ห้องสมุดเรือนจำที่กำลังจะเปลี่ยนไป


ห้องสมุดเรือนจำที่กำลังจะเปลี่ยนไป

นัทธี จิตสว่าง

 

ห้องสมุดในปัจจุบัน  ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบและบทบาทไปจากในอดีตมาก ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร ทำให้รูปแบบและบทบาทห้องสมุดในปัจจุบันในที่ต่างๆในโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดประชาชนหรือห้องสมุดชุมชนหรือห้องสมุดของมหาวิทยาลัยต่างๆ จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ห้องสมุดชุมชนในสหรัฐฯ บางแห่งไม่มีหนังสือแม้แต่เล่มเดียว เพราะได้เปลี่ยนเป็นห้องสมุดดิจิทัลหมด ในขณะที่ในอดีตมหาวิทยาลัยต่างๆ จากจัดความโด่งดังและวัดชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยจากจำนวนหนังสือในห้องสมุดและบริการห้องสมุดพอๆกับรายชื่อของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐฯ ยุโรป และออสเตรเลีย ได้ให้ความสำคัญกับห้องสมุดน้อยลง ในขณะที่รูปแบบการบริการในห้องสมุดก็เปลี่ยนไป รวมตลอดถึงการดีไซน์ห้องสมุดก็เปลี่ยนสภาพจากห้องสมุดทึบๆ ไปสู่ห้องที่มีความสดใสสวยงาม ล้ำสมัย และเปิดโล่ง สำหรับกิจกรรมหลากหลาย มีร้านกาแฟ มีห้องสื่อประเภทต่างๆ และมีลักษณะเป็น CO-WORKING SPACE เข้ามาผสมผสาน

กลับมาดูห้องสมุดในเรือนจำ ห้องสมุดในเรือนจำของหลายประเทศโดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากเช่นกัน สำหรับประเทศไทย ยังต้องมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงหลายประการ

 

ในประการแรก การเข้าถึงหนังสือและห้องสมุดของผู้ต้องขังในเรือนจำของไทยทำได้อย่างจำกัดและไม่ทั่วถึง รวมทั้งไม่มีสิ่งดึงดูดให้เข้าใช้บริการ ทำให้ผู้ต้องขังเข้าใช้บริการเป็นสัดส่วนที่ต่ำ ผู้ต้องขังจะเข้าถึงห้องสมุดได้ยาก เพราะการจะออกจากแดนของตนเองข้ามไปยังแดนที่มีห้องสมุดเป็นเรื่องลำบาก อาจถูกจำกัดเวลาหรือแบ่งโควต้า เช่น สัปดาห์ละ 1 วัน หมุนเวียนกันไปหรือผู้ต้องขังในบางแดนอาจไม่มีโอกาสเข้าใช้ห้องสมุดเลย ในขณะที่ผู้ต้องขังเองก็มีภารกิจที่ต้องทำในแต่ละวันจนแทบไม่มีเวลาว่างจะมาใช้ห้องสมุด ปัญหาจึงมีอยู่ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ความรู้หรือหนังสือไปถึงผู้ต้องขังได้ แทนที่จะทำให้ผู้ต้องขังเข้ามาหาหนังสือหรือความรู้ ซึ่งหลายเรือนจำได้มีการแก้ปัญหานี้ โดยการทำห้องสมุดเคลื่อนที่ หรือห้องสมุดย่อยประจำแดน แต่การเข้าถึงหนังสือก็คงยังจำกัดอยู่เช่นเดิมและไม่ดึงดูดหรือส่งเสริมให้เข้าใช้บริการ ดังนั้น เมื่อผู้ต้องขังมาเข้าหาหนังสือในห้องสมุดไม่ได้ ก็ควรจัดหนังสือไปให้ผู้ต้องขังได้อ่านตามแดน โดยทำเป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ไปในแดนต่าง ๆ โดยมีการสับเปลี่ยนหนังสือไปตามความต้องการของผู้อ่าน และยิ่งเมื่อห้องสมุดยุคใหม่ไม่ได้มีแต่สื่อที่เป็นหนังสืออย่างเดียว ดังนั้นสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ก็ควรจะมีอยู่ในทุกที่ต่าง ๆ ที่เรือนจำในการสร้างแรงบันดาลใจในการกลับสู่สังคมของผู้ต้องขัง หรือคลับให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ ในสถานพยาบาลของเรือนจำระหว่างที่ผู้ต้องขังคอยเข้ารับการบริการตรวจรักษา

ประการที่สอง ห้องสมุดของเรือนจำยังเป็นห้องสมุดยุคเก่าที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดยุคใหม่ โดยห้องสมุดของเรือนจำจะออกแบบมาให้เป็นที่เก็บหนังสือเป็นห้องทึบๆ ที่มีหนังสือเก่าๆไซส์สันปก อัดแน่นอยู่เต็มตู้ ผู้ใช้ห้องสมุดเห็นได้แต่สันปกแต่ไม่เห็นปก ไม่ชวนให้อ่านไม่ชวนติดตาม ต้องเปิดบัตรค้นหรือหยิบหนังสือมาดูหน้าปกทีละเล่ม บรรยากาศก็เป็นแบบเงียบขรึม ห้ามคุย ห้ามส่งเสียงดัง ห้ามทานอาหาร เครื่องดื่ม โดยมีบรรณารักษ์ดุๆ คอยเฝ้าระวังพฤติกรรมผู้ใช้ห้องสมุดและระวังหนังสือจะฉีก ขาด สูญหาย นับเป็นห้องสมุดที่ไม่มีชีวิตชีวาและไม่เสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้ต้องขัง

การออกแบบห้องสมุดของเรือนจำ เป็นแบบที่ออกมาเพื่อให้ห้องสมุดเป็นที่เก็บหนังสือและเป็นที่อ่านหนังสือของผู้ต้องขัง ห้องสมุดจึงเต็มไปด้วยตู้เก็บหนังสือและโต๊ะหรือที่นั่งอ่านหนังสือ แต่ห้องสมุดของเรือนจำในอนาคตจะต้องปรับให้เข้ากับภารกิจและบทบาทห้องสมุดที่ปรับเปลี่ยนไป ตู้ใส่หนังสือจะเปลี่ยนเป็นชั้นวางหนังสือที่จัดวางหนังสือไซร์หน้าปกให้เห็น สร้างการดึงดูดให้ชวนอ่าน จำนวนหนังสือจะน้อยลง เพราะจะเป็นห้องสมุดเฉพาะทางที่เป็นเฉพาะหนังสือที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องขังโดยเฉพาะในการกลับสู่สังคม ขณะเดียวกันก็จะมีพื้นที่ในการเข้าถึง สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น มีที่ว่างกว้างพอที่จะปรับเปลี่ยนที่สัมมนาจัดกิจกรรม และดูวีดิทัศน์จอขนาดใหญ่ โต๊ะที่นั่งจัดแบบไม่เป็นทางการ เพื่อขยับขยายปรับพื้นที่ใช้งานตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ห้องสมุดจะมีการตกแต่งมีสีสันสวยงาม มีโปสเตอร์คำคมในการสร้างแรงบันดาลใจเพื่อใช้ประโยชน์ ในการจัดโปรแกรมตัวอย่างของห้องสมุดเรือนจำดังกล่าวอาจดูได้จากห้องสมุดของเรือนจำพิเศษธนบุรีในอดีต หรือห้องสมุดของเรือนจำจังหวัดอุทัยธานีในช่วงที่สร้างเสร็จใหม่ๆ และชั้นวางหนังสือแบบของแดนหญิงเรือนจำกลางนครสวรรค์ เป็นต้น

ห้องสมุดของเรือนจำในยุคใหม่ จึงเป็นห้องสมุดเฉพาะทางที่เสริมสร้างการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการกลับสู่สังคมของผู้ต้องขังด้วยการทำให้ห้องสมุดเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่แท้จริงที่มีบรรยากาศสีสันที่ชวนให้ใช้บริการมีสื่อการเรียนรู้หลากชนิด ในขณะที่จำนวนหนังสือและประเภทของหนังสือจะน้อยลง ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกหมวดหมู่แบบห้องสมุดทั่วไป แต่ห้องสมุดเรือนจำจะมีเฉพาะหมวดที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องขัง  เช่น หมวดหนังสือเกี่ยวกับอาชีพต่างๆ หมวดจิตวิทยาและการสร้างแรงบันดาลใจ หมวดสุขภาพ หมวดธรรมะ หมวดความผูกพันต่อบิดามารดา และเหตุการณ์ความก้าวหน้าของโลกในปัจจุบัน รวมทั้งหนังสือกฎหมายสำหรับผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี

ในการนี้ จำนวนหนังสือในห้องสมุดจะมีน้อยลง และจำกัดสาขามากขึ้นแต่สามารถตอบสนองต่อความต้องการในการใช้งานของผู้ต้องขังในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างแท้จริง

โดยห้องสมุดของเรือนจำจะมีประเภทหนังสือหรือสื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องขังโดยตรง โดยเฉพาะการจัดหมวดแจงประเภทหนังสือที่สอดคล้องกับโปรแกรมต่าง ๆ ที่เรือนจำจัดขึ้นเพื่อแก้ไขผู้ต้องขังประเภทต่าง ๆ  เช่น หนังสือหรือสื่อเดียวกับการค้นหาตัวตน การค้นพบตัวเอง การวางเป้าหมายชีวิต การดึงความดีออกมาจากใจ และการสร้างแรงบันดาลใจจากอดีตผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ตลอดจนหนังสือหรือสื่อเกี่ยวกับการประกอบอาชีพและการทำมาค้าขายต่าง ๆ หนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ ธรรมะ และความผูกพันกับครอบครัว โดยจะเน้นหนังสือเกี่ยวกับ How to มากกว่าหนังสือทฤษฎี 

ที่สำคัญห้องสมุดเรือนจำรูปแบบใหม่จะเน้นการใช้สื่อดิจิทัลมากขึ้น โดยผู้ต้องขังสามารถมาเลือกดูคลิปวิดีโอสั้น ตามหัวข้อต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับการค้นหาหนังสือ เพียงแต่สื่อดิจิทัลไม่สามารถออนไลน์ได้ ในขณะที่การจัดโปรแกรมอบรมผู้ต้องขังต่าง ๆ ก็ใช้สื่อจากห้องสมุดแทนการอบรมผู้ต้องขังต่าง ๆ ก็ใช้สื่อจากห้องสมุดแทนการบรรยายจากวิทยากรได้อย่างหลากหลาย

โดยสรุป ห้องสมุดเรือนจำควรเปลี่ยนแปลงรูปแบบและบทบาทให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เปลี่ยนไป ห้องสมุดของเรือนจำควรเป็นห้องสมุดเฉพาะทางที่ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงและเป็นประโยชน์ต่อการใช้ในการกลับสู่สังคมของผู้ต้องขังอย่างแท้จริง

----------------------------------------------------

หมายเหตุ ภาพประกอบจากภาพยนตร์ The Shawshank Redemption และเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์

หมายเลขบันทึก: 712490เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2023 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2023 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท