒนาการขั้นต่อมาของสิ่งมีชีวิตคือสัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหารนั่นคือราชสีห์ ซึ่งตรงกับอวตารปางที่ 4 นรสิงหาวตาร (อวตารเป็นครึ่งสิงห์) ต่อมาเกิดวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงจากสัตว์ที่ดำรงชีวิตตามสัญชาตญาณมาเป็นสัตว์ที่พยายามยกระดับตนเองขึ้นเหนือสัญชาตญาณดิบ วิวัฒนาการขั้นต่อมาของสิ่งมีชีวิตที่มีจิตคือมนุษย์วานรนีแอนเดอธัล (Neanderthal) ซึ่งตรงกับอวตารปางที่ 5 วามนาวตาร (อวตารเป็นพราหมณ์เตี้ย) วิวัฒนาการขั้นต่อมาของสิ่งมีชีวิตที่มีจิตคือต้นกำเนิดของเผ่าพันธ์ุมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่เรียกว่าโฮโมเซเปียนส์ (Homo-sapiens) ซึ่งเป็นมนุษย์ยุคหินที่สามารถสร้างเครื่องมือล่าสัตว์ง่าย ๆ อย่าง ขวานหิน และรู้จักใช้ไฟทำอาหาร ซึ่งตรงกับอวตารปางที่ 6 ปรศุรามาวตาร (อวตารเป็นพราหม์ผู้ใช้ขวานเป็นอาวุธ) วิวัฒนาการขั้นต่อมาคือการเป็นมนุษย์ (Human Being) ที่มีจิตวิญญาณ (Soul) หรือจิตสำนึก (Consciousness) มีระดับสติปัญญาขั้นสูงจนสามารถสร้างระบบการเมืองการปกครองที่เป็นฐานในการสร้างอารยธรรม ซึ่งตรงกับอวตารปางที่ 7 รามาวตาร หรือ รามจันทราวตาร (อวตารเป็นพระราม กษัตริย์แห่งอโยธยา) พอมนุษย์มีสติปัญญาขั้นสูงจนสามารถสร้างอารยธรรม มีระบบการเมืองการปกครองที่เข้มแข็ง ในด้านลบ วิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ก็มีการต่อสู้แข่งขันกันไปจนถึงขั้นทำสงครามระหว่างอารยธรรมที่แตกต่าง และในด้านบวก มนุษย์วิวัฒนาการจนมีสติปัญญาในการคิดค้นระบบปรัชญาศาสนาจนเข้าถึงภูมิปัญญาระดับสูงซึ่งตรงกับอวตารปางที่ 8 กฤษณาวตาร (อวตารเป็นพระกฤษณะ) เพื่อขับรถม้าให้อรชุนในการทำสงครามมหาภารตยุทธ์และสอนปรัชญาภควัทคีตา และปางที่ 9 พลรามาวตาร (อวตารเป็นพลราม) พี่ชายของพระกฤษณะ ตลอดถึงปางที่ 10 กัลกยาวตาร หรือ กัลกิยาวตาร วีรบุรุษขี่ม้าขาวในโลกอนาคต ดังนั้นถ้ามองในอีกมุมหนึ่งปรัชญาเรื่องอวตารสามารถตีความได้ว่าเป็นแนวคิดทฤษฎีวิวัฒนาการ (Theory of Evolution) ของปรัชญาตะวันออกหรือปรัชญาอินเดียที่สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการตนเองจากสัตว์ที่ดำรงชีวิตตามสัญชาตญาณมาสู่สัตว์ที่มีจิตสำนึก (Consciousness) และพัฒนาไปสู่การเป็นมนุษย์ผู้ทรงปัญญา (Intelligent Human) อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง

      ปรัชญาเรื่องอวตารของพระนารายณ์เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนิกายไวษณพ  โดยปรากฎในคัมภีร์ปุราณะ ซึ่งเข้าใจว่าแต่งขึ้นในยุคมหากาพย์ (ปรัชญาอินเดียถูกแบ่งออกเป็น 4 ยุค คือ 1.ยุคพระเวท  2.ยุคอุปนิษัท  3.ยุคมหากาพย์  4.ยุคปรัชญา 6 สำนัก) ยุคมหากาพย์เป็นยุคที่ศาสนาพราหมณ์ปรับตัวมาเป็นศาสนาฮินดูเพื่อต่อสู้กับพระพุทธศาสนานิกายมหายานที่กำลังเจริญรุ่งเรืองและแพร่หลายในอินเดียภาคเหนือและภาคกลาง (ส่วนภาคใต้เป็นพื้นที่ของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท) ในการปรับตัวเพื่อแข่งกับพระพุทธศาสนามหายาน  ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูได้ปรับคำสอนที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับพรหมัน อาตมัน และโมกษะในปรัชญาอุปนิษัทที่ศึกษารับรู้กันเฉพาะในกลุ่มปัญญาชนวรรณะพราหมณ์และกษัตริย์ให้กลายมาเป็นมหากาพย์เรื่องเล่าปรัมปราที่สามารถเข้าสู่มวลชนส่วนใหญ่และกลายเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน คือ มหากาพย์รามายณะหรือรามเกียรติ์และมหากาพย์มหาภารตยุทธ์ โดยแทรกปรัชญาการเมืองการปกครองเอาไว้ ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดทางอภิปรัชญา (Metaphysics) ปรากฎอยู่ในคัมภีร์ภควัทคีตา ซึ่งอยู่ในบรรพที่ 8 ชื่อว่าภีษมบรรพ ของมหากาพย์มหาภารตะ

   ต่อมาในยุคของศังกราจารย์ นักปราชญ์ฮินดูแห่งสำนักปรัชญาอไทวตะ เวทานตะ (ประมาณ พ.ศ.1243-1294 หรือ ค.ศ.700-750)ได้ยกเอาพระพุทธเจ้าเป็นอวตารปางที่ 9 เรียกว่าพุทธาวตาร  ทำให้คนอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูในยุคนั้นหรือคนอินเดียบางส่วนในปัจจุบันเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นอวตารของพระนารายณ์ แม้แต่ในบทไตเติลนำของภาพยนต์  เรื่อง พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลก ก็พยายามเสนอแนวคิดนี้ ประเด็นนี้นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาอย่างสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้ตอบโต้ว่าเป็นวิธีการกลืนพระพุทธศาสนาและเป็นการทำลายพระพุทธศาสนาได้อย่างแยบยลที่สุด   ผู้นำทางพระพุทธศาสนายุคใหม่อย่าง ดร.บี อาร์ อัมเบดการ์ ผู้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นในประเทศอินเดียหลังจากได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษก็กล่าวโจมตีและตอบโต้ว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่เลวร้ายที่สุดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่มีส่วนทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากประเทศอินเดียในพุทธศตวรรษที่ 17  เนื่องจากคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นคำสอนสายสมณะที่ขัดแย้งและคัดค้านคำสอนสายพราหมณะ  นอกจากนั้นพระพุทธศาสนาก็จัดอยู่ในสายนาสติกะที่ปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท  เป็นปรัชญาข้ัวตรงกันข้ามกับสายอาสติกะหรือปรัชญา 6 สำนัก อันได้แก่ สางขยะ โยคะ นยายะ ไวเษศิกะ มีมางสา และเวทานตะ

       ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้โดยประการทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับปรัชญาคำสอนเรื่องอวตารของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาอเทวนิยม (Atheism) ซึ่งก็หมายถึงพระพุทธศาสนาปฏิเสธไม่ยอมรับความมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า และไม่เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้สร้างโลกและจักรวาล ขณะที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเป็นศาสนาประเภทพหุเทวนิยม (Poly-theism) ที่เชื่อในเทพเจ้าที่เป็นพระผู้สร้าง ดังนั้น เมื่อหลักคำสอนพื้นฐานขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจึงเป็นความผิดพลาดโดยเจตนาที่นักปราชญ์ฮินดูบางท่านพยายามจะยกพระพุทธเจ้าผู้เป็นมหาบุรุษที่สอนให้มนุษย์ไม่สยบยอมในอำนาจของเทพเจ้าจะกลายมาเป็นเพียงอวตารของพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาฮินดู  พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ให้เห็นว่าไม่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ที่สรรสร้างโลกและจักรวาล สรรพสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปตามกฎแห่งธรรมชาติ คือ ปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา ชีวิตของมนุษย์ดำเนินไปตามกฎแห่งกรรม ดังนั้นจึงไม่มีพื้นที่แห่งคำสอนในพระพุทธศาสนาที่เหลือไว้สำหรับพระผู้เป็นเจ้าผู้มีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ

หมายเลขบันทึก: 715770เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2023 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2023 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท