เสียงจากคนค่าย : ฮักถิ่นอีสาน สานสัมพันธ์นิสิตกับชุมชน (จารุวัฒน์ ศรีโคตร)


บางกิจกรรมสื่อสารกันไม่ชัดเจน ทำให้สมาชิกค่ายเกิดความสับสน แต่ก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าช่วยกัน มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและเวลาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง สิ่งนี้ทำให้พวกเราเกิดการเรียนรู้และเข้าใจเรื่องทักษะการบริหารโครงการ ทักษะการยืดหยุ่น ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกันอย่างเป็นทีม

กุมภาพันธ์ 2566 เดือนแห่งความรัก ผมและทีมงานชมรมรักษ์อีสาน ได้จัดกิจกรรมบอกรักมหาวิทยาลัยและชุมชน ภายใต้ชื่อโครงการ “ฮักถิ่นอีสาน สานสัมพันธ์นิสิตกับชุมชน” ขึ้นในวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงเรียนบ้านห้วยม่วง บ้านห้วยม่วง ตำบลแห่ใต้ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัด “กิจกรรมบริการสังคม” หรือ “ค่ายอาสาพัฒนา” ในลักษณะ “เรียนรู้คู่บริการ” 

 

 

ตอนที่ลงสำรวจพื้นที่ล่วงหน้า สิ่งที่พบเจอในโรงเรียนและชุมชนก็คือสภาพความทรุดโทรมของสีกำแพงโรงเรียนและบริเวณด้านข้างหอประชุม รวมถึงสนาม BBL ก็มีสภาพไม่ต่างกัน เพราะสีได้หลุดลอกออกตามกาลเวลา และที่สำคัญคือเราได้รับรู้ต้นทุนที่น่าสนใจของชุมชน นั่นคือผลิตภัณฑ์การทำปลาส้มที่ถูกยกระดับเป็นสินค้า OTOP ของชุมชน อันเป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหารที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง 

 

 

ในทางกระบวนการคัดเลือกกิจกรรม ทางชมรมรักษ์อีสานเน้นแนวคิดการ “พัฒนาโจทย์แบบมีส่วนร่วม” ระหว่างนิสิต อาจารย์และชุมชน 

ซึ่งที่ประชุมมีมติร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้วยการบูรณะซ่อมแซมและปรับปรุงภูมิทัศน์และสถานที่ที่ทรุดโทรมภายในโรงเรียน เพื่อให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนและอื่นๆ 

รวมถึงการแจ้งความประสงค์ว่านิสิตอยากลงพื้นที่ศึกษาวิถีวัฒนธรรมชุมชน ผ่านกิจกรรมสำคัญๆ ในชุมชน เป็นต้นว่า การทำปลาส้ม การเพาะเห็ดตับเต่า OTOP ต่างๆ 

 

 

เหตุที่พวกเราต้องเน้นย้ำเรื่องการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชน เพราะนั่นคืออัตลักษณ์ของชมรมรักษ์อีสานในแบบการเรียนรู้คู่บริการที่ไม่ได้มุ่งแต่เฉพาะจัดกิจกรรมบริการสังคมอย่างเดียว  แต่ต้องผสมผสานกับการเรียนรู้บริบทของชุมชนควบคู่กันไป 

ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ของชมรมก็มาจากสาขาการพัฒนาชุมชน กระบวนการดังกล่าวจึงสอดรับกับการบูรณาการความรู้และทักษะทางวิชาชีพมาใช้กับกิจกรรมนอกหลักสูตรไปในตัว 

และนั่นจึงเป็นที่มาที่ไปของชื่อโครงการที่ว่า “ฮักถิ่นอีสาน สานสัมพันธ์นิสิตกับชุมชน"

 

 

กิจกรรมภาคเช้าในวันแรก พอเดินทางไปถึงโรงเรียน ชาวค่ายต่างแยกย้ายทำธุระส่วนตัวและเก็บสัมภาระเข้าที่พัก จากนั้นกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน อาทิเช่น การละลายพฤติกรรม การบรรยายให้ความรู้เรื่องประวัติการจัดตั้งชมรมฯ เป็นการบรรยายประกอบภาพถ่ายต่างๆ เพื่อให้ชาวค่ายเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาการทำงานของชมรม รวมถึงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำกิจกรรมร่วมกัน

 

 

ภาคบ่าย แบ่งกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เป็นต้นว่ากิจกรรมลาน BBL ทาสีเสาธง ทาสีกำแพงข้างหอประชุม ทาสีฐานพระพุทธรูป  ทาสีอ่างน้ำที่แปรงฟันของนักเรียน กิจกรรมเหล่านี้มีชุมชนโดยเฉพาะพ่อนักการภารโรง คอยให้คำแนะนำเทคนิคการใช้สี-ทาสีอย่างใกล้ชิด กระบวนการนี้ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องหลักการมีส่วนร่วมกับชุมชน รวมถึงหลักการเรียนรู้จากผู้รู้ที่อยู่นอกห้องเรียน โดยไม่แยกชั้นวรรณะ

 

ส่วนกิจกรรมวันที่สอง นิสิตชาวค่ายได้เข้าไปเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นว่าด้วยเรื่องการทำ “ปลาส้ม” ของชุมชนที่สืบทอดจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันและยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของชุมชนตำบลแห่ใต้ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มสตรีในชุมชน

ซึ่งชาวค่ายได้เรียนรู้แบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิตปลาส้ม การตลาด การกระจายรายได้สู่ชุมชนและการบริหารองค์กรบนต้นทุนของชุมชน

 

 

จะว่าไปแล้ว กิจกรรมดังกล่าวนี้เป็นเสมือนการศึกษาดูงานก็ว่าได้ ชาวค่ายได้สัมผัสวิถีวัฒนธรรมในชุมชนอย่างแท้จริง ได้เห็นบริบทชุมชนที่อยู่ติดกับแม่น้ำชี ได้เห็นถึงวิถีปากท้องที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดนานาชนิด เช่น ปลาตะเพียน ปลาดุกบิ๊กอุย ปลาขาว ปลาสร้อย รวมถึงการเพาะลูกปลาชนิดต่างๆ เพื่อจำหน่าย โดยสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับคนในชุมชน

 

 

กรณีประเด็นปัญหาอุปสรรคนั้น พอเริ่มทำงานค่าย เป็นธรรมดาที่พวกเราจะประสบกับปัญหาอุปสรรค โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารเวลา และบริหารกิจกรรม เพราะเราขาดผู้ที่จะทำหน้าที่กำกับสิ่งเหล่านี้โดยตรง ส่งผลให้เวลาไม่เป็นไปตามกำหนดการ 

บางกิจกรรมสื่อสารกันไม่ชัดเจน ทำให้สมาชิกค่ายเกิดความสับสน แต่ก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าช่วยกัน มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและเวลาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง สิ่งนี้ทำให้พวกเราเกิดการเรียนรู้และเข้าใจเรื่องทักษะการบริหารโครงการ ทักษะการยืดหยุ่น ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกันอย่างเป็นทีม

 

 

ในภาพรวมการทำค่ายครั้งนี้ พวกเรายอมรับว่าผ่านพ้นไปได้ด้วยดี กิจกรรมบรรลุเป้าหมาย นิสิตที่เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้และตระหนักถึงการเป็นผู้มีจิตอาสาเพื่อสังคมและได้เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่เป็นการทำปลาส้มอันเป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหารของชาวบ้านที่มีการสืบมามาจากบรรพบุรุษ ขณะที่โรงเรียนก็มีภูมิทัศน์ที่ดีขึ้นเอื้อต่อการเรียนรู้และเหมาะต่อการจัดกิจกรรมของโรงเรียนและชุมชนมากกว่าที่ผ่านมา ส่วนนิสิตนิสิตก็ได้เรียนรู้หลักการ “เข้าหา” หรือ “เข้าถึง” ชาวบ้าน ทั้งในมุมของการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมและการทำงานร่วมกับชาวบ้าน 

 

 

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าในฐานะที่สมาชิกชมรมรักษ์อีสาน ส่วนใหญ่มาจากสาขาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กิจกรรมครั้งนี้ นิสิตจึงนำความรู้ในวิชาชีพมาปรับใช้กับค่ายค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน เน้นการเข้าไปพัฒนาสิ่งที่ดีอยู่แล้วและต่อเติมสิ่งที่เป็นจุดอ่อนบนความต้องการของชุมชน มิใช่การคิดแทนชุมชนว่าต้องการอะไร ซึ่งค่ายๆ นี้พวกเราก็ยึดแนวทางการทำงานเช่นนั้นจริงๆ เป็นแนวทางที่เรียกกันว่า “กระบวนการศึกษาชุมชน” ที่ต้องมีทั้งใจ (จิตอาสา) และความรู้ที่จะศึกษาและพัฒนาชุมชนนั่นเอง 

           

 

---------------------------------------------------------

หมายเหตุ  

ภาพ/ต้นเรื่อง  : จารุวัฒน์  ศรีโคตร  สาขาการพัฒนาชุมชน ชั้นปีที่ 2  ประธานชมรมรักษ์อีสาน ปีการศึกษา 2565
สัมภาษณ์/เรียบเรียง : พนัส ปรีวาสนา

 

 

หมายเลขบันทึก: 712786เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2023 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2023 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท