กลยุทธ์การทำงานด้วยเครือข่ายและการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร


     การสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นระหว่างบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรหรือองค์การต่าง ๆ  จำเป็นต้องใช้เทคนิควิธีกระบวนการการปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมตามสถานการณ์ โดยต้องอาศัยผู้เล่นหรือผู้กระทำ เป้าหมาย เงื่อนไข และวิธีการที่เหมาะสมมาเป็นเครื่องมือ แนวทางการสร้างความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Collaboration for a Change) ของอาร์เธอร์ ที ฮิมเมลแมน (Arthur T. Himmelman) เป็นกระบวนการการสร้างความร่วมมือที่มีความต่อเนื่อง โดยสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความร่วมมือระหว่างบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กร ดังต่อไปนี้ 

     1. การสร้างเครือข่าย (NETWORKING) คือ กระบวนการของการทำให้เกิดการติดต่อสัมพันธ์กัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงที่จะทำให้เกิดการร่วมมือกันด้วยความสมัครใจ การสร้างเครือข่ายจึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกัน เกิดกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ความต้องการบรรลุเป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน 

         การสร้างเครือข่ายส่วนใหญ่เป็นการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กลุ่มบุคคล และระหว่างองค์กรต่าง ๆ อย่างไม่เป็นทางการ เป็นโครงสร้างการปฏิสัมพันธ์ของคน กลุ่มคน หรือองค์ที่มีการเชื่อมโยงโดยความสมัครใจ โดยมีการจัดระบบโครงสร้างความสัมพันธ์ที่มีความเป็นอิสระและมีความเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิของกันและกัน

        การสร้างเครือข่ายจึงเป็นโอกาสของการแสวงหาความร่วมมือและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งกับบุคคล กลุ่มบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในวงการเดียวกันและคนละวงการอีกด้วย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะพัฒนาการไปสู่การร่วมมือในระดับที่สูงขึ้นต่อไป ความสำเร็จของการสร้างเครือข่ายที่จะนำไปสู่การร่วมมือกันอาจจะต้องใช้เวลาเท่าที่มีความจำเป็นที่สามารถจะกระทำได้ การสร้างเครือข่ายอาจจะยังไม่สามารถตอบสนองต่อความสัมพันธ์ในเชิงความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้งอาจจะยังไม่สามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจที่จะนำไปสู่การร่วมมือกันกระทำกิจกรรมร่วมกันได้ แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของพัฒนาการของกระบวนการสร้างความร่วมมือระหว่างกันที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นเป็นกระบวนการแรก

     2. การประสานงาน (COORDINATING) คือ กระบวนการของการติดต่อสื่อสารที่ทำให้เกิดความคิดและความเข้าใจอันจะทำให้บุคคลทั้งในองค์กรและต่างองค์กรสามารถทำงานสัมพันธ์สอดคล้องต้องกันได้ กระบวนการของการประสานงานจึงเป็นพัฒนาการของการสร้างความร่วมมือที่ไม่เพียงแต่มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกัน แต่เป็นพัฒนาการที่สร้างความสัมพันธ์ที่มีต่อเนื่องที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมีจุดร่วมที่สำคัญคือวัตถุประสงค์ของการที่เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันเป็นสำคัญ เป้าหมายของการประสานงาน (COORDINATING) จึงไม่เป็นแค่เพียงการที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้รับประโยชน์ร่วมกันแต่ยกระดับไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันด้วย

          กระบวนการของการปฏิสัมพันธ์ในเชิงการประสานงานจึงเป็นพัฒนาการของการสร้างความร่วมมือที่มีการติดต่อสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด เข้มข้น และจริงจัง มากกว่าการติดต่อสัมพันธ์ในระดับของการสร้างเครือข่าย เป็นกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ที่แสดงให้เห็นแนวโน้มของความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น การประสานงานจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะก่อให้เกิดพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ การประสานงานเป็นการทำให้เกิดความเข้าใจ เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ เกิดความเป็นมิตรที่ดี สามารถขจัดปัญหาอุปสรรคสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ออกไปได้ ซึ่งการบรรลุถึงความสำเร็จอาจจะต้องใช้เวลา แต่ผลสำเร็จถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญที่ทำให้ระดับความไว้วางใจระหว่างกันมีมากขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความร่วมมือในระดับที่สูงขึ้นโดยการตกลงร่วมดำเนินกิจกรรมบางอย่างร่วมกันในอนาคต

     3. การสร้างความร่วมมือ (COOPERATING) คือ กระบวนการของการปฏิบัติงานร่วมกับคนอื่น ช่วยเหลือกันและกันด้วยความเต็มใจเพื่อให้งานนั้นๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี การสร้างความร่วมมือ (COOPERATING) ในลักษณะนี้จึงเป็นเรื่องของการที่มุ่งจะทำให้เกิดปฏิบัติงานร่วมกัน เป็นกระบวนการของการสร้างให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและการทำงานร่วมกันอย่างเต็มใจและเต็มที่  

         การสร้างความร่วมมือ (COOPERATING) จึงเป็นกระบวนการของการทำงานที่มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลระหว่างกัน มีการแลกเปลี่ยนการจัดกิจกรรมร่วมกัน และมีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยมีเป้าหมายที่แต่ละองค์กรต้องการบรรลุร่วมกันใน 2 ระดับ คือ การบรรลุผลประโยชน์ขององค์กรและการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร การสร้างความร่วมมือจึงต้องอาศัยความผูกพันระหว่างองค์กรมากกว่าการสร้างเครือข่ายและการประสานงาน โดยความผูกพันที่เกิดขึ้นอาจต้องอาศัยความรู้ความสามารถของบุคคล รูปแบบ เนื้อหาสาระและกิจกรรมที่จะสามารถทำให้เกิดความเห็นพ้องต้องกันในการแลกเปลี่ยนการจัดกิจกรรมที่ต้องอาศัยทรัพยากรที่มาจากแต่ละองค์กรได้ โดยการบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการใช้ทรัพยากรบุคคล งบประมาณ การสนับสนุนทางเทคนิค และทรัพย์สินต่าง ๆ ร่วมกัน กระบวนการของการสร้างความร่วมมือจึงอาจต้องใช้บุคคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ ทรัพยากร และระยะเวลามาก รวมทั้งต้องอาศัยระดับความไว้วางใจสูง เพื่อสร้างความมั่นใจข้อตกลงใจอันเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การทำกิจกรรมร่วมกันมากที่สุด

     4. การทำงานร่วมกัน (COLLABORATING) คือ กระบวนการของความร่วมมือที่อยู่ในลักษณะของการทำงานร่วมกันในลักษณะของการร่วมแรงร่วมใจ การทำงานร่วมกันจึงมิใช่แค่การร่วมมืออย่างธรรมดาแต่เป็นการมาร่วมมือกันทำงานเพื่อเป้าหมายเดียวกันในลักษณะของการร่วมหัวจมท้าย  ซึ่งการที่จะมาถึงระดับการร่วมมือกันในลักษณะนี้อาจจำเป็นต้องต้องผ่านกระบวนการพัฒนาความร่วมมือมาตามลำดับจากจุดเริ่มต้นของการสร้างความสัมพันธ์จากการสร้างเครือข่าย การประสานงาน การสร้างความร่วมมือระหว่างกันมาแล้ว  

         การทำงานร่วมกัน (COLLABORATING) จึงเป็นกระบวนการของการปฏิสัมพันธ์โดยกิจกรรมที่เริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกัน การแลกเปลี่ยนการจัดกิจกรรมร่วมกัน มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน จนกระทั่งมีการยกระดับความร่วมมือในระดับสูงสุดที่จะร่วมมือกันทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบของการที่ร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งอาจเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นทางการระหว่างกันมากที่สุด โดยมีเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ คือ การได้รับผลประโยชน์ร่วมกันและการบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันการทำงานร่วมกันในลักษณะการร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเป็นความสัมพันธ์ที่แต่ละองค์กรต้องการเข้ามาช่วยเหลืออีกฝ่าย เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด เป็นการทำงานร่วมกันที่เป็นการแบ่งปันความเสี่ยง ความรับผิดชอบ และผลตอบแทนร่วมกัน การร่วมแรงร่วมใจกันทำงานต้องอาศัยความผูกพัน ต้องอาศัยเวลา มีความไว้วางใจสูง มีเงื่อนไขผูกพันเท่ากันทั้งสองฝ่ายเพื่อการร่วมทำงานร่วมกันอย่างจริงใจ การทำงานร่วมกันจึงเป็นหัวใจของความร่วมมือที่จะทำงานองค์กรบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หมายเลขบันทึก: 713736เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2023 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2023 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท