๑,๓๔๘ ถอดบทเรียน RT ชั้น ป.๑


วิชาที่สองว่าด้วย “การอ่านรู้เรื่อง”ซึ่งประกอบด้วยการอ่านรู้เรื่องคำจับคู่ การเล่าเรื่องจากภาพ การอ่านรู้เรื่องประโยค และการอ่านรู้เรื่องข้อความ หรือในสมัยก่อนๆ ที่เราเรียกว่า.การอ่านเอาเรื่องนั่นเอง

          Reading Test หรือ RT เป็นการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน ชั้น ป.๑ ในช่วงปลายปีการศึกษา ปีนี้จัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖

          แบบทดสอบส่งมาจากส่วนกลาง จัดทำโดยสำนักทดสอบและประเมินผลทางการศึกษา ของ สพฐ. ครูจึงเข้าใจตรงกันว่า นี่คือการทดสอบระดับชาติ ที่มีมาตรฐานที่สุดแล้ว

          แต่ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไม? สพฐ.จึงส่งไฟล์แบบทดสอบมาให้โรงเรียนจัดพิมพ์เอง ก่อนสอบ ๒ วัน จะอ้างว่าไม่มีงบประมาณ ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะนี่คือหัวใจของงานวิชาการที่สำคัญยิ่ง

          บางทียังคิดว่า สพฐ.ต้องการสองอย่างพร้อมกัน คือ ตัวเลขผลสัมฤทธิ์เพื่อไปนำเสนอเจ้านายและผลลัพธ์ที่ได้ให้ครูไปปรับปรุงการสอน สรุปแล้วความน่าเชื่อถือ ย่อมจะน้อยลงทุกที

          ในส่วนของโรงเรียน ผมบอกครูว่าอย่าไปสนใจ ให้ครูธุรการดำเนินการจัดพิมพ์ ส่วนครูประจำชั้น ป.๑ อย่าได้นำแบบทดสอบมาเปิดเผย ให้การทดสอบครั้งนี้เป็นธรรมชาติเชิงประจักษ์

          เพราะผมต้องการถอดบทเรียนจากการทำงาน ซึ่งผมมีส่วนร่วมในการสอนชั้น ป.๑ อยู่ด้วย เตรียมการกันมาหลายเดือน ด้วย”นวัตกรรมที่หลากหลาย” ใช้เวลาและแรงกายหมดไปมิใช่น้อย

          เหตุผลที่ต้องทุ่มเท เนื่องจากนักเรียนกลุ่มนี้ ประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา และหากครูได้พัฒนาขึ้นมาได้ นั่นหมายถึงการเลื่อนชั้นต่อไปนั้น นักเรียนจะไม่มีปัญหาด้านการเรียนรู้

          ผลการสอบครั้งนี้ผมมีความคาดหวังว่าผลที่ออกมา จะทำให้ครูชั้นอนุบาล ๓ ต้องมีทิศทางในการจัดประสบการณ์ที่ชัดเจน ครูชั้นป.๑ ในปีการศึกษาใหม่จะต้องเน้นย้ำผู้เรียนในด้านใดบ้าง และครูป.๒..ต้องแก้ปัญหาในส่วนใดเป็นพิเศษ

          เพราะนี่คือผลสะท้อนที่ได้จากการสอบ “การอ่าน”อย่างแท้จริง เป็นตัวชี้วัดว่านักเรียนจะพัฒนาต่อไปได้มากน้อยแค่ไหน และผลการสอบในวันนี้ อาจจะช่วยลดปัญหาของครูป.๓ (NT) และ ป.๖ (ONET) ก็เป็นได้

          ผมเสนอชื่อให้นักเรียนชั้นป.๑ เข้าสอบ ๑๐ คน แต่ขาดสอบ ๑ คน คือ “อริส” ซึ่งถูกสุนัขกัดต้องเย็บถึง ๖ เข็ม ไม่ได้มาเรียนกว่า ๒ สัปดาห์ เมื่อไม่พร้อมก็ไม่ควรจะให้เข้าสอบ

          การสอบมี ๒ วิชา วิชาแรกว่าด้วย “การอ่านออกเสียงคำและประโยค” คะแนนเต็ม ๕๐ คะแนน ความยอดเยี่ยมต้องยกให้เด็กชาย ๓ คน คือ เป๊ค มังกร และวินเนอร์ ได้คะแนนเกือบเต็ม

          ส่วนเด็กชายฟีฟ่า ออมสินและหมอก อยู่ในระดับดี ในส่วนของเด็กชายเฟรม ที่ผมเป็นห่วง กลับอ่านได้ดี ผลเป็นที่น่าพอใจ เด็กหญิงการ์ตูนคะแนนไม่ต่ำมาก แต่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น

          สุดท้ายคือเด็กชายม่อน...ได้คะแนนต่ำสุดคือ ได้ ๓๒ จาก ๕๐ ซึ่งม่อนเป็นเด็กที่เรียนรู้ได้แต่ค่อนข้างช้าๆเนือยๆ ซึ่งผมพามาเข้ากลุ่มเพื่อต้องการจะพัฒนา ผลออกมาเช่นนี้ ก็ถือว่าดีแล้ว

          วิชาที่สองว่าด้วย “การอ่านรู้เรื่อง”ซึ่งประกอบด้วยการอ่านรู้เรื่องคำจับคู่ การเล่าเรื่องจากภาพ การอ่านรู้เรื่องประโยค และการอ่านรู้เรื่องข้อความ หรือในสมัยก่อนๆ ที่เราเรียกว่า.การอ่านเอาเรื่องนั่นเอง

          การอ่านรู้เรื่องคำจับคู่ คือหาความสัมพันธ์ระหว่างคำกับภาพ ซึ่งนักเรียนทุกคนทำได้ การเล่าเรื่องจากภาพ คือเขาให้ภาพมา นักเรียนต้องเขียนเป็นประโยคเล่าเรื่องให้ได้ อันนี้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด นักเรียนเขียนประโยคได้

          ปัญหาใหญ่ที่สุดจะอยู่ที่ การอ่านรู้เรื่องประโยคและการอ่านรู้เรื่องข้อความ..ที่ข้อสอบจะเป็นแบบปรนัยให้เลือกตอบ(กากบาท ก ข ค ) ข้อสอบจะเป็นแบบให้คิด วิเคราะห์ สังเกต ให้นักเรียนดูภาพหรืออ่านข้อความก่อน แล้วจึงไปหาคำตอบ ก ข ค

          นักเรียนส่วนใหญ่ทำคะแนนได้น้อยกว่าที่ควร มีโดดเด่นอยู่เพียง ๒ คน คือเป๊คกับวินเนอร์ น่าเสียดายที่เด็กชายมังกร ได้คะแนนต่ำกว่ามาตรฐานทั้งที่อ่านเก่งมาก ส่วนฟีฟ่า ครูบอกว่าไปเสียเวลากับการเขียนประโยคทำให้ทำข้อสอบไม่ทัน จึงได้คะแนนน้อย ซึ่งเด็กหลายคนก็เป็นเหมือนฟีฟ่า

          ผมรู้สึกเสียดายและผิดหวังเล็กน้อย ในฐานะที่เป็นครูผู้สอนคนหนึ่ง ที่ทุ่มเทให้กับการอ่านสะกดตัวผสมคำมากเกินไป จนลืมเฉลียวใจ ในการวิเคราะห์องค์ประกอบของข้อสอบทั้งหมด

          การสอบ RT ครั้งนี้ จึงถือเป็นบทเรียนของผม ที่จะหันไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากภูมิใจเพียงด้านเดียวคือเด็กป.๑ ที่ผมฝึกทักษะอย่างใกล้ชิด จนทำให้เด็กกล้าอ่านและอ่านออก ไปจนถึงอ่านคล่องได้หลายคน 

         ส่วนการอ่านจับใจความ อ่านแล้วรู้เรื่องและตอบคำถามได้ ที่ต้องใช้การฝึกฝนที่จริงจังและต่อเนื่อง ตลอดจนใช้เครื่องมือที่หลากหลายนั้น ยังคงเป็นปัญหาของนักเรียนบ้านหนองผือต่อไป 

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๒๔  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๖

          

          

     

    

หมายเลขบันทึก: 711776เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2023 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2023 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สมัยหนูมีแต่อ่านเอาเรื่องค่ะ…เป็นกำลังใจให้”ครู”นะคะ การวิเคราะห์ข้อสอบเป็นแนวทางที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้บริบทและมิติอื่นๆด้วยค่ะ…หนูได้ดีเพราะครูดีค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท