เสียงจากคนค่าย : กำไลทอง ประภาลัย (กิจกรรมนอกหลักสูตร กับการเรียนรู้ความจริงของชีวิต)


เรียนรู้หลักการทำกิจกรรมและเรียนรู้ชุมชนผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น การสังเกต การสอบถาม การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม การจดบันทึก การฟัง ตลอดจนการเรียนรู้ทักษะทางสังคม Soft Skills ที่สำคัญเช่น การเป็นผู้นำ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานกับส่วนรวม การทำงานกับผู้อื่น การลำดับความสำคัญ การยืดหยุ่น การสื่อสารที่สร้างสรรค์ ทั้งในระบบและนอกระบบรวมถึงในสังคมออนไลน์

ปี 2564 จนถึงปี 2566 เป็นช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าได้ก้าวเข้ามาอยู่ในเส้นทางสายกิจกรรม  หรือที่ใครๆ เรียกกันว่า “กิจกรรมนอกหลักสูตร” เข้าไปคลุกคลีอยู่ในหลายองค์กร แต่หลักๆ แล้วจะเข้าๆ ออกๆ ในศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม  กลุ่มนิสิตจิตอาสา Volunteer และกลุ่มนิสิตชาวดิน นอกจากนั้นก็เป็นกิจกรรมของสาขาที่จะเข้าร่วมเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย

 

 

ถึงแม้ข้าพเจ้าจะวนเวียนเข้าออกอยู่กับองค์กรเหล่านี้  แต่ข้าพเจ้าก็มิได้ปิดกั้นตัวเองต่อการเรียนรู้จากองค์กรอื่นๆ โดยบอกกับตัวเองเสมอว่าต้องเปิดใจเรียนรู้องค์กรอื่นๆ หรือกิจกรรมอื่นๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะนั่นคือการเรียนรู้ความเป็นพหุวัฒนธรรมไปในตัว  ซึ่งในช่วงที่ทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมนั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้วัฒนธรรมขององค์กรนิสิตต่างๆ จำนวนมาก ทั้งที่เป็นพรรคการเมือง (กลุ่มนิสิต) องค์การนิสิต สภานิสิต ชมรม สโมสรนิสิต ที่เข้ามาช่วยเหลือกิจกรรมของเรา ทั้งมอบสิ่งของและลงพื้นที่ไปด้วยกัน

 

ไม่เว้นกระทั่งการทำงานร่วมกับกองกิจการนิสิตผ่านเรื่องน้ำท่วม  เรื่องทำบุญตักบาตรประจำปี (กิจกรรม 5 ส.) ซึ่งช่วยให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมกองกิจการนิสิต สไตล์การทำงานของบุคลากรแต่ละคน ได้เข้าใจเรื่องระบบและกลไกของส่วนราชการ ได้เห็นภาพคำว่า “จิตอาสา”  การหนุนเสริมของเจ้าหน้าที่ในฐานะ “พี่เลี้ยง” ด้านกิจกรรมนิสิตอันเป็นหน่วยงานหลักของมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน

 

 

ในส่วนกิจกรรมต่างๆ ที่ข้าพเจ้าได้เข้าร่วม อาจดูไม่มากมายนัก เพราะเป็นข้อจำกัดของโควิด-19 และข้าพเจ้าที่เป็น “มือใหม่”  แต่พอประมวลเป็นความทรงจำได้บ้าง  อาทิเช่น กิจกรรมปลูกป่าร่วมกับกลุ่มนิสิตชาวดินที่อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ กิจกรรมนี้ข้าพเจ้าเข้าร่วมในฐานะผู้เข้าร่วมโครงการ แต่ก็พอมองเห็นภาพการทำงานระหว่างนิสิตกับโรงเรียน-วัด-หมู่บ้านได้บ้าง

 

 

 

ถัดจากนั้นก้าวเข้ามาเป็นคณะทำงานของศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม ภารกิจหลักๆ คือกิจกรรมช่วยชุมชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัยที่ครอบคลุมทั้งอำเภอเมือง อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย 

หรือแม้แต่ชุมชนผู้ประสบภัยหนาวร่วมกับศิษย์เก่าในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งกิจกรรมช่วงนี้ทำให้ข้าพเจ้าเติบโตทางความคิดและฝึกฝนตกเองในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การประสานงาน การแก้ปัญหา การลงชุมชน 

 

 

เช่นเดียวกับการเป็นผู้รับผิดชอบหลักกิจกรรมฟื้นฟูวัดสุวรรณวารี (บ้านห้วยชัน) ที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคมกับกลุ่มนิสิตชาวดิน ซึ่งกลุ่มนิสิตชาวดิน เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องงบประมาณ ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น 

  • การทำความสะอาดล้างกุฏิสงฆ์ ศาลาวัด ห้องสุขา 
  • ปลูกไม้ยืนต้น 
  • ปลูกพืชผักภายในวัดและริมผนังกั้นน้ำชี 
  • เสวนาเรื่องวิถีชีวิตและการดำรงชีวิตในช่วงอุทกภัย   
  • ฟังบรรยายเรื่องประวัติความเป็นมาของวัดสุวรรณวารี 
  •  ถวายสังฆทาน

 

ถัดจากนั้นก็ร่วมกับเพื่อนๆ อีก 3-5 คนขับเคลื่อนโครงการของศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคมในชื่อโครงการ “ค่ายเครือข่ายจิตอาสาเพื่อสังคม” เมื่อวันที่ 3-4 มีนาคม 2566 ณ โรงเรียนบ้านวังแคน ตำบลสวนหม่อน อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นอีกพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย 

ค่ายๆ นี้ ข้าพเจ้า ได้ทำงานเต็มรูปแบบตั้งแต่สำรวจค่าย วิเคราะห์โจทย์ ออกแบบกิจกรรม สร้างทีม จัดหาทุน บริหารงบ เรียกได้ว่าเป็นมือใหม่ที่ได้ทำงานด้วยตนเองในชนิด “ทำไป-เรียนรู้ไป” อย่างแท้จริง  ผ่านกิจกรรมสำคัญๆ เช่น 

  • สร้างลาน BBL 
  • ซ่อมสนามเด็กเล่น 
  • ทาสีโรงอาหาร 
  • ตกแต่งห้องสมุด 
  • มอบอุปกรณ์การเรียนรู้

 

 

และล่าสุดก็ได้ทำงานกับชมรมฮวมศิลป์ (ค่ายเยาวชนคนสร้างศิลป์) เป็นการทำงานในลักษณะที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ สนับสนุนอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ ลงพื้นที่ร่วมทำงานและเรียนรู้ร่วมกันในระยะสั้นๆ 

 

การเข้าร่วมกิจกรรมทั้งปวงนั้น  ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้ตัวเองมากขึ้น เช่น ชอบการทำงานเพื่อส่วนรวมชอบช่วยเหลือผู้อื่น ชอบเรียนรู้วิถีชุมชน ชอบความท้าทายกับสิ่งแปลกใหม่การทำกิจกรรมที่มุ่งเน้นส่วนรวมเป็นหลักได้ฝึกให้เราคำนึงถึงผู้อื่นมากยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนเครื่องช่วยขัดเกลาจิตใจไม่ให้เห็นแก่ตนเอง ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้จิตใจของคนเรานั้นมองเห็นแต่ประโยชน์ของตนเอง และความเห็นแก่ตัวเป็นส่วนใหญ่

 

 

ข้าพเจ้ามองว่า กิจกรรมที่เข้าร่วมมาทั้งหมดนั้น คือเรื่องราวของคำว่า “จิตอาสา” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนเราตระหนักถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน รู้จักเสียสละ ไม่ว่าจะแรงกาย แรงใจ หรือกำลังทรัพย์ ผ่านการลงมือทำ การมีส่วนร่วมกับผู้อื่น

รวมถึงเป็นกระบวนการฝึกการเป็น “ผู้นำ” ได้เป็นอย่างดียิ่ง และการทำกิจกรรมก็ช่วยให้ได้เรียนรู้ในสิ่งที่แตกต่างจากในหลักสูตรและในห้องเรียน เพราะคือการทำงานอย่างเป็นทีมที่มุ่งประโยชน์ต่อคนอื่นมากกว่าตัวเอง สอดคล้องกับอัตลักษณ์นิสิตที่ว่า “นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน”

 

 

จะว่าไปแล้ว การทำกิจกรรมที่ผ่านมาทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง เช่น การนำความรู้ทางวิชาชีพมาใช้ในเรื่องของการลงชุมชน การเล็งเห็นปัญหาของประชาชนการเรียนรู้วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น  การบริหารงานในท้องถิ่น การทำงานขององค์กรในท้องถิ่น การประสานงานขององค์กรปกครอง 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังได้เรียนรู้หลักการทำกิจกรรมและเรียนรู้ชุมชนผ่านเครื่องมือต่างๆ  เช่น การสังเกต การสอบถาม การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม การจดบันทึก การฟัง ตลอดจนการเรียนรู้ทักษะทางสังคม Soft Skills ที่สำคัญเช่น การเป็นผู้นำ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานกับส่วนรวม การทำงานกับผู้อื่น การลำดับความสำคัญ การยืดหยุ่น การสื่อสารที่สร้างสรรค์ ทั้งในระบบและนอกระบบรวมถึงในสังคมออนไลน์

 

 

ท้ายที่สุดนี้ข้าพเจ้าอยากจะบอกว่า กิจกรรมนอกหลักสูตร  คือการเรียนรู้ที่หลากหลาย คือการเรียนรู้ความจริงของชีวิตและกิจกรรมนอกหลักสูตรก็ทำให้ข้าพเจ้าเกิดการเรียนรู้ว่าสามารถบูรณาการความรู้ในหลักสูตรและนอกหลักสูตรเข้าด้วยกันได้  ซึ่งช่วยให้ข้าพเจ้าเข้าใจแนวทางในการเรียน การใช้ชีวิต การทำกิจกรรมอย่างเป็นเหตุเป็นผล และเข้าใจสังคมอันแท้จริงตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ว่า พหูนํ ปณฺฑิโต ชีเว  “ผู้มีปัญญาพึงอยู่เพื่อมหาชน” 

 

 

เรื่อง : นางสาวกำไลทอง  ปะภาลัย  
          วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ภาพ : พนัส ปรีวาสนา


 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท