ครูในดวงใจ : ครูประสงค์ ครูศิลปะที่สอนให้รู้จัก คิดสร้างสรรค์จากสิ่งที่ใกล้ตัว


ตอนนั้นผมอยู่ ป.5  ครูคนหนึ่งย้ายเข้ามาประจำใหม่   รูปร่างครูเป็นชายรูปร่างท้วม  ผิวสีเข้ม  ไว้หนวดเข้ม  บุคลิกแบบชายไทยปักษใต้อย่างไร  อย่างนั้น    ผมเรียกแต่ชื่อครู  จนไม่ได้สนใจว่าครูนามสกุลอะไร   เลยจำไม่ได้จริงๆครับว่านามสกุลอะไร

ครูประสงค์  เป็นครูสอนวิชาศิลปะ     คาบแรกที่พบครูประสงค์ผมยังจำได้แม่น  วันนั้น  ครูเปิดฉาก ด้วยการสอนวาดภาพเหมือน   ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ในชีวิต   ตั้งแต่เรียนมาไม่เคยพบจริงๆครับ    ครูเริ่มสอนตั้งแต่การตีเส้นสเกล   การอ่านสเกล   แล้วค่อยๆเริ่มด้วยภาพสตรีนางหนึ่ง   ผมและเพื่อนตอนนั้นรู้สึกสนุกกับเรื่องใหม่ที่ได้เรียน   จนในทีสุดเราก็ได้ลงสีน้ำภาพเหมือนเป็นการปิดท้าย

ต่อมาครูได้สั่งให้เราไปเตรียมอุปกรณ์วาดภาพที่จำเป็น   และพาพวกเราไปที่ลานวัด  ตรงข้ามโรงเรียน  ไปหยุดที่หน้าหอระฆัง  ครูเริ่มอธิบายเทคนิคการร่างภาพ  พร้อมทั้งวาดไปพร้อมกับนักเรียน  และจบด้วยการลงสีน้ำอีกเช่นเคย

นอกจากการสอนวิชาศิลปะในห้องเรียนแล้ว   ครูประสงค์มักจะมีงานศิลปะใหม่ๆให้เราได้ตะลึง  ชื่นชมกันเสมอ  

ครูเคยทำหนังสือการ์ตูนทำมือ  ล้อเลียนพวกเพื่อนๆในโรงเรียนให้เราได้อ่านขำๆแต่แฝงด้วยสาระวิชาเอาไว้ด้วย

ครูมักจะเป็นคนรับผิดชอบหลักในด้านการตกแต่งเวที  เมื่อครั้งที่มีงานกิจกรรมในโรงเรียน  พวกเราชอบไปยืนดูครูทำงาน  และครูก็มักจะหางานให้เราช่วยทำ  เช่น  ครูจะเก่งมากในการแกะลายไทยบนโฟม  เมื่อมีเศษโฟมมากๆ  ครูเห็นว่าพวกนักเรียนมายืนดูกันมาก  เลยให้แกะเม็ดโฟม  ทำดอกไม้เม็ดโฟมแบบง่ายๆ   ตอนไปยืนดูครูแกะลายไทย  ตอนนั้นผมรู้สึกชอบมาก  และคอยดูว่าครูจะตัด จะเฉือนไปทางไหน  ยืนดูจนเพลินไปเลยครับ

ครูเคยออกแบบการแสดงให้ผมและเพื่อนบนเวทีงานวันเด็ก   ครูวาดภาพหน้าคนลงบนถุงกระดาษ   แล้วเอามาสวมหัว  ใส่กระโปรงที่ทำด้วยเชือกปอฟาง  แค่นี้ก็เป็นการแสดงเต้นเรียกเสียงหัวเราะจากเพื่อนักเรียนด้วยกันเองและคุณครูได้ไม่เลวเลย

และที่ลืมไม่ได้เลย  คือ  วิชาปั้นเครื่องดินเผา     ใกล้ๆโรงเรียนประมาณ 2 กิโลเมตรเห็นจะได้  มีชุมชนชื่อบ้านมะยิง   รู้จักกันดีว่าที่นี่มีคนทำอาชีพปั้นเครื่องปั้นดินเผา   จนทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่

ครูประสงค์จะเข้าไปในชุมชนบ้านมะยิง  เข้าใจว่าไปฝึกปั้น  และเรียนรู้ว่าขั้นตอนการผลิตต้องอะไรอย่างไรบ้าง

วิชาศิลปะของครูประสงค์เลยเปลี่ยนรูปโฉมอีกครั้ง   จากวาดๆ เขียนลงบนกระดาษ  แต่คราวนี้ต้องเลอะกับดินเหนียว

ครูคงจะของบประมาณจากโรงเรียน หรือเปล่าตอนนั้นผมไม่ทราบ  แต่ที่เห็นเราได้แป้นปั้นกระถางแบบบ้านมะยิง   เพียงแต่ย่อขนาดให้เล็กลง

วิชาศิลปะจะมีตอนวันศุกร์บ่าย   ดังนั้นครูจะมอบหมายให้เราไปหาดินเหนียวมาเตรียมไว้   เราต้องไปหาดินเหนียวเกรดดีที่ทุ่งนาใกล้บ้าน  เอามาคัดเศษกรวดหินออก  และนำมานวดให้ดินเข้ากันเนื้อเดียวกัน   พอถึงชั่วโมงเรียน  ทุกคนก็จะมีดินที่นวดเรยบร้อยแล้ว   เราสวมพลาสติกกันเปื้อนที่ทำขึ้นเองง่ายๆ  จากถุงพลาสติกขนาดใหญ่   เราต้องจับคู่กับเพือน  เพราะว่าต้องสลับกัน  คนหนึ่งปั้น  คนหนึ่งหมุนแป้น

ตอนนั้นเราปั้นกระถางได้หลายรูปทรง     นอกจากนี้ครูยังพาพวกเราช่วยกันทำเตาเผาอีกด้วย    และกระถางที่เราปั้นเสร็จก็นำมาเผาที่เตานี้แหละครับ

จนกระทั่งจบ ป.6  ผมต้องไปเรียนโรงเรียนใหม่   ที่อยู่ไกลจากโรงเรียนเดิม จึงห่างหายจากวิชาศิลปะดีๆเช่นนี้ไป      ครั้งหนึ่งได้พบครูด้วยความบังเอิญในตัวจังหวัด    ครูไม่เคยหยุดนิ่งการเรียนรู้จริงๆ  คราวนี้ผมพบครูตอนที่ครูกำลังแกะสลักน้ำแข็ง  หน้างานพิธีสำคัญอะไรสักอย่างหนึ่ง  ผมได้เข้าไปคุยกับครูสั้นๆ ด้วยความเกรงใจว่าจะรบกวนสมาธิการทำงานของครู

สิ่งหนึ่งที่ประทับใจตัวครูมาก  คือ  ครูมักจะหยิบสิ่งใกล้ตัวมาให้เราได้เรียนรู้  และวิธีการเรียน  การสอนของครูเราไม่เคยผิดหวังเลย  สนุกทุครั้ง  และสนุกจนลืมอาการง่วงเหงา  หาวนอนเลยละครับ

จากเทคนิคการสอนที่ไร้กรอบเช่นนี้   อย่างน้อยที่สุด  เพื่อนผมคนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือต่อ (ยังรู้จักมักค้นกันอยู่)   ได้เทคนิคศิลปะพื้นฐานจากตรงนี้  นำไปฝึกฝนฝีมือจนเป็นคนที่เอาดีด้านศิลปะในการเลี้ยงชีพได้จนถึงทุกวันนี้

หมายเลขบันทึก: 71329เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2007 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • มาดูครูดีครับผม
  • เราทุกๆคนมีครูดีในดวงใจจริงๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท