กลุ่มชาติพันธุ์กับการมีส่วนร่วมในเวทีกองทุนสุขภาพตำบล หลัง COVID -19 เรามีอะไรใหม่?


ผลจากการที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์รวมตัวสู้ศึก COVID-19 ประกอบการการเติบโตของเทคโนโลยี สังคมออนไลน์ ข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการที่ฝั่งสาธารณสุขที่นี่ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ได้วางรากฐานการมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพชาติพันธุ์ ในหลายๆรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ระบบ อสม. ที่กลายมาเป็น นักสื่อสารสุขภาพชาติพันธุ์ หรืออื่นๆ ได้ร่วมกันทำให้ Mindset เรื่องการจัดการสุขภาพของชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ที่นี้ มีลักษณะ Active Audience คือเป็นไปแบบเชิงรุกมากขึ้นจนสังเกตได้ ถือเป็นมิติใหม่เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม การจัดการสุขภาพในบริบทชาติพันธุ์ และภาวะโรงพยาบาลชายแดน ที่นี่ก็มีความซับซ้อน มันอาจจะมีระบบบางอย่าง หรือบางอย่างก็ไม่มีระบบซึ่งก็ต้องการกลไก หรือพื้นที่สาธารณะที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มาออกแบบ เรียนรู้ ปฏิบัติการ ติดตาม ประเมินผล ร่วมกัน อาจจะไม่ใช่เอาสูตรสำเร็จ หรือต้นแบบที่ไหนมา Copy&Development แต่มันน่าจะเป็นกระบวนการออกแบบสุขภาพร่วมกัน ซึ่งต้องการกระบวนการเฉพาะที่สอดคล้องกับภูมิสังคมวัฒนธรรมของพื้นที่


ว่าจะเขียนเรื่องนี้นานแล้ว แต่ก็ผัดผ่อนเรื่อยมา แต่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สะกิดใจไม่น้อยทีเดียว กับกระบวนการทางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผมได้พบเห็นมา

ผมเคยเขียนเรื่องการขับเคลื่อนสังคม ชุมชนจัดการตนเอง ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆกับสถานการณ์ COVID -19 ไปเมื่อตอนก่อนๆ น่าจะร่วมปีแล้ว จะเห็นว่าช่วงวิกฤตไวรัสดังกล่าว ชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ได้มีการปรับตัว และเรียนรู้อะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะการจัดการสุขภาพขั้นพื้นฐาน ที่อาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ในรูปแบบต่างๆ (ใครสนใจลองค้นที่ผมพิมพ์ไว้ ย้อนหลังใน Gotoknow นะครับ)

อันนี้ ผมก็ Monitior แบบเงียบๆ ไม่ได้ขอทุนวิจัยอะไร อีกอย่าง เราไม่ได้มีสังกัด ไม่มีตำแหน่งวิชาการ จะขอทุนวิจัยเดี๋ยวนี้ ก็กลายเป็นอะไรที่ยุ่งยากมาก แต่นิสัย ชอบศึกษา สังเกต วิเคราะห์ สังเคราะห์ และเผอิญได้อยู่ท่ามกลางบริบทความเป็นชาติพันธุ์ มันก็อาจจะมีประโยชน์อยู่บ้าง ก็เลยลองคิด ลองเขียน เป็นข้อสังเกตออกมาดู 

ไม่มี copy rights เผื่อใครจะหยิบไปใช้ต่อแล้วยังประโยชน์แก่สังคม ก็จะได้สาธุ อนุโมทนาด้วยกันไป

........................................... ........................................... ...........................................

ท่ามกลางบริบทการเมืองเรื่องสุขภาพ (แน่นอนครับ สุขภาพ ก็เช่นเดียวกับ กองทัพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การศึกษา รวมถึงอีกมากมายหลายต่อหลายเรื่อง ไม่เคยปลอดจากมิติทางการเมือง) คนทั่วไปก็มักสนใจว่าใครจะมาเป็นเจ้ากระทรวงสาธารณสุข คือมันสังเกตง่าย และคิดว่ามีผลมาก ซึ่งก็มีผลจริง แต่ไม่ทั้งหมด 

เพราะจะเข้าใจ และคาดคะเนทิศทางการขับเคลื่อนงานสุขภาพได้ ก็ต้องรู้เท่าทัน อัพเดท อีกหลายเรื่อง หลายฝ่ายที่เป็น “นิเวศแห่งสุขภาพ” ซึ่งมันสังเกตยากกว่า ไม่ว่าจะเป็น  นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพที่เรามี , ภาคีภาคส่วนต่างๆไม่ว่าเป็นฝั่งวิชาการ ฝั่งประชาสังคม ฝั่งประชาชน และกลุ่ม เขามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร  เท่านั้นไม่พอ ยังต้องรู้ถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆของโลกควบคู่ไปด้วย

ผมเองก็ไม่อาจบอกได้ว่า เทรนด์หรือผลที่น่าจะเป็นในการขับเคลื่อนงานสุขภาพของประเทศในปีหน้า หรือแม้แต่สามเดือน หกเดือนหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะเราไม่ได้รู้รอบด้านมากพอขนาดนั้น

วันนี้ ก็เลยอยากจะมาบอกเล่า แค่ประสบการณ์ ข้อสังเกตบางอย่างจากระดับตำบลเล็กๆกันดูบ้าง ซึ่งก็เป็นพื้นที่ที่ผมพอจะวิเคราะห์ สังเคราะห์ได้ ตามประสา

........................................... ........................................... ...........................................

29 กันยา 2566 ผมมีโอกาสไปร่วมเวทีประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล หรือเรียกสั้นๆว่า “กองทุนสุขภาพตำบล” ของตำบลสบป่อง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ไปในฐานะผู้แทนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนหรือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระที่อยู่ในพื้นที่  ก็สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่น่าสนใจทีเดียวครับ เมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อนๆ ที่ย้อนไปสามสี่ปีที่ผมเคยสัมผัส

ช่วง COVID-19 ทำให้ไม่สามารถจัดประชุมแบบพบปะได้สะดวก  ประกอบกับเป็นช่วงที่คณะกรรมการหมดวาระลงไป การคัดเลือกผู้แทนใหม่ การประสานงานในพื้นที่กันดารก็ไม่ง่าย ทำให้ อบต. ร้างการจัดเวทีแบบนี้มานาน  รอบนี้ถือว่า เปิดศักราชใหม่ Post-COVID ผมเองก็คิดว่าหลุดไปจากคณะกรรมการฯแล้ว ปรากฏว่ายังได้รับเลือกเข้ามาอีก ทีแรกว่าจะไม่มาประชุมแล้วเพราะอยู่ต่างอำเภอ มาไกล ค่าน้ำมันก็ไม่คุ้มกับเบี้ยประชุมแล้ว แต่คิดว่า เวทีอย่างนี้ มีไม่บ่อย และเราน่าจะได้ช่วยเติมเนื้อหา ให้มุมมองอะไรเพิ่มเติมกับที่ประชุมได้บ้าง ก็น่าจะดีเพราะเราเองก็มีครอบครัว มีธุรกิจอยู่ในตำบลนี้ ก็คิดว่า มาดีกว่า 

แต่ก็ไม่ผิดหวังครับ นอกจากจะได้ทำหน้าที่ตามบทบาทแล้ว ยังพบข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายอย่าง ถึงบทบาทของกลุ่มชาติพันธุ์กับการมีส่วนร่วมในเวทีกองทุนสุขภาพตำบลหลัง COVID -19 แบบนี้  เลยอยากจะนำมาแบ่งปันกัน

 

อย่างแรกเลย ผมเห็นการจำนวนแกนนำชาวบ้านที่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น วันนี้ก็มากันเต็มห้องประชุม อบต. ถ้านับลวกๆ ก็น่าจะถึงสามสิบ คือองค์ประกอบใหญ่เลยของผู้มาประชุมเป็นแกนนำชาวบ้านที่เป็นชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้ง ลีซู ไทใหญ่ คนเมือง ครบทุกชาติพันธุ์ในตำบล แถมทั้งหญิงและชาย มีจำนวนใกล้เคียงกัน ต่างจากเมื่อก่อนที่ส่วนใหญ่มักจะมีแต่ผู้ชาย

อย่างที่สอง คุณภาพของการมีส่วนร่วม
มองในแง่ของการนำเสนอ แม้ว่า หน่วยราชการ ที่นำโดยผู้แทนจากโรงพยาบาล จะรายงานถึงผลการดำเนินงานภายใต้กองทุนฯ แต่ก็มีการให้เวลาแก่ผู้นำชุมชน ที่ได้รับโครงการไปนำเสนอด้วย ซึ่งตรงนี้จะเห็นว่า ชาวบ้านยังขาดทักษะการนำเสนอโครงการ และมักจะโบ้ยให้หน่วยงานนำเสนอมากกว่า เพราะเห็นว่าทำงานด้วยกัน ซึ่งเสียงในที่ประชุมก็บอกว่า ต่อไปต้องให้ผู้รับผิดชอบโครงการ หรือผู้แทนโดยตรงมานำเสนอ คือมันเป็นระเบียบด้วย  ส่วนจะนำเสนอดีไม่ดี เนื้อหาครบหรือไม่ครบนั้น ก็ค่อยว่ากัน ค่อยปรับปรุงกันไป อันนี้ก็ดี คือ แกนนำชุมชนจะได้ฝึกด้วย ทั้งผู้หญิงผู้ชาย (แต่เท่าที่ดู ในภาคประชาชนผู้หญิงจะนำเสนอมากกว่า อาจเป็นเพราะโครงการเป็นเรื่องสุขภาพแม่และเด็ก มากกว่าเรื่องสุขภาพทั่วไปด้วย)


หากมองในแง่ของรูปแบบโครงการ รอบนี้ ที่ประชุมหลายคน โดยเฉพาะประธาน (นายก อบต.) รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ และฝั่งวิชาการ อย่างสาธารณสุขอำเภอ ก็คอมเมนต์กันว่า งบกองทุนส่วนใหญ่ โรงพยาบาลขอไปเป็นสัดส่วนมากกว่าชาวบ้านมาก และเป็นการซ่อมสุขภาพมากกว่างานเสริมสร้าง งานพัฒนาเครือข่าย หนำซ้ำ ขอไปแล้วยังมีปัญหาใช้ไม่ทัน หรือใช้ไม่หมด ต้องคืนเงินกลับมาอีก ซึ่งสะท้อนในเชิงลบมากกว่าจะเกิดผลดี ดังนั้น การพิจารณาโครงการรอบต่อไป อยากให้มุ่งไปที่โครงการของภาคประชาชนให้มาก โดยมีพี่เลี้ยง เป็นภาครัฐ ภาควิชาการเข้ามาหนุนเสริม ซึ่งก็เป็นนิมิตหมายที่ดี

ช่วงท้ายก่อนปิดเวที ผมก็คิดว่าจะเสริมเวทีนี้ว่ายังไงดี โอเค อย่างแรก เราชื่นชม พูดให้กำลังใจ อย่างที่สอง ในแง่วิชาการ เราจะพูดยังไงให้คนธรรมดา ชาวบ้านเขาเข้าใจง่ายๆนะ ก็เลยคิดคำว่า “มองกว้าง และมองไกล”

“มองกว้าง” คือวันนี้ ก็ดีใจที่ได้มาเห็นชาวบ้าน เข้าใจสุขภาพ ในความหมายที่กว้างขึ้น คือไม่ใช่แค่หมอ ยา อนามัย โรงพยาบาล แต่ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับสุขภาพ และที่สำคัญ เรามีใจรักที่จะมาร่วมสร้างเสริมดูแลสุขภาพกันที่ต้นทาง คือ ตัวเรา ครอบครัว ชุมชนเราเองมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

(ผมคิดว่า นี่เป็นผลจาก COVID-19 ที่เเข้ามาทำให้ Mindset เรื่องการจัดการสุขภาพของชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นไปแบบนี้มากขึ้นมาก )

“มองไกล” อันนี้ระหว่างพูด  ผมก็มองไปที่ นายก อบต. แล้วพาดพิงไว้นิดนึง พอเป็นกระสัย ในฐานะที่รู้จักกันมากกว่า นายก อบต. ท่านอื่นๆ ที่มีมา คือ เชียร์ให้นายกฯ มองไกลๆ คือ ไม่ได้มองว่า เราจะทำอะไรแค่ในวาระดำรงตำแหน่งที่เหลืออีกไม่กี่ปีนี้ แต่ให้มองไกลๆ คือ มีฝันใหญ่ ว่าสุขภาพของคนในตำบลนี้ที่อยากให้เป็น ห้าปี สิบปี นี่จะเป็นอย่างไร 

ชวนทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชน มาทำวิสัยทัศน์ร่วมให้ชัด แล้วมาแตกเป็นแผน เป็นโครงการ ว่าเราจะพุ่มเป้าเรื่องอะไรในสามปี ห้าปีนี้ก่อน ซึ่งข้อมูล เอาเข้าจริงเรามีพอสมควรกันแล้ว เพียงแต่ยังขาดทีมมาช่วยประมวล ชงเรื่อง ออกแบบ รวมถึงกำกับติดตาม ประเมินผลแบบมีส่วนร่วมกัน  อาจจะใช้เป็น “ธรรมนูญสุขภาพตำบล” , Road Map สุขภาวะ หรืออะไรก็คิดกันขึ้นมา โดยเฉพาะธรรมนูญสุขภาพท้องถิ่นนี่เป็นอะไรที่เราทำได้ กฏหมายก็มีรองรับ แค่ขยับกันจริงๆ  เหล่านี้ เป็นอะไรที่ท่าน นายกฯ สามารถวางเป็นนโยบายทางการเมืองยาวไปถึงสมัยหน้าได้เลย เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่อง ถ้าไม่เลือกต่อก็อาจจะเคลื่อนยาก อันนี้ให้ Trick กับ นายกฯ เอาไว้

ก่อนจาก ผมถือโอกาสช่วยประมวลช่วงท้ายเวทีไว้ว่า

“เท่าที่นำเสนอกันวันนี้ สังเกตว่า มีการทำโครงการกับประชากรหลายกลุ่ม แต่ที่ยังขาดไปคือกลุ่มเยาวชน วัยรุ่น ซึ่งเอาเข้าจริง ตำบลเราก็กำลังมีปัญหาเรื่องนี้หนักขึ้น ทั้งยาเสพติด อุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท พนัน การล่อลวงออนไลน์ที่โดนกันระนาว มันเหมือนเป็นประเด็นสังคม แต่จริงๆก็เป็นเรื่องสุขภาพ

กลุ่มสตรี ขยับได้ดีแล้วครับ แต่อยากฝากกลุ่มผู้สูงอายุด้วย เพราะบ้านเราคนเฒ่าคนแก่เยอะขึ้น เป็นสังคมสูงวัยกันมากขึ้นทุกที แต่กิจกรรมที่เรามีตามไม่ค่อยทัน และมักจะติดรูปแบบเดิมๆ หนึ่งล่ะ ส่วนอีกหนึ่ง ที่ปีนี้มาแรงคือผู้สูงอายุฆ่าตัวตาย ซึ่งน่าเป็นห่วง สถิตินี้ทั้งแม่ฮ่องสอนมีผู้สูงวัยซึมเศร้า ฆ่าตัวตายมากขึ้น เราได้มีแผน หรือทำโครงการเจาะลึกลงไปในเรื่องนี้มากน้อยเพียงไร ถ้าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ก็อยากให้พุ่งไปที่เรื่องนี้ด้วยนะครับ”

...................................................................................................................

ดีใจ ที่ นายกฯ รับปากในที่ประชุม ทั้งยังมีผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆเห็นพ้องด้วย ซึ่งน่าจะได้มีการประชุมต่อเนื่อง อาจจะตั้งเป็นอนุกรรมการเพื่อรับผิดชอบงานกองทุนฯนี้ในแต่ละด้าน แต่ละกลุ่มประชากรต่อไป

อยากให้เห็นการพูดจริง ทำจริง ซึ่งในระดับมหภาค ระดับประเทศ จังหวัด 


แต่อย่างว่า ยิ่งไกลจากชุมชนเท่าไร เงื่อนไขการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนก็มักจะน้อยลง จะสร้างการมีส่วนร่วมเป็น “เจ้าของสุขภาพ” จึงต้องกระจายอำนาจในการจัดการ (อำนาจ, คน, งบ, ความรู้ , เทคโนโลยี-ภูมิปัญญา) มากขึ้น

 อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตบางส่วนจากพื้นที่แบบนี้ ก็อาจจะมีส่วนทำให้ฟากนโยบายมองเห็นการปรับเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง ทั้งในแง่ของกลยุทธ์ โครงสร้าง เครื่องมือ ระบบ  กระบวนการ ที่ทำให้หน้างานเป็นไปได้จริงตามเจตนารมณ์มากขึ้น

โดยสรุป ในภาพรวม ผมคิดว่า ผลจากการที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์รวมตัวสู้ศึก COVID-19   ประกอบการการเติบโตของเทคโนโลยี สังคมออนไลน์ ข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการที่ฝั่งสาธารณสุขที่นี่ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ได้วางรากฐานการมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพชาติพันธุ์ ในหลายๆรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ระบบ อสม. ที่กลายมาเป็น นักสื่อสารสุขภาพชาติพันธุ์ หรืออื่นๆ ได้ร่วมกันทำให้ Mindset เรื่องการจัดการสุขภาพของชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ที่นี้ มีลักษณะ Active Audience คือเป็นไปแบบเชิงรุกมากขึ้นจนสังเกตได้ ถือเป็นมิติใหม่เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การจัดการสุขภาพในบริบทชาติพันธุ์ และภาวะโรงพยาบาลชายแดน ที่นี่ก็มีความซับซ้อน มันอาจจะมีระบบบางอย่าง หรือบางอย่างก็ไม่มีระบบซึ่งก็ต้องการกลไก หรือพื้นที่สาธารณะที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มาออกแบบ เรียนรู้ ปฏิบัติการ ติดตาม ประเมินผล ร่วมกัน อาจจะไม่ใช่เอาสูตรสำเร็จ หรือต้นแบบที่ไหนมา Copy&Development แต่มันน่าจะเป็นกระบวนการออกแบบสุขภาพร่วมกัน  ซึ่งต้องการกระบวนการเฉพาะที่สอดคล้องกับภูมิสังคมวัฒนธรรมของพื้นที่

เป็นโจทย์ที่ท้าทาย และจะให้ดี ควรมีตัวช่วยที่หลากหลายครับ

 

-บันทึกจากนักวิชาการบ้านๆที่อยู่วงในครับ

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท