เสียงจากคนค่าย : กู้ภัยราชพฤกษ์อาสาพัฒนาโรงเรียน (ภพธร มรกตศรีวรรณ)


ค่ายครั้งนี้ ทำให้ผมเกิดการเรียนรู้เรื่องทักษะหลายๆ ทักษะ ไม่ว่าจะเป็น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันเป็นทีม มีความสามัคคี มีน้ำใจและยืดหยุ่น ซึ่งทั้งหมดคือทักษะสำคัญของ Soft skills ที่ “ผู้นำ” ต้องมี รวมถึงการได้พัฒนาทักษะตัวเองเกี่ยวกับการถ่ายทอดความรู้และทักษะต่อผู้อื่นในเรื่องที่เป็นอัตลักษณ์ของชมรมฯ นั่นคือ เรื่อง “ปฐมพยาบาลเบื้องต้น”

ปีการศึกษา 2565  พวกเราชาวชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์ ได้จัดโครงการ “กู้ภัยราชพฤกษ์อาสาพัฒนาโรงเรียน ครั้งที่ 2” เมื่อวันที่ 22-23 เมษายน 2566 ณ โรงเรียนบ้านนาดีศรีสุข ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้กระบวนการทำงานด้านจิตอาสา และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนิสิตกับโรงเรียนและชุมชน 

 

 

กิจกรรมครั้งนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ เช่น ซ่อมบำรุงสนามเด็กเล่นและลาน BBL มอบอุปกรณ์การเรียนและอุปกรณ์กีฬา ถ่ายทอดความรู้เชิงปฏิบัติการเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว เชื่อมโยงกับนโยบายเชิงรุกด้านการพัฒนานิสิต ประจำปีการศึกษา 2565 อยู่ 2 ประเด็น คือ 

  • 1) การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม การเป็นพลเมืองที่ดีและจิตสาธารณะ เน้นการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมที่สอดคล้องกับสาขาวิชาชีพของนิสิต
  • 2) ส่งเสริมสุขภาวะนิสิต เน้นการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิต

 

 

เหตุผลที่ทางชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์ เลือกที่จะไปจัดค่ายที่โรงเรียนแห่งนี้ เพราะตอนไปสำรวจค่ายพบว่าสนามเด็กเล่นของโรงเรียนค่อนข้างจะทรุดโทรมมาก พวกเราเลยจะอยากปรับปรุงสนามเด็กเล่น เพื่อให้เด็กๆ ได้เล่นสนุกและรองรับการพัฒนาตัวเด็กๆ อีกทั้งโรงเรียนบ้านศรีสุข อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย และเป็นพื้นที่ใกล้ฟาร์มของมหาวิทยาลัย การไปจัดกิจกรรมจึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการบริการสังคมในนามมหาวิทยาลัยไปในตัว

 

 

กิจกรรมครั้งนี้พวกเราพบเจอปัญหาและอุปสรรคหลายประการ เช่นการไม่สามารถยืมเงินทดรองจ่ายไปค่ายได้ จึงต้องเลื่อนโครงการออกไป 

พอเลื่อนกิจกรรมออกมาก็ตรงกับช่วงปิดเทอมของโรงเรียนและนิสิต การที่นักเรียนและนิสิตจะเข้าร่วมกิจกรรมจึงกลายเป็นปัญหาที่พวกเราต้องแก้ไข เบื้องต้นพวกเราได้วิเคราะห์ลักษณะกิจกรรม จำนวนกิจกรรมแล้วปรับให้สมดุลกับเวลาและจำนวนนิสิต ซึ่งได้บทสรุปตรงกัน คือ ใช้นิสิตทำค่ายไม่เกิน 20 คน 

 

นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องอื่นๆ เช่น การสื่อสารของคณะทำงานที่ยังไม่เป็นระบบ ไม่มีความชัดเจน พวกเราจึงพยายามแก้ไขปัญหาร่วมกันด้วยการรับฟังกันและกัน พยายามรับฟังและลงมือทำร่วมกันอย่างใจเย็นๆ มีการตั้งกฎหรือข้อตกลงร่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิม 

รวมถึงใช้วิธีเรียกแต่ละฝ่ายเข้ามาคุยแบบส่วนตัว เพื่อทำความเข้าใจเรื่องงานและปรับจูนเรื่องต่างๆ ร่วมกัน

 

 

ในทำนองเดียวกัน ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กองกิจการนิสิต (พี่พนัส ปรีวาสนา) เพื่อแก้ปัญหา หรือท้าทายการทำงาน เช่น แม้จะเป็นช่วงปิดเรียนก็ขอให้ประสานงานกับทางโรงเรียน เพื่อชักชวนนักเรียนและชาวบ้านออกมาร่วมค่าย เน้นนักเรียนและชาวบ้านมีส่วนร่วมกับนิสิต เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของ อันเป็นแนวคิดการทำงานแบบมีส่วนร่วม

 

 

หรือแม้แต่การแนะนำให้พวกเราเพิ่มกิจกรรมอันเป็นอัตลักษณ์ขององค์กรตัวเอง มิใช่ไปค่ายเพียงเพื่อระบายสีเท่านั้น โดยพี่พนัส ได้แนะนำให้เพิ่มกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่นักเรียน ซึ่งอาจดำเนินการเอง หรือเชิญวิทยากรในท้องถิ่น ทั้งจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือจากองค์การบริหารส่วนตำบลมาให้ความรู้ก็ได้ รวมถึงการมอบเวชภัณฑ์สำคัญๆ ให้กับทางโรงเรียนและชุมชน เพราะกิจกรรมเหล่านี้คืออัตลักษณ์ของชมรมฯ

 

และพวกเราก็เห็นด้วย ได้นำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปกำหนดเป็นกิจกรรมเพิ่มเติมในค่ายของพวกเรา ซึ่งทางโรงเรียนและชุมชนต่างก็ให้การตอบสนองต่อกิจกรรมต่างๆ อย่างดี โดยเฉพาะเด็กนักเรียน น้องๆ ไม่ดื้อเลย น้องๆ ช่วยกันทำงานอย่างดีเยี่ยม ทำให้พวกผมและสมาชิกค่ายรู้สึกมีกำลังใจและประทับใจกับกิจกรรมครั้งนี้เป็นอย่างมาก

 

 

โดยส่วนตัวของผม การทำค่ายครั้งนี้ ทำให้ผมเกิดการเรียนรู้เรื่องทักษะหลายๆ ทักษะ ไม่ว่าจะเป็น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันเป็นทีม มีความสามัคคี มีน้ำใจและยืดหยุ่น ซึ่งทั้งหมดคือทักษะสำคัญของ Soft skills ที่ “ผู้นำ” ต้องมี รวมถึงการได้พัฒนาทักษะตัวเองเกี่ยวกับการถ่ายทอดความรู้และทักษะต่อผู้อื่นในเรื่องที่เป็นอัตลักษณ์ของชมรมฯ นั่นคือ เรื่อง “ปฐมพยาบาลเบื้องต้น”

 

 

ครั้งหน้าถ้ามีโอกาสได้ขับเคลื่อนอีกครั้ง พวกเรามองตรงกันว่าจะพยายามจัดกิจกรรมในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นนิสิตและชุมชนได้เข้าร่วมอย่างเต็มที่ ตลอดจนการเพิ่มเวลาการพัฒนาภูมิทัศน์ในโรงเรียนและชุมชนให้มากขึ้น และเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

 

 

หมายเหตุ

--------------------------------------------

ภพธร มรกตศรีวรรณ  ชั้นปี 2  คณะเทคโนโลยี 
สมาชิกชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์ 

ภาพ :  ชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์
สัมภาษณ์ / เรียบเรียง  : พนัส  ปรีวาสนา

 

หมายเลขบันทึก: 713237เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2023 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2023 11:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท