๑๐๑๓. ทักษะภาวะผู้นำ


ทักษะภาวะผู้นำ

สภาวะผู้นำ (Leadership) เป็นอีกหนึ่งสมรรถนะ (Competency) เป็นปัจจุบันเป็นสมรรถนะหนึ่งของสมรรถนะทางการบริหาร นับจากภาครัฐเกิดการปรับเปลี่ยนเรื่องของการเป็นผู้บังคับบัญชา นั่นหมายถึงการใช้อำนาจในการบังคับบัญชาจากอดีต ซึ่งบางรายใช้อำนาจกันในทางที่ผิด ๆ ใช้อำนาจเกินตำแหน่งหน้าที่การงาน แม้ว่าจะมีตำแหน่งสูงขึ้น และนำอำนาจดังกล่าวมาใช้แบบไม่ถูกต้องตามสายบังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา

แต่ผู้เขียนกลับมองว่า เป็นการเข้าใจผิดของบุคคลผู้นั้นมากกว่า เมื่อได้ตำแหน่งสูงขึ้น คิดว่าตนเองมีอำนาจเหนือฟ้า คิดจะทำสิ่งใด ๆ ก็ได้…หาใช่เป็นแบบนั้น การมีภาวะผู้นำจึงได้นำมาใช้กับทุก ๆ คนในองค์กรที่จะสามารถนำพาองค์กรให้ขับเคลื่อน และพัฒนาเป็นองค์กรคุณภาพมากยิ่งขึ้นมากกว่า จึงนำคำว่า “ผู้นำองค์กร” ต้องมีสภาวะผู้นำ โดยการใช้อำนาจเพียงตามอำนาจหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติ หากคน ๆ นั้น ใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้อง นั่นก็หมายถึง คน ๆ นั้น ต้องมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองนั้นได้กระทำ เรียกว่า เป็นอัตลักษณ์ของผู้นำคนนั้นมากกว่า

ความหมายของคำว่า “สมรรถนะทางการบริหาร” หมายถึง คุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่กำหนดสำหรับตำแหน่งประเภทผู้บริหาร เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางการบริหารให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

สำหรับความหมายของสภาวะผู้นำ (Leadership) นั้น หมายถึง ความสามารถ หรือความตั้งใจที่จะรับบทในการเป็นผู้นำของกลุ่ม กำหนดทิศทาง เป้าหมาย วิธีการทำงานให้ทีมปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่น เต็มประสิทธิภาพและบรรลุประสงค์ของส่วนราชการ หรือองค์การ…ในความหมายจริง ๆ แล้ว การใช้อำนาจหน้าที่ของผู้นำนั้น ขึ้นอยู่กับตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และรับผิดชอบในงานที่ตนเองอยู่ในตำแหน่งนั้น ๆ…หากปฏิบัติเกินเลยอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ ก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองนั้นได้กระทำไม่ว่าสิ่งที่ทำนั้นดี หรือไม่ดี ปัจจุบันผู้นำต้องปฏิบัติตามหลักของกฎหมายของประเทศชาติ และต้องปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลของบ้านเมือง เพื่อทำให้บุคลากรผู้ที่ทำงานร่วมด้วยในทีมนั้น มีความรักองค์กร ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลยิ่งขึ้น…ในความเป็นจริง หากศึกษาในยุคสมัยก่อนแล้ว การเป็นผู้บังคับบัญชา-ผู้ใต้บังคับบัญชา ก็มิได้แตกต่างจากการที่ผู้บริหาร หรือคนที่ทำงานต้องมีสภาวะผู้นำสักเท่าไร…ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล คนนั้น ว่ามีความรู้ ความเข้าใจในบทบาท หรือตำแหน่งที่ตนเองได้รับมากกว่า…จะเห็นได้ว่า บางคนก็เป็นผู้บังคับบัญชา ผู้นำที่ดี บางคนก็เป็นผู้บังคับบัญชาที่ไม่ดี ผู้นำที่ไม่ดี ตามที่พวกเราได้สัมผัสมา…สภาวะผู้นำ จึงเป็นพฤติกรรมของแต่ละคนที่ภาครัฐนำมาสร้างเพื่อให้เกิดเป็นผู้นำที่ดี เก่งในทุกองค์การ หรือทุกส่วนราชการ 

เพราะการเป็นผู้นำที่ดี เป็นผู้นำที่เก่งจะเป็นผู้ที่นำพาส่วนราชการ หรือองค์การได้เกิดการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น สำหรับการวัดระดับสภาวะผู้นำนั้น คือ วัดในแต่ละระดับ ตั้งแต่ ๐ อย่าลืมว่า!!! ระดับสมรรถนะนี้ คือ การพัฒนาคน โดยไต่ระดับตั้งแต่ ๐ คือ ไม่มี ไปจนถึงระดับ ๕ ซึ่งเป็นสมรรถนะที่สูงสุด…และระดับที่ ๑ - ๕ จะต้องมีระดับตั้งแต่ต้น และมีความสัมพันธ์ สอดคล้องกันขึ้นไป เห็นถึงการพัฒนาการเป็นผู้นำที่ดีและมีคุณภาพยิ่งขึ้น เหมาะสมกับการที่จะเป็นผู้นำของหน่วยงาน และองค์กรได้…

หากส่วนราชการหรือองค์การกำหนดค่าเป้าหมาย (ค่าความคาดหวัง) ไว้ เช่น ค่าเป้าหมายอยู่ในระดับ ๓ แล้ว หากผู้เขียนสามารถเขียน หรือนำเอกสาร หลักฐานมาแสดงให้เห็นว่ามีสมรรถนะที่อยู่ในระดับที่เหนือขึ้นไป เช่น ระดับ ๔ หรือ ๕ ได้ ก็สามารถทำได้ เพราะนั่นแสดงถึงว่า ส่วนราชการหรือองค์การนั้น มีบุคลากรที่มีคุณภาพทำงานให้กับส่วนราชการหรือองค์กรนั้น ๆ อยู่ (ในการที่จะเขียนบรรยายแล้ว ควรมีร่องรอย หลักฐาน หรือเอกสารที่แสดงให้เห็นถึงสมรรถนะนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน) ในการวัดพฤติกรรมของผู้นำนั้น สามารถวัดได้ ดังนี้

ระดับที่ ๐ : ไม่แสดงสมรรถนะด้านนี้ หรือแสดงอย่างไม่ชัดเจน หมายถึง บุคคลคนนั้นไม่มีการแสดงออกถึงสมรรถนะด้านการเป็นผู้นำเลย เรียกว่า ไม่เหมาะที่จะขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าแสดงความคิด ไม่กล้าปกป้องลูกทีมในองค์กร ไม่กล้ารับบทบาทของการเป็นผู้นำ และไม่กล้าตัดสินใจในสิ่งที่ต้องกระทำ ฯลฯ

ระดับที่ ๑ : ดำเนินการประชุมได้ดี และคอยแจ้งข่าวสารความเป็นไปโดยตลอด หมายถึง สามารถดำเนินการประชุมให้เป็นไปตามระเบียบวาระของการประชุม ตามวัตถุประสงค์และเวลา ตลอดจนมอบหมายงานให้แก่บุคคลในกลุ่มของตนเองได้ หรือ แจ้งข่าวสารให้ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจได้รับทราบอยู่เสมอ แม้ไม่ได้ถูกกำหนดให้ต้องกระทำ หากพิจารณาดี ๆ แล้ว สิ่งที่กล่าวมา นั่นคือ การมีความรับผิดชอบ แม้ไม่ใช่หน้าที่ หรือแม้แต่ถ้าหากพูดออกไปแล้วจะมีผลกระทบต่อผู้นำก็ตาม ต้องรู้จักที่จะสื่อสารให้ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบได้ทราบ โดยการได้อธิบายเหตุผลในการที่ต้องตัดสินใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ…คนที่ไม่มีภาวะผู้นำในระดับนี้ จะไม่กล้าแสดงออกทางการสื่อสาร ทำให้เกิดปัญหาต่อองค์การได้

ระดับที่ ๒ : ต้องเป็นผู้นำที่แสดงในระดับที่ ๑ แล้ว และเป็นผู้นำในการทำงานของกลุ่มและใช้อำนาจอย่างยุติธรรม หมายถึง ต้องส่งเสริมและกระทำการเพื่อให้กลุ่มปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยให้กำลังใจในการทำงาน ชี้แจงกลุ่มด้วยเหตุและผลในการทำงาน หรือ มีการกำหนดเป้าหมาย ทิศทางที่ชัดเจน จัดกลุ่มงานและเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน หรือกำหนดวิธีการที่จะทำให้กลุ่มทำงานได้ดีขึ้น คือ การใส่คนให้ตรงกับงาน (Put The Right Man On The Right Job) เพราะจะทำให้ได้ผลงานออกมาดี มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น และอาจมองทิศทาง เป้าหมายของงานได้อย่างชัดเจนด้วยการบอกถึงวิธีการทำงานให้ตรงเป้าหมาย พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น หากมีการเสนอแนะ แนะนำวิธีการทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเกิดผลดีต่อองค์กรด้วย ไม่ยึดติดแต่ความคิดเห็นของตนเองเป็นที่ตั้ง หากพิจารณาแล้ว ไม่เห็นด้วย ควรใช้วิธีการตัดสินใจของกลุ่ม และบอกเหตุผลของตนเองว่ามีความคิดขัดแย้ง ไม่เห็นด้วย หากเห็นด้วย ผลออกมาจะเป็นเช่นไร หากเกิดขึ้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยการให้กลุ่มร่วมกันตัดสินใจ…หากอยู่ในการประชุม ควรใช้วิธีจดบันทึกข้อคิดเห็น ความขัดแย้งไว้ด้วย เพราะอาจแสดงถึงผลที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน…การเป็นผู้นำนั้นต้องเป็นผู้ที่สร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานต่อบุคลากรในกลุ่มทำงานด้วยกัน…มิใช่เอาแต่พรรคพวกของตนเอง และมองอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนแปลกหน้า เสมือนการเล่นพรรค เล่นพรรค ซึ่งมิควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นแสดงถึงคน ๆ นั้น ไม่มีความเที่ยงธรรม และเลือกปฏิบัติ ไม่มีธรรมาภิบาลอยู่ในจิตใจ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ในกลุ่มขององค์การ…และต้องปฏิบัติตนต่อทุกคนในองค์การด้วยการมีความยุติธรรม ด้วยการกระทำตนเสมอต้น เสมอปลาย ประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง หรือต้นแบบของผู้นำในองค์กรให้ได้และให้เป็น

ระดับที่ 3 : แสดงสมรรถนะระดับที่ 2 ด้วยแล้ว และให้การดูแลและช่วยเหลือทีมงาน หมายถึง เป็นที่ปรึกษาและช่วยเหลือทีมงานได้และเป็น ไม่เกี่ยงหรือปัดความรับผิดชอบที่จะเป็นที่ปรึกษา และช่วยเหลือทีมงาน ทั้งในทีมของตนเองและบุคคลอื่นได้…สามารถปกป้องทีมงานและปกป้องชื่อเสียงของส่วนราชการ หรือองค์การมิให้เกิดการเสื่อมเสียชื่อเสียงขึ้นได้…สามารถจัดหาบุคลากร ทรัพยากรอื่น เช่น เครื่องอำนวยความสะดวกในการทำงาน (คอมพิวเตอร์ วัสดุอื่น พัสดุต่าง ๆ ที่เป็นของใช้ต่อการทำงาน ฯลฯ) หรือข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ ที่ตนเองทราบ หรือขวนขวายมาให้กับทีมงาน เพื่อทำงานนั้นดำเนินการอย่างสะดวก และสำเร็จได้

ระดับที่ ๔ : แสดงสมรรถนะระดับที่ ๓ และประพฤติตนสมกับเป็นผู้นำ หมายถึง สามารถกำหนดธรรมเนียมปฏิบัติ ประจำกลุ่มและประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของธรรมเนียมปฏิบัตินั้น…เช่น การประพฤติตนให้เป็นแบบอย่าง ต้นแบบต่อการทำงาน ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี…การรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน การมีสัมมาคารวะต่อทุกคน การให้เกียรติทุกคน การให้ความเคารพต่อผู้เข้าร่วมประชุม การรู้จักแยกแยะงานออกจากเรื่องส่วนตน การไม่เลือกปฏิบัติ การให้ความเป็นธรรมต่อทุก ๆ คน การมีธรรมาภิบาลในการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา สามารถทำตนให้เป็นที่พึ่งพาของผู้อื่นได้ด้วยความเป็นธรรม เป็นต้น

ระดับที่ ๕ : แสดงสมรรถนะระดับที่ ๔ และนำทีมงานให้ก้าวไปสู่พันธกิจระยะยาวขององค์กร หมายถึง เป็นผู้สามารถรวมใจคนและสร้างแรงบันดาลใจให้ทีมงานเกิดความมั่นใจในการปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วงได้…การทำงานเป็นทีมผู้นำต้องทำงานด้วยการให้ได้ใจลูกน้อง ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับลูกน้องได้ สามารถช่วยเหลือ แนะนำทีมเมื่อยามที่ลูกน้องทำงานแล้วพบปัญหา สามารถเข้าไปร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมช่วยให้ปัญหานั้นประสบผลสำเร็จได้…สามารถทำงานและให้ทีมงานนั้นเกิดความมั่นใจต่อการทำงานนั้นจะบรรลุผลได้ตามเป้าหมายของส่วนราชการหรือองค์การ…เล็งเห็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและมีวิสัยทัศน์ในการสร้างกลยุทธ์เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงนั้น การเป็นผู้นำต้องเป็นผู้ที่เปิดใจยอมรับกับการที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ โดยเฉพาะยุคปัจจุบันนี้ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมาก ผู้นำต้องเป็นผู้ที่เปิดใจยอมรับกับการปรับเปลี่ยน และปรับตัวเองให้เข้าใจถึงสภาพแวดล้อมที่กำลังจะปรับเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นได้ และเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์มองเห็นกาลไกลว่าจะมีสิ่งใดที่อาจจะเกิดขึ้น…หากเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไร รับมือหรือแก้ปัญหาในสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นได้อย่างไร มีวิธีใดบ้างที่จะนำมาแก้ไขในสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพื่อให้ลูกทีมมีความมั่นใจ เชื่อมั่นกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นและวิธีการที่ต้องเตรียมการแก้ไขในสิ่งนั้น เพราะสิ่งเหล่านี้ คือ พันธกิจในระยะยาวขององค์การ หรือส่วนราชการที่ต้องร่วมมือกันทำให้เกิดขึ้นในอนาคต

ที่กล่าวมาข้างต้น…เป็นเพียงการอธิบายถึงสภาวะของการเป็นผู้นำของส่วนราชการหรือองค์การ…แล้วท่านล่ะเป็นผู้นำถึงในระดับใด…หากผู้นำท่านใดที่ยังไปไม่ถึงระดับที่ ๕ ควรหมั่นฝึกฝนตนเอง ลงมือปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้ด้วยการพัฒนาตนเอง เรียนรู้ เปิดใจรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ให้ได้ เพราะยุคปัจจุบันนี้ เรามักจะพบเจอกับคำว่า “ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน และความไม่แน่นอน คือ ความแน่นอน อยู่เสมอ”…จงเรียนรู้ และเปิดใจยอมรับกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ณ ยุคนี้

ในความคิดของผู้เขียน…ในอนาคต หากส่วนราชการ หรือองค์การสามารถนำเครื่องมือ เช่น เทคโนโลยีมาปรับใช้เป็นแหล่งที่ช่วยทำ หรือถอดความรู้ บทเรียนของมนุษย์ลงสู่คอมพิวเตอร์ได้ด้วยการใช้เป็น Platform ของพฤติกรรมมนุษย์ ก็สามารถช่วยบรรเทางานที่คนทำงานต้องมานั่งถอดความรู้ของตนเองออกมาเป็นกระดาษ (Paper) ได้เช่นกัน เพราะจะเป็นการประหยัดเวลา เอกสารได้อย่างมากมาย เป็นการสร้างระบบของการทำงานด้านมนุษย์ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น…ด้วยการเข้าสู่ระบบ HR ๕.๐ Digital HR System ด้วยการทำ Platform เข้ามาช่วยในการทำงานได้มากขึ้น และสามารถเชื่อมโยงคนในอนาคตได้เป็นอย่างดีและเป็นคนที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น สามารถระบุบอกใครต่อใครได้ว่า คน ๆ นั้น เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ขึ้นได้อย่างแท้จริง…เพื่อปิดช่องโหว่ของการที่ไม่สามารถบอกใครได้ว่า ขึ้นมาเป็นผู้นำจากการไม่สามารถบอกใคร ๆ ได้ว่า เป็นผู้นำที่ดี และเก่งจริงหรือไม่ หรือมาตามระบบพรรคพวกของใครนำขึ้นมา…และจะทำให้เห็นถึงวิวัฒนาการของการใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย Support และช่วยพัฒนางานให้เกิดประโยชน์ขึ้นได้อย่างแท้จริง

บางท่านบอกว่า “ไม่จำเป็นต้องเขียนแบบจริงจังก็ได้”…ใช่หรือไม่ ในเมื่อภาครัฐต้องการให้เกิดกับผลของมนุษย์จริง ๆ แล้วใยมาบอกหรือพูดแบบนี้ “ใช่หรือไม่”…หากไม่ลงมือปฏิบัติ ไหนเลยจะเกิดผลขึ้นได้จริง ก็ไม่พ้นกับคำว่า “ผลขึ้นอยู่ที่ปลายปากกามากกว่า”…ดังนั้น ควรนำลงสู่การปฏิบัติจริงให้ได้ จึงจะเกิดผลขึ้นจริง…"จริงจังแค่ไหน ๆ เรียกว่า จริงจัง"…ฝากไว้ให้คิดค่ะ เพราะนี่คือ การสร้างระบบงานทางด้าน HR ค่ะ แล้วส่วนราชการหรือองค์การของท่านมี Platform รองรับสมรรถนะดังกล่าวแล้วหรือยัง?…

เขียนจากประสบการณ์ในการทำงานว่า…ครั้งหนึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการกองบริหารงานบุคคล

***************************

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาอ่านบันทึกนี้ค่ะ

บุษยมาศ แสงเงิน

๑ มีนาคม ๒๕๖๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 711823เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2023 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มีนาคม 2023 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท