ไกล่เกลี่ยอย่างไร ไม่ให้ละเหี่ย : เกร็ดประสบการณ์การเป็นผู้ไกล่เกลี่ยคดีครอบครัว


จะว่าไป การไกล่เกลี่ย นอกจากจะเป็นการทำงานที่ช่วยให้คนพ้นทุกข์ เพราะเรื่องความขัดแย้งเกี่ยวกับครอบครัวนั้นจะว่าไปมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกับการบวกลบคูณหารวัตถุสิ่งของเงินทองต่างๆ แต่นี่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เรื่องทางจิตใจ ความทรงจำ ความผูกพันที่ผสมปนเปกันเต็มไปหมด จึงไม่อาจใช้หลักของการตัดแบ่งสิ่งต่างๆมาแบบเป๊ะๆๆได้อย่างวัตถุสิ่งของ เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน

พูดถึงการไกล่เกลี่ย หลายๆคนทำหน้าละเหี่ย

แน่นอนครับโดยทั่วไปใครๆก็ไม่ชอบยุ่งกับความขัดแย้ง

แต่มนุษย์เราตราบเท่าที่ยังเป็นคนยังไงก็วิ่งไปชนความขัดแย้งอยู่ดี ไม่ว่าจะหนีไปที่ไหน

ขนาดอยู่คนเดียวยังขัดแย้งกับตัวตนภายในยังได้

ประสาอะไรกับการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆต่างพ่อต่างแม่ ต่างความคิด ต่างสารพัดต่าง

ความแตกต่างจึงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญพอๆกันกับเรื่องของความขัดแย้ง

จะไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมความขัดแย้งได้ต้องมองความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา

มองความขัดแย้งในเชิงของความสร้างสรรค์ได้

ความขัดแย้งในแต่ละเรื่องเป็นเสมือนจิ๊กซอว์หนึ่ง ที่จะพาเราไปสู่สิ่งที่อาจจะทำให้เติบโตมากขึ้น

......................

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยชอบความขัดแย้ง ส่วนตัวก็ไม่ชอบไปออกสังคมสักเท่าไหร่ ยิ่งคนมากๆไม่จำเป็นจริงๆก็ไม่อยากไป พอสูงวัยมากขึ้นชอบใช้ชีวิตอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆที่ใกล้ชิดมากกว่า แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องออกสังคมบ้าง ก็ไม่เป็นไรไม่เป็นปัญหา เราก็เล่นไปตามบทได้เต็มที่

ยิ่งเวลาเห็นใครมีเรื่องกัน เราเองก็ไม่ชอบสอดไม่ชอบไปรู้อะไรให้มาเป็นภาระใจมาก ถ้าเขาไม่เดือดร้อน และมาขอให้เราช่วย เราก็มักจะมองอยู่ห่างๆมากกว่า

แต่เมื่อมีภาระหน้าที่ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการจัดการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งของผู้คน เช่น การที่ต้องเป็นผู้ไกล่เกลี่ยประนีประนอมคดีครอบครัวประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน อันนี้เมื่อมีงานเข้ามา มีคนอยากให้เราช่วย ก็ต้องวางใจวางความคิดวางวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม

เลยเป็นที่มาของการเขียนบันทึกนี้เอาไว้ทบทวนตนเอง และอาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจในเรื่องของการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี การไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งต่างๆที่เกิดขึ้นได้ทั้งในโรงในศาลและในชีวิตประจำวัน

….................................

OK ล่ะทีนี้มาถึงในเรื่องของงานไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งที่เป็นการพิพาทกันในเรื่องของคดีครอบครัว

 

จะว่าไป การไกล่เกลี่ย นอกจากจะเป็นการทำงานที่ช่วยให้คนพ้นทุกข์ เพราะเรื่องความขัดแย้งเกี่ยวกับครอบครัวนั้นจะว่าไปมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกับการบวกลบคูณหารวัตถุสิ่งของเงินทองต่างๆ แต่นี่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เรื่องทางจิตใจ ความทรงจำ ความผูกพันที่ผสมปนเปกันเต็มไปหมด จึงไม่อาจใช้หลักของการตัดแบ่งสิ่งต่างๆมาแบบเป๊ะๆๆได้อย่างวัตถุสิ่งของ เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน 

นอกจากจะได้ช่วยเค้า ในอีกด้านก็เป็นโอกาสก็ได้ที่ตัวเราจะได้เข้าไปเรียนรู้ ฝึกฝนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน

แรกสุดก็จะเห็นนะครับว่า วิธีคิดในเรื่องของการจัดการความขัดแย้ง ก่อนอื่น ต้องมองให้เห็นเป็นเรื่องที่เป็นเชิงบวกผนวกกับการสร้างแรงบันดาลใจในตนเองที่จะเข้าไปช่วยให้เขาพ้นทุกข์ อันนี้ผมว่าเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่คนที่จะเข้าไปไกล่เกลี่ยจำเป็นต้องมี

อย่างที่สอง เป็นเรื่องของความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับครอบครัว ผมอาจจะโชคดีหน่อยที่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องของความขัดแย้งในครอบครัวสมัยรุ่นพ่อแม่มาให้ตนเองฝึกโดยตรงมาตั้งแต่เล็ก ครั้นมาถึงตนเองสมัยเป็นวัยรุ่นยันวัยกลางคน ชีวิตแต่งงานก็ดี ชีวิตผู้คนที่เราประสบพบพานก็มีเรื่องนี้มาปะปน

ต้นทุนประสบการณ์ตรงนี้สำคัญมาก เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่นอกตำรา มันทำให้เราเข้าถึงความรู้สึกของคนที่มีปัญหาครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง เพศสภาพไหนๆ หรือแม้กระทั่งชีวิตจิตใจของเด็กๆที่พ่อแม่กำลังมีปัญหา 

ถึงรูปแบบของปัญหาครอบครัวอาจจะต่างกันไปบ้าง แต่พื้นฐานความรู้สึกจิตใจของคนภายในไม่น่าจะต่างกันนัก ต้นทุนประสบการณ์ตรงจึงช่วยได้มากทีเดียว

อีกด้านคือต้นทุนของความรู้ ต้องขอบคุณโอกาสที่ตนเองได้รับจากการเข้าเรียนในระดับปริญญาโทด้านสังคมวิทยามานุษยวิทยา และมีโอกาสได้ศึกษาวิจัยในเรื่องของครอบครัวบทบาทผู้หญิงผู้ชายความสัมพันธ์เชิงอำนาจ, การสร้างความหมายการให้ความหมายของเด็กเยาวชน โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ต่อเรื่องต่างๆ พื้นฐานการศึกษาและวิจัยเหล่านี้ทำให้เราสามารถเข้าใจรูปแบบและความหลากหลายของครอบครัวในประเทศไทย และช่วยให้ระมัดระวังที่จะไม่เอาความคิดที่ตนเองมีอยู่ไปครอบงำหรือแทรกแซงคู่พิพาทจนกลายเป็นเราไปตัดสินใจแทนเขา ซึ่งจุดนี้สำคัญมาก 

-ภาพจาก istockphoto.com-

 

เพราะการไกล่เกลี่ยผู้ไกล่เกลี่ยต้องมีความเป็นกลาง หมายถึงต้องไม่เอาความคิดเห็นส่วนตัว มโนคติต่างๆเข้าไปเป็นบรรทัดฐานในการตัดสิน ผู้ประนีประนอมหรือผู้ไกล่เกลี่ยไม่ได้มีหน้าที่ในการตัดสินหรือชี้นำ หากแต่เป็นผู้ที่พยายามช่วยให้คู่พิพาทสามารถคุยกันอย่างมีสติ พยายามสร้างบรรยากาศของ Empathy หรือเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ใช่จะเอาชนะโดยไม่คิดถึงหัวอกของอีกฝ่าย รวมถึงผลกระทบที่จะตกอยู่กับลูกหลาน ช่วยให้พวกเขาค้นหาค้นพบทางออกจากความขัดแย้งอย่างสมานฉันท์โดยที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนตามมา

ในส่วนข้อกฎหมาย ตรงนี้ไม่ยากเพราะโดยทั่วไปจะมีหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเรื่องต่างๆเอาไว้ตามกฎหมายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์การแบ่งสินสมรส หลักเกณฑ์การรับผิดชอบค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร หลักเกณฑ์เรื่องของการจัดการมรดก ฯลฯ  แต่ก็อย่างว่าการจัดการความสัมพันธ์มันไม่ใช่การเอากฎหมายมากางแล้วตัดสินไปอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น หากแต่ต้องมองเรื่องของความผาสุขของครอบครัวอย่างเป็นองค์รวม จึงจะถือเป็นความยุติธรรมที่แท้

การจะสร้างเสริมให้เกิดความผาสุกอย่างเป็นองค์รวมนั้นได้ จำเป็นที่จะต้องมีการวิเคราะห์สอบถามแลกเปลี่ยนในเรื่องราวที่เป็นข้อพิพาทต่างๆให้ได้ข้อมูลอย่างเพียงพอ อะไรเป็นความต้องการลึกๆของคู่พิพาท ซึ่งจริงๆอาจจะไม่ใช่ตัวเลขจำนวนเงินทองทรัพย์สินก็ได้ อันนี้ผู้ไกล่เกลี่ยต้องจัดบรรยากาศและจูงใจเชื้อเชิญให้แต่ละฝ่ายได้พูดคุยกันอย่างมีกุศโลบาย

แน่นอนว่า บางครั้งคนเรามีความขัดแย้งมาเจอหน้ากันก็อดที่จะใส่กันแรงๆไม่ได้ ผู้ไกล่เกลี่ยจึงต้องวางใจนิ่งๆ อย่างผมเอง หลายเคสก็เจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่างผัวเมียนี่ มันเป็นความเจ็บปวดลึกๆ ก็ให้เขาระบายออกมาบ้าง แต่ถ้ามากไปเราก็ต้องหากระบวนการทำให้เขาสงบลง ทำให้เกิดสติดึงกลับมาสู่ประเด็นที่เรากำลังถกแถลงอภิปราย ต้องช่วยเตือนสติทั้งสองฝ่ายเป็นระยะๆ

จะทำอย่างนี้ได้ใจเราต้องนิ่งพอ ต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง เพราะถ้าใจคู่พิพาทสั่นเป็นเจ้าเข้า แล้วเราผู้ประนอมก็ใจเป็นลิงวิ่งตาม อันนี้มีสิทธิ์ล่มกลางคัน

การฝึกสติในรูปแบบต่างๆของตัวผู้ไกล่เกลี่ยเองจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญ

เราอาจจะทำท่าคล้อยตามมีความเห็นใจความทุกข์ยากของผู้พิพาทแต่ละฝ่ายได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี คือเรามีความรู้สึกไม่ใช่ตั้งหน้านิ่งๆอันนั้นก็จะไม่ได้รับความไว้วางใจ ว่าเราเป็นมนุษย์สายพันธุ์ไหน หรือเป็น A.I. ก็ใช้่ที่ 

ถ้าเรามีความรู้สึกรู้สมไปเขาก็รู้สึกอบอุ่น รู้สึกว่าเรามีความเป็นเพื่อน แต่เราต้องระวังไม่ให้ไปเอียงข้างหรือทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าเราเลือกข้าง ทว่า ถ้าเห็นใจก็ต้องเห็นใจทั้งสองฝ่ายเท่าๆกัน แต่ต้องสงบเยือกเย็นมีสติ และดึงกลับมาสู่ประเด็นข้อพิพาท ซึ่งอาจจะต้องแยกเป็นข้อๆไปว่าเรื่องไหนที่ทำได้บรรลุได้แล้ว เรื่องไหนที่ยังค้างอยู่ เรื่องไหนที่อาจจะต้องแขวนเอาไว้ ต้องช่วยเขาหาทางออกด้วยท่าทีที่มีความมีเมตตา กรุณา ไม่ใช่ยุหรือเร่งให้จบๆ

ความขัดแย้งในครอบครัวมักสั่งสมมานานหลายปี จะให้ยุติในวันเดียวก็อาจจะเกินไหว บางทีคุยกันรอบเดียวไม่จบก็อาจจะต้องนัดหมายในรอบต่อไป แต่หากเป็นไปได้ควรจะพูดคุยให้จบในครั้งนั้นเลยทีเดียว เพราะถ้ากลับไปแล้วมีหลายสิ่งหลายอย่างเข้ามา มีหลายเสียงหลายปากเข้ามาก็จะทำให้เรื่องราวที่คุยไว้อาจจะเฉไฉ ความขัดแย้งอาจจะบานปลายหรือถูกเลื่อนการพิจารณาไปอีกยิ่ง ทำให้เกิดความซับซ้อนสับสนจนอาจจะนำไปสู่การจัดการที่ยากยิ่งขึ้น

ในกรณีที่คู่พิพาทเริ่มโต้เถียงกัน หรือชักจะมีอารมณ์แรงมากขึ้น หากเราดูแล้วไม่สามารถที่จะสงบจิตสงบใจได้ หรือถ้านั่งอยู่ด้วยกันเผชิญหน้ากันแล้วการประชุมอาจจะเอากันไม่อยู่ ก็อาจจะขอเชิญให้คนที่ชักจะคุมอารมณ์ไม่อยู่ออกไปนั่งพักโดยที่เราอธิบายให้เขาเข้าใจ และขอเรียกคุยทีละท่าน ทีละคน โดยให้เวลาแต่ละฝ่ายเท่าๆกัน อันนี้ก็ต้องอธิบายแล้วก็ขออนุญาตเขาอย่างสุภาพ ซึ่งผมก็เคยทำแบบนี้อยู่บ้าง เขาก็เข้าใจแล้วก็รู้สึกว่าตัวเองอารมณ์หลุดไปก็มาขอโทษเราทีหลังก็มี ก็ไม่เป็นไร ก็ถือว่าเราเข้าใจ เป็นใครอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นก็อาจจะหลุดปาก พลั้งเผลอพูดหยาบคาย หรือสารพัดอย่างออกมา เราก็เห็นใจ ไม่เป็นบ้าตามนะ ใจเย็นๆ คอยปรามคอยเตือนอย่างสุภาพไป แต่สติเราต้องไวไม่งั้นเถียงกันบานปลายเอาไม่อยู่ กลายเป็นได้เจอมวยอีกคู่ในศาล เกิดข้อพิพาทขึ้นมาซ้อนเข้าไปอีกจะแย่


อีกเรื่องที่ได้เรียนรู้คือสุขภาพของคู่พิพาท อันนี้เป็นเรื่องล่าสุดเลย เพราะผู้พิพาทบางคนมาไม่ได้มาด้วยร่างกายที่สมบูรณ์ แต่บางคนป่วยมาก่อน เช่น เป็นโรคความดัน โรคที่ต้องกินยาตามเวลา หรือถ้าเราไม่รู้ว่าเขาเป็นโรคหัวใจแล้วเกิดหัวใจวายตายขึ้นมา หรือต้องไปส่งโรงพยาบาลขณะที่กำลังไกล่เกลี่ย อันนี้ก็คงแย่แน่ๆ 

มีอยู่ 1 รายที่พอเราเห็นว่า เขาหัวร้อนและดูแล้วจะหยุดโทสะไม่อยู่ เราก็เชิญออกโดยสุภาพ เขาก็ดูเหมือนจะเข้าใจแต่พอออกจากห้องไกล่เกลี่ยไปสักพักก็เค้าเกิดเป็นลมวูบ เหมือนจะชัก ร้อนจนต้องมีคนเข้ามาช่วยปฐมพยาบาล โชคดีที่มาครั้งนั้นเธอมากับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล

ผมเข้าใจว่าเธอคงมีโรคประจำตัวอยู่เจ้าหน้าที่ถึงมาเป็นเพื่อน พอเราเชิญออกห้องไปชั่วคราวก็ได้เรื่องเลย แต่พอปฐมพยาบาลเสร็จ อาการดีขึ้น สักพัก เราก็เชิญเธอกลับเข้ามา เธอก็กล่าวขอโทษและสามารถดึงเข้าสู่โหมดของการเจรจาได้ตามปกติ จนกระทั่งการไกล่เกลี่ยวันนั้นสามารถยุติได้ด้วยดี

โดยสรุปแล้ว การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเรื่องครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปนัก สำคัญคือเราต้องเข้าใจตนเอง เข้าใจคู่พิพาท เข้าใจประเด็นเนื้อหา รวมถึงออกแบบทางเลือกเอาไว้คร่าวๆหลายๆแนวเพื่อเป็นตุ๊กตาให้เขาร่วมกันพิจารณา ใขณะเดียวกันก็ต้องเผื่อใจไว้สำหรับข้อเสนอใหม่ๆ เพราะเราเองก็ไม่ได้รู้จักผู้พิพาททั้งสองฝ่ายเท่าเขารู้จักกันเอง เราเป็นเพียงช่องทางหนึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่ง เป็นกุศโลบายหนึ่งที่จะช่วยให้เขาพ้นทุกข์จากการที่หาทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ยังไม่ได้

เมื่อเราช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เขามีสติมีเหตุผลมีวิจารณญาณ ประกอบกับใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง วาทศิลป์ รวมถึงศิลปะการสื่อสารสารพัดกระบวนท่าที่พิจดูแล้วว่าสอดคล้องกับบริบทและภูมิหลังของคู่พิพาทในการเลือกทางออกได้แล้ว เราก็ต้องวางอุเบกขานะครับ เหมือนกับว่าเราใช้หลักพรหมวิหาร 4 คือเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาเป็นคุณธรรมหลักคุณธรรมหนึ่ง ในการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาทไปพร้อมกัน

บันทึกไว้ในวาระที่ตนเองก็ไม่ใช่จะชอบความขัดแย้งกับใครสักเท่าไร แต่ก็ได้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีครอบครัวมานี่ก็น่าจะเข้าปีที่ 4 ปีที่ 5 แล้วกระมัง การไกล่เกลี่ยที่ตนเคยทำมีทั้งก่อนฟ้องและหลังฟ้อง ก็อยากจะบันทึกเอาไว้เผื่อทบทวนและเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องทำหน้าที่นี้ ไม่ว่าจะในศาลเยาวชนและครอบครัวหรือการไกล่เกลี่ยในชีวิตประจำวัน หวังว่าจะมีประโยชน์กันนะครับ

หมายเลขบันทึก: 713505เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2023 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2023 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นไปได้ไหมครับ ที่ผู้ไกล่เกลี่ยควรเป็นคณะบุคคล แบบ jury มากกว่าคิดคนเดียว ตัดสินใจคนเดียว และบางเรื่องต้องจำกัดเวลาในการให้คำไกล่เกลี่ยให้พอเหมาะด้วย ขอบคุณครับที่อาจใช้ข้อคิดเห็นนี้บ้างตามโอกาสอันควร…วิโรจน์ ครับ

เป็นไปได้ครับ แต่มันมีความยากตรงที่ถ้าเป็นคณะ หรือสองคนขึ้นไปนี่ มันมีความยากในการพูดคุยและรับฟังความเห็นพอสมควร เพราะถ้ามีหลายคน ก็ต้องสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน แล้วการไกล่เกลี่ยมันเป็นเรื่องที่ต้องใช้ศิลปะในการสื่อสาร ซึ่งแต่ละคนอาจมีลีลา ที่ต่างกัน ถ้าไม่รู้จังหวะ หรือพูดไปคนละทาง ก็อาจจะสร้างความสับสนแก่ผู้เข้าร่วม เหมือนเวทีประชุม ถ้ามี Moderator พร้อมกันหลายคนทั้งงาน คนก็จะงง ว่าไม่รู้จะฟังใครก่อนหลัง เว้นเสียแต่ แยกกันไปพูดเป็นวงย่อย แล้วมาสรุปรวมกัน อันนั้นก็ใช้ได้ครับ แต่กรณีพิพาททั่วไป อย่างคดีครอบครัว ถ้าคู่ความมีไม่เยอะ สอง สามคน ผู้ไกล่เกลี่ยคนเดียวก็ถือว่าเพียงพอ อีกอย่าง ถ้าคู่พิพาทเห็นว่าผู้ไกล่เกลี่ยมีความไม่เหมาะสมด้วยเหตุผลต่างๆ ก็มีสิทธิ์ขอเปลี่ยนตัวผู้ไกล่เกลี่ย โดยเลือกคนที่ทุกฝ่ายมั่นใจและศรัทธาได้ครับ แต่ถ้ามีผู้เกี่ยวข้องในข้อพิพาทเยอะ เช่น เป็นสิบคน อันนั้นอาจจะต้องใช้ผู้ไกล่เกลี่ยแบ่งงานทำกันเป็นทีม ความเห็นส่วนตัวนะครับ ขอบคุณสำหรับคำถามครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท