อำนาจ การเมือง และคอร์รัปชัน (power, politics, & corruption)


ผมพูดถึงสามเรื่องนี้ในต่างกรรมต่างวาระหลายครั้ง แต่ไม่ได้พูดและเชื่อมโยงสามเรื่องไว้ด้วยกัน และที่สำคัญไม่เคยเสนอการนำใช้แนวคิดทั้งสามนี้เพื่อปรับระบบการเมือง ที่น่าจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น แต่วันนี้จะพูดถึง และนำสามเรื่องมาไว้ด้วยกันดังนี้ 

อำนาจ หรือพลังอำนาจ (power) เป็นพลังเชิงสังคมที่บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจดังกล่าวสามารถนำใช้เพื่อทำให้บุคคลอื่นยอมทำตามได้ ซึ่งมี 2 ลักษณะใหญ่คือ (1) อำนาจแข็งกร้าว (hard power) เป็นการใช้วิธีการที่เป็นไม้แข็งในการทำให้บุคคลอื่นยอมทำตาม เช่น การใช้กำลังบังคับ การใช้กลลวงให้เขาทำตาม หรือกลไกทุกอย่างที่ตน หรือพวกของตนมีเพื่อทำให้คนอื่นยอมทำตาม และ (2) อำนาจละมุล (​soft power) เป็นการใช้วิธีการที่เป็นไม้นวมในการทำให้บุคคลเต็มใจทำตามสิ่งที่เราต้องการ เช่น การเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย หรือการสื่อสารให้อีกฝ่ายเข้าใจ เชื่อ และพร้อมใจที่จะทำเช่นเดียวกันกับเรา (อ่านเพิ่มเติมในบทเขียนที่แล้ว)

การได้มาซึ่งอำนาจเชิงสังคมดังกล่าวนั้นมีหลายวิธี เช่น การสือบทอดอำนาจจากบรรพบรุษหรือกลุ่มที่มีอำนาจเดิม หรือการรัฐประหาร หรือวิธีการทางการเมืองการปกครองในรูปแบบต่างๆ หรืออื่นๆ แต่ไม่ว่าผู้มีอำนาจเชิงสังคมเหล่านั้นจะได้อำนาจมาโดยรูปแบบใด ประเด็นอยู่ที่ว่า แล้วบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเหล่านั้นใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของคนในสังคมนั้นๆ หรือไม่ หรือว่าใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพร้องมากกว่า ที่สำคัญกว่านั้นคือ แล้วคนในสังคมนั้นๆ มีสิทธิ์หรือวิธีการในการเปลี่ยนแปงระบบอำนาจดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งนี่เป็นที่มาของระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้คนในสังคมเลือก และเปลี่ยนผู้มีอำนาจ หรือกลุ่มผู้มีอำนาจเชิงสังคมได้ตามรูปแบบและระยะเวลาที่กำหนดได้

ดราม่าการเมืองการปกครองที่กำลังฮิตติดอันดับในทุกวันนี้มีหลายประเด็น แต่เป็นเรื่องเดียวกัน หรือเกี่ยวข้องกันคือ  ‘ประชาธิปไตยเลว’ โดยนัยว่ารัฐบาลประชาธิปไตยก็ไม่ได้ดีเด่อะไรนักหนา และรัฐบาลประชาธิปไตยก็ไม่สามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้หรอก แต่ก็ละเลย หรือตั้งใจจะไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเขาเป็นรัฐบาลผสม ก็ต้องทำแบบผสมนโยบาย  ซึ่งจะให้ทำได้ทุกที่หาเสียงไว้ได้อย่างไร 

ถ้าอยากใช้เกณฑ์การทำตามที่หาเสียงไว้นี้เป็นตัวชี้วัด ก็ต้องเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งมีเสียงมากพอที่จะตั้งรัฐบาลพรรคเดียวให้ได้ก่อน และถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วเขาไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ค่อยถล่มเขา และไม่ต้องเลือกพรรคนั้นอีก 

และหนักไปกว่านั้นก็คือมีการหาตัวอย่างความล้มเหลวของรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย และตัวอย่างความสำเร็จของประเทศที่เป็นเผด็จการ แล้วก็ชี้ว่าเห็นหรือยังว่าเราไม่ต้องเป็นประชาธิปไตย ประเทศเราก็ประสบผลสำเร็จได้ จริงครับ ความสำเร็จและความดีงามในการบริหารประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่เราจะได้รัฐบาลที่เป็นเผด็จการ หรือที่เป็นประชาธิไตย เพียงแต่ขอให้เป็นรัฐบาลที่มีฝีมือและทำเพื่อคนในประเทศ  แต่ ‘เงื่อนไขคือ ถ้าเป็นรัฐบาลที่ดี’ อย่างไรก็ตามความแตกต่างกันที่สำคัญราวกับฟ้าและเหวคือ ถ้าเรามีรัฐบาลประธิไตยที่เลวหรือไม่ถูกใจ เราเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ได้ทุก 4 ปี หรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ได้ แต่ถ้าเรามีรัฐบาลเผด็จการที่เลวหรือไม่ถูกใจ เราจะไม่มีทางที่จะเปลี่ยนรัฐบาล หรือวิธีทำงานของรัฐบาล สิ่งที่ทำให้คือการรอความกรุณาหรือเมตตาของเขาเท่านั้น 

แล้วคนในประเทศนี้จะชอบแบบไหนก็เป็นสิทธิ์ แต่ดราม่าแบบไม่มีหรือไม่ใช้ข้อเท็จจริงคุยกัน จะสร้างความบาดหมาง ความแตกแยก และเสียหายให้กับสังคมและประเทศชาติมากกว่าครับ

เรื่องที่สองคือ การเมือง ซึ่งผมเคยพูดและเขียนเรื่องนี้ไว้หลายวาระเช่นเดียวกัน แต่ที่จะกล่าวถึงในบทเขียนนี้จะเป็นความเกี่ยวข้องระหว่างการเมือง และอำนาจ 

อำนาจเชิงสังคม รวมทั้งอำนาจในการเป็นรัฐบาลนั้นอาจจะได้มาหลายวิธี แต่ไม่ว่าจะได้มาโดยวิธีไหน ในความเห็นของผมก็คือ 'เป็นแค่วิธีการ หรือกระบวนการเข้าสู่การเมือง และอำนาจทางการเมือง’ เท่านั้น  ซึ่งคำว่าการเมืองนั้น ผมนิยามไว้ว่า เป็นการตัดสินใจสาธารณะซึ่งส่งผลต่อทุกคนในเกี่ยวข้องในหน่วยสังคมนั้นๆ เช่น ในหน่วยงาน ในชุมชน ในประเทศ หรือในโลก คือ ถ้าผลการตัดสินใจดังกล่าวส่งผลต่อสมาชิกในหน่วยงาน ก็เป็นการเมืองในหน่วยงาน หรือถ้าการตัดสินใจนั้นส่งผลต่อประชาชนทุกคนในประเทศนั้น ก็เป็นการเมืองของประเทศ ครับ ดังนั้นการเมืองระดับประเทศจึงเป็นเรื่องของทุกคนในประเทศ 

ส่วนพฤติกรรมการเมือง และความประพฤติส่วนของบุคคลที่เป็นนักการเมืองเป็นเรื่องของพฤติกรรมและนักการเมือง ‘ไม่ใช่ปัญหาการเมือง’ แล้วด้วยการเมืองเป็นการตัดสินใจสาธารณา และส่งผลต่อพวกเราทุกคน ดังน้ันเราจึงเบื่อ หรือละเลยการเมืองไม่ได้ เราอาจจะเบื่อพฤติกรรมการเมือง หรือนักการเมือง (บางคน หรือหลายคน) แต่ก็ต้องร่วมกันแก้ไขพฤติกรรมการเมืองนั้นๆ หรือไม่สนับสนุน หรือไม่เลือกนักการเมืองนั้นให้มีโอกาสเข้าสู่การเมืองอีก ‘นี่คือสิทธิ์และวิถีการเมืองที่เราพึงหวงแหน’ 

แต่พฤติกรรมการเมือง (การตัดสินใจสาธารณะ) และนักการเมืองที่เข้าสู่อำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากวิธีการที่เป็นประชาธิไตย เช่น การทำรัฐประหาร หรือ กลโกงทางการเมืองต่างๆ เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันหาทางป้องกัน หรือไม่ให้การยอมรับ หรืออย่างน้อยก็ไม่ให้การสนับสนุน ครับ

เรื่องสุดท้ายคือ เรื่องคอร์รัปชัน ซึ่งบางท่านอาจจะแปลกใจว่าผมนำเรื่องนี้มาสัมพันธ์กับ'อำนาจ และการเมือง' ได้อย่างไร ซึ่งผมมีคำอธิบายดังนี้

  1. ‘อำนาจกับคอร์รัปชัน’ ครับ เพราะไม่มีอำนาจ คอร์รัปชันไม่ได้ หรือ ทำได้ก็ไม่มาก และเสี่ยงมาก ดังวลีเด็ดที่โด่งดังของ ​Lord Aton ที่ว่า ​Power trends to corrupt and absolute power corrupt absolutely หรือถอดความได้ว่า ‘มีอำนาจ เปิดโอกาสใช้ช่อราษฎร์บังหลวง และถ้ามีอำนาจเบ็ดเสร็จ [คือตรวจสอบไม่ได้] ยิ่งทำให้สามารถช่อราษฎร์บังหลวงได้อย่างเบ็ดเสร็จ [ถ้าจะทำ]’

        และในประเทศไทยเรานั้นมีองค์กรต่างๆ ทั้งที่เป็นหน่วยงานปกติ และองค์กรอิสระ (?) จำนวนหนึ่งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยไม่มีระบบใหน หรือใครตรวจสอบได้ ดังนั้นการที่พยายามแก้ปัญหาคอร์รัปชัน โดยมีนโยบาย และมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐ และเอกชน มากมายแต่แก้ปัญหาไม่ได้หรอกครับ เพราะเกาไม่ถูกที่คัน ตอนที่มีการตั้ง ปปช. จังหวัดเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ผมพูดประชดและจริงจังว่า 'อย่าว่าแต่มี ปปช. จังหวัดเลยครับ จะมี ปปช. ครอบครัว หรือ ปปช.รายบุคคล ก็แก้ปัญหาคอร์รัปชันเมืองไทยไม่ได้หรอกครับ 

          เพราะเราไม่ได้แก้ที่ต้นตอ หรือที่เกี่ยวข้องกับปัญหาจริง ๆ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น 

         2. ประการต่อมา คือ  ‘สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ อาจจะเป็นเป็นอย่างที่เห็น หรือเป็นอยู่ก็ได้’ กล่าวคือ ภาพที่เราได้รับการจัดสรรให้รับรู้และเข้าใจมักจะเป็นว่า  ‘นักการเมืองมันเลว มันคอร์รัปชัน’ ในความเป็นจริงนั้น เป็นเช่นนี้จริงๆ มากน้อยแค่ไหน และคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นโดยคนที่ไม่ใช่นักการเมือง (อย่างที่เราเข้าใจ) และที่เกี่ยวข้องกับคนที่ไม่เรียกตนเองว่านักการเมืองเหล่านั้น แต่จริงๆ แล้วเป็น ‘นักการเมืองตามนิยามของผมข้างต้น'  คือคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจสาธารณะนั้น มีหรือไม่ และมีมากน้อยเพียงใด เราตรวจสอบได้ไหม หรือพูดได้ไหม  ในเมื่อตรวจสอบไม่ได้ หรือ เมื่อพูดไม่ได้ ก็ไม่มีข้อมูล และการที่ไม่มีข้อมูลเราจะเรียกว่า ‘ปลอดคอร์รัปชัน’ ใช่ไหม 

           นี่คือปัญหาใหญ่ของประเทศเราครับ   

          3. อีกเรื่องหนี่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องสุดท้าย แต่จะไม่พูดเรื่องอื่นอีก นั่นก็คือ คอร์รับชันเป็นเสมือนมะเร็งร้ายของประเทศไทยครับ แต่ไม่ใช่มะเร็งร้ายในแง่ที่เรียกว่า ‘สาเหตุของการตาย หรือการล้มละลายของประเทศ เหมือนมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดของคนไทยในปัจจุบัน แม้ว่าสักวันหนึ่งก็จะเป็นเช่นนั้นจริงๆ คือตายจริงๆ ถ้าไม่การแก้ไข’ ส่วนที่ผมบอกว่า ‘คอร์รัปชันเป็นมะเร็ง’ อยู่ที่ลักษณะการก่อตัวและการเป็นมะเร็ง กล่าวคือ ในความเห็นของผม (ซึ่งไม่ใช่หมอ) ผมเห็นว่ามะเร็งไม่ใช่โรค แต่เป็นสภาวะผิดปกติของเซลล์ และพฤติกรรมของเซลล์' ซึ่งผมเห็นว่าป้องกันได้ และรักษาให้หายได้ เพียงแต่เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน อารมณ์ และวิถีชีวิตเท่านั้น 

คอร์รัปชันก่อตัวเหมือนมะเร็งในแง่ที่ว่า คอร์รัปชันเกิดจากบุคคล (เซลล์) และกลุ่มบุคคล (กลุ่มเซลล์) ซึ่งผิดปกติ และมีอำนาจในการได้มาซึ่งทรัพยากรมากกว่าคนอื่น หรือคนกลุ่มอื่น (ที่เข้าไม่ถึงอำนาจดังกล่าว) ซึ่งคล้ายกับการก่อตัวของเซลล์ที่เริ่มเป็นเนื้อร้าย และด้วยอำนาจ และวิธีการดังกล่าว บุคคลและกลุ่่มบุคคลเหล่านั้นก็จะยิ่งได้ทรัพยากรมากขึ้ัน และมีเครือข่ายเติบโตยิ่งขึ้น และเบียดบังทรัพยากรที่ควรจะกระจายสู่คนอื่น หรือกลุ่มอื่นๆอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน แต่ไม่เป็นเช่นนั้น ดังนั้นจึงทำให้เกิดสภาวะรวยกระจุก (โตเฉพาะเซลล์และกลุ่มเซลล์ที่เป็นมะเร็ง) จนกระจาย (ส่วนเซลล์ที่เหลือก็ขาดอาหาร) ยิ่งไปกว่านั้นคนที่มีอำนาจ และกลุ่มคนที่มีอำนาจก็จะเบ่งรัศมี และสร้างปัญหาให้กับคนรอบข้าง และสังคมโดยรวม เฉกเช่นมะเร็งที่แพร่กระจายและทำให้เซลล์อื่น และร่างกายของคนป่วยเจ็บปวด ทรมาน และตายไปในที่สุด 

วิธีรักษามะเร็งจากที่ผมศึกษามา ก็คือ เลิกสิ่งที่เราเคยกิน อารมณ์ที่เราเคยเป็น เคยทำ และวิถึชีวิตที่เราเคยปฏิบัติ แล้วปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่เท่านี้เอง มะเร็งก็จะฝ่อ และท่านก็จะหายป่วย 

การแก้ปัญหาคอร์รัปชันก็คือ ไม่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับใคร หรือกลุ่มใด และมีกลไกและวิธีการตรวจสอบอำนาจได้่ทุกระบบอำนาจ เท่านี้เองปัญหาคอร์รัปชันก็จะลดลง และหายไปเองครับ จะทำหรือเปล่าแล้วแต่นะครับ

สวัสดีครับ รักนะประเทศไทย 

สมาน อัศวภูมิ

25 กันยายน 2566 

หมายเหตุ: คำในวงเล็บ [ ] เป็นคำที่ผมขยายความเอง

 

หมายเลขบันทึก: 714590เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2023 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2023 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท