ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอย่างไรไม่ให้ใจติดหล่ม : วิธีรับมือความเครียด และเปลี่ยนเป็นพลังสร้างสุขในใจ


มาพูดถึงความรู้สึกของผู้ที่เป็นคนทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงเท่าไหร่นักนะครับ เพราะส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่เนื้อหาของข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทกันมากกว่าจนลืมไปว่าความรู้สึกรู้สาของคนก็มีผลสำคัญ ทั้งต่อประสิทธิภาพการจัดการข้อพิพาท ซึ่งเป็นเรื่องภายนอกตัวของผู้ไกล่เกลี่ย และต่อสภาพจิตใจของผู้ไกล่เกลี่ยเองซึ่งเป็นเรื่องภายใน นอกกับใน ไม่ได้แยกส่วนกันเสียทีเดียว หากล้วนเชื่อมโยง สัมพันธ์และมีผลต่อกันละกัน

ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยเกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งหรือข้อพิพาทต่างๆมาบ้างไม่มากก็น้อย

ความขัดแย้งหรือข้อพิพาทก็มีหลายระดับนะครับ ระดับเล็กๆ เช่นความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนผัวเมีย คนที่เป็นเพื่อนฝูง เรื่องในบ้านนอกบ้าน หรือจะเป็นความขัดแย้งที่อยู่ระหว่างหน่วยงานองค์กรสถาบัน หมู่คณะ ก็แล้วแต่

แต่ขึ้นชื่อว่าคน ยังไงก็มีความคิด พฤติกรรม แตกต่าง หลากหลายปะปน จะให้คนเราหลีกเลี่ยงความขัดแย้งก็เป็นไปไม่ได้

ความขัดแย้งที่บานปลายเป็นข้อพิพาทขึ้นมา จึงเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่เราจะต้องพบประสบเจอ ไม่ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม

                                                cr. ภาพจาก istockphoto


มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมครับ เมื่อเป็นสัตว์สังคมก็แสดงว่าเราต้องการหมู่ ต้องการพวกพ้อง จึงชอบที่จะคล้อยตามกันรักษาน้ำจิตน้ำใจกันเพื่อสร้างวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันเป็นหลักใหญ่ ไม่จำเป็นก็จะไม่ไปขัดแย้งกับใคร โดยเฉพาะกับคนที่เราใกล้ชิดมีความรักความผูกพันด้วย เช่น พ่อแม่ลูกเมียสามี วงศาคณาญาติต่างๆรวมถึงเพื่อนฝูงที่อยู่แวดล้อม อันนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ 

ที่นี้ พอความขัดแย้งเกิดขึ้นและพัฒนาไปเป็นข้อพิพาท ก็คือ ไม่ขัดแย้งทางความคิดเฉยๆ หากแต่ต้องการให้อีกฝ่ายคิดเห็นเหมือนกับเราแล้วทำตามอย่างที่เราว่าเราบอก ก็เกิดเป็นความทุกข์ร้อนขึ้นมา ซึ่งถ้าสามารถคลี่คลายกันจบได้ด้วยความยุติธรรมโดยที่ไม่ต้องมีคนกลางก็อาจจะดีไป 

แต่ถ้าไม่สามารถจัดการกันเองได้ด้วยเหตุต่างๆ เช่น เกรงว่าอีกฝ่ายจะลำเอียง หรือจะมีคนได้เปรียบเสียเปรียบ หรือเกรงผลกระทบระยะยาว หรือมองเรื่องของการบังคับใช้ข้อตกลงอาจจะไม่มีน้ำหนักพอ ทีนี้ล่ะครับก็จำเป็นต้องพึ่งคนกลาง อย่างเช่น ผู้ไกล่เกลี่ยประนีประนอม ที่อาจจะได้มาจากคนที่รู้จัก เป็นคนที่ทั้งสองฝ่ายเคารพนับถือศรัทธา หรืออาจจะมาจากคนภายนอกอันเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายก็ได้

ที่นี้มาพูดถึงความรู้สึกของผู้ที่เป็นคนทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงเท่าไหร่นักนะครับ เพราะส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่เนื้อหาของข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทกันมากกว่าจนลืมไปว่าความรู้สึกรู้สาของคนก็มีผลสำคัญ  ทั้งต่อประสิทธิภาพการจัดการข้อพิพาท ซึ่งเป็นเรื่องภายนอกตัวของผู้ไกล่เกลี่ย และต่อสภาพจิตใจของผู้ไกล่เกลี่ยเองซึ่งเป็นเรื่องภายใน

นอกกับใน  ไม่ได้แยกส่วนกันเสียทีเดียว หากล้วนเชื่อมโยง สัมพันธ์และมีผลต่อกันละกัน

นี่ผมจะเล่านี่ก็ไม่ได้อิงจากวิชาการอะไรนะครับมาจากประสบการณ์เสียมาก อาจจะนำไปอ้างอิงเป็นทฤษฎีอะไรไม่ได้ขนาดนั้น แต่ถ้าจะถือเอาเป็นบทเรียนในการทำหน้าที่ก็น่าจะพอทำเนาและเป็นประโยชน์อยู่บ้าง

ความรู้สึกแรกสุดที่จะพูดถึงก็คือ เรื่องของความเครียดหรือความวิตกกังวล ซึ่งก็อาจจะมีมากบ้างน้อยบ้างตามแต่ละบุคคล แต่ละกรณีข้อพิพาท ซึ่งถ้าเรามีประสบการณ์ตรงในเรื่องของการไกล่เกลี่ยมามากพอก็จะช่วยได้ไม่น้อย หรือถ้ารู้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อพิพาท ภูมิหลัง วิเคราะห์อ่านขาด ถึงปัจจัยตั้งต้น ปัจจัยกระตุ้น  ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยปกป้อง อันมีส่วนสำคัญที่เอื้อให้เราสามารถมองแนวทางจัดการได้อย่างมีเป็นระบบก็อาจจะทำให้ความกังวลลดลง แต่จะให้ไม่มีความเครียดเลยก็คงไม่ใช่

เรียกได้ว่าความเครียดมันมาเคาะประตูตั้งแต่ยังไม่เห็นหน้าคู่พิพาทกันแล้ว 
ทีนี้จะทำยังไง ?

วิธีการจัดการความเครียดมีได้หลายอย่างนะครับ แต่ละคนก็อาจจะมีรูปแบบการจัดการที่แตกต่างกันไป แต่ก่อนอื่นต้องรู้เท่าทันความเครียดของตนเองก่อนว่ามันมี และมันสามารถจัดการได้ 
อันนี้เป็นเรื่องของ Mindset หรือวิธีคิดที่ไปกำหนดท่าทีและรูปแบบการจัดการ 

สำหรับตัวผมเองเมื่อมีข้อพิพาทมาให้ไกล่เกลี่ย แรกสุดก็จะต้องเข้าใจตัวเองก่อนครับว่าความเครียดจะต้องเกิด อันนี้ยังไม่พูดถึงเนื้อหาหรือคู่กรณีว่าเป็นใครยังไงกันบ้างนะครับ เมื่อรู้ว่าความเครียดมันเกิด ก็หันกลับมาสำรวจภายในจิตใจทัศนคติของตนเองก่อน ว่าเท่าทันตนเองไหม จิตใจตนเองมีความพร้อมรับมือแค่ไหน 

“จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว ”ครับ แต่เราต้องเท่าทัน ตั้งคำถามกับตัวเองด้วยถึงสภาวะจิตในตอนนั้นว่าเราโอเคไหม ถ้าโอเคๆกี่เปอร์เซ็นต์ หรือถ้ามีความกังวลความเครียด เรายอมรับได้ และจึงมาสู่คำถามว่าเราควรจะจัดการมันอย่างไร 
 

อันนี้เรียกว่าใช้สติรับมือ ซึ่งไอ้เจ้าความเครียดนี้มันก็จะดำรงอยู่ตลอด นับตั้งแต่ยังไม่เจอหน้าคู่ความ จนกระทั่งถึงวันที่ต้องเจอหน้าคู่ความ  ต่อเนื่องไปจนถึงในระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ย ซึ่งก็จะรู้สึกถึงความเครียดที่ขึ้นๆหรืออาจจะลงๆก็แล้วแต่ แต่ที่แน่ๆ มันดำรงอยู่ 

พูดง่ายๆก็คือระหว่างที่มองเห็นเนื้อหาของข้อพิพาท เราเองในฐานะผู้ดูแลกระบวนการก็ต้องมองเห็นสภาวะความรู้สึกนึกคิดของตนเองควบคู่กันไปด้วย จะเห็นแบบนี้ได้ต้องมีพื้นฐานการฝึกสติในรูปแบบต่างๆมาพอสมควรนะครับ จึงอยากแนะนำให้ฝึกทำสมาธิ โดยอาจจะทำในรูปแบบเช่นการนั่งสมาธิ ยืนเดินสมาธิ การจงกรม รวมถึงการฝึกสมาธิในชีวิตประจำวันในรูปแบบต่างๆผสมผสานกันไป

พอเห็นความเครียด สัมผัสมันด้วยท่าทีอ่อนโยน มีเมตตา เราก็จะค่อยๆเข้าใจถึงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และท้ายที่สุดความเครียดนั้นมันก็จะดับไป แต่ก็อาจจะเกิดความเครียดขึ้นมาใหม่อีก ดำเนินไปอีกและก็ดับไปอีก เป็นระลอกๆเหมือนคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ย

อันนี้เป็นความเข้าใจเป็น mindset ที่จะไปกำหนดท่าทีต่อการจัดการได้ว่า ให้เราวางใจว่ามันจะสลายไปไม่ช้าก็เร็ว อย่าไปร้อนรนกับความกังวลตรงนี้มากนัก 

พอ mind set วิธีคิด และจิตของเราละเอียดพอสำหรับการสัมผัสเจ้าความเครียดนี้แล้ว เข้าใจถึงพลวัตเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของมันแล้ว ทีนี้ เราจะปรับเป็นความสุขได้อย่างไร

จะเปลี่ยนความเครียดเป็นความสุขหรืออีกนัยยะหนึ่งคือเปลี่ยนทุกข์เป็นสุขได้ ก็ต้องรู้ว่าเราจะเอาสุขแบบไหน สุขแบบร้อนแบบลวกๆหรือเป็นสุขเย็นที่สงบอิ่มใจ สุขร้อนอาจจะเป็นสุขที่ได้จากความรู้สึกว่าเราสามารถทำสำเร็จ สุขที่เราได้ผลตอบแทนจากคำขอบคุณ ได้รับเกียรติ สุขจากการได้ค่าตอบแทนซึ่งโอเคไม่มากมายอะไรก็เป็นความสุขก็ได้ แต่รวมๆแล้ว “สุขร้อน" นั่นคือ เป็นความสุขที่ยังเกี่ยวเนื่องกับอัตตาตัวตนของผู้ไกล่เกลี่ย ที่ตัวเราเอาไปผูกไว้ว่านั่นเป็นของเรา นี่เป็นผลงานของเรา 

ส่วน “สุขเย็น” ก็คือสุขที่ได้เห็นประโยชน์เกิดขึ้นกับผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ที่เคยขัดแย้งบาดหมางแทบจะไม่เผาผีกัน อยากจะฆ่าแกงกัน สามารถตกลงปรองดองกันได้อย่างยุติธรรม อย่างสมานฉันท์ไม่ผูกเวรผูกกรรมกันต่อ อันนี้เป็นความสุขสงบซึ่งไม่จำเป็นว่าผู้ที่เป็นคู่กรณีจะจดจำเราได้หรือไม่ หรือจะขอบคุณเราเพียงใด นั่นไม่สำคัญเท่าข้อตกลงที่เขาสามารถบรรลุร่วมกันได้ โดยไม่เกิดความรุนแรงบานปลาย เป็นบาปอันไม่รู้จบสิ้น

หรือถ้าการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ หรือสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง หมายความว่าอาจจะมีข้อพิพาทอยู่หลายข้อ อย่างน้อยที่สุดการมาพบกับเราเขาก็สามารถจะเคลียร์ข้อพิพาทได้เป็นบางข้อไป นั่นก็ยังดีรวมถึงไม่ทำให้ข้อพิพาทบานปลายออกไปอีกหลายแง่ง หลายประเด็นก็เป็นผลพลอยได้ การที่คู่กรณีคู่ความได้มาพบเจอกับเราก็เป็นสิ่งที่ดีงามในตัวเองอยู่แล้ว ส่วนผลจะเป็นอย่างไรนั้นก็แล้วแต่เงื่อนไขเหตุปัจจัย แต่อย่างน้อยก็ได้คลายความร้อนรุ่มกลุ้มใจลงและอาจจะบรรลุข้อตกลงจากการไกล่เกลี่ยได้มากบ้างน้อยบ้าง หรือได้บางข้อหรือไม่ก็ได้ทุกข้อ ก็สุดแล้วแต่ แต่นั่นก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีไประดับหนึ่งแล้ว

มองอย่างนี้ได้ก็เป็นความสุขทางใจแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องคาดหวังว่าจะต้องบรรลุทุกอย่าง ผู้ไกล่เกลี่ยเองก็ไม่ต้องแบกความคาดหวังว่ามันจะต้องสำเร็จในข้อพิพาททุกข้ออย่างเต็มร้อย  โลกใบนี้ ซับซ้อน มันอาจจะมีหลายอย่างที่เรากำหนดไม่ได้ อาจจะมีหลายเรื่องที่เราไม่ได้รู้ หรือเวลานี้รู้เท่านี้ อีกสามปีข้อมูลก็อาจจะเปลี่ยน แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันดีขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย

อันนี้เป็นความดีงาม เป็นความสุขที่เราภูมิใจในก้าวเล็กๆของกระบวนการไกล่เกลี่ยก็ได้

ทุกคนแม้ว่าจะผิดพลาดมาแต่ไหน แต่ย่อมต้องมีความดีอยู่บ้าง อย่างน้อยก็ตกลงปลงใจเห็นความสำคัญของการตกลงกันด้วยดี เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป เพราะฉะนั้น อย่าลืม เอ่ยชมความดีของคู่ความทั้งสอง รวมถึงทนาย และผู้มีส่วนร่วมในวงไกล่เกลี่ยทุกคน (ถ้ามี) โดยขอบคุณเป็นคนๆไป 

การเอ่ยชื่นชมจากความจริงใจ จะทำให้การจากลากันในวันนั้น มีความรู้สึกที่ดีต่อกันมากขึ้น

ความเครียดก่อรูป  ตั้งอยู่ และดับไป ความสุขที่เกิดขึ้นก็เช่นกัน
ทั้งสองอย่างนี้มันมาด้วยกัน บางครั้งมันก็มีน้ำหนักมีสัดส่วนที่ต่างกัน และบางครั้งมันก็เกิดร่วมกัน หากแต่ความเครียดนั้นเป็นสิ่งร้อนซึ่งสูญสลายได้ง่ายกว่าเมื่อเจอความสุขเย็นอย่างหลัง อันเป็นความสุขที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความคาดหวังและอัตตาของผู้ไกล่เกลี่ยประนีประนอมอย่างเรา

ทั้งหมดนี้ก็เป็นประสบการณ์ตรงของผมที่อยากนำมาเล่าเอาไว้ เผื่อเป็นประโยชน์แก่ท่านที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอมความขัดแย้งข้อพิพาท ไม่ว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ยแบบไม่เป็นทางการหรือไกล่เกลี่ยแบบเป็นทางการ ทั้งในบ้าน ชุมชน ศาล หรือในกระบวนการหน่วยงานต่างๆ

ไม่ได้พูดเป็นหลักวิชาการทฤษฎีอะไร หากแต่เป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ เป็นความรู้แฝงเร้นที่น่าจะเป็นคุณูปการได้บ้าง หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ
 

หมายเลขบันทึก: 714703เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2023 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2023 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท