ชีวิตช่าง “อันธการ” สมดังชื่อ - นวนิยายเรื่องอันธการ ของทมยันตี


“ความหวังทำให้ชีวิตอยู่ต่อได้ แต่นวนิยายเรื่องนี้ไม่มีแม้แต่ความหวัง”

          “ความหวังทำให้ชีวิตอยู่ต่อได้ แต่นวนิยายเรื่องนี้ไม่มีแม้แต่ความหวัง” เมื่ออ่านนวนิยายเรื่อง “อันธการ” จบ หลายความรู้สึกวิ่งเข้าใส่จนหายใจไม่ออก ทั้งอึดอัด อัดอั้น และสลดหดหู่ จนต้องลุกขึ้นไปเปิดไฟทุกดวงที่มีอยู่ เพื่อหวังว่าความสว่างนั้นจะไปช่วยให้ชีวิตอันมืดมนของ “เธอคนนั้น” ได้มีจุดสีขาวบ้างแม้เพียงสักเล็กน้อย อันธการเป็นนวนิยายที่หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ดาร์ก” ที่สุดในงานเขียนนวนิยายทั้งหมดของทมยันตี หากใครอ่าน “สองชีวิต” “ใบไม้ที่ปลิดปลิว” หรือ “ล่า” ของทมยันตีแล้วรู้สึกมืดมน ผู้วิจารณ์ขอบอกให้ท่านทราบว่า ความรู้สึกเหล่านั้นเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของ อันธการ นวนิยายที่สร้างจากชีวิตจริงของหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม แต่ให้เรียกเธอว่า “อันธการ” ที่แปลว่า ความมืดมน

          นักเขียนผู้ที่เป็นเจ้าของผลงานวรรณกรรมแนวสะท้อนชีวิตและสังคม วิมล เจียมเจริญ (ทมยันตี) ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2555 นวนิยายของทมยันตีมีพลังทางวรรณศิลป์อย่างสูง สามารถโน้มน้าวอารมณ์ผู้อ่านให้เพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่อง ตัวละครมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะตัวละครหญิงที่สื่อภาพลักษณ์ออกมาได้อย่างเด่นชัด บทสนทนาของตัวละครเป็นจุดเด่นเพราะใช้ภาษาที่สื่ออารมณ์ได้เข้มข้น เชือดเฉือนใจ และมักสะท้อนชีวิตและสังคมที่เปี่ยมไปด้วยความจริงอันน่าขมขื่นได้อย่างน่าประทับใจ นวนิยายของทมยันตีจึงไม่เพียงให้ความสลดหดหู่ แต่กระตุ้นถึงจิตวิญญาณของผู้อ่านด้วย

          หากใครติดตามผลงานของ วิมล เจียมเจริญ จะทราบดีว่าท่านมีนามปากกา 6 ชื่อไว้ใช้เฉพาะกับงานเขียนแนวต่าง ๆ “ทมยันดี” เป็นนามปากกาที่ใช้เฉพาะงานเขียนแนวสะท้อนชีวิตและสังคม ทมยันตีเป็นที่รู้จักในเรื่องการแต่งนวนิยายสีดำได้ขยี้ใจคน นวนิยายหลายเรื่องเป็นที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลายว่าชีวิตของตัวละครช่างอาภัพและน่าหดหู่จนไม่อาจเชื่อได้ว่าชีวิตเช่นนี้จะมีจริงบนโลก และในความหดหู่นั้นทำให้ผลงานของทมยนตีเข้าไปอยู่ในใจใครหลายคน นวนิยายหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ละครเวที และภาพยนตร์ เช่น คู่กรรม ล่า ใบไม้ที่ปลิดปลิว เป็นต้น

          “อันธการ” ผลงานของ ทมยันตี เป็นหนึ่งในวรรณกรรมสะท้อนสังคมและบริบทของผู้หญิง ซึ่งสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม นำงานเขียนแนวนี้มาเสนอผ่าน ‘ซีรี่ส์นี้ซีเรียส’ Project One อันประกอบด้วยนิยาย 4 เรื่องคือ อันธการ ใบไม้ที่ปลิดปลิว ล่า และ สองชีวิต ด้วยอันธการเป็นเรื่องราวที่สร้างจากชีวิตจริงของผู้หญิงคนหนึ่ง ทมยันตีจึงไม่ประสงค์จะออกนามที่แท้จริงของเธอ ได้ตั้งชื่อเธอตามเส้นทางชีวิตที่เธอประสบ

          “นวนิยายสีดำ” คำที่ผู้วิจารณ์นิยามให้กับนวนิยายเรื่อง อันธการ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่านวนิยายเรื่องนี้มีเพียงความมืดมน ชีวิตของตัวละครถูกปูด้วยเส้นทางสีดำอย่างสมบูรณ์ ไม่มีแม้แต่สีขาวเล็ก ๆ มาแต้ม ซึ่งลักษณะดังกล่าวของนวนิยายทำให้นักอ่านหลายคนรู้สึกขยาดที่จะหยิบมาอ่านซ้ำ เพราะอันธการแตกต่างไปจากนวนิยายเรื่องอื่นของทมยันตี เช่นเรื่อง ล่า ที่กล่าวถึงการโต้ตอบต่อสู้กลับของหญิงผู้ชอกช้ำระกำใจ แม้จะหดหู่เพียงใดแต่ก็ยังมีแสงสว่างและทางออกให้เดินบ้าง ในทางกลับกัน อันธการ เป็นนวนิยายที่ผู้เขียนนำเสนอให้ ‘เธอ’ เป็นเหยื่อ เหยื่อที่แม้จะหาทางสู้ยังหาไม่ได้ เส้นทางชีวิตเหมือนตกอเวจีซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทั่งยามที่อยู่ในจุดต่ำสุดของชีวิตโชคชะตายังกลั่นแกล้งให้ต้องทนทุกข์ระทม แม้แต่ความตายเพื่อจบสิ้นความขมขื่นทมยันตียังไม่หยิบยื่นให้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผู้วิจารณ์เห็นว่า “ชีวิตของ “เธอคนนั้น” ช่างอันธการสมดังชื่อ” และผู้วิจารณ์เห็นว่า เรื่องราวของอันธการเป็นการตีแผ่ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้อย่างลึกซึ้ง เหมาะแก่การนำมาถ่ายทอดให้นักอ่านหลายท่านได้มีใจอยากหยิบ อันธการ ขึ้นมาอ่านบ้าง ท่านจะได้ทราบว่าสัจธรรมของชีวิตย่อมมีการนินทาว่าร้าย มีคนคอยจ้องจะเอารัดเอาเปรียบทุกเมื่อ ความอดทนเท่านั้นที่จะเยียวยาให้มีชีวิตอยู่ในสังคมอันโหดร้ายได้

          “อันธการ” เป็นเรื่องราวของหญิงผู้ไม่ประสงค์ออกนามที่แท้จริง เธอเรียกตัวเองว่า “อันธการ” เพราะด้วยชีวิตของเธอนั้นช่างมืดมนสมดังชื่อ เธอกล่าวเล่าเรื่องราวของตนเองด้วยการเขียนที่เสมือนเป็นจดหมายถึงผู้อ่าน เพื่อต้องการเปิดเผยเรื่องราวทุกข์ระทมของตนเอง และหวังว่าผู้อ่านจะมีทางออกจากความทุกข์อันงอกงามที่สุดในชีวิตให้เธอได้ เธอถูกแม่แท้ ๆ ทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลตั้งแต่แรกเกิด เธอเติบโตในโรงพยาบาลรับเลี้ยงเด็กกำพร้า กระทั่งอายุสิบสองปี สองสามีภรรยาเศรษฐีเก่าได้รับเลี้ยงเธอไปอยู่เรือนไม้เก่าแบบเจ้าขุนมูลนายที่รายล้อมไปด้วยหญิงวัยชราหัวโบราณ อันธการได้ซึมซับทั้งคำพูดและกิริยาของผู้เฒ่าจนเพื่อนในชั้นเรียนให้สมญานามว่า “ยายแก่”

          การได้รับการอุปการะจากคุณพ่อคุณแม่เป็นความสุขเดียวที่อันธการได้รับ เพราะเรื่องราวของเธอต่อจากนี้ไม่มีแม้แต่รอยยิ้มปรากฏให้ผู้อ่านได้เชยชม คุณแม่ให้เธอเรียนถึงแค่มัธยมหก เพราะเห็นว่าเกิดเป็นหญิงต้องเชี่ยวชาญงานเรือนมากกว่าหนังสือ แต่ยังคงให้เธอเรียนพิมพ์ดีด ความสวยของเธอเป็นเหตุให้ “ธวัชชัย” ครูสอนพิมพ์ดีดตามตอแยจนคุณแม่ให้ลาออกเพื่อไปทำงานบริษัทของญาติทางคุณพ่อ ชีวิตของอันธการต้องเปลี่ยนแปรผันไปนับจากวันที่เธอสูญเสียคุณแม่ เมื่อสิ้นคุณแม่แล้วชาวบ้านก็ต่างนินทาว่าร้าย ใส่สีตีไข่เธอกับคุณพ่อว่ามีความสัมพันธ์เชิงชู้สาว พอถึงคราวจะมีความรัก รักก็เปี่ยมไปด้วยอุปสรรค ชีวิตเหมือนตกนรกทั้งเป็นเมื่อเธอได้สูญเสีย “วัฒนวงศ์” ชายคนรักไปอีกคน ทว่าก็ยังมีลูกในท้องที่เกิดจากความรักของทั้งสอง แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดดันมารู้ทีหลังว่าเขามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว พอลูกชายเกิดมาโชคชะตากลับกลั่นแกล้งให้เป็นเด็กพัฒนาการช้า ตัวโตเกินวัยแต่สติปัญญาเหมือนทารก ไม่นานเธอได้สูญเสียคุณพ่อและ “คุณศรี” แม่บ้านคนสนิทไป แต่ก็ยังมีบ้านเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายที่ใช้เวลาเป็นปีเพื่อสู้คดีกับญาติโลภมากของคุณแม่ที่ไม่เคยเหลียวแลคุณแม่เลย เคราะห์กรรมของเธอยังไม่จบสิ้น ธวัชชัย สัตว์ในร่างคนบุกรุกเข้าบ้านมากระทำย่ำยีทั้งกายและใจเธอต่อหน้าลูกชายอันเป็นที่รัก ความหวาดกลัวทำให้เธอต้องขายบ้านทิ้งเพื่อหนีความขมขื่นไปอาศัยอยู่ที่ใหม่ เรื่องราวอันมืดมนของเธอยังไม่จบเพียงเท่านี้ ลูกในไส้ที่เธอไม่ได้สงสัยในพฤติกรรมแปลก ๆ หลังจากเห็นเธอถูกกระทำย่ำยีต่อหน้าต่อตา ลงมือข่มขืนเธอได้อย่างเลือดเย็น ผู้เขียนจบเรื่องราวของเธอด้วยความหวาดกลัวที่เกาะกินใจเธอไปตลอดชีวิต นั่นแสดงว่าชีวิตของเธอจะไม่มีแสงสว่างปรากฎให้เห็นดังที่นักอ่านปรารถนาอีกต่อไป

          จากเรื่องย่อจะเห็นได้ว่า โครงเรื่องไม่มีความซับซ้อน ดำเนินเรื่องตามลำดับเวลา มีการสร้างปมได้สะเทือนอารมณ์ตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อกระตุ้นอารมณ์ผู้อ่านให้สั่นคลอน เริ่มต้นเรื่องด้วยการเล่าเรื่องราวของตนเอง เรื่องราวของเด็กกำพร้าที่มีผู้อุปการะคุณรับไปเลี้ยงดู นับจากได้หลุดพ้นจากความอ้างว้างของโรงพยาบาล เธอกลับต้องพบเจอกับประสบการณ์เปี่ยมทุกข์แทน จุดสูงสุดของเรื่องปรากฏในตอนท้าย นั่นคือเหตุการณ์ลูกข่มขืนแม่ เป็นการจบเรื่องได้สะเทือนอารมณ์ผู้อ่านอย่างยิ่ง นวนิยายเรื่องนี้ไม่มีการคลายปมแต่อย่างใด ตัวละครเอกจบเรื่องของตัวเองด้วยการอ้อนวอนขอหนทางแห่งการหลุดพ้นจากความมืดมน ซึ่งไม่มีใครหาหนทางนั้นพบแม้แต่ผู้เขียนและตัวเธอเอง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีความโดดเด่นเรื่องกลวิธีการเล่า ที่ให้ตัวละครเอกเล่าเรื่องราวของตนผ่านการเขียนที่เปรียบเสมือนการระบายความทุกข์ทรมานที่อัดอั้นมาเป็นเวลานานให้ผู้อ่านฟัง แก่นเรื่องหลักที่ผู้เขียนอาจต้องการสื่อคือการตกเป็นเหยื่อทางสังคม ‘เหยื่อ’ จากภัยทางจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง

          ผู้เขียนใช้สำนวนการเขียนได้สมจริงและสอดคล้องกับตัวละคร ตลอดทั้งเรื่องใช้สำนวนไทยและบทกวีในการสอนคุณสมบัติของผู้ดีและงานเรือน สอดคล้องกับตัวละครที่มีลักษณะแบบคนไทยสมัยเก่าที่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ผู้เขียนใช้ภาษาในการบรรยายได้เห็นภาพอย่างน่าอัศจรรย์ใจ บทสนทนามีการสอดแทรกการประชดประชันเสียดสีสังคมอย่างแนบเนียน แต่ผู้เขียนสามารถรับรู้ได้ว่าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคม

          ตัวละครของเรื่องมีความสมจริงและมีอยู่ในสังคมจริง ๆ ผู้เขียนสร้างตัวละคร ‘อันธการ’ ให้เป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อทางสังคม แต่ในความอ่อนแอของเธอนั้นยังแฝงความกล้าหาญที่จะเผชิญกับอุปสรรค ‘คุณผู้หญิง’ หรือคุณแม่ เป็นหญิงชราเจ้าระเบียบ เชี่ยวชาญงานบ้านงานเรือน และหัวโบราณ ‘คุณใหญ่’ หรือคุณพ่อ เป็นชายชราเชี่ยวชาญงานหนังสือ เจ้าระเบียบ และหัวโบราณเช่นกัน องค์ประกอบเหล่านี้มีผลทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีความโดดเด่นด้านการนำเสนอเรื่อง แม้เนื้อเรื่องจะมีเพียงรสของความขมขื่นจากการตกเป็นเหยื่อทางสังคม ไม่ครบรสเหมือนนวนิยายทั่วไป แต่ผู้อ่านก็ประทับใจในความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

          นวนิยายแนวสะท้อนชีวิตและสังคมเรื่องนี้ ไม่ได้ทำเพียงสร้างอารมณ์สะเทือนใจแก่ผู้อ่านเท่านั้น ยังมีการสะท้อนปัญหาสังคมได้อย่างเด่นชัด ได้แก่ การเลี้ยงดูบุตร คนเป็นแม่มักมีความคิดคล้ายกันว่าปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ของลูกไม่สำคัญเท่าการเลี้ยงดูให้เขาได้อยู่ดีกินดี ไม่เฉลียวใจว่าจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้นเป็นจุดแรกที่จะขยายวงปัญหากว้างขึ้น และการได้พูดถึงคนอื่นในทางร้าย การมองหาข้อผิดพลาดจากมนุษย์ด้วยกันได้เหมือนจะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้รู้สึกว่าตนเองผิดพลาดน้อยกว่า และมีข้อปลอบใจว่ายังดีกว่าคนอื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัจธรรมของชีวิต ซึ่งผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นว่าชีวิตจริงไม่ได้สวยงามเหมือนในความฝัน

          เรื่องราวของ อันธการ เสมือนเป็นสารที่ผู้เขียนนำโลกในแง่ร้ายมากระตุ้นเตือนผู้อ่านในฐานะมนุษย์ด้วยกัน ให้ได้สำนึกในสิ่งที่เรากระทำต่อกัน จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม และต้องการสะท้อนสังคมว่าทุกการก้าวเดินของชีวิตขึ้นอยู่กับโชคชะตาและสภาพสังคม เมื่อนำตนไปอยู่ ณ ที่ใด ชีวิตก็จะดำเนินไปตามกระแสกรรมและสภาพสังคมของ ณ ที่นั้น และพึงระลึกไว้เสมอว่าไม่มีใครที่เป็นสุขตลอดกาลได้ในชีวิตจริง

          “อันธการ” เป็นงานเขียนแนวสัจนิยม ซึ่งเขียนจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวให้มีระดับความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการใช้ภาษาสละสลวย อ่านง่าย และสอดแทรกสำนวนไทยในเนื้อเรื่องที่มีเพียงความขมขื่นได้อย่างแยบยล แต่การสอดแทรกสำนวนไทยนั้นอาจไม่เป็นผลดีต่อผู้อ่านที่ไม่มีความรู้เรื่องสำนวน ซึ่งอาจส่งผลให้เข้าใจแก่นเรื่องผิดไปจากทัศนะที่แท้จริงของผู้เขียน และอาจมีอคติต่องานเขียนประเภทนี้ไปเลยก็เป็นได้ ในทางกลับกัน สำนวนไทยช่วยส่งเสริมให้ผู้อ่านที่รู้ความหมายของสำนวนได้ดำดิ่งไปกับชะตากรรมของตัวละครได้อย่างดี

          แม้นวนิยายเรื่องนี้จะไม่ได้มอบความบันเทิงใจให้เหมือนนวนิยายเรื่องอื่น แต่ผู้อ่านจะได้รับข้อคิดจากชีวิตอันมืดมนของอันธการอย่างแน่นอน อันธการจะให้ทั้งความขมขื่น ความอึดอัดใจ จนอยากจะวางหนังสือลงทุกเมื่อ หากแต่คงวางไม่ลง เพราะชีวิตอันมืดดำสมดังชื่อของเธอนั้นจะกระชากให้ผู้อ่านได้สำลักความทุกข์ไปพร้อม ๆ กับเธอ นวนิยายเรื่องนี้จึงเหมาะสำหรับนักอ่านที่ชอบความท้าทาย ต้องการอ่านนวนิยายแนวทรมานจิตใจ เพราะความมืดมนจะครอบงำจิตใจหลังจากอ่านจบไปอีกแสนนาน

 

กีรติกานต์ ปริทารัมย์

หมายเลขบันทึก: 711759เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2023 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2023 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท