ชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ บนดอยสูง จะเอาไงดี?



บ่ายวานนี้ ฝ่าฝุ่น PM 2.5 จากในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ไป รพ.สต.ห้วยโป่ง 
นัดสำคัญ เสวนากับแกนนำงานพัฒนาผู้สูงอายุ 


บางคนคุ้นหน้า บางคนมาใหม่ (แต่อยู่มานานมากแล้ว 🙂 ) แนะนำตัว ชื่นชม เติมเต็มแรงใจกันไป
หมออนามัยคนเก่ง พี่หนูสาวเจียงใหม่ มาหลงเสน่ห์คนแม่ฮ่องสอน (เหมือนผม)  นี่สุดยอด Soft Power คนนึงทีเดียว เป็นเมล็ดพันธุ์ที่งอกงามได้เหมาะกับถิ่นที่และเวลาจริงๆ

 


ว่าจะคุยสักชั่วโมงครึ่ง แต่เอาเข้าจริงก็ไหลลื่นไปเหมือนสายลม เผลอแป๊บเดียวเกือบสามชั่วโมง แต่ก็ไม่เห็นคนเฒ่าคนแก่ลุกกันไปไหน หรือนั่งสัปหงกสักราย เอ้อ แสดงว่า เวทีนี้ใช้ได้นะ ไม่ต้องกรอกใบประเมินก็น่าจะผ่านความพึงพอใจ
มีขัดจังหวะบ้างเล็กน้อย ตรงที่ พอ Open Air แล้ว วันนี้ลมแรง ต้องคอยเก็บกระดาษที่ปลิวจากโต๊ะบ้าง บางครั้งชาวบ้านเอาไข่มดแดงมาเร่ขาย (ห่อเบ้อเร่อ แค่ยี่สิบบาท เสียดายหมดซะก่อน เลยไม่ทันซื้อ)ก็เป็นบริบท เป็นสีสันแม่ฮ่องสอนแดนไพร มีอะไรเราก็มองก็ปรับเห็นเป็นธรรมดาวิถีชุมชน


วันนี้ก็คุยกันหลายเรื่องนะครับ พอดีน้องนก แกนนำในทีม ทำสไลค์เพาเวอร์พอยต์ที่สรุปงานขับเคลื่อนผู้สูงอายุและสังคมสูงวัยของตำบลห้วยโป่งเสร็จ อยากจะมานำเสนอเผื่อทางผู้เฒ่าผู้แก่และแกนนำทั้งหลายจะได้ตรวจสอบและเติมเต็ม ผมก็เลยถือโอกาสเอามาบูรณาการกับคำถามต่างๆที่เป็นการถอดบทเรียนการทำงานผู้สูงอายุที่นี่ไปพร้อมกันแบบ 2 in 1 ไปเลย


จริงๆที่นี่เด่นมากเรื่องเป็นแห่งแรกของการทำธรรมนูญสุขภาพตำบลในแม่อ่องสอน แถมเป็นธรรมนูญสุขภาพว่าด้วยผู้สูงอายุซะด้วย วันนี้ ก็เลยชวนคิดชวนคุยถึงปัจจุบัน และอนาคต (อดีตนี่พอรู้มาบ้างแล้ว เวลาน้อยอยากคุยกระชับ เลยข้ามไปได้ อีกอย่างอดีต มาข้อมูลไม่ยาก ไอ้ที่ยากคือ ปัจจุบัน กับทิศทาง แนวทาง กระบวนการในอนาคตสามปี ห้าปี สิบปีนี่แหละ)


เท่าที่คุยมาวันนี้ ก็เห็นระดับความแตกต่างในงานพัฒนาผู้สูงอายุ รวมถึงสังคมสูงวัยในตำบลนี้ อืม.....น่าสนใจ
คือภูมินิเวศ ก็มีที่ราบนิดหน่อย ส่วนใหญ่ก็ดอย ชุมชนส่วนใหญ่ก็อยู่บนดอย และบางชุมชนมีความเป็นหมู่บ้านชายแดนซ้อนเข้าไปอีก อันนี้เป็นเรื่องภูมินิเวศ ซึ่งก็จะสัมพันธ์กับภูมิสังคม ที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆก็จะอยู่อาศัย มีวิถีการผลิต วิถีความเชื่อวัฒนธรรมประเพณี ที่เหมือนและ แตกต่างกันออกไป แถมยังมีปัจจัยด้านศาสนาว่าเป็นพุทธ หรือคริสต์ หรือถือผี หรือผสมผสานกันไปในสัดส่วนต่างๆอย่างไร  


โอ....ถึงแม้เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ก็ไม่มีชุมชนใดทาบกันได้สนิทเป๊ะๆเลย มันต้องมีความแตกต่างตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง


เรื่องความเป็นสังคมสูงวัย คือมีผู้สูงอายุจำนวนมากนี่ ถ้ากลุ่มชุมชนในพื้นราบจะเห็นชัด การเกิดน้อย คนหนุ่มสาวไม่นิยมมีลูกหลายคน หรือยืดเวลาการมีลูกออกไป หรือไม่มีลูกเลยก็มี ในขณะที่บนดอย บางชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ยังนิยมมีลูกหลายคน และมีปัจจัยเอื้อหลายอย่างที่ทำให้อัตราการเกิดยังสูงกว่าตายได้  อันนี้ ไม่ลงรายละเอียดเดี๋ยวจะยาว
แต่สิ่งที่น่าสนใจ สะดุดใจผมจนอยากจะเล่าคือ เรื่อง การรวมกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น เป็นชมรมก็ดี การทำโรงเรียนผู้สูงอายุ คือ ให้ผู้สูงอายุมรวมกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆก็ดี ที่หมู่บ้านห้วยโป่งซึ่งเป็นบ้านหลักที่นี่ เข้มแข็งมากที่สุด คิดยังไงกับการพัฒนาแบบเดียวกันนี้ ไปยังหมู่บ้านอื่นๆ


ที่ประชุมวันนี้ ก็บอกว่าทำมาหลายปี แต่ก็อย่างว่า ความแตกต่างภูมิสังคม วิถีวัฒนธรรม ระบบการปกครองในชุมชนแม้ภายนอกมีโครงสร้างคล้ายๆ แต่ภายใน ระดับปฏิบัติก็มีความต่างกัน ไอ้ที่จะให้เป็นชุมชนเป็นต้นแบบให้กับหมู่บ้านทั้งตำบล ก็ไม่ใช่จะทำได้ 


เรื่องการพัฒนาโดยเฉพาะสุขภาพ สุขภาวะนี่มันใช้อำนาจไปสั่งบังคับไม่ได้ ก็ต้องเป็นความสมัครใจด้วย ซึ่งตอนนี้ก็มีบางบ้าน บางชาติพันธุ์ที่เขาคิดต่างจากที่นี่ซึ่งเป็นกลุ่มคนเมืองกับไทใหญ่ที่อยู่พื้นราบ


แล้วเราจะออกแบบยังไงอย่างการทำชมรมผู้สูงอายุ ทำโรงเรียนผู้สูงอายุ กับชุมชนบนดอยอย่างนั้น?


“ลุงหมึก” ประธานชมรมผู้สูงอายุที่นี่ และยังเป็นประธานชมรมผู้สูงอายุระดับจังหวัดก็บอกว่า มันก็ยากอยู่ เพราะบนดอยเขาไปหากันยาก ทางมันชัน มันก็ไกล จะเอาวิทยากร เอาคนไปจัดการเรียนรู้ก็ลำบากอยู่  ทางผู้สูงอายุพื้นราบจะขึ้นดอยไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้อย่างต่อเนื่องก็ไม่ง่าย เพราะคนแก่ทั้งนั้น จะไปกันบ่อยๆก็ไม่ไหว


ความหวังที่จะตั้งชมรม และโรงเรียน ซึ่งอาจจะใช้คำว่าศูนย์การเรียนรู้ หรืออื่นๆที่ใกล้เคียงกันก็ได้ บนพื้นที่สูงนั้น มีความเป็นไปได้นะ แต่ต้องมีทีมลงไปเป็นพี่เลี้ยง ชวนคิดชวนคุย คอยจับมือทำไปก่อน 
ไม่เพียงต้องเข้าใจ รอบรู้เรื่องสุขภาพ และสิทธิของผู้สูงอายุแบบสากล แต่ต้องเข้าใจวิถีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ตัวตน ความเป็นชาติพันธุ์ รวมถึงการเมืองภายในของเขา ที่สัมพันธ์กับทั้งคน ธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติ เหล่านี้ เราต้องเปิดใจกว้างๆ ทำงานต่อเนื่อง 

20230324220344.mp4
 

และประเด็นขับเคลื่อนนี่ มันต้องมาจากความต้องการของคนในชุมชนนั้นด้วย ไม่งั้นก็ไม่สำเร็จ สำเร็จก็ไม่ยั่งยืน  
ผมฟังทั้งลุงหมึก พี่หมอหนู และอีกหลายคนในวง แล้วสรุปสะท้อนกลับให้ประมาณนี้


ยังมีอีกหลายเรื่องที่ได้พูดคุยกันในเวที แต่เอาลงได้ไม่หมด ก็ได้โน๊ตเอาไว้ แต่คิดว่ามีประโยชน์แน่นอน อย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เราเข้าใจผู้สูงอายุ  เข้าใจบริบทความแตกต่างหลากหลายในแต่ละชุมชนมากขึ้น , ใช้เป็นวัตถุดิบในการสอนทีมงาน และนักศึกษา  ตลอดจนอภิปรายกับหน่วยงานต่างๆ , 


ทั้งยังได้คอยกระตุ้นเตือนตนเอง ให้อ่อนน้อมถ่อมตน หมั่นพิจารณาความรู้ และความไม่รู้ของตน ที่ยังต้องฝึกฝน โดยให้ชุมชนและหน่วยงานต่างๆเป็นกระจกสะท้อนอีกมากมาย

 

20230324215855.mp4


ส่วนบรรยากาศ เวทีวิชาการชุมชน ที่ต้องคุยกับผู้สูงอายุแบบสบายๆ ออกมาเป็นยังไง ให้ภาพกับคลิปเล่าเรื่องเป็นเบื้องต้นนะครับ


#สังคมสูงวัย
#ธรรมนูญสุขภาพท้องถิ่น
#สุขภาวะผู้สูงอายุ
#ผู้สูงอายุชาติพันธุ์
#ผู้สูงอายุแม่ฮ่องสอน

หมายเลขบันทึก: 712069เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2023 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2023 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท