ปัญหาการเขียนความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา (ในการจัย) (Problems on writing research introduction)


ช่วงนี้งานค่อนข้างชุม ทั้งงานสอน งานเป็นผู้ทรงวุฒิในการสอบป้องกันวิทยานพินธ์/หรือไม่ก็ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ งานอ่านบทความวิจัย และอื่น ๆ เลยทำให้ไม่ค่อยได้มีเวลามาเขียน GotoKnow วันนี้เพิ่งอ่านบทความวิจัยที่จะเสนอในการประชุมวิชาการเสร็จเกือบ 20 เรื่อง ซึ่งก็ดีเพราะจากการอ่านงานดังกล่าวก็ได้ข้อสังเกตว่าปัญหาส่วนใหญ่ของผู้วิจัยคือ ‘การเขียนความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา(ในการวิจัย)’ 

ปัญหาการเขียนความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัยนี้เป็นประเด็นที่ผมเคยกล่าวถึงไว้ในบทเขียนก่อนหน้านี้ และวันนี้เลยตัดสินใจเขียนเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ของนักวิจัยที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้ และเป็นแหล่งข้อมูลที่ผมจะแนะนำให้เจ้าของงานวิจัยที่ผมชี้ให้เห็นปัญหานี้ได้ใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขงานก่อนนำเสนอในการประชุมวิชาการ และการแนะนำให้ผู้สนใจที่จะเข้าฟังการประชุมวิชาการได้ไปอ่านขยายความเข้าใจในสิ่งที่ผมจะวิพากษ์งานเหล่านี้ เพราะในการวิพากษ์งานวิชาการระหว่างการประชุมวิชาการนั้นมีมีเวลาจำกัด ผมต้องขอขอบคุณ​ GotoKnow ที่มีช่องทางนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัยในงานวิจัยนานาชาติอาจจะเรียกว่า ‘Introduction,  Introduction and the statement of the problem, Background หรือ Research problem’ ซึ่งเป็นบทนำเข้าสู่เรื่องที่จะทำวิจัย และโดยทั่วไปจะนำเสนอใน 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ (1) เรื่องนี้เป็นมาอย่างไร (2) เรื่องนี้มีสภาพและปัญหาอย่างไร และ (3)  เรื่องนี้เป็นประเด็น หรือมีปัญหาที่ควรแก่การทำวิจัยอย่างไร 

ดังนั้นในการเขียนความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัยนี้ผู้วิจัยต้องมีโครงสร้างสาระและข้อมูลที่จะนำเสนออย่างน้อยใน 3 เรื่องดังกล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่เขียนอะไรก็ได้ แล้วก็ออกแบบการเขียนต่อว่าในแต่ละเรื่องจะเสนอเสนออะไร มีข้อมูล หรือทฤษฎีอะไรเป็นฐานคิด และทั้งสามเรื่องมีความเป็นเหตุเป็นผลเชื่อมต่อกันอย่างไร เช่น ในการทำวิจ้ยเรื่อง ‘รูปแบบการบูรณาการระบบประกันคุณภาพภายในกับการบริหารสถานศึกษาสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานขนาดกลาง’ (สมาน อัศวภูมิ, 2558) ผมออกแบบโครงสร้างสาระที่จะนำเสนอเกี่ยวกับความเป็นมาและความสำคัญในการวิจัยไว้ดังนี้

ความเป็นมา ผมเสนอว่าคุณภาพการจัดการศึกษา คือหัวใจสำคัญในการบริหารองค์การ ผู้บริหารต้องให้ความคัญกับเรื่องนี้  แต่สภาพที่เป็นอยู่นั้นคุณภาพการจัดการศึกษายังมีปัญหาอยู่มาก (สนับสนุนโดยแนวคิดของนักวิชาการ ข้อมูลการวิจัย และรายงานการติดตามผลคุณภาพ) ที่สะท้อนสภาพและปัญหาของเรื่องนี้ 

หลักการสำคัญในการบริหารสถานศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพื่มเติมนั้นกำหนดให้การประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหลักที่เป็นความเป็นมาว่าทำไหมจึงควรบูรณาการระบบประกันคุณภาพภายในกับการบริหารสถานศึกษาเข้าด้วยกัน แต่สภาพที่เป็นอยู่ และข้อมูลชี้ (อ้างอิง) ว่างานทั้งสองส่วนยังแยกส่วนกันดำเนินการ นี่คือ สภาพและปัญหาการบูรณาการระบบประกันคุณภาพภายในกับการบริหารสถานศึกษา

ที่เกิดปัญหาดังกล่าวข้างต้นอาจจะมาจากสาเหตุหลายประการ แต่ฐานคิดของผู้วิจัยเสนอว่าอาจจะเป็นไปได้ว่าเกิดจากการที่ผู้บริหารยังไม่เข้าใจและไม่รู้ว่าจะบูรณาการงานทั้งสองส่วนนี้เข้ากันได้อย่างไร ซึ่งก็คือ ‘ปัญหาของการวิจัยครั้งนี้’ และกระบวนการวิจัยทั้งหมดคือการหาและนำเสนอรูปแบบรูปแบบการบูรณาการระบบประกันคุณภาพภายในกับการบริหารสถานศึกษา และผู้วิจัยเลือกที่จะศึกษาสถานศึกษาขนาดกลาง เพราะเห็นว่ารูปแบบที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้จะสามารถปรับ หรือประยุกต์ใช้กับสถานศึกษาขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ได้ต่อไป 

จากสาระข้างต้นจะเห็นได้ว่าการออกแแบบโครงสร้างสาระและข้อมูลที่จะนำเสนอไว้ครบทั้ง 3 ส่วน คือส่วนที่ว่าด้วยเรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร เรื่องนี้มีสภาพปัญหาอย่างไร และสุดท้ายปัญหาที่จะนำมาวิจัยนั้นคืออะไร ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น 

ถ้าผู้วิจัยชัดเจ็นในหลักคิดข้างต้น ถือว่าสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่งครับ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือการหาข้อมูลมาสนับสนุนการเขียนตามโครงสร้างสาระและข้อมูลที่ออกแบบไว้ และวิธีการงานวิชาการ ซึ่งขออนุญาตแยกเขียนไว้อีกบทเขียนครับ 

โชคดีนะครับ จุ๊บ ๆ 

สมาน อัศวภูมิ 

รายการอ้างอิง

สมาน อัศวภูมิ. (2558). รูปแบบการบูรณาการระบบการประกันคุณภาพภภายในกับการบริหารสถานศึกษาสำหรับสถานการศึกษาขั้นพื้นฐานขนาดกลาง. อุบลราชธานี: อุบลกิจออฟเซต. 

หมายเลขบันทึก: 711957เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2023 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2023 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท