เสียงจากคนค่าย : ธัญญลักษณ์ โพธิสาย (ค่ายหยิบหมอกหยอกธรรมชาติ)


ค่ายครั้งนี้ช่วยให้ทุกคนได้เรียนรู้หลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม การทำงานผ่านการลงมือทำอย่างจริงจังร่วมกัน ได้เรียนรู้หลักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้เรียนรู้ว่าปัญหาช่วยให้ทุกคนหันหน้ามาคุยกันมากขึ้น

โครงการหยิบหมอกหยอกธรรมชาติ ครั้งที่ 4 ถือเป็นกิจกรรมเชิงอัตลักษณ์ของกลุ่มนิสิตมอน้ำชี ก่อนหน้านี้ปักหมุดจัดต่อเนื่องในโซนจังหวัดชัยภูมิ ครั้งนี้จึงอยากเปลี่ยนพื้นที่การเรียนรู้ใหม่และพื้นที่ที่ถูกเลือกก็เป็นพื้นที่ที่รุ่นพี่เคยปักธงไว้แล้วตั้งแต่ปี 2563 แต่เพราะปัญหาโควิด-19 จึงชะลอกิจกรรมไว้

 

 

อันที่จริง ก่อนจะเลือกอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวเป็นพื้นที่จัดค่าย คณะกรรมการพรรคและสมาชิกพรรคได้ประชุมเลือกพื้นที่หลายแห่งเหมือนกัน เช่น ศูนย์วิจัยที่นครราชสีมา จะเป็นการศึกษาวิถีของสัตว์และการเลี้ยงดูสัตว์ ส่วนอีกที่อยู่ในโซนจังหวัดขอนแก่น แต่ประสบปัญหาเรื่องคลื่นสัญญาณอินเทอร์เน็ต ติดต่อประสานงานลำบาก จึงจำต้องยกเลิกไป ส่วนเหตุผลที่เลือกตรงนี้ก็มีหลายปัจจัย เช่น อากาศดี มีระบบนิเวศน์หลากหลายให้เรียนรู้ 

 

ค่ายครั้งนี้พรรคมอน้ำชีใช้คณะกรรมการดำเนินงานหลักมากถึง 35 คน ส่วนใหญ่ล้วนเป็นสมาชิกพรรคเกือบทั้งหมด นอกจากนั้นก็เป็นผู้สนใจที่จะเข้ามาเรียนรู้ในฐานะของชาวค่ายและแกนนำค่าย ซึ่งเราไม่ปิดกั้น ขอเพียงมีใจเปิดรับการเรียนรู้ เราก็ยินดีให้โอกาสและยินดีที่จะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

 

 

แนวทางการทำงานค่ายเราเน้นหลักคิด “การลงมือทำ” และ “การมีส่วนร่วม” เป็นหัวใจหลัก ดังจะเห็นได้จากเราเปิดโอกาสให้สมาชิกในพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกพื้นที่ค่าย และร่วมคิด ร่วมออกแบบว่ากิจกรรมในค่ายต้องมีอะไรบ้าง โดยให้แต่ละคนเสนอรูปแบบที่อยากทำ ช่วยกันพิจารณาถึงความเหมาะสม  

ส่วนเจ้าหน้าที่อุทยานก็จะเสริมในเรื่องความรู้การเดินป่า ความรู้ในการทำโป่งเทียม ขณะที่พี่ๆ ศิษย์เก่าก็จะมาในนามคนเยี่ยมค่าย มาถ่ายทอดประสบการณ์และเข้าร่วมกิจกรรมกับน้องๆ เรียกได้ว่า ค่ายครั้งนี้กรรมการพรรคและกรรมการค่ายมีอิสระที่จะได้ทำงานด้วยตนเองอย่างเต็มที่

 

 

หลักการมีส่วนร่วมอีกตัวอย่างก็คือเดิมพวกเราคิดกิจกรรมปลูกต้นไม้  แต่เมื่อหารือเจ้าหน้าที่แล้วไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากจำกัดด้วยพื้นที่และสภาพภูมิอากาศ เจ้าหน้าที่จึงแนะนำการทำโป่งเทียมแทน ซึ่งก็ได้ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมเช่นกัน โดยเฉพาะการเป็นอาหารให้สัตว์ป่า สัตว์ป่าจะได้ออกมากินอาหารบริเวณนั้นได้ตลอด 

สิ่งนี้ก็สอนให้พวกเราได้เรียนรู้การทำงานลักษณะของการ “พัฒนาโจทย์แบบมีส่วนร่วม”  และการจัดกิจกรรมตามหลักคิด “พื้นที่ (อุทยาน) เป็นศูนย์กลาง” มิใช่จะทำอะไรตามใจที่อยากจะทำ

 

 

ในทางกระบวนการเตรียมคนไปค่าย พวกเราเน้นประชาสัมพันธ์ผ่านเพจของพรรคเป็นหลัก  ทำแบบฟอร์มผู้สนใจเข้ามากรอกใบสมัคร  ส่วนทีมทำงานหลักจะมอบหมายงานกันเป็นทีม เน้น “กระจายงาน” ให้แต่ละคนมีบทบาทหน้าที่ร่วมกันให้มากที่สุด มีการประชุมวางแผนร่วมกันเป็นระยะๆ มีการปฐมนิเทศแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับบุคลากรกองกิจการนิสิต (พี่พนัส ปรีวาสนา) ที่มาร่วมเสวนาติดอาวุธทางความคิดในหลายประเด็น เช่น 

  • คุณลักษณะของค่ายในมหาวิทยาลัย 
  • คุณลักษณะเฉพาะของค่ายหยิบหมอกหยอกธรรมชาติ 
  • กรอบแนวคิด-เครื่องมือการเรียนรู้ 
  • การประเมินการเรียนรู้รายวัตถุประสงค์ 
  • รวมถึงชวนมองเรื่องทักษะต่างๆ โดยเฉพาะเรื่อง Soft skills และ Hard skills ที่พอจะมองเห็นในค่ายครั้งนี้ 

 

 

กรณีปัญหาที่พบเจอในค่ายก็มีหลายเรื่อง แต่ที่อยากยกตัวอย่างเป็นกรณีศึกษาคือการติดต่อประสานงานระหว่างนิสิตกับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต่อเนื่อง เช่น การไม่แจ้งกลับว่าไม่ได้รับส่วนลดเรื่องที่พัก ทั้งที่ได้แจ้งเป็นหลักการเบื้องต้นแล้ว แต่ก็ชดเชยพวกเราด้วยการเพิ่มเบาะนอนและผ้าห่มเพิ่มให้แทน 

ซึ่งตรงนี้ก็สอนให้รู้ว่า เราต้องติดต่อประสานงานอย่างต่อเนื่อง  ทั้งต่ออุทยานและส่วนกลางอันเป็นต้นสังกัดของอุทยาน รวมถึงเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบนความจริงของปัญหา

 

 

สำหรับดิฉันในฐานะประธานพรรคและผู้รับผิดชอบหลักของโครงการ  มองว่าค่ายครั้งนี้ช่วยให้ทุกคนได้เรียนรู้หลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม การทำงานผ่านการลงมือทำอย่างจริงจังร่วมกัน ได้เรียนรู้หลักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้เรียนรู้ว่าปัญหาช่วยให้ทุกคนหันหน้ามาคุยกันมากขึ้น 

เช่นเดียวกับการได้เรียนรู้ระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวว่าเป็นอย่างไร สำคัญอย่างไร มีสถานการณ์อย่างไร ได้รู้จักความสำคัญของโป่งเทียม รู้จักขั้นตอนการทำโป่งเทียม 

 

ส่วนผลพวงอื่นๆ ที่ปรากฏเป็นรูปธรรมก็คือ สมาชิกค่ายรู้จักตัวตนของ “มอน้ำชี” มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

 

 

ขณะที่ตัวดิฉันเอง ก็ได้รู้จักกับผู้ร่วมค่ายมากขึ้น รู้หลักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละปัญหา รู้การติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานภายนอก รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น รู้หลักการปรับตัวและรับมือกับปัญหาที่เจอได้ดีกว่าที่ผ่านมา ได้ฝึกการบริหารจัดการเวลา ได้ฝึกการกระจายงาน-การติดตามงาน รวมถึงรู้จักควบคุมอารมณ์ในสถานการณ์ที่ตัวเองรู้สึกไม่พึงพอใจ

 

ถึงแม้ค่ายครั้งหน้า ดิฉันจะไม่มีบทบาทอะไรแล้ว เพราะต้องให้เกียรติกับคณะกรรมการชุดใหม่ แต่ยินดีที่จะถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านี้จากค่ายนี้ไปสู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ดิฉันจะเล่าให้น้องฟังว่า “กิจกรรมของปีที่ผ่านมาเป็นแบบนี้นะ” เพื่อให้น้องๆ นำไปปรับใช้ให้เหมาะกับค่ายที่กำลังจะมีขึ้น

 

 

ท้ายที่สุดนี้ ดิฉันอยากจะบอกว่า การพึ่งตนเองโดยเอาตัวเองไปเรียนรู้ หรือไปศึกษาในสิ่งที่อยู่นอกหลักสูตร มันอาจจะเป็นกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ทำให้เกิดเป็นความทรงจำที่ดีในการเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยและการได้ลงพื้นที่ไปทำโป่งเทียมให้กับสัตว์ป่าก็ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิในของดิฉัน เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าค่ายหยิบหมอกหยอกธรรมชาติ ไม่ใช่แค่กิจกรรมไปพักผ่อนหย่อนใจ แต่เป็นค่ายการเรียนรู้ในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” ที่ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานอย่างไม่ต้องกังขา

 

…………..

เรื่อง :  ธัญญลักษณ์  โพธิสาย
เรียบเรียง : พนัส ปรีวาสนา
ภาพ :  กลุ่มนิสิตมอน้ำชี

 

 

หมายเลขบันทึก: 712173เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2023 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2023 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมาอ่าน “คนหยิบหมอก” ครับ ;)…

ครับ Wasawat Deemarn

สงสัยไปไม่เจอหมอกครับ แต่ได้มากกว่าหมอกก็คือ ความรู้และทักษะการทำโป่งเทียม รวมถึงการได้รับรู้ระบบนิเวศ รวมถึงสถานการณ์จริงของอุทยานฯ นั่นเอง ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท