หลากหลายลีลาและการเดินทางของโรงเรียนผู้สูงอายุที่เราควรเข้าใจก่อนไปพัฒนา


เป็นที่รู้กันอยู่ว่าโรงเรียนผู้สูงอายุเป็นอีกเทรนด์หนึ่งของการพัฒนาสุขภาวะให้กับผู้สูงอายุในยุคที่ประเทศของเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย

อย่างไรก็ตาม งานวิจัย งานศึกษาที่เกี่ยวกับโรงเรียนผู้สูงอายุ เท่าที่เห็นกันอยู่ก็คิดว่าไม่น่าจะมากและครอบคลุมเพียงพอ ที่จะทำความเข้าใจปรากฏการณ์การเกิดขึ้น

แต่ถ้ามัวรอการวิจัย บางที “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้” ผมก็เลยตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ก่อน

โรงเรียนผู้สูงอายุถือได้ว่าเป็นอีกพื้นที่ทางสังคมแบบหนึ่งที่น่าสนใจ

โรงเรียนผู้สูงอายุอาจจะมองว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้สูงอายุก็ได้ ในขณะเดียวกันถ้าเราใช้แนวคิดทางสังคมวิทยามนุษยวิทยามาจับก็มองได้ว่าเป็นพื้นที่ทางสังคม หมายถึงไม่เพียงแต่มารวมกลุ่มทำกิจกรรม แต่เป็นพื้นที่ของการสร้างตัวตนรวมถึงการมีปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อม ต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรูปแบบต่างๆ

โรงเรียนผู้สูงอายุจึงไม่ได้เป็นสิ่งก่อสร้างหรือแหล่งเรียนรู้ที่อยู่นิ่งๆ หากแต่มันเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตที่ผู้คนซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่หลากหลายชาติพันธุ์ สถานะเศรษฐกิจสังคม ความเชื่อทางศาสนา ฯลฯ มามีปฏิสัมพันธ์กัน

ในเมื่อผู้สูงอายุมีความหลากหลายแบบนี้ ทั้งยังมีบริบทที่แตกต่าง มีเงื่อนไขของการพัฒนา มีเงื่อนของยุคสมัยเวลาในการพัฒนากลุ่มผู้สูงอายุ  แล้วโรงเรียนผู้สูงอายุจะเหมือนกันทั้งหมด ทั้งประเทศได้ยังไง

การทำความเข้าใจความแตกต่าง เปิดใจกับตัวตนรูปแบบที่หลากหลายของโรงเรียนผู้สูงอายุ จึงเป็น mindset ที่ถูกต้อง เป็นสารตั้งต้นที่สำคัญมากในการเรียนรู้ เข้าใจ-เข้าถึง-และพัฒนา

 

เหตุที่เขียนบันทึกนี้ขึ้นมา เพราะเมื่อวานนี้ ผมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนออนไลน์กับอาจารย์จักรพันธ์ พรมฉลวย หรือที่เรียกคุ้นปากว่า อาจารย์เจ ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอก และก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เชิญผมไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินงานวิทยานิพนธ์ เรื่องรูปแบบการบูรณาการศาสตร์พระราชาเพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุของโรงเรียนผู้สูงอายุในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

เป็นดุษฎีนิพนธ์ของการศึกษาปริญญาเอกในสาขาวิชาการศึกษาและพัฒนาสังคมของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ถือได้ว่าเป็นดุษฎีนิพนธ์ที่ทันสมัยและมีความน่าสนใจ
เรียกได้ว่าตอบโจทย์การพัฒนาที่เข้ากับสถานการณ์และบริบทพื้นที่

ส่วนตัวผมเองไม่ได้คุ้นเคยกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จะช่ำชองหน่อยก็คือเขตพัฒนาในพื้นที่สูง ภาคภูเขา ภาคชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างไรก็ตามในเมื่อเขาเชิญไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เราก็คิดว่ามี concept แนวคิดบางอย่างที่ถึงแม้อาจจะข้ามภูมิภาคไปบ้าง แต่ก็น่าจะใช้ในการเป็นเครื่องมือในการมองแล้วก็วิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับเนื้อหาเช่นนี้ได้ ประกอบกับการที่ตัวเองได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะผู้สูงวัยสังคมสูงวัยในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมาหลายปี ทำงานร่วมกับเพื่อนๆภาคีภาคเหนือหลายจังหวัดต่อเนื่อง ก็คิดว่าประสบการณ์เหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์บ้าง

อย่างที่เกริ่นๆไว้ครับว่า โรงเรียนผู้สูงอายุ เอาเข้าจริงแล้วในทางสังคมวิทยามันไม่ได้เป็นพื้นที่การเรียนรู้แบบนิ่งๆแต่เป็นพื้นที่ปฎิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงเป็นพื้นที่ต่อรองเชิงอำนาจ ผ่านการสร้างตัวตน สร้างคุณค่าสร้างความหมาย ของกลุ่มคนต่างๆผ่านกิจกรรมอันหลากหลายของผู้สูงอายุในโรงเรียนเหล่านี้

เราจึงไม่ได้มองโรงเรียนผู้สูงอายุเป็นพื้นที่โรแมนติกไปอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจกดทับ และการโต้ตอบกลับของกลุ่มคนที่อาจจะไม่ใช่เฉพาะผู้สูงวัย แต่อาจจะรวมถึงคนกลุ่มต่างๆภายใต้ space and time นั้นๆ

โอเคอันนี้เป็น mind set ตั้งต้น

ที่นี้มามองเรื่องของโรงเรียนผู้สูงอายุว่า ถ้าเป็นดังกล่าวแล้วเนี่ย แถมการพัฒนาของโรงเรียนผู้สูงอายุในแต่ละแห่งก็เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ต้นทุน สภาพปัญหา บริบท ฯลฯ ต่างกัน ซึ่งผมแลกเปลี่ยนกับอาจารย์เจหรืออาจารย์จักรพันธ์ในหลายเรื่อง หนึ่งในเรื่องนั้นก็คือเรื่องของการจัดตั้งหรือพัฒนาการโรงเรียนผู้สูงอายุก็ไม่น่าจะเหมือนกันไปทุกที่ ผมลองคิดคร่าวๆ ก็อาจจะแบ่งจำแนกเป็นยุคสมัยคราวๆได้ 3 ยุค

ต้องเข้าใจก่อนว่ายุคดังกล่าวเป็นการแบ่งตามประสบการณ์ของผมนะครับ ไม่ได้มีหลักวิชาอะไรหรือการสำรวจวิจัยอะไรมากมาย และแต่ละยุคนี้แต่ละพื้นที่ ก็อาจจะมีช่วงเวลาที่ต่างกันออกไป

ยุคแรกของการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมากับแนวคิดในเชิงของการสงเคราะห์คือทำบุญทำทานให้กับคนเฒ่าคนแก่ให้กับคนยากไร้ ประมาณนี้ พูดง่ายๆคือโรงเรียนผู้สูงอายุก็เป็นแหล่งที่ทำให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลได้เติมเต็มความรู้ที่จำเป็นต่างๆ อันนี้เป็นแนวคิดหรือพัฒนาการในยุคแรกๆนะครับ หลายที่ก็ยังเป็นเช่นนี้อยู่ มากบ้างน้อยบ้างต่างกันออกไป ตรงนี้รัฐราชการ โดยเฉพาะส่วนกลางเองมีบทบาทค่อนข้างมาก การมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุ และกลุ่มทางสังคมของชาวบ้านมีค่อนข้างน้อย ถ้ามีก็มักจะเป็นแบบ Passive Audience คือตั้งรับ ยกมือตามๆกันไปก่อน

ทีนี้พอมายุคที่ 2 ยุคนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นยุคหรือว่าเป็นพัฒนาการที่ค่อนข้างเยอะที่สุดในรูปแบบโรงเรียนผู้สูงอายุที่มีอยู่ในปัจจุบันนะครับ ก็คือเป็นยุคที่เริ่มที่จะเชิดชูแนวคิดศักยภาพภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ มองว่าผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่ทรงภูมิทรงคุณค่ามีความหมายต่อลูกหลานต่อชุมชน 
ในยุคที่ 2 นี้กิจกรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุก็จะออกไปในแนวของการเรียนรู้และถ่ายทอดรวมถึงเสริมแนวคิดเรื่องการพึ่งตนเองเข้ามา น่าจะเป็นยุคที่เป็นพัฒนาการหลักๆในโรงเรียนผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในประเทศของเราตามความเข้าใจของผมนะครับ ส่วนกลางเองมีบทบาทค่อนข้างมากอยู่ แต่ส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าง อบต. เทศบาล อบจ. เข้ามามีส่วนผสมมากขึ้น  การมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุ และกลุ่มทางสังคมของชาวบ้านมีมากขึ้น ผ่านระบบตัวแทน เริ่มมีทักษะการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ เข้ามา


ต่อมายุคที่ 3 ที่ได้เรียกว่าเป็นยุคที่มีพัฒนาการมากที่สุดของโรงเรียนผู้สูงอายุ  ในยุคนี้น่าจะเป็นยุคที่โรงเรียนผู้สูงอายุผ่านรเอนผ่านหน่ส จากยุคสงเคราะห์ก็คือยุค1  ยุคที่ 2 ที่เชื่อมเรื่องของภูมิปัญญาและการพึ่งตนเองมา แล้วมาถึงยุคนี้ที่เป็นยุคที่ 3 ยุคนี้ก็จะเป็นยุคที่เติมเต็มแนวคิดเกี่ยวกับสังคมดิจิตอล การรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสุขภาพรวมถึงการเชื่อมเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ไปจนกระทั่งการเชื่อมโยงกับเครือข่ายข้ามประเทศในรูปแบบของการเรียนรู้และความร่วมมือต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุที่ยืนบนขาของตนเองได้ค่อนข้างมากแล้ว ในขั้นนี้ รัฐ หน่วยงานส่วนกลางเองมีบทบาทเป็นผู้ดูแล ลดอำนาจควบคุมลง ถึงจะเข้ามากำหนดกรอบก็ทำได้ไม่ง่าย ส่วนท้องถิ่น  อบต. เทศบาล อบจ. เข้ามามีบทบาทมากกว่าส่วนกลาง และเป็นไปในทางเสริมหนุน เหมือนกลุ่มชมรมผู้สูงอายุเป็นเสมือนสภาสูง  การมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุไปไกลถึงขั้นแต่ละคน นอกจากจะผนึกกำลังเป็นกลุ่มแล้ว ยังมีพลังปัจเจก ที่ไปถึงขั้นทำ Youtube Tik Tok มี Platform online ของตนเอง

 

ผมเดาๆเอาว่า ไม่เพียงแต่การมีกลไกการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง มีภาควิชาการ ภาคเอกชนที่เข้ามร่วมสนับสนุนงานพัฒนาผู้สูงอายุ หากแต่การที่กลุ่มผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุมีนวัตกรรมที่ทันสมัย คือ มีสัดส่วนการใช้เทคโนโลยี และดิจิตัลในการพัฒนาสูง เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาไปสู่ขั้นที่ 3 นี้ ซึ่งน่าจะพบรูปแบบนี้ หรือแนวโน้มแบบนี้ในเมืองใหญ่ๆ ในเขตพิเศษภาคตะวันออกนี่ก็น่าจะมีนะ

(อาจารย์ ว่าที่ด๊อกเตอร์เจ ก็บอก ใช่เลย)

3 ยุคดังกล่าวข้างต้นถ้าเราเอามาจัดจำแนกเราก็อาจจะเห็นระดับของพัฒนาการโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่ต่างๆว่ามันมีความหลากหลายกันไป ดังนั้นการกำหนดนโยบาย แผน ยุทธศาสตร์พัฒนา การหนุนเสริมจึงไม่สามารถใช้ตัวชี้วัดอะไรต่างๆที่เป็นแบบเหมาเข่ง ตัดเสื้อโหลได้

อันนี้เป็นแค่ basic แต่ก็สำคัญมาก ผมถามดูทางอาจารย์เจที่มาปรึกษาเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ และจากที่ผมได้เรียนรู้กับการทำงานในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ ก็พบว่าไม่มีการจัดจำแนก Level ของโรงเรียนผู้สูงอายุออกมาให้เห็นเลย ที่พบก็เห็นแต่ใช้ standard รวมๆซึ่งไม่น่าจะใช่ (ถ้าเราต้องการการพัฒนาที่สอดคล้องกับพัฒนาการยุคสมัยของโรงเรียนผู้สูงอายุแต่ละแห่ง)

อันนี้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายได้นะครับ ว่าจำเป็นต้องมีการจัดระดับ อาจจะรวมถึงจัดจำแนกความหลากหลายของโรงเรียนผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆด้วย เพื่อที่จะสามารถทำให้เราสามารถเราเข้าไปเรียนรู้ เข้าไปหนุนเสริมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากแต่การจัดจำแนกนี้ เราจะใช้เกณฑ์อะไร ก็คงต้องศึกษาต้องมีการวิจัยกันไป แต่สำหรับผมแล้วอยากให้เป็นกระบวนการที่มีส่วนร่วมกับทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ , stake holder ในชุมชนด้วยเพื่อที่จะทำให้พวกเขารู้ status รู้ตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง เป็นการศึกษาวิจัยที่ย้อนกลับไปเป็นกระจกส่องเพื่อที่ทำให้โรงเรียนผู้สูงอายุมองเห็นตนเองชัดขึ้น

ทีนี้ ถ้าส่วนกลางไม่จัดจำแนก หรือจัดแต่ช้าเกินแกง เราอยากกินแกงเราก็ต้องจัดแจงกันเองก่อน เริ่มจากงาน จากข่ายที่เรามีกันเองนี่แหละครับ เดี๋ยวรัฐเห็นเขาก็อาจจะเอาไปต่อยอด รอส่วนกลางมาพัฒนานวัตกรรมความคิด ส่วนใหญ่ไม่ทัน เราก็ต้องพยายามพึ่งตนเอง ตั้งต้นจากการพึ่งตนเองให้มากๆ ยิ่งเดี่ยวนี้ มีเทคโนโลยี มีข้อมูลที่เข้าถึงง่าย การระดมข่าย ระดมทุนก็สะดวกกว่าแต่ก่อนมาก ก็ต้องปรับวิธีคิด วิธีการของคนทำงานอย่างพวกเราด้วย 

นี่ก็เป็นหนึ่งในประเด็นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดเวลาชั่วโมงเศษๆที่ได้คุยกับนักศึกษาปริญญาเอกอย่างอาจารย์เจ ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัญญาชนคุณภาพคนหนึ่ง

การพูดคุยเสวนากับคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและมีเจตจำนงที่ดีต่อส่วนรวมเป็นอาหารสมอ งและเป็นกำไรชีวิตแบบหนึ่ง อาจจะไม่ได้ประชุมอะไรใหญ่โต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเรียนรู้ที่ไม่เพียงแต่ใช้สมองแต่ยังใช้เจตนารมณ์คือสิ่งที่อยู่ในใจมาเชื่อมโยงกัน ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อไปในกระบวนการพัฒนาสังคมสูงวัย การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ตลอดจนผู้ที่สนใจการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน จึงนำมาบันทึกเอาไว้ในที่นี้เผื่อเป็นประโยชน์ต่อไปครับ

 

หมายเลขบันทึก: 712469เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2023 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2023 12:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท