การค้นข้อมูลสถิติ ค้นจากแหล่งบริการไหนดี


มาแปะสคริปต์รายการวิทยุที่ตัวเองรับผิดชอบอีกแล้วค่ะ  ดีกว่าเก็บไว้ในเครื่องเฉยๆ พี่ตุ่นคิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจบ้างไม่มากก็น้อย

KKU life long Learning For all

เรื่อง   แหล่งบริการสถิติ และฐานข้อมูล Statista

ผู้ดำเนินรายการ: สิริพร ทิวะสิงห์   

          สวัสดีค่ะท่านผู้ฟังทุกท่าน  ท่านกำลังอยู่กับสถานีเสียงที่จะทำให้ท่านตกหลุมรักการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิตกับรายการ TheKKU life long  Learning  for all      ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น FM 103 Mhz. กับพี่ตุ่น  สิริพร ทิวะสิงห์ และสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับทุกๆคนค่ะ   “เรียนรู้มาก รู้เท่าทันมาก”  การรู้มากไม่ได้ทำให้เราเหนือใครนะคะ  เพราะในโลกนี้ไม่มีใครรู้ในทุกๆ เรื่อง เราไม่ได้รู้เพื่อที่จะอวดตน แต่การเรียนรู้ที่ในเรื่องราวต่างๆ ทำให้เราใช้ชีวิตในโลกใบนี้ ได้อย่างมีความสุข เพราะเราจะสามารถนำสิ่งที่เรารู้มาปรับใช้การดำเนินชีวิตได้หลากหลายมิติค่ะ  ร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตั้งแต่วันนี้โดยเริ่มที่ตัวเรานะคะ  วันนี้ค่ะ พี่ตุ่นมีเรื่องแหล่งบริการสถิติมาแชร์ให้ทุกท่านฟังค่ะ ตามพี่ตุ่นมานะคะ

.           ท่านผู้ฟังเคยได้ยินคำกล่าวเกี่ยวกับพลังของข้อมูลไหมคะ ที่ว่า “ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เปรียบเสมือนทรัพยากรที่มีค่า" เพราะจะช่วยให้เราตัดสินใจถูกต้องมากที่สุด และลดข้อผิดพลาดได้ และเคยมีคำถามที่ต้องตอบเกี่ยวกับตัวเลขไหมคะ เช่น อัตราการป่วยของโรคเบาหวาน จำนวนผู้เสียชวิตจากโควิด  จำนวนประชากร ดัชนีราคากลุ่มอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจ SET  สถิติการอ่านของคนไทย    เป็นต้น ตัวเลขเหล่านี้มักใช้ในการอ้างอิงทางวิชาการ อ้างอิงให้เกิดความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน  หากท่านผู้ฟังต้องตอบมคำถามเหล่านี้ท่านผู้ฟังค้นหาตัวเลข หรือสถิติที่ต้องการอย่างไรคะ ตามพี่ตุ่นมานะคะ  พี่ตุ่นมีแหล่งบริการสถิติมาแชร์ค่ะ

          อันดับแรกที่อยากแนะนำ เป็นแหล่งบริการสถิติแบบฟรีค่ะ ที่ทุกคนรู้จักกันดี  นั่นคือ Google ค่ะ ปกติหลายคนคงจะคีย์คำค้นที่ต้องการว่าสถิติแล้วตามด้วยเรื่องที่ตนเองสนใจ แล้วกดเอ็นเทอร์...จะมีข้อมูลขึ้นมาจำนวนมาก...ซึ่งหลายคนว่าเป็นเรื่องปกติ พี่ตุ่นจะเอาแชร์ทำไม ใครๆ ก็ใช้เป็น

          ใช่ค่ะ ค้นได้ แต่ต้องค้นเป็นด้วยนะคะ   สิ่งที่พี่ตุ่นนำมาแชร์คือ อยากให้พิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูล ว่าเป็นข้อมูลที่ตีพิมพ์ในข่าว ในบล็อกหรือไม่  ซึ่งป็นข้อมูลชั้น 2 หรือที่เรียกว่าข้อมูลทุติยภูมิค่ะ แล้วเหลือบตาดูผู้จัดทำผู้เผยแพร่ด้วยนะคะ  ว่ามีความน่าเชื่อถือได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งหากเป็นการอ้างอิงหรือนำมาใช้ทางวิชาการ  ความน่าเชื่อถือมีส่วนสำคัญมากค่ะ ตรงนี้หล่ะค่ะที่พี่อยากจะย้ำในการเอาข้อมูลจำนวนตัวเลขสถิติมาใช้ ควรเป็นข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิ และเผยแพร่จากหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ  

       แนะนำเลยค่ะรายงานต่างๆของหน่วยราชการและองค์การของรัฐบาลที่มีการเก็บข้อมูลจากการทำงาน เป็นลักษณะที่เรียกว่าข้อมูลชั้นแรก หรือ Primary Source  ซึ่งจะมีความน่าเชื่อถือกว่าข้อมูลที่จัดทำโดบบริษัท ผู้จำหน่ายสินค้า หน่วยงานเอกชน หรือบุคคลนะคะ เทคนิคในการค้นข้อมูลสถิติจึงควรใช้ Google ค้นหาเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเลือกดูหัวข้อทางสถิติ  เช่น ข้อมูล Facts & Figures ด้านการลงทุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย   ที่ให้ภาพรวมสถิติตลาดหลักทรัพย์ไทย หรือ การค้นหาสถิติโรค ควรใช้ Google ค้นหาเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข แล้วดูข้อมูล Health data center  ที่จะมีข้อมูลจำนวนบุคลากรสาธารณสุข ประชากรแบ่งตามอายุ  จำแนกโรคต่างๆ แบ่งเป็นเขต จังหวัด และอำเภอได้  ซึ่งหลักการนี้ก็ใช้ได้กับการค้นหาข้อมูลระดับโลกได้ด้วย จากตัวอย่างด้านโรค ก็ค้นสถิติตัวเลขจากเว็บไซต์ของ WHO- Wold Health Organization จากหน้าเว็บหลักก็จะมีหัวข้อ Data ให้บริการสถิติด้านต่างๆ ด้วยค่ะ

          สำหรับแหล่งบริการสถิติที่ต้องเป็นสมาชิกถึงจะสืบค้นได้  หรือประเภทที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับข้อมูลเชิงลึก มีรายละเอียดละเอียดเพิ่มเติมและเชื่อมโยงไปยังสถิติอื่นที่เกี่ยวข้องสามารถ เลือกขอบเขตข้อมูลได้หลายรูปแบบนั้นก็มีหลายแหล่งนะคะ เราจะรู้จักกันในนาม บริษัทขายข้อมูล เช่น บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือ BOL  ที่ให้บริการข้อมูล ข่าวสาร ข้อมูลการวิเคราะห์  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจทางธุรกิจ หรือ บริษัท Thomson Reuters เป็นต้น  

         และมีอีกประเภทหนึ่งที่พี่ตุ่นอยากแนะนำให้ท่านผู้ฟังรู้จัก คือ แหล่งบริการฐานข้อมูลสถิติเพื่อการศึกษาและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องค่ะ จัดทำโดยสำนักพิมพ์หรือหน่วยงานเอกชนที่ได้รับการยอมรับ มีชื่อเสียง หลายๆมหาวิทยาลัยได้จัดหามาบริการเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัย เช่น ฐานข้อมูล Staista ซึ่งสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้นำมาบริการให้กับบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น  เป็นฐานข้อมูลสถิติและบทวิเคราะห์สถิติของอุตสาหกรรมที่ใช้เพื่อสนับสนุนการวิจัยและการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ให้ข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ศึกษาแนวโน้มของตลาดและอุตสาหกรรม ขนาดตลาด เพื่อเข้าใจในแนวทางการแข่งขันในตลาด  

บทความนี้จะขอแนะนำฐานข้อมูล Statista ค่ะ

          ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น  (www.library.kku.ac.th)

มาทดลองใช้ด้วยกันดีไหมคะ พี่ตุ่นสนใจเรื่องการอ่านค่ะ ลองนำมาเป็นคำค้นลองค้นจากฐาน Staista  พบว่า ในปี 2020 คนไทย  70.7%  อ่านหนังสือ ข่าว และบทความจากออนไลน์   29.3% ยังอ่านในรูปแบบเดิมจากสื่อสิ่งพิมพ์  ซึ่งสอดคล้องกับสภาวะการระบาดของโควิดที่พวกเราพบเจอกันนะคะ แต่พอมีตัวเลขก็ทำให้เรามั่นใจเมื่อจะนำเอาข้อความไปอ้างอิง  และข้อมูลล่าสุดในปี 2019 ของเหตุผลในการที่นิยมอ่านออนไลน์ของคนไทย  คือ  81.3 เปอร์เซ็นต์เห็นว่า เหตุผลที่นิยมกอ่าน e-book ข่าวสาร และบทความออนไลน์ เนื่องจากใช้งานง่าย สะดวกรวดเร็ว มาดูการอ่านของนักเรียนกันค่ะ สำหรับเด็กป. 3 มีการอ่านหนังสือเรียนและหนังสืออ่านประกอบเพียงร้อยละ 47.5   ดัชนีราคาขายปลีก (RPI) ของร้านค้าปลีกหนังสือ หนังสือพิมพ์ และเครื่องเขียนในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 166.9 จุดดัชนี ซึ่งดัชนีราคาขายปลีกโดยรวม (RPI) ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 256.8 จุดดัชนี ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลปี 2020 ก็ทำให้ผุ้สนใจเห้นภาพของเรื่องที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี  ข้อมูลจากฐานข้อมูล Statista ยังให้ข้อมูลย้อนหลัง การทำนายแนวโน้มโดยอิงจากข้อมูลจริง ข้อมูลที่แสดงมีทั้งการบรรยายและกราฟ นำไปใช้ในรูปแบบ PDF หรือ Excel ได้ ท่านผู้ฟังที่อยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นลองใช้ดูนะคะ (ผลจากการสืบค้นคำว่า Reading &Thailand จากฐานข้อมูล Statista เมื่อดือนพฤศจิากายน 2565)

          Domian สำหรับข้อมูลจำนวน สถิติ ตัวเลข  หากท่านหาข้อมูลที่สนใจพบจากหลายๆ แหล่งนะคะ  หากเป็นข้อมูลชุดเดียวกันจากแหล่งที่แตกต่างกัน ให้พิจารณาเลือกใช้ข้อมูลของผู้จัดทำที่มี domain เป็น .Gov, .Ac, .ORG ก่อนนะคะ ถ้าไม่มีจึงเลือกการอ้างอิงจาก Domain ประเภทอื่น  เช่น .COM  หากเป็นบริษัทขายข้อมูลต้องเป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองนะคะ  

         คุณภาพของข้อมูล ด้านคุณภาพข้อมูลควรเป็นข้อมูลที่ใหม่ที่สุด  หรือมีความทันสมัย ไม่ย้อนหลังนานเกินไป ได้มาแล้วอาจจะมีการแสดงการเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลังหากต้องการแสดงให้เห็นความต่อเนื่องของข้อมูล และหลายคนอาจจะหงุดหงิดเมื่อค้นไม่พบสถิติในปีปัจจุบัน ข้อนี้เกิดขึ้นได้เสมอ  เพราะในการวิเคราะห์ข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน หรือชุดข้อมูลจะมีช่วงเวลาในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ค่ะ  เช่น  ข้อมูลรายงานคุณภาพชีวิตของคนไทย จปฐ.หรือ กชช 2 ค โดยกรมพัฒนาชุมชนนั้นข้อมูลล่าสุดจะย้อนหลังไป 1 ปี  ไม่มีข้อูล ณ ปี พ.ศ. ปัจจุบัน ในขณะที่รายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย ของกรมมลพิษทางอากาศจะเป็นปีปัจจุบัน 

         เอาหล่ะค่ะเวลาของรายการน่าจะถึงช่วงเวลาสุดท้ายของรายการ เรื่องแหล่งบริการสถิติที่นำมาแชร์ในวันนี้คงเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้ฟังไม่มากก็น้อยนะคะ ใช้ Google ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและให้ได้ข้อมูลอย่างมีคุฯภาพค่ะ สำหรับนักศึกษา อาจาย์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น หากสนใจใช้ฐานข้อมูล Statista สามารถสืบค้นได้จากหน้าเว็บไซต์ของสำนักหอสมุด www.library.kku.ac.th ในหัวข้อ Research Support และ KKU Reference Database ตามลำดับ สอบถามเพิ่มเติม ได้ที่ FB  หรือ Meta : Khon Kean University Library หากเป็น ช่องทางไลน์ส่งข้อความสอบถามมาที่ line @KKUlibrary     สำหรับวันนี้เวลาหมดแล้วค่ะ พี่ตุ่นและสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่นต้องขอลาทุกท่านไปก่อน   ร่วมสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกันค่ะ พบกันใหม่ในทุกๆเช้าวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 7.35 ถึง 8.00 น.   ขอให้วันนี้เป็นวันดีๆ สำหรับทุกท่านค่ะ  สวัสดีค่ะ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 714543เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2023 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2023 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท