เรียนรู้จากการทำหน้าที่นายกสภา สบช.  38. การสื่อสารประชาสัมพันธ์ภายในองค์กร  พฤติกรรมของผู้บริหารหมายเลขหนึ่ง


 

ในการประชุมวิชาการ “สถาบันพระบรมราชชนก: มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชนกับ 21st Century Health Profession Education”    บ่ายวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๖   ระหว่างที่ผมนั่งฟังท่านรองอธิการบดี วณิชา ชื่นกองแก้ว บรรยายเรื่อง การศึกษาวิชาชีพสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑    ท่านรองอธิการบดี ปภัสสร เจียมไชยศรี มากระซิบถาม ขอคำแนะนำเรื่องการประชาสัมพันธ์ภายใน สบช. ที่ท่านได้รับมอบหมายจากท่านอธิการบดี    การสนทนาสั้นๆ นั้น ชวนให้ผมนำกลับมาใคร่ครวญต่อ    และเขียนบันทึกนี้

โดยผมขอเตือนท่านผู้อ่านว่า โปรดอ่านอย่างมีวิจารณญาณ อย่าเชื่อผมก่อนใคร่ควรญให้ดีเสียก่อน   ก่อนมองต่างมุมเสียก่อน 

ผมเรียนท่านรองฯ ปภัสสร ว่า     การสื่อสารมีหลายมิติมาก    มิติแรกคือต้องมีเป้าหมายชัดเจน ว่าต้องการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อใคร เพื่ออะไร   ต้องจับหลักลึกๆ นี้ให้ได้    แล้วหาทางสื่อสารในมิติที่ลึก คือสื่อสารด้วยพฤติกรรม   ไม่ใช่เพียงด้วยคำพูดหรือสื่อสมัยใหม่   ต้องไม่สื่อแบบปากว่าตาขยิบ   

ยกตัวอย่างเรื่องจริง ที่เทวดามาดลใจผมเมื่อเกือบสามสิบปีมาแล้ว สมัยที่ผมทำหน้าที่ ผอ. สกว. ว่า    การประชาสัมพันธ์ สกว. ต้องระมัดระวัง ไม่เน้นประชาสัมพันธ์ผู้อำนวยการ   ไม่เน้นประชาสัมพันธ์ตัว สกว. เอง    ต้องเน้นประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ประชาสัมพันธ์นักวิจัยเจ้าของผลงาน และหน่วยงานต้นสังกัดของเขา     แล้วจึงลงท้ายสั้นๆ ว่า ผลงานนั้นสนับสนุนทุนวิจัยโดย สกว. 

ตอนนั้น สกว. จ้างบริษัท ไอแอนด์ไอ นำโดยคุณเปา (ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร) ให้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์องค์กร    โดยมีเงื่อนไขส่วนหนึ่งตามที่เล่า    ท่านที่สนใจวิธีปฏิบัติตามค่านิยมด้านการประชาสัมพันธ์องค์กรที่แหวกแนวนี้ ไปสอบถามรายละเอียดวิธีปฏิบัติ  และผลกระทบที่เกิดขึ้น  ได้จากคุณเปา ที่เวลานี้เป็นผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล   

ดังนั้น คำตอบตรงๆ ต่อท่านรองฯ ปภัสสร คือ   ประชาสัมพันธ์ให้ถูกจุด   อย่าหลงประชาสัมพันธ์ผิดจุด     ระวังอย่าให้กิเลสทั้งหลายเข้าครอบครองใจ หลงใช้การประชาสัมพันธ์ที่ผิดเป้า   ซึ่งเป้าที่ผิดจังๆ คือหลงประชาสัมพันธ์เบอร์หนึ่งขององค์กร   

ค่านิยม (values) ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์  เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์     

การที่เทวดามาช่วยให้ผมก้าวพ้นมายาคติเรื่องเป้าหมาย (ค่านิยม) ของการประชาสัมพันธ์ สกว. นี้    ช่วยให้ผมได้รับความสำเร็จในชีวิตสูงมากจากการทำหน้าที่ ผอ. สกว.   ส่งผลดีต่อชีวิตของผมมาจนบัดนี้    และน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผมได้มาทรมานตนเพื่อรับใช้สังคมด้วยการทำหน้าที่นายกสภาสถาบัน สบช. อยู่ในขณะนี้    แต่ท่านผู้บริหาร สบช. จะเปิดใจให้เทวดามาช่วยหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับตัวท่านเอง   เพราะท่านเป็นผู้มีสติปัญญาสูงส่งอย่างหาคนเทียมได้ยาก 

ผมเรียนท่านรองฯ ปภัสสร ว่า   การสื่อสารประชาสัมพันธ์มีทั้งแบบที่เป็นทางการ สื่อสารด้วย media ต่างๆ ที่เวลานี้มีมากมายหลากหลายช่องทาง   กับแบบที่ไม่เป็นทางการ ไม่ชัดเจนว่าจงใจสื่อสาร แต่ผู้รับสารกลับรับได้เต็มที่    คือ พฤติกรรมของผู้บริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เบอร์หนึ่งขององค์กร   

พฤติกรรมเป็นการสื่อสารค่านิยม (values) ได้ดีกว่ารูปแบบการสื่อสารใดๆ    วิญญูชนรับรู้การสื่อสารนั้นได้กระจ่างชัด    โดยไม่ต้องพูดหรือใช้ media     และในสังคมที่เน้นความสัมพันธ์แนวดิ่งอย่างสังคมไทย    การสื่อสารนี้ส่งผลชัดเจนมาก    ดังเห็นชัดที่นิทรรศการผลงาน ที่ทุกวิทยาลัยนำมาเสนอในวันนั้น (ดูรูป)   ที่สำหรับผม สะท้อนค่านิยมที่ผู้บริหารหมายเลขหนึ่งสื่อสารต่อสมาชิกขององค์กร    และวิทยาลัยต่างๆ รับสารไปปฏิบัติ ชัดเจนมาก

คำถามคือ การสื่อสารและรับสารในมิติซ่อนเร้นนี้   ก่อผลดีหรือผลเสียต่อ สบช. ในฐานะที่ต้อง transform สู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษา    ที่คณาจารย์ต้องมีอิสระทางความคิด    เพื่อจะได้ใช้พลังความสร้างสรรค์ของตน ในการทำงานวิชาการให้แก่บ้านเมือง 

โดยต้องไม่ลืมว่า การสื่อสารแต่ละครั้งนั้น มีมิติที่ซับซ้อน มีทั้งคุณและโทษอยู่ในที่เดียวกัน   และตีความได้ต่างกัน    แล้วแต่มุมมอง หรือกระบวนทัศน์ ของผู้รับสาร   แล้วแต่ว่า ผู้รับสารรับรู้สาระในมิติใด   มีสติระลึกรู้ด้านลบด้านบวกอย่างไร        

คำถามที่สอง    การสื่อสารและรับสาร นำสู่พฤติกรรมการจัดนิทรรศการนี้   ทำเพื่อใคร เพื่ออะไร ที่เป็นเป้าหมายแบบซ่อนเร้น

ประชาคม สบช. ต้องร่วมกันตีโจทย์ของท่านรองฯ ปภัสสร ให้แตก  จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง   และนำมาหารือกัน ว่าจะเดินในแนวทางไหน เพื่ออะไร เพื่อใคร 

บันทึกนี้ เขียนจากสภาพจิตที่อยู่ในห้วงความคิดแบบฟุ้ง เพื่อค้นหาความสร้างสรรค์ หาแนวทางใหม่ๆ    จึงมีธรรมชาติที่มีโอกาสผิดมากกว่าถูก   

ผมกราบขออภัย หากมีข้อความที่ระคายเคืองความรู้สึกของท่านผู้ใด    ผมไม่มีเจตนาลบหลู่     เจตนามีอย่างเดียวคือ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของ สบช.   เพื่อ สบช. ทำหน้าที่รับใช้ประเทศไทย (และโลก) ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านสุขภาพชุมชน สุขภาพปฐมภูมิ    ได้อย่างแท้จริง     

สำหรับผม    พฤติกรรมการสื่อสาร และสาระที่สื่อออกมา    รวมทั้งพฤติกรรมของการรับสาร และสื่อตอบสนอง    บอกมายาคติที่ซ่อนอยู่ และบอกตัวตนของบุคคล  และขององค์กร      

สภาพเช่นนี้ภายใน สบช. ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นสถาบันอุดมศึกษา    ยังอยู่ในวัฒนธรรมราชการ  ในลักษณะ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย”   

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ม.ค. ๖๖                      

 

 

 

   ตัวอย่างนิทรรศการของวิทยาลัยหนึ่ง  นิทรรศการทั้งหมดสื่อเรื่องเดียว

 

 

หมายเลขบันทึก: 713139เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2023 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2023 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณอาจารย์ที่พยายามสื่อสาร เป็นเนื้อหาที่แทนใจคนอีกจำนวนมากที่ไม่มีโอกาส หรือไม่กล้าที่จะเตือน หวังว่าเนื้อหานี้จะได้เตือนสติผู้ที่ควรถูกเตือนได้บ้างนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท