๔๗. ห้วยฮ่องไคร้..ไปมาแล้ว


 ดังมีพระราชดำริว่า "ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" หรืออีกนัยหนึ่งเป็น "สรุปผลการพัฒนา" ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้"

          เคยตั้งใจที่จะทำตามฝัน แล้วก็ลงมือทำได้จนสำเร็จสมประสงค์ โดยมีโอกาสได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

          ชื่ออย่างเป็นทางการก็คือ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่” ตั้งอยู่ อ.ดอยสะเก็ด ห่างจากตัวเมืองราวๆ ๕๐ กม.

            ผมลงจากรถไฟตอนเจ็ดโมงเช้า เดินหาโรงแรมที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟที่สุด จากนั้นก็อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ลงมากินอาหารเช้าที่หน้าโรงแรม ก่อนที่จะติดต่อว่าจ้างรถแดงให้ไปส่งยังที่หมายปลายทาง

          ภายในตัวเมืองเชียงใหม่ จะมีรถสองแถวสีแดงเป็นจำนวนมาก ทำให้ผมไม่ต้องรอนาน ตกลงราคาเป็นที่เรียบร้อย โดยผมเช่าเหมาแบบไปกลับ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ น - ๑๔.๐๐ น.

          ก่อนขึ้นรถ..ผมบอกคนขับว่า อยากกินกาแฟ ช่วยแวะร้านข้างทางที่มีวิวสวยๆด้วยนะ พอรถวิ่งมาได้ไม่นาน ก็เข้าเขต อ.ดอยสะเก็ด คนขับก็จอดรถให้ผมลิ้มลองกาแฟดำที่อร่อยมากๆ ชื่อร้านเหมือนกับบ้านเพื่อนผมเลย คือ“บ้านกาแฟ”ที่ผมเริ่มจะคุ้นเคยมากขึ้น

          กาแฟดำทำให้รู้สึกสดชื่นกระฉับกระเฉง หูตาสว่างไสว แต่มองไปทางไหนจะไม่เห็นทิวเขาและป่าไม้ ทัศนียภาพของเชียงใหม่ยามนี้ ถูกบดบังด้วยฝุ่นละอองที่คล้ายหมอกควัน ทำให้ร้อนอบอ้าวพอสมควร

          สิบโมงครึ่ง รถแดงประจำตำแหน่งของผมก็ถึงห้วยฮ่องไคร้สมใจปรารถนา ผมเห็นรถทัวร์ปรับอากาศสองชั้นขับออกมา คงพานักท่องเที่ยวกลับเข้าเมือง ภายในศูนย์ศึกษาฯจึงยังคงเหลือเพียงผมกับคนขับรถเท่านั้น ที่เดินสนทนาและถ่ายรูปให้กัน

          ผมเดินไปตั้งหลักที่สำนักงานประชาสัมพันธ์ซึ่งไม่พบใครเลย จึงยืนอ่านป้ายข้อมูลและแผนผังที่บ่งบอกฐานการเรียนรู้อย่างมากมาย หากมาวันธรรมดาก็คงมีวิทยากรนำพาพร้อมบรรยายพิเศษอย่างแน่นอน แต่ตอนนี้ขอศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ก่อนที่จะเดินต่อไป

          ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อกำเนิดจากการที่ได้รับพระราชดำริเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2525 พระราชประสงค์ที่จะให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลองที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตัวเองต่อไป

         โดยทำการศึกษาพัฒนาป่าไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนคงความชุ่มชื้นเอาไว้เป็นประโยชน์อย่างที่ 4 และ พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลัก 

         โดยต้นทางเป็นการศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธารและปลายทางเป็นการศึกษาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ผสมกับการศึกษาด้านการเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎร ที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆในศูนย์ฯ แล้วนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไป 

          ดังมีพระราชดำริว่า "ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" หรืออีกนัยหนึ่งเป็น "สรุปผลการพัฒนา" ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้"

          ผมใช้เวลาเยี่ยมชมประมาณ ๒ ชั่วโมง ก็พอจะเข้าใจแนวทางการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ในโครงการพระราชดำริ แต่ด้วยพื้นที่ที่กว้างใหญ่ไพศาลมากและเวลาของผมก็มีจำกัด ตลอดจนสภาพอากาศก็ไม่ค่อยจะเป็นใจนัก ผมจึงขอกลับเข้าเมืองเชียงใหม่

          โดยบอกคนขับรถแดงว่า ขอไหว้พระสัก ๒ วัด คนขับก็จัดให้ผม ประกอบด้วยวัดพระธาตุดอยสะเก็ดและวัดชัยมงคล ยังแถมให้ผมอีกที่หนึ่ง เป็นตลาดวโรรสเพื่อให้ผมซื้อไส้อั่วกลับมาฝากคนที่บ้านด้วย

          ๑๗.๓๐ น.ได้เวลาขึ้นรถด่วนพิเศษกลับบ้าน ปลายทางอยู่ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ผมหลับมาตลอดทาง คงจะอ่อนเพลียจากการเดินและสัมผัสฝุ่นละอองในห้วยฮ่องไคร้ แต่ถึงอย่างไรผมก็รู้สึกดีใจว่าครั้งหนึ่งในชีวิต..ผมได้ไปเที่ยวชม..ห้วยฮ่องไคร้..เป็นที่เรียบร้อย

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๖  มีนาคม  ๒๕๖๖

หมายเลขบันทึก: 711902เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2023 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2023 20:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ในที่สุด ก็สมความตั้งใจนะครับ ท่าน ผอ. ;)…

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท