ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : อีกจุดคานงัดในการพัฒนาระบบสุขภาวะสังคมสูงวัย


แน่นอนว่าการใช้ไอที เทคโนโลยีต่างๆไม่ว่าจะเป็น line , facebook , tele medicine หรือสมุดบันทึกสุขภาพดิจิตอล CHAT GPT และอื่นๆอีกมากมาย ที่จะทยอยตามมา หากแต่ว่าเนื้อหาและกระบวนการสำคัญอันเป็นรากฐานและรากเหง้าของสุขภาวะในระดับปฐมภูมิของเราก็คือ ความรู้ความเข้าใจ การเห็นคุณค่าและความหมายอย่างลึกซึ้งถึง “สายธารแห่งประวัติศาสตร์ชุมชน”

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นอีกเรื่องที่จะเป็นจุดคานงัดในการพัฒนาระบบสุขภาวะสังคมสูงวัย

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (Local History) เป็นอีกประเด็นที่ผมนำเสนอสั้นๆในเวทีสรุปโครงการขับเคลื่อนระบบและกลไกสนับสนุนสังคมผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดีในเขตสุขภาพที่ 1 หรือที่เราเรียกสั้นๆว่า โครงการ active aging ในเฟสที่ 2 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

การฟื้นฟูประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นอีกเรื่องที่ขาดหายไปในการพัฒนาชุมชนร่วมสมัย

แน่นอนว่าการใช้ไอที เทคโนโลยีต่างๆไม่ว่าจะเป็น line , facebook  , tele medicine หรือสมุดบันทึกสุขภาพดิจิตอล CHAT GPT และอื่นๆอีกมากมาย ที่จะทยอยตามมา หากแต่ว่าเนื้อหาและกระบวนการสำคัญอันเป็นรากฐานและรากเหง้าของสุขภาวะในระดับปฐมภูมิของเราก็คือ ความรู้ความเข้าใจ การเห็นคุณค่าและความหมายอย่างลึกซึ้งถึง “สายธารแห่งประวัติศาสตร์ชุมชน”

ประวัติศาสตร์ชุมชน หรืออาจจะเรียกว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไม่ใช่เรื่องของข้อมูลโดดๆ ว่าใครทำอะไรในช่วงเวลาต่างๆมาบ้าง การรู้ว่าหมู่บ้านนี้ตั้งมาอย่างไร ใครเป็นผู้นำคนแรกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันพัฒนาการของความเป็นชุมชนมาได้อย่างไร การเกิดโรคภัยไข้เจ็บ การรักษาพยาบาลในอดีตถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมาชุมชนเขาใช้กระบวนการ ใช้ตัวยาทั้งยาพื้นบ้านยาสมัยใหม่ หมอพื้นบ้านหมอชาติพันธุ์ หมอร่วมสมัย กันอย่างไรเท่านั้น

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไม่ใช่ประวัติศาสตร์ท่องจำ หากประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไม่เพียงแต่ได้ความรู้และสร้างความรู้ที่ติดดิน แต่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นยังเป็นกระบวนการเสริมสร้างและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน,คนกับธรรมชาติ , และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติซึ่งเรียงร้อยรัดเชื่อมโยง “ความเป็นชุมชน” อย่างเป็นองค์รวม

หัวใจของประวัติศาสตร์ชุมชนคือมองเป็นกระบวนการที่มีความสัมพันธ์เป็นศูนย์กลาง
เป็นสายธารที่เต็มด้วยสายสัมพันธ์

ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน ซึ่งหลายต่อหลายคน อาจจะบ่นว่าเดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยรู้จักกัน คนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้จักคนรุ่นเก่า คนรุ่นเก่าเองก็มีช่องว่างทางความคิดความรู้สึกและประสบการณ์กับคนรุ่นใหม่มากมาย และนับวันมากยิ่งขึ้นในยุคสังคมดิจิตอล จนบางครั้งนำไปสู่การบูลลี่กันและกันโดยที่ไม่รู้ตัว นั่นก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและเสียดาย

กระบวนการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จึงเป็นกระบวนการที่มีความหมายที่เด็ก เยาวชนจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ในเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกนึกคิด ความทรงจำต่างๆ ที่ฉายโชนออกมาจากแววตา น้ำเสียงและคำบอกเล่าของผู้สูงอายุที่เขารู้จัก ว่ามีสิ่งที่เขาไม่รู้จักและน่าทึ่งอีกมหาศาล

ขณะเดียวกันก็เป็นกระบวนการโน้มใจ ที่ทำให้คนแก่คนเฒ่าผู้หลักผู้ใหญ่ได้ใช้ความเมตตาส่องประกายผ่านเข้ามายังจิตใจแก่คนรุ่นลูกรุ่นหลาน ผ่านพลังแห่ง “สุนทรียสนทนา” การจิบน้ำชา ทานของว่าง จับเข่านั่งคุยกัน บางทีก็ใต้ถุนบ้าน บางครั้งก็รอบกองไฟ 

กระบวนการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เคยเป็นหนึ่งในประเด็นที่สังคม และแวดวงวิชาการในการพัฒนาชุมชนให้ความสนใจมาก เมื่อหลายสิบปีก่อนผมเองก็เป็นส่วนหนึ่งในทีมมดงานของการประสานชุดโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งหนุนเสริมโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สกว.ในสมัยนั้น

ไม่เพียงแต่ได้ข้อมูลความรู้ ที่เราเองก็มองข้ามไป แต่เรายังได้สัมผัสถึงความรู้สึกอันประณีตและลึกซึ้งระหว่างผู้เฒ่าผู้แก่กับลูกหลาน ในแบบที่สังคม AI , Digitalization ไม่มีทางเลียนแบบได้เสมอเหมือน

และในเรื่องของความรู้ ความผูกพันระหว่างคน โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าคนรุ่นใหม่จะได้งอกงามขึ้นมาแล้วภายในกระบวนการเหล่านี้ ความรู้และความเชื่อมโยงระหว่างคนกับธรรมชาติ ระบบนิเวศต้นไม้หลากพันธุ์ สิงสาราสัตว์ต่างๆ รวมไปถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิ่งเหนือธรรมชาติที่ชุมชนเคารพนับถือก็ปรากฏ ค่อยๆเฉิดฉายงามงดอย่างเป็นธรรมชาติ

เด็กเยาวชนเองก็รู้สึกมีคุณค่าจากภายใน ในขณะที่ผู้สูงวัยก็ได้สัมผัสถึงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ที่นับวันผู้สูงอายุจะถูกด้อยค่าได้ราคาในพายุแห่งวัตถุนิยม

ขอบคุณ รองศาสตราจารย์วิลาวัลย์ เสนารัตน์ ,  ดร. เดชา ทำดี ตลอดจนคณะทีมงานจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่อำนวยความสะดวกเบื้องหลัง ที่ช่วยตอกย้ำความสำคัญของการใช้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในงานเวทีพัฒนาสุขภาวะสังคมสูงวัย ภายใต้โครงการขับเคลื่อนระบบและกลไกสนับสนุนสังคมผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดีในเขตสุขภาพที่ 1 ที่ผ่านมา 

ผมคิดว่าในเรื่องนี้มีรายละเอียดและกระบวนการที่เราต้องทบทวน ต่อยอดและพูดคุยกันอีกมาก 

หากถ้ามีการทบทวน ประมวล ถอดรหัส- สกัด -เจียระไน การเรียนรู้ที่เคยขับเคลื่อนงานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ผ่านมาอย่างนี้ อย่างที่ผมฉุกคิดและเขียนสรุปย่อๆออกมาเป็นแนวทางเอาไว้เบื้องต้นเช่นนี้บ้างแล้ว ก็พอจะเห็นแนวโน้มของการพัฒนาและเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงอายุซึ่งครอบคลุมหลักคิดสังคมสูงวัย ไปในทิศทาง ที่ไม่เพียงแต่สอดคล้องกับบริบทชุมชน หากยังเกิดดอกออกผลที่ดีงามตามมาอีกมากมาย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท