ชีวิตที่พอเพียง 4517. บันทึกการฟื้นตัวจากความเจ็บป่วย


 

วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๖ ผมออกจากโรงพยาบาลครบ ๒ สัปดาห์   จึงขอสรุปประสบการณ์การฟื้นตัวจากการผ่าตัดต่อมลูกหมากมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน     

ผมได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากแบบ TUR – Trans-Urethral Resection เมื่อเช้าวันที่ ๑๙ พฤษภาคม    เป็นการผ่าตัดที่หมอพยายามเลี่ยงแล้วเลี่ยงอีก   เพราะไม่อยากให้เกิดแผลหลังจากรู้ว่าผมเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดร้าย (High grade Urothelial Carcinoma) จากการพบก้อนขนาดปลายนิ้ว มีก้านยึดติดกับผนังกระเพาะปัสสาวะบริเวณใกล้ช่องต่อไปยังทางเดินปัสสาวะในลำกล้องของอวัยวะเพศ (urethra)    โดยมีข่าวดีคือ ผลการตัดชิ้นเนื้อที่ผนังกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก และผนังช่องทางเดินปัสสาวะในอวัยวะเพศ  ๖ แห่งไปตรวจ ไม่พบเซลล์มะเร็ง   

แต่มะเร็งร้ายแบบนี้ ต้องป้องกันการแพร่กระจาย   วิธีรักษาตามมาตรฐานคือใช้การกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย  ที่เรียกว่า T-Cells สร้างภูมิคุ้มกันไปสะกัดไม่ให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโต    เรียกวิธีบำบัดแบบนี้ว่า immunotherapy   และยาที่ใช้คือเชื้อวัณโรคที่ถูกทำให้อ่อนแรง ที่เรียกว่า BCG (แบบเดียวกับที่คนรุ่นเก่าเคยได้รับ เพื่อป้องกันการติดเชื้อวัณโรค)   แต่วิธีรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะใช้วิธีใส่เชื้อเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ให้มันไปเคลือบผนังกระเพาะปัสสาวะอยู่ ๒ ชั่วโมง    แล้วจึงถ่ายปัสสาวะออก     

การรักษาทำเป็น course แต่ละครั้งห่างกัน ๑ สัปดาห์    แล้วเว้นช่วง ก่อนจะให้ คอร์สที่ ๒   วันแรกของคอร์สที่ ๑ คือ ๒๗ มิถุนายน   

บันทึกนี้ขอเล่าประสบการณ์พักฟื้นจากการผ่าตัดต่อมลูกหมาก ๒ สัปดาห์แรกที่บ้าน    ที่ผมเข้าใจว่า มีความเสี่ยงที่จะมีอาการปัสสาวะอุดตันอยู่บ้าง แม้จะไม่มากนัก    คือยังอยู่ในช่วงที่ร่างกาย (กระเพาะปัสสาวะ และต่อมลูกหมาก) ดำเนินกลไกตามธรรมชาติของการหาย (healing) ของแผลผ่าตัด    โดยในกระบวนการนี้จะมีชิ้นเนื้อตายหลุดลอกออกมากับน้ำปัสสาวะ    หากชิ้นไม่โต ไม่แข็ง ไม่อุด ก็ถ่ายออกมากับปัสสาวะได้    หากมันอุด ก็เกิดเรื่องปัสสาวะคั่ง (ที่ผมเผชิญหลายครั้งตอนอยู่โรงพยาบาล) และต้องกลับไปเข้าโรงพยาบาล   

ผมหมั่นสังเกตน้ำปัสสาะทุกครั้งที่ถ่าย พบชิ้นเนื้อนี้ทุกวัน ในการถ่ายบางครั้ง (ราวๆ ร้อยละ ๑๐ ของการถ่ายปัสสาวะราวๆ ๑๕ ครั้งใน ๒๔ ชั่วโมง)     แต่ก็ถ่ายปัสสาวะคล่องดี    อาจารย์หมอสิทธิพรสั่งว่า ห้ามขี่หรือซ้อนท้ายจักรยาน   ห้ามเบ่งอุจจาระ ช่วยด้วยยาระบาย ๒ ขนาน   ผมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด   

ราวๆ ๙.๑๕ น. วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ผมไปถ่ายปัสสาวะที่โถปัสสาวะชายในห้องน้ำของห้องรับแขก (ที่บ้าน)   มีก้อนเลือดขนาดหัวแม่มือหลุดออกมา โดยตอนหลุดรู้สึกตุงในท่อปัสสาวะ แต่ไม่ปวด   ก้อนมันใหญ่มากจนไม่สามารถมุดรูของโถได้   ต้องใช้ทิชชูรองมือหยิบไปใส่โถส้วม   

ตอนนี้ผมสวมกางเกงผ้าอ้อม (pampers) แทนกางเกงใน    เพื่อดูดซับปัสสาวะที่อาจเล็ดออกมาก่อนหรือหลังฉี่    และดูดซับอุจจาระที่บางทีก็เล็ด ด้วยฤทธิ์ยาระบาย    เวลาจะถ่ายปัสสาวะก็ถอดกางเกงและ pampers ลงไปใต้อวัยวะเพศ     ตอนแรกมักดึงไม่ค่อยทัน ฉี่หลุดออกมาก่อน เพราะกลไกกลั้นปัสสาวะชำรุด   แต่ในวันหลังๆ สังเกตว่ากลั้นได้ดีขึ้นเองโดยไม่ตั้งใจ    แสดงว่าร่างกายคนเรามีกลไกปรับตัวอยู่ด้วย   

ความอ่อนแอสำคัญที่เกิดจากไปนอนโรงพยาบาล ๓๒ วันคือ กล้ามเนื้อปวกเปียกไปทั้งตัว เพราะขาดการออกกำลัง     เมื่อกลับบ้านและเดินออกกำลัง เพียงครึ่งเดียวของที่เคยออกก่อนป่วย ก็พบว่ากล้ามเนื้อตึงไปหมด    และเดินพลาดจะล้มหลายครั้ง    แต่เมื่อเดินออกกำลังทุกวัน กล้ามเนื้อก็กลับมาปกติภายใน ๑ สัปดาห์   

เขียนเพิ่มเติม ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๖   

ผมเลิกใช้ผ้าอ้อมเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน กลับไปสวมกางเกงในอย่างเดิม   โดยไม่มีปัญหาฉี่เล็ดแต่อย่างใด    ปัสสาวะใสดีไม่มีร่องรอยของเลือดราวๆ ๒ สัปดาห์หลังจากกลับมาบ้านในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม    ผมสังเกตว่าถ่ายปัสสาวะทุกครั้งจะมีน้ำปัสสาวะก้อนหนึ่งนำมาก่อนทุกครั้ง    เอ่ยถามคุณหมอวศินทางโทรศัพท์จึงทราบว่าเป็นเรื่องปกติหลังผ่าตัดต่อมลูกหมาก    เพราะมีหลุมอยู่ที่ต่อมลูกหมาก   มีปัสสาวะอยู่ในหลุมนั้น    เมื่อถ่ายปัสสาวะมันจะออกนำมาก่อน    หมอวศินบอกว่ามันจะค่อยๆ หายไป    แต่นี่กว่า ๑ เดือนหลังผ่าตัด ก็ยังมีอาการเหมือนเดิม   

  เพราะเป็นมะเร็งชนิดร้าย จึงต้องป้องกันการเกิดขึ้นที่จุดใหม่ และป้องกันการลุกลาม    โชคดีที่มียาดีที่ป้องกันได้ชะงัดมาก    แต่ก็ต้องไปรับยาเป็นระยะๆ ตามที่เล่าในบันทึกที่ ๔๕๑๔ แล้ว   ดังนั้น ยาที่สำคัญควบคู่กันคือ “ยาใจ”    ที่ต้องให้แก่ตัวเอง     คือหมั่นเตือนใจตนเองว่า “กายป่วยแต่ใจไม่ป่วย”    คือฝึกทำใจให้สบาย ไม่วิตกกังวล    และใช้เวลาในชีวิตให้เกิดประโยชน์ที่สุด   

ในช่วงนี้ สุขภาพของผมเต็มร้อย เหมือนคนสุขภาพดีทั่วๆ ไป ที่อายุเกิน ๘๐ ปี      

วิจารณ์ พานิช 

๒๘ มิ.ย. ๖๖ 

ห้อง ๑๖๐๕   อาคารเฉลิมพระเกียรติ  โรงพยาบาลศิริราช   

 

หมายเลขบันทึก: 713751เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2023 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2023 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณอาจารย์สำหรับการถ่ายทอดประสบการณ์ได้อย่างละเอียด ชัดเจน เป็นประโยชน์ทั้งกับคนที่กำลังเป็นโรคนี้ได้รับรู้วิธีการรักษาดูแล และเป็นการเตือนสติคนที่ยังไม่เป็นอะไรได้ดีมากเลยค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท