"ไดอารี่กู้ใจ" : ใช้อารมณ์มาบ่มเพาะการรู้เท่าทัน


การที่เราได้ทบทวนอารมณ์ความรู้สึกของตนเองในแต่ละวัน รวมถึงทำไปเรื่อยๆก็จะเห็นเป็นภาพอารมณ์ความรู้สึกของเราในแต่ละสัปดาห์นี้ ทำให้เรามองเห็นอารมณ์ความรู้สึกของตนเองว่ากวัดแกว่งไปในทิศทางใดบ้าง ทำให้รู้ว่ามีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้อารมณ์ความรู้สึกของเราเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ซึ่งจะช่วยเอื้อให้เราเข้าใจตนเองและนำไปสู่การวางแผนจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกและปัญหาต่างๆของตัวเราเองได้

พูดถึงไดอารี่ใครๆก็อาจจะเคยเขียนมาบ้าง
แต่ถ้าเป็น "ไดอารี่กู้ใจ" ล่ะ อืม..มันเป็นอย่างไร


พอดีน้องโบว์  นักจิตวิทยาประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนแนะนำให้รู้จัก diary แบบนี้ 

ซึ่งเจ้าไดอารี่กู้ใจ นี่ก็คือสมุดบันทึกอารมณ์ ความรู้สึกของตนเองเพื่อทบทวนความรู้สึกของตัวเองในแต่ละวัน


แล้วการทบทวนความรู้สึกของตัวเองในแต่ละวันมันสำคัญยังไง?


การที่เราได้ทบทวนอารมณ์ความรู้สึกของตนเองในแต่ละวันรวมถึงทำไปเรื่อยๆก็จะเห็นเป็นภาพอารมณ์ความรู้สึกของเราในแต่ละสัปดาห์นี้ ทำให้เรามองเห็นอารมณ์ความรู้สึกของตนเองว่ากวัดแกว่งไปในทิศทางใดบ้าง ทำให้รู้ว่ามีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้อารมณ์ความรู้สึกของเราเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ซึ่งจะช่วยเอื้อให้เราเข้าใจตนเองและนำไปสู่การวางแผนจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกและปัญหาต่างๆของตัวเราเองได้


ไดอารี่กู้ใจ ฉบับที่เห็นนี้ เป็นฉบับที่ผมกับน้องโบว์ นักจิตวิทยาประจำศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ช่วยกันพัฒนาเป็นรูปเล่มขึ้นมาใช้กับเด็กเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นสมุดบันทึกที่อ่านแล้วดูแล้วเข้าใจง่าย เด็กๆสามารถระบายสีแทนอารมณ์ความรู้สึกแต่ละชนิด รวมถึงมีช่องว่างให้เติมข้อความหรือวาดภาพ เพื่อที่จะสรุปอารมณ์ความรู้สึกของตนเองในแต่ละสัปดาห์ แถมมีคั่นหน้ากระดาษด้วยสุภาษิตสอนใจ ให้กำลังใจเด็กๆที่อาจจะกำลังจมอยู่ในกองทุกข์ หรือใช้ชีวิตอย่างเลื่อนลอยในสถานควบคุมความประพฤติ ที่ห่างทั้งจากบ้าน ห่างทั้งจากพ่อแม่


 

แม้สมุดบันทึกไดอารี่กู้ใจนี้ จะเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือที่เราช่วยให้เด็กได้มีความรู้จักอารมณ์ความรู้สึกจิตใจของตนเองก็จริง หากแต่มันจะไม่ได้ผลเลยถ้าขาดซึ่งแรงบันดาลใจ ขาดซึ่งความตั้งใจของเด็กเยาวชน ผู้เป็นเจ้าของสมุดเล่มนั้น


แต่จะทำให้เด็กเยาวชนมีแรงบันดาลใจมีความรู้สึกสนุกที่จะได้ทำสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ต้องมีการจัดกระบวนการที่เหมาะสมและมีส่วนร่วม


27 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาเราจึงมีกระบวนการโฟกัสกรุ๊ปลงติดตามและแนะนำการใช้ไดอารี่กู้ใจขึ้นเป็นครั้งแรกกับเด็กๆในสถานพินิจที่แม่ฮ่องสอน แน่นอนว่าเรามีเป้าหมายหลักในเรื่องของกิจกรรมโครงการไดอารี่กู้ใจ แต่ถ้าเข้าไปแบบทื่อๆก็คงไม่สนุก ไม่มีมนต์เสน่ห์ 

ก็เลยต้องหาลูกเล่น หากุศโลบายเพื่อที่จะทำให้เด็กๆผ่อนคลายและรู้สึกมีความสุข มีความรักในการร่วมกิจกรรม บนพื้นฐานของการเห็นคุณค่าของตนเองและคุณค่าในการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนๆ


เมื่อหัวใจเปิด สมองก็จะโปร่ง 
เมื่อความรักมี ความรู้ที่ลึกซึ้งก็จะมา


" ไดอารี่กู้ใจ "เป็นเครื่องมือที่ทำด้วยใจจิตอาสา ไม่มีบังคับ ไม่มีให้คะแนน ถ้าทำแล้วมีความสุข เห็นคุณค่าก็ทำไป จะหยุดจะเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ จะเว้นสักพักแล้วทำใหม่ ก็ไม่เป็นไร


การไม่คาดหวังสิ่งใดมากมาย ขอให้หัวใจได้ทำหน้าที่โดยอิสระ นั่นคือความไว้วางใจ 
นั่นคือความเชื่อมั่นในคุณค่า ที่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร 
...มันก็คือความสวยงาม

หมายเลขบันทึก: 713789เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2023 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2023 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท