การที่รู้ว่าเราไม่รู้ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเรียนรู้ (Knowing what we don't know is the beginning of learning)


โจทย์วันนี้เกิดจากข้อสังเกตที่เห็นหลานที่กำลังเรียนอยู่ ป. 3 กับ ป. 4 ที่ต้องมีกระเป๋าใส่หนังสือและอุปกรณ์การเรียนที่ต้องแบกไปโรงเรียนทุกวัน นำหนักรวม ๆ กว่า 5-6 กิโลกรับ เทียบกับสมัยผมเรียน ป.1 - ป 3 นั้นมีอุปกรณ์การเรียนแค่กระดานชนวนและดินสอเขียนกระดานชนวนเท่านั้น ขึ้น ป. 4 จึงจะได้สมุดคนละเล่ม และดินสอดำสำหรับเขียน

ผมไม่ได้บอกว่าเราต้องกลับไปใช้กระดานชนวนนะครับ แต่ผมก็สงสัยว่าเด็กยุคใหม่จะต้องเรียนอะไรมากมายขนาดนี้เหรอจึงจะเอาชีวิตรอดในศตวรรษที่ 21?

หลายเดือนก่อน ผมได้อ่านหนังสือ​ 21 Lessons for the 21st Century เขียนโดย Yuval Noah Harari (2018) ในบทที่ว่าด้วยบทเรียนเกี่ยวกับการศึกษา Yuval  ชี้ว่าปัญหาการศึกษาของโลกคือ ครูที่มีความรู้และประสบการณ์ในโลกปัจจุบันสอนนักเรียนที่จะต้องใช้ชีวิตในโลกอนาคตที่ไม่ใครรู้ว่าจะเป็นแบบไหน นักการศึกษาต่างเสนอความรู้และทักษะที่คาดว่าจะจำเป็นต้องใช้ในอนาคตให้กับผู้เรียน ทุกคนทำงานหนัก นักเรียนก็เรียนหนัก โดยไม่รู้จะได้ใช้สิ่งที่เรียนอยู่ทุกวันนี้หรือไม่ 

คำถามค้างใจของผมมากว่าทศวรรษก็คือ ‘คนเราจำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องในโลก และในจักวาล หรือภิพนี้ไหม’ 

คำตอบคือ ‘ไม่’ และเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ด้วย เพราะสิ่งที่ต้องเรียนรู้มีมากมายเกินกว่าจะเรียนรู้ได้ในช่วงอายุไขของเรา และยิ่งกว่านั้น สิ่งที่มนุษย์รู้นั้นมีเพียงน้อยนิด เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ยังไม่รู้ 

สมัยผมเป็นเด็ก การเรียนการสอนก็เพียงให้อ่านออกเขียนได้ เพื่อจะได้อ่านหนังสือได้ จะได้มีความรู้แล้วนำความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเรียนต่อ แล้วมีงานทำ สิ่งที่ต้องเรียนรู้ก็ไม่มีอะไรมาก ชีวิตและการงานก็เป็นไปย่างช้าๆ การศึกษาและการดำรงชีวิตก็ตรงไปตรงมาเป็นเส้นตรง หรือ linear อะไรประมาณนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้กระดานชนวน หรือสมุดจดบันทึกเล่มเดียว ก็เรียนรู้กันได้ 

ปัจจุบันหลายอย่างเปลี่ยนไป วิทยาการก้าวหน้ามาก สิ่งที่จะต้องเรียนรู้จึงเยอะขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ยังใช้หลักคิดเดิมคือ การเรียนรู้ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะจำเป็นเพื่อนำใช้ในอนาคต และเมื่อสิ่งที่ต้องเรียนรู้มีมากขึ้น ครูจึงต้องมีภาวะการสอนมากขึ้น นักเรียนก็ต้องเรียนหนักมากขึ้น หนังสือเรียน และอุปกรณ์ก็มีมากขึ้น

ผมจึงตั้งคำถามว่า ‘หลักคิดนี้ยังถูกและใช้ได้อีกไหม​’ ในเมื่อเรายังไม่รู้เลยว่าโลกอนาคตจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เรียนรู้ในปัจจุบันจะเป็นประโยชน์มากน้อยเพียงใดในการดำรงชีวิตและมีชีวิตรอดในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังเชื่อว่การศึกษาและการเรียนรู้ยังจำเป็นต้องมี แต่จะเป็นแบบไหน  เรียนรู้อะไร และอย่างไร นี่คือโจทย์ใหญ่ที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน 2-3 บทเรียนต่อไป 

และขณะเดียวกันในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เผมก็ได้อ่านหนังดีอีกเล่มคือ  Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know ของ Adam Grant จึงอยากนำมาแชร์ร่วมตามที่ผมเข้าใจ และเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานของเราครับ 

สมาน อัศวภูมิ

17 เมษายน 2566

Grant, A. (2021). Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know.  New York: Viking. 

Harari, Y.N. (2018). 21 Lessons for the 21st Century. London: Jonathan Cape, Penguin Random House.

หมายเลขบันทึก: 712355เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2023 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2023 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท