ชุมชนเก่าแก่กับการขับเคลื่อนงานแบบ "เก๋าๆ" ของคนแก่


ตำบลหมอกจำแป่ ตำบลแห่งความหลากหลายทางชาติพันธุ์ทั้งไทใหญ่ ปะโอ กะเหรี่ยง จีนยูนนาน ล้วนมีวิถีของคนเฒ่าคนแก่ทั้งเหมือนและต่างกันออกไป


งานชมรมผู้สูงอายุเริ่มจากกลุ่มพื้นราบโดยเฉพาะกลุ่มไทใหญ่กับคนเมืองมาก่อน จะว่าไปแล้วก็ถือได้ว่าชุมชนอายุ 200 ปีนี้ก็มีความเก๋า (เก๋า นะครับ ไม่ใช่ เก่า) ในเรื่องของภูมิปัญญาไม่พอ แถมก็มีความเก๋าในเรื่องของการพัฒนางานผู้สูงอายุด้วย 


เริ่มจากปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่มีการริเริ่มจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุขึ้นมา


+"ต้นคิด" นั้นสำคัญยิ่ง


ความน่าสนใจของชมรมผู้สูงอายุที่นี่ก็คือการริเริ่มขึ้นจาก mind set หรือวิธีคิดในเรื่องของการจัดการสิทธิ์ที่เรื่องของสุขภาพซึ่งมาจากแกนนำในชุมชนทำให้วิสัยทัศน์ของงานผู้สูงอายุไปได้กว้างไกลกว่าการสงเคราะห์ หากแต่รวมถึงการพัฒนาสุขภาพแบบองค์รวม ประกอบกับการที่มีกลไกในชุมชนที่มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนผู้นำชุมชนซึ่งมีพัฒนาการของการปกครองท้องถิ่น โดยผสมผสานกับการใช้บารมีในชุมชนตามวิถีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนเก่าแก่อย่างนี้มีต้นทุนในการขับเคลื่อนงานพัฒนาต่างๆรวมถึงงานผู้สูงอายุจนเป็นที่ยอมรับทั้งในท้องถิ่นและในวงกว้าง


มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมได้เรียนรู้จากการเข้าไปจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนกับแกนนำผู้สูงอายุและผู้บริหารท้องถิ่นตำบลหมอกจำแปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ในการทำงานของโรงเรียนผู้สูงอายุที่ไม่ได้มองเอาแต่ผู้สูงอายุเป็นตัวตั้งหากแต่มองความสมัครสมานสามัคคีการอยู่ร่วมกันในครอบครัวและชุมชนแบบเข้าอกเข้าใจกัน มีความเมตตากรุณาต่อกันในทุกกลุ่มทุกวัยทุกชาติพันธุ์

 


+ผู้สูงอายุที่ห่วงใยทุกคนในบ้าน


โจทย์ที่น่าสนใจ เช่นผู้สูงอายุปกติมักจะนอนหัวค่ำแล้วตื่นแต่เช้ามืด บางคนนอน 2 ทุ่มตื่นตี 3 ตี 4 ลูกหลานยังไม่ได้ตื่นเพราะว่าเขาทำงานอาจหลับดึกแล้วต้องตื่น 6 โมงหรือ 7 โมงเช้า การที่ผู้สูงอายุตื่นเช้าเกินไปก็อาจจะส่งผลต่อการนอนหลับของคนในบ้าน 


โจทย์นี้ก็ถูกนำมาปรึกษาหารือกันในชมรมในโรงเรียนผู้สูงอายุด้วยว่าจะทำอย่างไรจะทำให้คนในบ้านหลับต่อได้สบาย ผู้สูงอายุคงจะต้องระมัดระวังในการไม่ทำเสียงดังในช่วงเช้ามืด ผู้สูงอายุทั้งหลายก็ต้องหมั่นเตือนตนเองหมั่นเตือนเพื่อนฝูงพี่น้องในเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุ


อันนี้คนรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างเราก็ไม่ได้คิดมาก่อนว่า คนเฒ่าคนแก่ก็เป็นห่วงเป็นใยเราเหมือนกัน


+ขยายงาน ต้องหมั่นเปิดใจ


ยังมีเรื่องของการที่จะพัฒนาชมรมผู้สูงอายุให้ครอบคลุมหมู่บ้านต่างๆทุกหมู่บ้าน ซึ่งตอนนี้ที่ตำบลหมอกจำแป่ ชมรมระดับตำบลไปโลดแล้ว ชมรมระดับหมู่บ้านก็ทยอยตามกันมาแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมโดยเฉพาะในพื้นที่บนดอยสูงๆการเดินทางการติดต่อก็ค่อนข้างลำบาก ถ้าไม่ได้หน่วยงานเข้าไปช่วยสนับสนุนก็ค่อนข้างยาก
ถามเรื่องความเป็นชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายต่างภาษากันออกไป มีอุปสรรคปัญหาไหม ทางแกนนำผู้สูงอายุก็บอกว่า เมื่อก่อนก็คิดว่าจะเป็นปัญหาเยอะแต่หลังๆมานี้พอเราเปิดพื้นที่ชักชวนให้พวกเขาเข้ามาพบปะ มาแสดงออก มาร่วมกิจกรรม เสียงตอบรับกลับดีเกินคาด เสียงตอบรับดีมาก 


ไปๆมาๆเป็นเพราะว่าใจเราคิดปิดกั้นเขาไปก่อนว่าเขาคงจะยาก แต่จริงๆแล้วก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดพวกเขาก็มีปัญหามีความต้องการ มีจิตใจอยากจะพัฒนางานผู้สูงอายุไม่ต่างกันกับเรา 
อันนี้ก็เป็นวิธีคิด มุมมองที่น่าสนใจ

 


หลายครั้งที่เราอาจจะมโนจากประสบการณ์ชุดเดิมๆทั้งที่เราอาจจะไม่ได้สอบถามเขาอย่างเป็นปัจจุบัน ก็อาจจะเผลอปิดกั้นเขา ทั้งๆที่เรายังไม่ได้เจอตัวจริงเพราะฉะนั้นอย่ามั่นใจประสบการณ์เดิมมากเกินไป


+ลบภาพจำกับคำว่า "โรงเรียนผู้สูงอายุ"


อีกเรื่องคือวาทกรรมเกี่ยวกับคำว่าโรงเรียนผู้สูงอายุก็คือเวลาพูดถึงโรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งที่นี่ก็ถือได้ว่าเป็นต้นแบบโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน


ปัญหาก็คือ เวลาไปสื่อสารว่า " โรงเรียน" หลายฝ่ายหลายชุมชนผู้สูงอายุจำนวนมากที่ยังไม่เคยสัมผัสกับโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลหมอกจำเเป่ก็มักจะนึกภาพโรงเรียนผู้สูงอายุที่เคยเห็นในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ๆภาคกลาง ภาคอีสานบ้าง ซึ่งผู้สูงอายุในภูมิภาคนั้นเขาก็มีวิถีชีวิตในอีกแบบหนึ่ง ออกมาแต่งชุดนักเรียน แต่งชุดแฟนซีหรือทำกิจกรรมอะไรแบบคนในเมืองได้อย่างมีสีสันสนุกสนาน ตามแบบสังคมเมือง 


การสื่อสารเหล่านั้นได้สร้างเป็นภาพจำทำให้ผู้สูงอายุในจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมถึงในเขตตำบลหมอกจำแป่ที่ยังไม่เคยสัมผัสกับงานชมรมผู้สูงอายุหรือโรงเรียนผู้สูงอายุก็อาจจะนึกเกรงๆอยู่ว่าจะต้องไปใส่ชุดนักเรียนหรือทำกิจกรรมเหมือนกับทางภูมิภาคเหล่านั้นหรือเปล่า ซึ่งถ้าใส่ชุดนักเรียนทำกิจกรรมอย่างนั้นก็รู้สึกว่าตนเองไม่เหมาะสมรู้สึกไม่อยากเข้าร่วมเลย 


แล้วจะทำยังไงกันดี?


ตรงนี้คำตอบของแกนนำผู้สูงอายุที่นี่ ก็คือ ในกลุ่มก็พยายามสื่อสารอยู่ว่าไม่ได้จำเป็นต้องทำขนาดนั้น จริงๆแล้วโรงเรียนผู้สูงอายุก็ดี ชมรมผู้สูงอายุก็ดีของตำบลหมอกจำแป่แห่งนี้ก็พัฒนาไปตามบริบท ชุดนักเรียนเราก็ไม่มี เน้นชุดที่ใส่ได้ตามวิถี ตามอัตภาพ การต้องร้องรำทำเพลงกิจกรรมต่างๆก็มุ่งเน้นเอาตามจารีตประเพณี ตามความสมัครใจ ยังแถมยังรวมเอาคนที่มีทั้งสัญชาติไทยไม่ได้สัญชาติไทยหรือใครก็ได้ที่สนใจกับงานกิจกรรมของผู้สูงอายุไม่จำกัดเชื้อชาติศาสนาหรือแม้แต่ช่วงอายุ 

40 ปี 50 ปียังไม่เป็นผู้สูงอายุดี ก็มาร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียนผู้สูงอายุกันแล้ว
นี่ก็เป็นอีกมิติของการเปิดใจกว้าง สร้างการมีส่วนร่วมที่เข้าถึง 

อย่างไรก็ตามการสื่อสารเพื่อที่จะลบภาพวาทกรรม ชุดภาพจำเกี่ยวกับเรื่องโรงเรียนผู้สูงอายุที่มาจากส่วนกลางนั้น ก็ยังเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ตรงนี้ก็อาจจะได้มีการทำสื่อหรือประชาสัมพันธ์หรือสร้างการยอมรับสร้างความเข้าใจกันต่อไป ซึ่งชาวบ้านอาจจะทำสื่อเองไม่ถนัดนัก ถ้ามีหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆโดยเฉพาะองค์กรที่เป็นของรัฐซึ่งสร้างภาพแบบนี้มาไว้ก่อนมาร่วมก็คงจะดี 


การจะลบภาพออกไปได้คนสร้างภาพก็น่าจะมีส่วนในการร่วมพัฒนาภาพที่หลากหลายและมีความชัดเจนสอดคล้องมากขึ้นมาแทนที่ นี่ก็เป็นสิ่งที่เวทีนี้ฝากเอาไว้


สุดท้ายก็อยากจะบอกว่า ขอบคุณทั้งประธานชมรมผู้สูงอายุ แกนนำทั้งในส่วนของ อบต.หมอกจำแป่ที่เอื้อเฟื้อสถานที่และช่วยประสานงานอย่างดียิ่งในการจัดเวทีเล็กๆที่เต็มไปด้วยคุณค่าแห่งนี้


ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมคิดว่าได้ซึมซับจากการจัดเวทีพบปะกับผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่มากกว่าเรื่องของความรู้แต่เป็นเรื่องของการตกผลึกในการใช้ชีวิต ขันติธรรม ตลอดจนปัญญาบารมีและความเมตตาที่สอดแทรกไว้ในประสบการณ์อันทรงคุณค่าที่บรรดาผู้สูงอายุได้กรุณาบอกเล่าจากหัวใจ


บันทึกสกัดการเรียนรู้ไว้ เผื่อทบทวน วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนแก่ผู้สนใจต่อไป


Cr.ภาพกิจกรรมฟ้อนรำชมรมผู้สูงอายุจาก  เฟสบุ๊ค กศน.ตำบลหมอกจำแป่

 

หมายเลขบันทึก: 712291เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2023 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2023 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท