"ทำงานกับผู้อื่นให้เหมือนทำงานกับตัวเอง" : จิตวิญญาณในการทำงานสุขภาวะชุมชนแบบองค์รวม


ระหว่างวันที่เราทำงานกับผู้คนมากมาย จิตใจก็ดี ดวงตา หู สัมผัส อายตนะต่างๆของเรา มักจะโฟกัสไปที่สิ่งที่อยู่ข้างนอก


นั่นก็เป็นเรื่องธรรมดาตามนิสัยปุถุชนคนทำงานทั่วไป


หากแต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ก็คือ การเสียสมดุลเนื่องจากเราจะหมกมุ่นกับการเพ่งสิ่งที่อยู่ข้างนอกจนลืมไปว่าสิ่งที่อยู่ข้างในตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นร่างกายจิตใจ พูดง่ายๆ การดูแล กาย วาจา ใจของตนเอง ชีวิตทางสังคมและมิติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับตัวตนของเราเองนั้น วานนี้ วันนี้ ตอนนี้ นาทีนี้ เป็นอย่างไร


นอกและในต่างสานสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง และมิสามารถที่จะแบ่งขาดออกจากกันได้


ถ้าร่างกายเราไม่แข็งแรง เจ็บป่วย จิตใจของเราแปรปรวน วุ่นวาย ตึงเครียด ไม่สงบ ไฉนเลยจะสร้างให้คนอื่น ชุมชนที่อยู่ข้างนอก มีความเข้มแข็ง มีความสงบเยือกเย็น เห็นแก่ผู้อื่น เห็นแก่ความสงบซึ่งกันและกันได้ 


ถึงจะสร้างก็สร้างได้แต่ชั่วคราว ไม่ได้เกิดพลังของการเปลี่ยนแปลงที่ระเบิดจากข้างในออกไป 


สุดท้ายก็คือความไม่ยั่งยืนและวนลูปอยู่กับการที่จะต้องทำแล้วทุกข์ และทำแล้วทุกข์ อาจจะมีสุขบ้างแต่ก็เป็นสุขในระดับเปลือก ไม่เป็นการสุขจากภายในหรือสุขด้วยเมตตาปัญญา สุขที่มองเห็นพลวัตของการเปลี่ยนแปลง มองเห็นความเชื่อมโยงอันลึกซึ้งระหว่างสรรพสิ่งต่างๆแล้วพัฒนาไปอย่างสอดคล้องกับผู้คนและบริบทด้วยจิตปราณีต ชุ่มเย็น
 

ตัวอย่าง ในงานที่อาศัยแนวคิด CBR หรือ Community Based Rehabilitation ที่พอจะแปลเป็นไทยว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชนที่ผมกับพรรคพวกร่วมกันจุดประกายขึ้นในแม่ฮ่องสอนเมื่อหลายปีก่อน สะท้อนจุดใหญ่ของหลักคิดดังกล่าว ที่เราไม่ต้องการการทำงานแยกส่วนระหว่างสภาวะของคนทำงานขับเคลื่อนกับสภาวะของคนพิการและชุมชนที่เกี่ยวข้อง


 ถ้าเราเข้าใจหลักคิดนี้ สุขภาวะที่มั่นคงจะเริ่มต้นจากมิติด้านจิตวิญญาณ นั่นหมายความว่าให้ความสำคัญกับความสงบสุขจากภายใน ด้วยการไม่ด่วนสรุป การไม่ด่วนตัดสินผู้อื่น ไม่ด่วนแทรกว่าถูกผิดอย่างไร หากแต่รับฟังอย่างลึกซึ้ง มีสติจดจ่อ มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน 


ฟังด้วยหัวใจ มองด้วยตาในที่อ่อนโยน

 


กระบวนการเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งเหล่าคนที่ทำงานขับเคลื่อน CBR รู้ดีว่าเป็นเรื่องที่ไม่เพียงแต่จะต้องทำ ณ จุดเริ่มต้นของแผนงาน หากแต่ต้องหากิจกรรมในทำนองเดียวกันนี้ อาจจะเป็นในรูปแบบของการตั้งวงสุนทรียสนทนา หรือการกิจกรรมเกมสันทนาการ กลุ่มสัมพันธ์ต่างๆเพื่อที่จะหล่อเลี้ยงมิติทางจิตวิญญาณและฟูมฟักความสัมพันธ์นี้ให้งอกงามเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนเป็นธรรมชาติติดอยู่ในเนื้อในตัวของทั้งคนทำงาน คนพิการและชุมชน


CBR หรือการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการแบบมีส่วนร่วมจึงไม่ใช่เทคนิคการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบองค์รวมเท่านั้น หากแต่เป็นกระบวนการที่ต้องทำไปตลอดชีวิต เป็นกระบวนการที่ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับมิติสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การศึกษา หากยังรวมถึงการเสริมพลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสริมพลังในด้านจิตวิญญาณของทุกฝ่าย


และยังเป็นกระบวนการที่ช่วยให้คนทำงานมองเห็นทั้งชีวิตด้านนอก ซึ่งก็คือตัวเนื้องาน คนพิการ ชุมชนและชีวิตด้านในก็คือ สภาวะกาย จิต สังคมและปัญญา ของผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

 


ปักหมุดไว้เป็นแนวคิดเชิงสังเคราะห์ เพื่อทบทวนหลังจากเมื่อคืนนี้ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายแกนนำคนทำงาน CBR คนพิการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งถือว่าเป็นอีกนัดหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะเป็นการวางรากฐานการจัดตั้งเครือข่ายการพัฒนา CBR ภาคประชาชนที่กำลังเป็นรูปประธรรมขึ้นเรื่อยๆในไม่ช้า

 

หมายเลขบันทึก: 712297เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2023 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2023 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับสำหรับเรื่องราวแห่งการเสียสละเพื่อชุมชน…วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท