ไม่รู้ไม่ได้แปลว่าโง่ (Not knowing doesn't equal to foolish)


ถ้าคุณเคยเป็นวิทยากร หรือเป็นครู คุณจะพบว่าเวลาให้ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา หรือให้ผู้เรียนถามคำถาม หรือร่วมแสดงความคิดเห็น ทุกอย่าง ‘เงียบ’ 

ผมก็เคยเป็นแบบนั้นเช่นกัน เพราะวัฒนธรรมการเรียนการสอนและสังคมไทยเป็นสังคมปิด (shut-up society) และอาวุโสนิยม ( ageism society) เราถูกสอนให้เชื่อผู้ใหญ่ เพราะเคยอาบน้ำร้อนมาก่อนเด็ก หรือเดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัดเป็นต้น 

และบรรยากาศในห้องเรียนก็คือ ให้ฟังครูเป็นหลัก ใครถามจะถูกมองว่าเป็นคนโง่ หรือไม่ก็ตัวแสบ ชอบกวนความสงบสุขของห้อง การจัดการศึกษาในบ้านเมืองเราจึงเป็นการจัดการศึกษาแบบครูรู้ดี และเป็นสังคมแบบผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจรู้ดี ทั้งๆ ที่จริงแล้วอาจจะไม่รู้อะไร หรือรู้แบบผิดๆ ถูกๆ ก็ได้ แต่เราก็อยู่กันได้ในระบบการศึกษา และสังคมแบบนี้ครับ 

บางครั้งที่ผมเป็นวิทยากร และผมไม่รู้ว่าจะเปิดไมค์โครโฟนอย่างไร และขอให้ใครสักคนมาช่วยเปิด ก็จะถูกสงสัยว่า ‘นี่เหรอวิทยากรที่จะอบรมพวกเขาวันนี้’ 

ผมเชื่อว่าคุณก็เคยเจอแบบนี้ หรือเคยตัดสินคนอื่น แบบนี้ 

แต่จริงๆ แล้ว ‘ไม่รู้ ไม่ได้แปลว่าโง่ เพราะไม่รู้ก็คือไม่รู้เท่านั้น’ ถ้าจำป็นต้องรู้สิ่งนั้น ก็หาความรู้เรื่องนั้นเสีย การเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้น ส่วนคำว่า ‘โง่ หมายถึง รู้แล้วแต่ไม่นำใช้สิ่งที่รู้ให้เกิดประโยชน์’ เช่น ถ้าคุณรู้แล้วว่าการกินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดที่ไม่ปรุงสุกจะเป็นใบไม้ตับ (เดิมเรียกว่าใบไม้ในตับ) แล้วยังไม่เลิกกิน แล้วก็ป่วยเป็นใบไม้ตับตาย เป็นต้น นั่นคือ ‘โง่' 

อีกอย่าง ‘การที่เคยรู้แล้วจำไม่ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าโง่เหมือนกันครับ’ เช่น คุณเคยจำชื่อนักเรียนได้ แต่หลายปีต่อมาคุณได้พบนักเรียนคนนั้นอีก แต่จำชื่อเขาไม่ได้ นั่นก็ไม่ได้แปลว่าคุณโง่นะ เพียงแต่จำไม่ได้ครับ 

ผมพูดเรื่องนี้เพราะถ้าเราเชื่อว่า  ‘ความไม่รู้ เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้’ เราต้องแยกความแตกต่างระหว่างความไม่รู้กับความโง่ออกจากกันให้ได้ก่อน เพราะถ้าเรานิยามว่า  ‘ไม่รู้ แปลว่าโง่แล้ว ทุกคนก็เป็นคนโง่ ต่างกันที่ใครโง่มาก หรือโง่น้อย ตามปริมาณความรู้และไม่รู้’  และคำว่าโงถูกนำใช้เป็นตัวบ่งชี้ในเชิงลบ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่พึงปราถนาของคนเรา 

แต่ถ้าเข้าใจตรงกันว่า ‘ไม่รู้ ไม่ได้แปลว่าโง่’ แล้วคนเราก็น่าจะสะดวกใจและพร้อมที่จะยอมเราว่าตนเองไม่รู้ และความไม่รู้ก็จะปกติวิสัยของสังคม ซึ่งก็จะทำให้เกิดสังคมแห่งกันเรียนรู้ได้ไม่ยาก 

ประเด็นที่ต้องคิดกันต่อไปก็คือ  ‘แล้วคนเราต้องรู้อะไรจึงจะเป็นประโยชน์ และสิ่งนั้นเรารู้หรือยัง ถ้ายังไม่รู้สิ่งนั้น แล้วเราจะเรียนรู้ได้อย่างไร จะเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือด้วยกระบวนการจัดการศึกษา ซึ่งถ้าจะเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางการศึกษาแล้ว การจัดการศึกษาจะอำนวยความสะดวกการเรียนรู้ของบุคคลในเรื่องนั้นได้อย่างไร’ นั่นเองครับ 

สมาน อัศวภูมิ

30 เมษายน 2566

หมายเลขบันทึก: 712588เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2023 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2023 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท