สิ่งดีที่ปิดกั้นการเรียนรู้ขั้นสูงของคนไทย


 

หัวข้อนี้ผุดบังเกิดแก่ผม ในช่วงเวลาที่ห่างกัน ๒๕ ชั่วโมงของวันที่ ๑๗ และ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๖

ประมาณ ๑๑ น. ของวันที่ ๑๗ ในวงประชุม AAR ข้อเรียนรู้จากการอบรม Dialogic Teaching + พหุภาษา ที่ กสศ.    การเสวนาระหว่างคุณ Paul Collard แห่ง CCE เสวนากับ คุณหญิง ดร. กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา     ช่วยให้ผมตระหนักว่า  ในวงจร experiential learning ผู้เรียนต้องสะท้อนคิด และพูดออกมาจากน้ำใสใจจริงของตน    วงเรียนรู้จึงจะได้รับประโยชน์จากการรับรู้ (จากการสังเกต)  และความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างหลากหลาย   

ช่วงเช้าวันที่ ๑๘ มีนาคม ผมไปร่วมประชุม Education Journey Forum ครั้งที่ ๗   จัดโดยคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยการสนับสนุนของ สกสว.    วิทยากรทั้ง ๔ ท่าน  และผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นเพิ่มเติมทั้ง ๓ ท่าน ทำให้เป็นการประชุมที่มีคุณภาพสูงมาก   

งานวิจัยเรื่องแรกที่นำเสนอคือ “การปฏิรูปการศึกษากับมายาคติในสังคมไทย” โดย ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ที่ท่านเสนอมายาคติ ๕ ประการ   และทางแก้ ๘ ประการ   ที่ช่วยกระตุ้นให้ผมสะท้อนคิดเชื่อมโยงกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๗    และเสนอข้อสังเกตมายาคติประการทื่ ๖ 

ได้แก่ “มายาคติเรื่องความจริงใจกับความยับยั้งชั่งใจ”    ที่อาจก่อผลปิดกั้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ (experiential learning)  สู่การเรียนรู้ขั้นสูง (higher order learning หรือ mastery learning)             

คนไทยถูกฝึกให้มีความยับยั้งชั่งใจสูง ในเรื่องการพูดหรือการแสดงออก     เพราะเราเป็นสังคมความสัมพันธ์แนวดิ่ง หรือวัฒนธรรมอำนาจ    นักเรียนจึงมักเกรงใจครู ไม่กล้าพูดความรู้สึกจริงๆ ของตนออกมา   นักเรียนจึงมักพูดสะท้อนคิดให้ตรงกับที่ครูอยากได้ยิน แทนที่จะบอกความจริงในใจ   วงสะท้อนคิดหลังการปฏิบัติ จึงไม่ใช่วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างจริงใจ  ที่พูดออกจากใจจริง    กลายเป็นวงสะทอนคิดหลอกๆ    มีบรรยากาศไร้สีสัน  ไร้พลัง

ที่จริงการที่นักเรียนรู้ใจครู เป็นสิ่งที่ดี   ที่เรียกว่า empathy   แต่ในที่นี้สิ่งดีถูกนำมาใช้ผิดๆ   ชักจูงโดยวัฒนธรรมแนวดิ่ง หรือวัฒนธรรมอำนาจ    มีผลให้การเรียนรู้ตื้น   

ขณะนี้ความก้าวหน้าเรื่อง learning science บอกเราว่า     การเรียนรู้ที่แท้ ที่นำสู่ mastery learning เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (experiential learning) ที่มีลักษณะเป็นการเรียนผ่านการทำกิจกรรม ตามด้วยการสังเกตและใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflective learning)    ผสานกับการเรียนรู้แบบ team learning   

เมื่อนักเรียนทำกิจกรรมด้วยกัน    แล้วมาตั้งวงสะท้อนคิดร่วมกัน   หากนักเรียนสะท้อนความรู้สึกและความคิดของตนออกมาแบบไม่จริงใจ  ไม่ได้พูดจากใจจริง    นอกจากเพื่อนๆ จะไม่ได้เรียนรู้แล้ว    ยังเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้ของตนเอง    เพราะวงสะท้อนคิดของนักเรียนคือวง dialogic learning (เรียนรู้จากการสานเสวนา)   เมื่อข้อมูลที่นำเข้าวงสานเสวนาเป็นข้อมูลหลอกๆ    การเรียนรู้ก็จะมีลักษณะหลอกๆ และผิวเผิน    เมื่อตนเองพูดแบบหลอกๆ การเรียนรู้ของตนเองก็เป็นแบบหลอกๆ ไปด้วย 

คำพูดที่ไม่จริงใจ มีอีกแบบหนึ่งที่มีที่มาแบบตรงกันข้ามจากที่กล่าวแล้ว    คือเป็นคำพูดที่ต้องการอวดตัว แสดงภูมิรู้ หรือยกตนข่มเพื่อน   ก็มีผลทำลายคุณภาพการเรียนรู้ของตนเอง และของทั้งทีม ในทำนองเดียวกันกับการพูดเพื่อเอาใจครู 

มองมุมหนึ่ง การแสดงความเคารพ และเกรงใจผู้อื่นเป็นสิ่งดี   แต่ต้องใช้สิ่งดีนั้นให้ถูกกาละเทศะ   หากใช้ผิดที่ผิดเวลาผิดเป้าหมาย อย่างในกรณีวงสะท้อนคิดจากประสบการณ์    ก็ย่อมเกิดผลเสีย    ซึ่งในกรณีนี้เป็นผลเสียต่อการเรียนรู้            

วิจารณ์ พานิช

๑๘ มี.ค. ๖๖

บนรถตู้ เดินทางไปพัทยา

 

หมายเลขบันทึก: 712239เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2023 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2023 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมขอขอบคุณในเนื้อหาสาระของเรื่องดังกล่าวอย่างยิ่ง เพราะเคยพบเห็นกับประสบการณ์แบบนี้ หรือทำนองนี่้บ่อยๆ และมีบางประการที่เพิ่มเติมก็คือ ผู้บริหารสถาบันการศึกษากับอาจารย์ที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา หรือกรณีของสมาคมของสถานศึกษา อาทิ สมาคมครู สมาคมศิษย์เก่า ที่หลายแห่งยังมีความเกรงใจของลูกศิษย์ต่ออาจารย์ที่มานั่งในที่ประชุม ขณะเดียวกันก็มีอาจารย์บางท่านที่ถือเอาความเป็นอาจารย์เหมือนอย่างที่เคยเป็น มิได้เสมอกันด้วยศักดิ์และสิทธิของกรรมการคนหนึ่งๆ เหมือนอย่างตัวเอง นี่ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นมายาคติของการศึกษาไทย ที่ทำให้การประชุมหาทางพัฒนาสถาบันการศึกษาไม่พบปัญหาที่แท้จริง ผมหวังว่าทุกอย่างจะต้องดีขึ้นเรื่อยๆ นะครับ….วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท