หลักการเหตุผลกับหลักการเชิงทฤษฎี ( Rationale & Principle)


 ผมว่างเว้นการเขียนบทเขียนไปเป็นเดือน หลังจากเขียนเกี่ยวกับการตั้งรัฐบาลใหม่ไปแล้ว เพราะอยากรอดูผลการคาดการณ์ ซึ่งก็ออกมาในทิศทางที่ควรจะเป็น ตามผลการเลือกตั้งประธานสภาฯ ไปเมื่อวาน ซึ่งผลดีกว่าที่คาดไว้เยอะครับ แต่งานเขียนวันนี้จะเป็นวิชาการไปก่อน เพราะวันนี้จะเป็นประธานวิพากษ์วิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์ทำเกี่ยวกับรูปแบบ 2 คน และยังพบว่ายังมีปัญหาในการเขียน ‘หลักการของรูปแบบ’ อยู่จึงขออธิบายไว้ในบทเขียนนี้เพื่อประโยชน์ของลูกศิษย์ที่จะปรับแก้งาน และผู้สนใจทั่วไปดังนี้ 

ประการแรก คำว่าหลักการของรูปแบบมีแนวการเขียน 2 แนวทาง คือ เขียนแบบหลักการเหตุผล (Rationale) กับ หลักการ (เชิงทฤษฎี: Principle) แต่ปัญหาเกิดขึ้นคือ ‘ใช้ชื่อหัวข้อเหมือนกัน’ คือ ‘หลักการของรูปแบบ’ ซึ่งก็เขียนได้ทั้งสองแบบ แต่มีจุดมุ่งหมายต่างกัน และควรใช้คำให้แตกต่างกัน จะได้แยกได้ว่าผู้เขียนรูปแบบต้องการใช้หลักการแบบไหน คือ

หลักการเหตุผล (​​Rationale) เป็นการนำเสนอหลักการเหตุผลสนับสนุนการนำเสนอรูปแบบว่า รูปแบบที่จะนำเสนอนั้นมีเหตุผลและความสำคัญอย่างไร คล้ายกับการเขียนหลักการเหตผลในการเสนอโครงการ หรืองานว่าทำไมจึงเสนอโครงการ หรืองานนั้นๆ ซึ่งโดยหลักเดียวกัน ถ้าผู้เสนอรูปแบบต้องการนำเสนอว่ารูปแบบที่จะนำเสนอนั้นเป็นมาอย่างไร และทำไมจึงมีความสำคัญและจำเป็นที่ต้องเสนอรูแบบนั้นๆ ก็เขียนแบบ  ‘หลักการเหตุผลของรูปแบบ’ เหมือนหลักการเหตุผลของโครงการครับ 

หลักการของรูปแบบ​ (Principle  หรือ ​Principles of a Model) ซึ่งผมเสนอไว้ในการเขียนรูปแบบนั้น หมายถึงหลักการเชิงทฤษฎีที่นำมาใช้เป็นฐานในการเสนอรูปแบบ ทั้งนี้ผมเห็นว่ารูปแบบที่ดีนั้นควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิด ทฤษฎี หรือหลักการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ผมเลือกใช้คำว่า ‘หลักการ’ แทนที่จะใช้ทฤษฎี (theory) เพราะจะมีข้อถกเถียงว่าแนวคิดพื้นฐานของรูปแบบนั้นเป็นทฤษฎีหรือไม่ ด้วยมีความเข้าใจในทฤษฎีระดับต่างกัน ส่วนหลักการ (Principle) นั้นเป็นศัพท์เทคนิคทางวิชาการที่หมายถึงหลักการเชิงทฤษฎีที่ไม่จำเป็นต้องเป็นทฤษฎีในศาสตร์นั้นๆ ที่ได้รับการพิสูจน์และยอมรับกันอย่างแพร่หลายแล้วก็ได้ ผลจึงเลือกใช้คำกลางๆ ว่า ‘หลักการ’ ซึ่งหมายความรวมทั้งแนวคิด หลักการ และทฤษฎีที่นำมาใช้ในการออกแบบรูปแบบนั้นๆ นั่นเอง 

หลักในการเขียนและนำใช้หลักการ (Principle) ของรูปแบบนั้นมี 2 ส่วนคือ ส่วนในการเขียนหลักการของรูปแบบ และส่วนที่นำใช้หลักการนั้นในการนำเสนอรูปแบบ 

หลักในการเขียนรูปแบบ ผู้นำเสนอรูปแบบควรระบุว่าหลักการที่จะนำมาใช้นั้นเรียกกว่าอะไร เช่น ‘หลักการมืส่วนร่วม’ และ อธิบายว่าคำว่าหลักการมีส่วนร่วมในรูปแบบที่จะนำเสนอนั้นหมายถึงอะไร และนำใช้ในรูปแบบนั้นอย่างไร เช่น หลักการมีส่วนร่วม ดังกล่าวมาข้างต้นซึ่งผู้เสนอรูปแบบนำมาใช้ในการเสนอรูปแบบการบริหารสถานศึกษาอาจจะเขียนดังนี้ 'หลักการมีส่วนร่วม หมายถึง (คือ) การที่ผู้บริหารสถานศึกษาเปิดโอกาสให้ครู นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การร่วมดำเนินงาน และการประเมินผลการดำเนินงานในสถานศึกษา โดยจะกำหนดเป็นแนวปฏิบัติต่อไป เป็นต้น 

การนำใช้หลักการของรูปแบบในการนำเสนอรูปแบบ หมายความว่าเมื่อผู้นำเสนอรูปกำหนดว่าจะนำใช้หลักการนั้นในการนำเสนอรูปแบบ หลักการดังกล่าวต้องปรากฏในองค์ประกอบของรูปแบบที่สะท้อนให้เห็นว่ามีการนำใช้หล้กการของรูปแบบดังกล่าวอย่างไร ไม่ใช่เขียนไว้เพียงแค่ให้มีหลักการของรูปแบบเท่านั้นครับ

จากแนวคิดที่นำเสนอไปข้างต้น ก็หวังว่านักพัฒนารูปแบบจะได้ตัดสินใจเลือกว่าจะใช้หลักการแบบไหนเป็นส่วนประกอบในการนำเสนอรูแแบบของตนเอง และถ้าจะนำใช้ทั้งสองแบบคือ หลักการเหตุผลของรูปแบบ และหลักการของรูปแบบ ก็ได้ ซึ่งก็จะมีทั้งส่วนที่เป็นหลักการเหตุผลที่ต้องเสนอรูปแบบนั้น และหลักการที่นำใช้เป็นฐานในการนำเสนอรูปแบบด้วยครับ 

สมาน อัศวภูมิ

5 กรกฎาคม 2566

หมายเลขบันทึก: 713409เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2023 07:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2023 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Please correct นักพัฒนารูแบบ.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท