Creative Economy การสร้างนวัตกรรม จากความคิดสร้างสรรค์ของภาคเอกชนไทย


สำหรับประเทศไทย ในยามนี้ “นวัตกรรม” ที่ดีที่สุด คือ วิธีการใหม่ ๆ ในการสร้างรายได้ และกำไรให้มากที่สุด เร็วที่สุด ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด

นวัตกรรม อาจมีนิยามที่แตกต่างกันไป

สำหรับประเทศไทย ในยามนี้ “นวัตกรรม” ที่ดีที่สุด คือ วิธีการใหม่ ๆ ในการสร้างรายได้ และกำไรให้มากที่สุด เร็วที่สุด ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด

การจะทำเช่นนี้ได้ บริษัทหรือองค์กรนั้นจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์แบบสุด ๆ ในทุกกระบวนการตั้งแต่ การคัดเลือกคนที่สร้างสรรค์ การระดมความคิดที่สร้างสรรค์ กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ รวมไปถึง การตลาด และรูปแบบการขายที่สร้างสรรค์

 

ทุกชาติในโลกนี้มีคนเก่ง และคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ในสัดส่วนที่ไม่ต่างกันมากนัก

หากทว่า ชาติที่ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมจากความคิดสร้างสรรค์ คือ รัฐบาล นายทุน และผู้บริโภค เห็นคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์ และช่วยกันผลักดัน

 

ความคิดสร้างสรรค์มากมายของคนไทย ได้หล่นหายไปในระหว่างทาง เพราะนายทุนจำนวนมากยังยึดติดกับการทำเงินในรูปแบบเก่า ๆ ซึ่งอาจจะเริ่มใช้ไม่ได้ผลแล้ว ในยุคสมัยนี้

รัฐบาล ก็ยังไม่กล้าเสี่ยงที่จะลงเงิน และทรัพยากรในการสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์ อย่างจริงจัง

สินค้าที่มีความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่าสินค้าธรรมดาทั่วไป ในการทำให้ผู้บริโภคยอมรับ และควักเงินซื้อ

 

ท่ามกลางทรัพยากรที่มีจำกัด

รัฐบาล ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์แบบตรง ๆ โดยสามารถสนับสนุนผ่านการจัดกิจกรรมให้ “นายทุน ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดสร้างสรรค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม พนักงานหรือคนธรรมดาที่อยากทำงานในบริษัทที่สร้างสรรค์” ได้มาเจอกัน

การพูดคุยเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ ควรมีการยกระดับเป็นการประกวด เพื่อแย่งชิงเงินทุนในการสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์

ไอเดียเด็ด ๆ ในการสร้างผลิตภัณฑ์ เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่หล่นหายไปในระหว่างทาง

แทนที่จะเฟ้นหาไอเดีย อาจต้องเปลี่ยนมาสนับสนุน “องค์กรที่มีการบริหารจัดการแบบสร้างสรรค์” เพื่อไม่ให้ความคิดสร้างสรรค์ต้องระเหยกลายเป็นไอเมื่อเวลาผ่านไป แต่สามารถกลั่นเป็นน้ำ และหลอมรวมกลายเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกได้ หรืออย่างน้อยสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยในระดับ 10,000 ล้านบาท/บริษัท

 

ดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน และดูเหมือนว่า เงินเฟ้อที่พูด ๆ กันมาหลายเดือน ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นให้ดอกเบี้ยเงินฝากขยับขึ้นได้มากนัก ย่อมเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้นายทุน หรือคนที่มีเงิน อยากจะลงทุนในบริษัทที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีการบริหารจัดการที่จะแปรเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ไปสู่นวัตกรรม และการสร้างผลกำไรมหาศาล

 

ผู้ประกอบการ หรือคนที่อยากได้เงินลงทุน ก็อาจต้องนำเสนอว่า เขาจะสร้างองค์กรอย่างไรที่ทำให้คนมีความคิดสร้างสรรค์อยากทำงานด้วย

เขากล้าที่จะยกเลิกระบบตอกบัตร เข้างาน 8.00 เลิกงาน 17.00 หรือไม่ อย่างไร

เขาจะคิดวิธีการสร้างสรรค์อย่างไร ให้พนักงานมีไฟในการทำงาน โดยไม่ต้องใช้วิธีการบังคับ หรือใช้การปกครองแบบไม่ปกครองตามแบบปรัชญาเต๋า อย่างไร ที่ทำให้ได้ผลงานและผลกำไรมากกว่าบริษัทธรรมดาทั่วไป

เขาจะมีวิธีการที่เป็นรูปธรรมอย่างไร ในการคัดเลือกผู้บริหารที่เปิดรับความคิดสร้างสรรค์ในทุกรูปแบบ และสามารถสร้างทีมงานเก่ง ๆ ซึ่งสามารถผลักดันความคิดสร้างสรรค์ที่เลื่อนลอยให้กลายเป็นสินค้าที่เต็มไปด้วยความแปลกใหม่ สามารถสร้างรายได้ และผลกำไรเป็นกอบเป็นกำได้

 

นายทุนที่กล้าลงทุนกับธุรกิจสร้างสรรค์

มีอยู่มั้ย

ผมเชื่อว่า มี

อาจมีเพียง 5-10%

 

ผู้บริหาร และผู้ประกอบการที่เปิดกว้างต่อความคิดสร้างสรรค์

มีอยู่มั้ย

ผมเชื่อว่ามี

อาจมีเพียง 5-10%

 

พนักงานที่ไม่ได้ทำงานเพื่อรับเงินเดือนไปวัน ๆ แต่พร้อมจะทำงานหนัก เพื่อสร้างนวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนโลกได้

มีอยู่มั้ย

ผมเชื่อว่ามี

อาจมีเพียง 5-10%

 

รัฐบาลเป็นตัวกลางที่ดีที่สุด ในการเชื่อมโยงคนเหล่านี้เข้าด้วยกัน

หากจะทำเช่นนั้นได้ รัฐบาล จะต้องเข้าใจธรรมชาติของความคิดสร้างสรรค์ ธุรกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และกระบวนการในการแปรเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ ให้กลายเป็นนวัตกรรมที่สามารถสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ

หรือความจริงแล้ว รัฐบาล ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าใจอะไรมาก เพียงแค่จัดกิจกรรม เชื่อมประสาน และปล่อยให้เอกชนทั้งหลายว่ากันไป

ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นมา 1,000 บริษัท อาจจะเจ๊งไป 800 บริษัท รัฐบาลก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะเป็นเงินของภาคเอกชน ไม่ใช่ของรัฐบาล

180 บริษัทอาจทำเงินได้แบบกลาง ๆ ไม่มาก ไม่น้อย รัฐบาลก็เก็บภาษีกันไป และนำเงินมาจัดกิจกรรมให้ทุกภาคส่วนที่อยากร่วมกันพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ได้มาเจอกัน

 

20 บริษัทที่ดีที่สุด ผมเชื่อว่าจะสร้างรายได้อยู่ระหว่าง 50,000-100,000 ล้านบาท ภายในเวลา 10 ปี

รัฐบาลจึงสามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งภาษีที่มากมายมหาศาล และชื่อเสียงในการเป็นผู้ผลักดัน

 

ทุกสิ่งพร้อมสรรพ ขาดเพียงลมบูรพา และการเชื่อมประสานจากหน่วยงานภาครัฐ

หมายเลขบันทึก: 712105เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2023 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2023 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท