แนวการเขียนบทนำการวิจัย (Guidelines on Research introduction writing)


ในบทเขียนที่ 92 ผมเขียนเกี่ยวกับการออกแบบการเขึยนส่วนต้นของบทความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาในการวิจัย หรือ Research introduction และในบทเขียนนี้ผมจะเสนอแนวทางและวิธีการเขียนสาระของบทซึ่งออกแบบไว้แล้ว ซึ่งก็เป็นอีกประการหนึ่งในการเขียนงานวิจัย นอกเหนือจากการออกแบบโครงสร้างสาระและข้อมูลในการเขียนดังกล่าวมาแล้วที่บทเขียนที่ 92

ประเด็นปัญหาที่มักจะพบมีดังนี้ (1) การเขียนที่แยกไม่ได้ว่าสาระส่วนไหนเป็นความคิดของผู้วิจัย และส่วนไหนเป็นความคิดจากแหล่งอ้างอิงที่นำมาสนับสนุนความคิดของผู้เขียน [เขียนแบบไม่แยกสาระ] (2) การเขียนแบบไม่รู้ว่าแต่ละย่อหน้าที่นำเสนออะไร มีกี่ประเด็น และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร [เขียนแบบไม่จัดระบบสาระ] (3) เขียนไม่ถูกต้องตามหลักการเขียนงานวิชาการที่เป็นสากล [เขียนแบบไม่ถูกหลักวิชาการ] 

เขียนแบบไม่แยกสาระ การเขียนงานวิชาการแบบไม่แยกสาระ เป็นการเขียนแต่และย่อหน้าแยกไม่ได้ว่าสาระส่วนไหนเป็นความคิดของผู้วิจัย และส่วนไหนเป็นความคิดจากแหล่งอ้างอิงที่นำมาสนับสนุนความคิดของผู้เขียน เพราะไม่มีข้อความส่วนไหนแสดงหรือชี้ให้เป็นว่าเป็นเนื้อหาที่เป็นความคิดของผู้วิจัย และส่วนไหนเป็นเนื้อหาที่เป็นแนวคิดจากแหล่งอ้างอิง ซึ่งส่วนใหญ่จะอ้างแหล่งอ้างอิงไว้ท้ายย่อหน้า หรือบางย่อหน้าจะมีแหล่งอ้างอิง 2-3 แหล่งโดยไม่สามารถแยกได้ว่าส่วนไหนเป็นเนื้อหาของผู้เขียน และส่วนไหนของเนื้อหาของแหล่งอ้างอิงใด เช่น 

           ‘คณิตศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่มีความสำคัญอย่างมากในการดำรงชีวิต อีกทั้งวิชาคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานไปสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความสำคัญและเกี่ยวกับการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ตลอดเวลา เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพของมนุษย์ คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยเหตุผล กระบวนการคิด และกระบวนการแก้ปัหา คณิตศาสตร์คือวิชาที่ช่วยเสริมสร้างให้นักเรียนเป็นคนมีเหตุผล มีความคิดอย่างมีวิจารณาญาณและเป็นระบบตลอดจนมีทักษะการแก้ปัญหา ทำให้สามารถคิดวิเคราะห์การแก้ปัญหา สถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ สามารถคาดการณ์ วางแผน ตัดสินใจและแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน คณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดจนศาสตร์อื่นๆ ทำให้มีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมากมายในทุกวันนี้ ทักษะ กระบวนการทางคณิตศาสตร์เป็นสาระหนึ่งในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, …)’  [ตัดมาจากตัวอย่างจริงของบทความวิจัยเรื่องหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขอขอบคุณต้นฉบับ]

ผู้อ่านคิดว่าส่วนใดคือเนื้อหาและแนวคิดของผู้วิจัยที่เป็นเจ้าของผลงานนี้ หรือว่าทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาและแนวคิดในผลงานของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (…) ถ้าเป็นของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งหมด มี 2 คำถามต่อเนื่องว่า  ‘ลอกมาคำต่อคำ หรือเขียนใหม่โดยใช้แนวคิดของแหล่งอ้างอิง’ ถ้าลอกมาแบบคำต่อคำ จะถือว่าลอกผลงาน ผิดจรรยาบรรณอีก แต่ถ้าเขียนใหม่ก็พ้นข้อหา แต่ก็ถามอีก 1 คำถามว่า ‘เนื้อหาทั้งหมดต้องการนำเสนออะไร เพื่ออะไร’ อยากบอกว่าคณิตศาสตร์มีความสำคัญ หรือคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือกระบวนการคิดอื่น หรือคณิตศาสตร์เป็นฐานในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และท้ายๆ ยังบอกว่าคณิตศาสตร์เป็นสาระหนึ่งในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ แล้วทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องที่จะวิจัยอย่างไร 

เขียนแบบไม่จัดระบบสาระ ตัวอย่างข้างต้นนอกจากจะเขียนแบบไม่แยกสาระดังกล่วมาแล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าเขียนแบบไม่จัดระบบสาระด้วย แต่ตัวอย่างที่ขออนุญาตนำมาแลกเปลี่ยนต่อไป จะทำให้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่าเขียนแบบไม่จัดระบบสาระอย่างไร 

เขียนแบบไม่จัดระบบสาระหมายความว่าผู้เขียนไม่ได้จัดโครงสร้างสาระในแต่ละย่อหน้า หรือหลายย่อหน้าต่อกันว่าจะนำเสนอสาระอะไรบ้าง เกี่ยวข้องกันอย่างไร และเกี่ยวข้องกับงานวิจัย หรือเรื่องที่เราจะเขียนอย่างไร ดังตัวอย่าง 

            'ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ถูกผลักดันเข้าสู่ระบบการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต้องยึดหลักผลลัพธ์ทั้งในแง่ของความรู้ในวิชาแกนและทักษะแห่งศตวรรษใหม่เป็นผลลัพธ์ที่ประเทศ โรงเรียน และสถานที่ทำงานและชุมชนต่างเห็นคุณค่า ทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้นักเรียนรู้จักคิด เรียนรู้ ทำงาน แก้ปัญหา สื่อสาร และร่วมมือทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลตลอดชีวิต ดังนั้นนักเรียนในศตวรรษที่ 21 จะต้องเรียนรู้ในเนื้อหาสาระวิชาการที่บูรณาการร่วมกับทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 โดยในกระบวนการจัดการเรียนการสอนในวิชาหลักจะต้องสอดแทรกทักษะในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 3 ทักษะ ดังนี้ คือ (1) ทักษะการเรียนรู้และวัฒนธรรม ได้แก่ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม การคิดอย่างมีวิจารณาญาณและการแก้ปัญหา การสื่อสาร และการร่วมมือทำงาน (2) ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี ได้แก่ความรู้พื้นฐานด้านสารสนเทศ ความรู้พื้ันฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ​(ICT) (3) ทักษะชีวิตและอาชีพได้แก่ ความยืดหยุ่นและการปรับตัว การริเริ่มและการนำตนเอง ทักษะสังคมมและการข้ามวัฒนธรรม การผลิตงานและความรับผิดชอบตรวจสอบได้ และภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ ​(ปริชาติ อังกาบ, …) ทั้งนี้การจัดการเรียนรู้ต้อตอบสนองกับความแตกต่างระหว่างบุคคลและธรรมขาติการเรียนรู้ของผู้(เรียน .. ไหมต้นฉบับพิมพ์ตก)ในศตวรรษที่นี้ (ประสาท เนืองเฉลิม, …) ซึ่งความหลากหลายและการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การรู้เท่าทันและการปรับตัวจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ ซึ่งการที่จะรู้เท่าทันต้องอาศัยทักษะที่จำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการสื่อสาร เพื่อพัฒนาการคิด ทักษะการสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากที่จะทำให้ผู้เรียนมีความสามารถในการอ่านอย่างเข้าใจ ฟังอย่างเข้าใจ พูดสื่อสารได้ตรงประเด็น เขียนอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นฐานต่อยอด ในการเรียนรู้และดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมยุคศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีความสุข (ประสาท เนืองเฉลิม, …) [ตัดมาจากตัวอย่างจริงของบทความวิจัยเรื่องหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขอขอบคุณต้นฉบับ]

คำถามคือ ในย่อหน้านี้่ผู้วิจัยต้องการเสนอ หรือสื่อความเรื่องอะไร (1) เรื่องการนำศตวรรษที่ 21 เข้าสู่หลักสูตร หรือ (2) ต้องการชี้ให้เห็นความสำคัญของทักษะในศตวรรษที่ 21 หรือ (3) ต้องการนำเสนอว่าทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มีอะไรบ้าง หรือต้องการจะเสนอว่าการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ควรทำอย่างไร หรือ (4) การเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศทำให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนรู้อย่างหร หรือ (5) ทักษะทั้งหลายเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้และใช้ชีวิตในศตวรรษใหม่นี้อย่างไร หรือว่าจะนำเสนอทั้ง 5 เรื่อง  ถ้าจะทำเช่นนั้นต้องเขียนให้เห็นการทำหน้าที่ร่วมกันของทั้ง 5 เรื่อง ซึ่งอาจจะต้องแยกเป็นหลายย่อหน้า และเขียนเชื่อมโยงสู่เรื่องที่เราจะวิจัย แต่ถ้าจะนำเสนอบางเรื่อง ก็ต้องเลือกว่าจะนำเสนออะไร เพราะอะไร 

นอกจากประเด็นปัญหาข้างต้นนี้ ยังต้องถามต่อว่าแนวคิด 3 คนที่อ้างอิงนี้ผู้เขียนได้เขียนใหม่ หรือนำสาระมาต่อกันเฉย ๆ ซึ่งไม่ว่าจะทำแบบไหน หัวใจคือนำเสนอเนื้อหาเหล่านี้เพื่ออะไร มีตรรกะในการเขียนไหม แต่ละเรื่องเกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงกันอย่างไร 

เขียนแบบไม่ถูกหลักวิชาการ ผมได้ชี้ให้เห็นบางส่วนแล้วว่าการนำเนื้อหาของแหล่งอ้างอิงมาแบบคำต่อคำเป็นการลอกผลงาน สำหรับผู้สนใจว่าเขียนผลงานให้ถูกตามหลักวิชาการ(สากล) เป็นอย่างไรคงต้องไปอ่านบทความที่ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในวารสารบัวบัณฑิต ของสาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีครับ เป็นแบบ​ online ครับ ส่วนแนวการเขียนบทงานที่แสดงให้เห็นว่าส่วนไหนเป็นความคิดของผู้เขียน และส่วนไหนเป็นสาระที่นำมาจากแหล่งอ้างอิงมี  3 วิธีหลัก ๆ ดังนี้ 

  1. เขียนแบบเรียบเรียงสาระ คือ เขียนแบบอ้างถึงแหล่งข้อมูลแต่ละแหล่งว่าพูดถึงเรื่องนี้ว่าอย่างไร แล้วผู้เขียนสรุปว่าอย่างไร ซึ่งเป็นวิธีการเขียนงานที่ต้องการใช้ข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงเป็นฐานในการเขียนงาน เช่น การรายงานการทบทวนวรรณกรรม (บทที่ 2) หรือการเขียนหนังสือ/ตำรา/ หรือบทความ ครับ 
  2. เขียนแบบกึ่งบูรณาการสาระ คือ การเขียนให้เป็นว่าส่วนไหนคือเป็นความคิดและเนื้อหาของผู้เขียน และส่วนไหนเป็นความคิดและเนื้อหาที่นำมาจากแหล่งอ้างอิง เช่น งานเขียนในวิจัยของสมาน อัศวภูมิ (2558) 

         ‘คุณภาพเป็นหัวใจสำคัญของผลการดำเนินงานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานในองค์การให้บริการ หรือองค์การที่ดำเนินการผลิตภัณฑ์ก็ตาม โดยเฉพาะในยุคที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันสูงอย่างที่เป็นอยู่้ในปัจจุบัน สถานศึกษาในฐานะหน่วยปฏิบัติการจัดการศึกษาจึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงต่อคุณภาพการจัดการศึกษาตามจุดหมายการศึกษาและนโยบายการศึกษาที่กำหนดไว้ แต่ในทางปฏิบัติและความคาดหวังของผู้ใช้บริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders)ในการจัดการศึกษายังคงเป็นปัญหาและหาทางแก้ไขต่อไป 

           นักวิพากษาการศึกาษที่เห็นปัญหาคุณภาพการศึกษาจนถึงขั้นเสนอให้ยุบเลิกระบบโรงเรียน (Deschooling)  ไปเลยคือ อีวาน อีลลิช …'

ย่อหน้าแรกเป็นแนวคิดและเนื้อหาของผู้เขียนเองทั้งหมด ส่วนย่อหน้าที่สองเป็นแนวคิดและเนื้อหาของผู้เขียนในช่วงแรกถึง อีวาน อีลลิช หลังจากนั้นจะเป็นแนวคิดของอีวาน อีลลิช ซึ่งผู้เขียนนำแนวคิดของเขามาเขียนใหม่ 

3. ​เขียนแบบบบูรณาการสาระ  คือการเขียนทั้งแบบที่แยกสาระชัดเจนแบบที่กล่าวมาแล้ว และเขียนเขียนประสานแนวคิดและเนื้อหาของแหล่งอ้างอิงเข้าเป็นเนื้อหาเดียวกัน อย่างสมเหตุผสมผล และมีตรรกะในการนำเสนอ เช่น ส่วนหนึ่งของบทที่ 1 วิทยานิพนธ์ของ  Brown (2013)

        ‘Retention has been theorized for over a generation. [เปิดหัวด้วยความคิดและเนื้อหาของผู้เขียน] Most research on student peristence and retention focuses on the experiences of undergraduate students representing a large body of research that explores social and organization factors which impact sudent retention in higher education (Astin, …; Beam, …; Pascarella & Terenzini, …; Tinto, …,…). [ความคิดและเนื้อหาเขียนโดยผู้เขียน แต่สรุปมาจากแนวคิดหลายคนที่อ้างไว้ แบบนี้ไปเรื่อย โดยมีโครงสร้างสาระและข้อมูลตามที่ผู้เขียนออกแบบไว้ ไม่ใช่ตัดต่อเนื้อหา] The bulk of retention  research has focused on social and academic integration, holding the aforementioned two aspects as key students retentionl. [แนวคิดและเนื้อหาส่วนนี้เป็นของผู้เขียน] Though the integration model espoused by Tinto is probably the most commonly employed model in student retention literature, it is not without its critics ( Draper, …; McCubbin, …). [ประโยคนี้เป็นการเขียนโดยใช้ขอมูลของTinto  กับ Draper, และ​McCubbin จากผลการวิเคราะห์และสรุปโดยผู้เขียน] … เป็นต้น 

การเขียนงานวิชาการแบบ 2 และ 3 เหมาะสำหรับการเขียนบทที่ 1 หรือความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัย เพราะเป็นบทที่เป็นความคิดของผู้วิจัยเป็นหลัก ต้องคิด ออกแบบ และหาข้อมูลมาสนับสนุนความคิดของตนเอง อย่างไรก็ตาม หากผู้เขียนจะใช้แนวทางแบบที่ 2 และ 3 ไปใช้ในการเขียนหนังสือ หรือตำรา หรือบทความก็ได้ หรือใช้ผสมผสานกับทั้ง 3 แบบก็ได้ครับ 

หวังว่าบทเขียนที่ 92 และ 93  จะช่วยให้ท่านเขียนบทที่ 1 และงานเขียนทางวิชาการดีขึ้นนะครับ 

สมาน อัศวภูมิ 

รายการอ้างอิง 

สมาน อัศวภูมิ. (2558). รูปแบบการบูรณาการระบบการประกันคุณภาพภายในกับการบริหารสถานศึกษาสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานขนาดกลาง. อุบลราชธานี: อุลบลกิจออฟเซต.

Brown, N.J. (2013). Administrative Structural Variables: Towards greater Retention and Efficiencies. Dissertations: Iowa State University. 

หมายเลขบันทึก: 711958เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2023 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2023 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พอเห็นทางครับอาจารย์ จะนำไปปรับปรุงงาน

ขอบคุณที่อาจารย์สำหรับบทความนี้ น่าจะเป็นแนวทางได้ดีค่ะ ดิฉันตรวจงานเขียนวิทยานิพนธ์มามาก ดราฟท์แรกมาตะเภาเดียวกัน อย่างน้อย 5 ครั้งกว่าจะพอได้ค่ะ เป็นความทรงจำที่ทั้งสุขทั้งเศร้าค่ะ

วิธีการเขียนงานเชิงวิชาการของเด็กไทย (ตั้งแต่ระดับโรงเรียนถึงระดับบัณฑิตศึกษา) สะท้อนถึงวิธีการสอนวิชาการเขียน หรือ วิชา writing ในภาษาอังกฤษ ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ส่วนตัวหลังจากการเรียนวิธีเขียนในการเรียนภาษาอังกฤษ และอ่านบทความวิจัยมาก ๆ พบว่าการเขียนภาษาไทยของตนเอง ดีขึ้น หรือ professional ขึ้นอย่างมากมาย ไม่มีอีกแล้วที่หนึ่งย่อหน้ายาวเหยียดเกือบเต็มหน้ากระดาษ มีหลายประเด็นในนั้น ไม่รู้ว่าเป็นความคิดของตน แสดงจุดยืน ความเชื่อของต้น พร้อมเหตุผลสนับสนุนที่คัดกรองมาแล้วอบ่างดี น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง ไม่ตรงประเด็นการเขียนภาษาอังกฤษ สอนตั้งแต่ การเขียนย่อหน้าหนึ่ง ๆ มีองค์ประกอบอะไรบ้าง การเชื่อมโยง แต่ละย่อหน้าให้เรียงร้อยกันเป็นเรื่องที่ดีอย่างไร แต่ของภาษาไทยที่ผ่านมา (ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไร) สอนการเขียนเรียงความ ให้มีส่วนนำ เนื้อเรื่อง และ สรุป เท่านั้น

อยากแนะนำว่าต้องอ่านให้มากโดยเฉพาะงานเขียนของนักวิชาการรุ่นใหญ่ที่ตีพิมพ์งานในวารสารวิจัยต่างประเทศมาก ๆ เรียนการเขียนภาษาอังกฤษจากอาจารย์ที่มีวุุฒิทางภาษาอังกฤษสักหนึ่งคอร์ส จะทำให้เรียนรู้ ซึมซับ วิธีเขียนได้ดี

ขอบคุณสำหรับข้อสังเกตและความเห็นครับ เห็นด้วยที่ต้องมีกิจกรรมพัฒนาทักษะการเขียนงานวิชาการสำหรับนักศักษาบ้ณฑิตศึกษาครับ

สมาน อัศวภูมิ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท